|
ป้ายชื่อถนนในกรุงปารีส
โดย
สุภาพิมพ์ ธนะพรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( สิงหาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ฝรั่งเศสปลื้มคนดังคนใหญ่คนโต ไม่ว่าจะเป็นชาวฝรั่งเศสหรือชาวต่างประเทศ ไล่แจกอิสริยาภรณ์เป็นว่าเล่น ดาราภาพยนตร์ นักหนังสือพิมพ์ ช่างเสื้อดัง ฯลฯ ล่าสุดราล์ฟ ลอเรน (Ralph Lauren) มาเปิดบูติกขนาดใหญ่แห่งใหม่ในกรุงปารีส รัฐบาลฝรั่งเศสถือโอกาสมอบอิสริยาภรณ์สายหนึ่งให้ ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน ราล์ฟ ลอเรน ให้สัมภาษณ์ทำนองว่าจะมามอบให้ทำไม
รู้สึกสะใจชอบกล
สถานที่บางแห่งใช้ชื่อบุคคลสำคัญ ดังเช่น ศูนย์วัฒนธรรมจอร์จ ปงปิดู (Georges Pompidou) ด้วยว่าจอร์จส์ ปงปิดู เป็นประธานาธิบดีที่ผลักดันให้สร้างแหล่งความรู้แห่งใหม่ที่มีทั้งห้องสมุดขนาด ใหญ่และพิพิธภัณฑ์โมเดิร์นอาร์ตและร่วมสมัย จึงเป็นที่มาของศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแห่งชาติจอร์จส์ ปงปิดู (Centre national d’art et de culture Georges Pompidou) โดยตั้งชื่อให้เป็นเกียรติแก่ประธานาธิบดี ผู้ริเริ่มโครงการ หรือหอสมุดแห่งชาติฟรองซัวส์ มิตแตรองด์ (Bibliotheque nationale Francois Mitterrand) ซึ่งประธานาธิบดีฟรองซัวส์ มิตแตรองด์เป็นผู้ผลักดันให้สร้าง ถึงกระนั้นใช่ว่าสิ่งก่อสร้าง ทั้งหลายจะมีชื่อบุคคลสำคัญปะอยู่ประธานาธิบดีวาเลรี จิสการด์ เดสแตง (Valery Giscard d’Estaing) เห็นคุณค่าของสถานีรถไฟเก่าอย่าง Gare d’Orsay แทนที่จะทุบทิ้งก็ให้แปลงเป็นพิพิธภัณฑ์รวม ภาพเขียนอิมเพรสชั่นนิสต์เป็นหลัก จึงเกิด พิพิธภัณฑ์ Musee d’Orsay ไม่ได้ใช้ชื่อประธานาธิบดีแต่อย่างใด หรือกรณีพีระมิด แก้วที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Louvre) แม้จะเป็น โครงการใหญ่ของฟรองซัวส์ มิตแตรองด์ในกรอบของ Le Grand Louvre แต่ไม่ได้ ใช้ชื่อประธานาธิบดีผู้นี้
ประตูชัย (Arc de triomphe) ตั้งเด่นสง่าสุดถนนชองป์-เซลีเซส์ (avenue des Champs-Elysees) รอบๆ ประตูชัยมีถนนแยกออกไปหลายสาย ราวกับแฉกของดวงดาว จึงเรียกจตุรัสนั้นว่า จัตุรัสดาว-ปลาซ เดอ เลต็วล (Place de l’Etoile) เมื่อประธานาธิบดีชาร์ลส์ เดอ โกล (Charles de Gaulle) ถึงแก่กรรม รัฐบาลฝรั่งเศสให้ เปลี่ยนชื่อ Place de l’Etoile เป็นจัตุรัส ชาร์ลส์ เดอ โกล (Place Charles de Gaulle) เพราะนายพลชาร์ลส์ เดอ โกลมีบทบาทสำคัญในการกอบกู้ฝรั่งเศสให้พ้นจากการยึดครองของเยอรมันในสงคราม โลกครั้งที่สอง โดยตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นและขบวนการใต้ดิน (la Resistance) เพื่อปลดปล่อยประเทศ หลังสงครามยังได้เป็นประธานาธิบดี
บุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการเมือง ฝรั่งเศสและช่วงสงครามโลกครั้งที่สองอย่างจอร์จส์ เคลมองโซ (Georges Clemenceau) ตั้งเป็นชื่อถนน avenue Georges Clemenceau ถนนสวยที่ผ่านหน้ากรองด์ ปาเลส์ (Grand Palais) และเปอติต์ ปาเลส์ (Petit Palais) ในบริเวณรอบๆ มีรูปปั้นของจอร์จส์ เคลมองโซ ไอเซนฮาวร์ (Eisenhower) วินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) ถนนจอร์จส์ เคลมอง โซยาวไปถึงสะพานอเลกซองดร์ที่ 3 (Pont Alexandre III) ซึ่งตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ซาร์อเลกซองดร์ที่ 3 ซึ่งเสด็จมาเยือนกรุงปารีสในช่วงนั้นเป็นสะพานข้ามแม่น้ำแซน (Seine) ที่สวยที่สุด
