|
ส่งออกฉุดไม่อยู่"พาณิชย์"ขยับเป้าโต20%ห่วงปัญหาขาดแรงงาน-ค่าขนส่งแพง
ASTV ผู้จัดการรายวัน(10 สิงหาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
“พรทิวา”สั่งขยับเป้าส่งออกอีกรอบ คาดปีนี้โต 20% มูลค่า 1.89 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หลังประเมินล่าสุดตลาดส่งออกทั้งเก่า ทั้งใหม่ โตฉุดไม่อยู่ พร้อมปรับแผนการตลาดใหม่ เน้นรุกเป็นรายสินค้า รายประเทศ ที่จะมีผลต่อยอดส่งออกโดยตรง ห่วงปัญหาขาดแรงงาน ค่าขนส่งแพง กระทบ ส่วนบาทแข็ง น้ำมัน ถ้าไม่หวือหวา ไม่มีปัญหา
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์จะปรับเพิ่มเป้าหมายการส่งออกสินค้าไทยในปี 2553 ใหม่ เป็นขยายตัวไม่น้อยกว่า 20% มูลค่ากว่า 1.89 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการปรับเพิ่มเป้าส่งออกอย่างเป็นทางการ หลังจากที่เดิมเคยประเมินไว้ว่าทั้งปีจะขยายตัว 14% มูลค่า 1.73 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ในการแถลงตัวเลขการส่งออกเดือนมิ.ย.2553 ก็ได้มีการประเมินเป้าหมายใหม่ไว้แล้วในเบื้องต้นว่าจะขยายตัวได้ 19%
การปรับเป้าส่งออกที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากทิศทางการส่งออกในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ จะยังคงขยายตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่อง โดยตลาดสำคัญๆ ของการส่งออกไทยจะมีการขยายตัวมากขึ้น เช่น สหรัฐฯ จะขยายตัว 20% อาเซียน 30% สหภาพยุโรป 11% ญี่ปุ่น 18% จีน 50% อินเดีย 25% รัสเซีย 50% และตะวันออกกลาง 12% เป็นต้น ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์มีแผนที่เพิ่มกิจกรรมด้านการตลาดเพื่อส่งเสริมการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง 2553 อีกประมาณ 20-22 กิจกรรม
นางพรทิวากล่าวว่า สำหรับกลยุทธ์การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง จะมุ่งเน้นการส่งออกโดยเจาะจงตลาดให้มากขึ้น หากตลาดไหนมีศักยภาพ ก็จะเพิ่มกิจกรรมด้านการตลาดเข้าไปเสริมให้มากขึ้น เพื่อผลักดันการส่งออกของไทย รวมทั้งได้ขอให้หัวหน้ากลุ่มสินค้า (Chiefs of Product - COP) ที่รับผิดชอบเป็นรายสินค้าไปหารือร่วมกับหัวหน้าสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อคิดค้นกิจกรรมด้านการตลาดให้เหมาะสมกับตลาดนั้นๆ ด้วย
ทั้งนี้ ได้แบ่งกลุ่มตลาดออกเป็น 3 กลุ่มที่จะทำการผลักดันการส่งออก คือ กลุ่มแรกเป็นตลาดที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจขั้นสูง โดยเป็นประเทศที่กำหนดทิศทางและมาตรฐานการค้าระหว่างประเทศ เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งการส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีสัดส่วน 33.2% มูลค่าการส่งออก 30,933 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 28.3%
กลุ่มที่ 2 เป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ จีน ฮ่องกง เอเชียใต้ รองรับการส่งออกของไทยเป็นสัดส่วน 44.2% มูลค่าการส่งออก 41,091 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 50.2%
กลุ่มที่ 3 เป็นตลาดที่มีศักยภาพและอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับรองลงมา ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ตะวันออกกลาง แอฟริกา ลาตินอเมริกา และยุโรปตะวันออก รองรับการส่งออกของไทยเป็นสัดส่วน 18.8% มูลค่าการส่งออก 17,493 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 28.3%
นางพรทิวากล่าวว่า ปัจจัยลบที่คาดว่าจะกระทบกับการส่งออก เท่าที่ประเมินในขณะนี้ น่าจะเป็นปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ที่จะทำให้การขยายตัวของภาคการผลิตเพื่อส่งออกมีปัญหาตามไปด้วย และยังมีปัญหาในเรื่องของต้นทุนค่าขนส่ง โดยเฉพาะค่าระวางเรือที่สูงขึ้นตามอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ซึ่งได้ทำหนังสือถึงกระทรวงคมนาคมเพื่อขอให้ช่วยดูแลในเรื่องนี้ไปแล้ว
ส่วนปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่า เท่าที่ประเมินในขณะนี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย เพราะขีดความสามารถในการแข่งขันไม่ได้ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งในภูมิภาค หลังจากที่ค่าเงินมีการแข็งค่าในทิศทางเดียวกัน และผู้ส่งออกเองก็ไม่มีความกังวล หากเป็นการแข็งค่าที่มีเสถียรภาพ ขณะที่ราคาน้ำมันที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้นั้น หากยังอยู่ในระดับเฉลี่ย 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ก็ไม่น่ามีผลกระทบต่อต้นทุนการส่งออกมากนัก
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|