ถนนฟรองซัวส์ที่ 1 (rue Francois Ier) เป็นถนนหรูอีกสายหนึ่งเต็มไปด้วยบูติก แบรนด์เนม ฟรองซัวส์ที่ 1 เป็นกษัตริย์ที่ปรีชาสามารถองค์หนึ่ง ชื่นชอบศิลปะยุคเรอแนสซองส์ของอิตาลี จึงส่งเสริมศิลปะเรอแนสซองส์ของฝรั่งเศส เชิญเลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) มายังปราสาทอองบ็วส (Amboise) ในลุ่มแม่น้ำลัวร์ (Loire) โดยให้จิตรกรชาวอิตาเลียนผู้นี้พำนักที่โคลส์ เดอ ลูเซ (Clos de Luce) ซึ่งอยู่ใกล้กับปราสาท นัยว่าฟรองซัวส์ที่ 1 ให้ขุดอุโมงค์จากปราสาทอองบ็วส ไปยังโคลส์ เดอ ลูเซเพื่อที่จะเสด็จไปหาเลโอนาร์โด ดา วินชีได้สะดวก เลโอนาร์โด ดา วินชีเสียชีวิตที่นี่และฟรองซัวส์ที่ 1 นี่เอง ที่ซื้อภาพ La Joconde หรืออีกนัยหนึ่ง Mona Lisa จากเลโอนาร์โด ดา วินชี
จักรพรรดินโปเลอง โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte) ผู้ยิ่งใหญ่ในการสงคราม แต่บั้นปลายชีวิตต้องประสบความ พ่ายแพ้ พลอยให้ชาวฝรั่งเศสทุกข์สาหัสเพราะถูกกองทัพปรัสเซียยึดครอง ถึงกระนั้นในกรุงปารีสก็มีถนนโบนาปาร์ต (rue Bonaparte) แยกจากถนนฟูร์ (rue du Four) แหล่งชอปปิ้งอีกแห่งหนึ่ง
Boulevard Haussmann ถนนโอส มานที่นักท่องเที่ยวคุ้นเคยกันดี เนื่องจากเป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าดังอย่างกาเลอรีส์ ลาฟาแยต (Galeries Lafayette) และแพรงตองป์ (Printemps) ตั้งชื่อเพื่อ รำลึกถึงบารง โอสมาน (Baron Haussmann) ผู้พัฒนากรุงปารีสตามคำสั่งของจักรพรรดิ นโปเลองที่ 3 (Napoleon III) จนสวยงามอย่างที่เห็นทุกวันนี้
Place des Vosges-ปลาซ เดส์ โวจส์ในย่านเลอ มาเรส์ (Le Marais) แต่เดิมชื่อปลาซ รัวยาล-Place Royale เปลี่ยนชื่อเมื่อรัฐบาลขาดเงิน จึงขอให้จังหวัดต่างๆ ส่งเงินมาสนับสนุน โวจส์ (Vosges) เป็นจังหวัดแรกที่ส่งเงินมา
ป้ายชื่อถนนและจัตุรัสต่างๆ จะมีตัวหนังสือสีขาวบนพื้นสีน้ำเงินสดที่เรียกว่า bleu roi สีน้ำเงินกษัตริย์ (อดไม่ได้ที่จะนึก ถึงสีเหลืองจักรพรรดิ jaune empereur เมื่อพูดถึงสีเหลืองสดของเครื่องแต่งกายจักรพรรดิจีน)
ป้ายชื่อถนนในฝรั่งเศสมีมาตั้งแต่ปี 1282 ต่อมาในปี 1728 พลตำรวจโทเรอเน เอโรลต์ (Rene Herault) สั่งให้ทำป้ายชื่อถนนเป็นโลหะติดไว้ที่บ้านหลังแรกและหลังสุดท้ายในถนนแต่ละสาย น่าแปลกที่ผู้ริเริ่มอย่างนายตำรวจผู้นี้กลับไม่เคยได้รับเกียรติตั้งชื่อถนนหรือสถานที่ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักการเมือง นักเขียน นักวิทยาศาสตร์ สมรภูมิครั้งสำคัญ ป้ายชื่อจึงเป็น “ประวัติศาสตร์” แบร์ทรองด์ เดอลาโนเอ (Bertrand Delanoe) นายกเทศ มนตรีกรุงปารีสเปิดจัตุรัสเมห์ดิ เบน-บาร์กา (Mehdi Ben-Barka) เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2005 เพื่อรำลึกถึงนักวิชาการชาวโมร็อกโก ซึ่งถูกลักพาตัวไปในวันที่ 29 ตุลาคม 1965
แบร์ทรองด์ เดอลาโนเอมาจากพรรคสังคมนิยม เป็นนายกเทศมนตรีกรุงปารีสที่ไม่เคยหยุดนิ่ง สรรค์สร้างกิจกรรมใหม่ให้ชาวกรุงอย่างต่อเนื่อง จนได้รับความ นิยมสูงมาก เป็นผู้หนึ่งที่ให้ความสำคัญต่อ ความเป็นสาธารณรัฐ เชิดชูผู้ร่วมต่อสู้เพื่อปลดปล่อยฝรั่งเศสจากการครอบครองของ เยอรมันในสงครามโลกครั้งที่สอง อย่างปิแอร์ มองเดส-ฟรองซ์ (Pierre Mendes-France) โรล ตองกี (Rol Tanguy) อองเดร โตลเลต์ (Andre Tollet) หรือถนน Allee des 44-Enfants-d’Izieu ในเขต 13 เพื่อรำลึกถึงเด็กชาวยิว 44 คน ซึ่งซุกซ่อนในบ้านหลังหนึ่งในอิซิเออ ถูกพวกเกสตาโป เมืองลิอง (Lyon) จับได้ในเดือนเมษายน 1944 หรือ Place Benjamin-Fondane เพื่อรำลึกถึงกวีเชื้อสายโรมาเนียที่ประสบกับความตายที่เอาช์วิตซ์ (Auschwitz) เป็นต้น
ในยุคของแบร์ทรองด์ เดอลาโนเอ ชาวสังคมนิยมในอดีตได้รับการยกย่องหลายคน เขาตั้งชื่อถนนเลียบแม่น้ำแซนช่วงหน้าหอสมุดฟรองซัวส์ มิตแตรองด์ว่า Quai Francois Mitterrand ท่ามกลางการคัดค้านของนักการเมืองฝ่ายขวา อย่างไรก็ตาม แบร์ทรองด์ เดอลาโนเอให้ตั้งชื่อปลาซ มิเชล เดอเบร (Place Michel Debre) ในเขต 6 (6eme arrondissement) ของกรุงปารีสตามคำร้องขอของครอบครัวเดอเบร (Debre) มิเชล เดอเบรเคยเป็นนายกรัฐมนตรี
อาร์ทิสต์อย่างอองเดร เบรอะตง (Andre Breton) ผู้นำกระแสเซอเรียลิสต์ ผู้สร้างภาพยนตร์ ฌอง วีโก (Jean Vigo) หรือนักไวโอลินแจ๊ซ สเตฟาน กรัปเปลี (Stephane Grappelli) ต่างมีชื่อในกรุงปารีส ชื่อผู้หญิงมีเพียง 128 คน จากชื่อบุคคลทั้งหมด 3,750 คนที่นำมาตั้งชื่อถนน และสถานที่ต่างๆ เช่น rue Clotilde มเหสีของโคลวิส (Clovis) กษัตริย์องค์แรกของฝรั่งเศส แม้แต่มารี กูรี (Marie Curie) นักวิทยาศาสตร์ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลถึง 2 ครั้ง เพิ่งได้รับเกียรติ 35 ปีหลังจากถึงแก่กรรม ในขณะที่ปิแอร์ กูรี (Pierre Curie) ผู้เป็นสามีได้รับการเชิดชูมาก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 1974 สตรี 35 คนได้รับการตั้งชื่อในที่สาธารณะ เช่น นักร้องคาบาเรต์เชื้อสายอเมริกันผู้ร่วมขบวนการปลดปล่อยฝรั่งเศสอย่างโจเซฟีน เบเกอร์ (Josephine Baker) นักแสดงอย่างมาร์ลีน ดีทริชต์ (Marlene Dietricht) นักเขียนอย่างมาร์เกอริต ดูราส (Marguerite Duras) ซีโมน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir) ฟรองซ็วส ซากอง (Francoise Sagan) เป็นต้น
ในแต่ละปีมีผู้ยื่นคำร้องต่อเทศบาล ให้ตั้งชื่อบุคลต่างๆ ในที่สาธารณะมากมาย ปัญหาอยู่ที่ว่าถนนในกรุงปารีสมีจำนวนจำกัด ไม่สามารถทำตามคำร้องทั้งหมดได้ หลายครั้งจึงต้องเปลี่ยนชื่อเดิมของถนน ดังเช่นในอดีตที่มีการตั้งชื่อสมรภูมิที่นโปเลองได้รับชัยชนะแทนชื่อเดิม ในยุคปัจจุบัน ชื่อของอเลกซิส การ์เรล (Alexis Carrel) ผู้ใกล้ชิดกับนายพลเปแตง (Petain) ถูกแทนที่ด้วยชื่อของฌอง ปิแอร์-บลอค (Jean Pierre-Bloch) ผู้ร่วมขบวนการใต้ดิน
เรอเน กอสซินี (Rene Goscinny) ผู้สรรค์สร้างหนังสือการ์ตูนชุด Asterix และ Lucky Luke กลายเป็นชื่อถนนในเขต 13 เป็นต้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|