|
กุฎีจีน
โดย
ธนิต วิจิตรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( สิงหาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
แม้ว่าชุมชุนกุฎีจีนกำลังถูกเบียดเบียนจากกระแสความเจริญที่ถาโถมเข้าสู่ชุมชนทุกเมื่อเชื่อวัน แต่สิ่งเหล่านี้กลับก่อให้เกิดการหล่อหลอมผสมผสานแนวการดำรงชีวิตเป็นเอกลักษณ์ชุมชนที่ไม่มีใครเหมือน
ในอดีตกาลที่ผ่านพ้น แม่น้ำลำคลองมีความสำคัญต่อชีวิต ผู้คนเป็นอย่างมาก สารพัดเรื่อง เป็นเส้นทางคมนาคมไปมาหาสู่กัน แหล่งชุมชนค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า จนมีเรื่องราวเล่าขานกันต่อๆ มา การให้มรดกลูกๆ โดยเฉพาะเรื่องการมอบมรดกซึ่งเป็นที่ดิน ถ้าลูกคนไหนเป็นลูกรักของพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย พี่ป้าน้าอา มักจะได้รับที่ดินที่ติดกับแม่น้ำลำคลอง หรือมีทางออกสู่แม่น้ำอย่างสะดวก สบายกว่าที่เรียกว่าลูกชัง ซึ่งจะได้ผืนดินที่อยู่ลึกถัดไป
แต่ปัจจุบันกาลเปลี่ยนไป เนื่องจากความเจริญในปัจจุบันเกิดจากการนิยมใช้การคมนาคมทางถนนมากกว่า ทำให้ที่ดินที่อยู่ลึกเข้าไปมีถนนตัดผ่าน ทำเอาลูกชังคล้ายถูกลอตเตอรี่ล็อตใหญ่ จังเบ้อเร่อ กลับกลายเป็นเศรษฐีร่ำรวยในพริบตามานักต่อนัก
สมัยโบราณ ชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำจะมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก จะเป็นแหล่งชุมชนที่อยู่อาศัย ท่าเรือ ตลาด เกิดการค้าขาย เป็นจุดเริ่มต้นในการเดินทางไปยังสถานที่อื่นๆ
ชุมชนเก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีอายุนับย้อนกลับไปครั้ง สมัยเสียกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.2310 พระบาทสมเด็จพระเจ้า ตากสินมหาราช หรือเรียกขานทั้งภาษาจีน เฉพาะภาษาไทย เช่น พระยาตาก พระยาตากสิน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช พระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์ทรงกอบกู้เอกราชและสถาปนาธนบุรีศรีมหาสมุทรเป็นราชธานี ซึ่งเป็นเมืองที่เกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากธนบุรีเป็นเมืองหน้าด่าน คุมเส้นทางออกสู่ทะเล และเป็นเมืองท่าอยู่ใกล้แม่น้ำ มีป้อมปราการ วัดวาอารามอยู่แล้วเป็นจำนวนมาก พร้อมที่จะเป็นเมืองหลวง ณ ช่วงเวลานั้น
ปัจจุบันสถานที่เหล่านี้แสดงให้เห็นประวัติศาสตร์ ชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งคนรุ่นหลัง ได้ใช้ได้ศึกษาด้วยความภาคภูมิใจ
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงรวบรวมเหล่าผู้คนที่กระจัดกระจายภายหลังจากศึกสงคราม ทั้งชาวไทย จีน โปรตุเกส และพระราชทานที่ดินให้เป็นที่อยู่อาศัย โดยผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ล้วนมีความแตกต่างกันด้วยเชื้อชาติ วัฒนธรรม ศาสนา และความคิด
การที่คนเชื้อชาติต่างๆ เข้ามาอาศัยพึ่งพระบรมโพธิสมภาร อยู่ในผืนแผ่นดินไทย ได้ซึมซับวัฒนธรรมของไทยเข้าไปด้วย แต่วัฒนธรรมเชื้อชาติเดิมของเขาเหล่านั้นยังคงหลงเหลือไว้ให้เห็น ถ่ายทอดมาถึงคนรุ่นปัจจุบัน ชุมชนที่พูดถึงนี้คือชุมชนกุฎีจีนนั่นเอง
กุฎีจีน บรรพบุรุษของชุมชนนี้ประกอบไปด้วยผู้คนหลากเชื้อชาติและความต่างในศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม
ชาวจีนจะตั้งบ้านเรือนอยู่เหนือคลอง ใกล้กับวัดกัลยาณมิตร ชาวโปรตุเกส ชาวคริสต์ บ้านเรือนจะอยู่ใต้ลงมา ชุมชนแห่งนี้จึงประกอบไปด้วยศาสนสถาน ทั้งของคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ คือ วัดกัลยาณมิตร ส่วนของชาวจีนคือ ศาลเจ้าเทียนอันเก๋ง และโบสถ์ซางตาครูสของชาวคริสต์
อ้อยจีนบางใหญ่ อ้อยไทยบางคูวัด ข้าวหลามตัดวัดระฆัง ขนมฝรั่งกุฎีจีน
เมื่อก่อนคนไทยยังไม่ค่อยรู้จักและนิยมในขนมเค้ก หารับประทานยาก ขั้นตอนกรรมวิธีในการทำยุ่งยาก และมีราคาแพง ขนมฝรั่งกุฎีจีนยังคงหลงเหลือให้เห็นในวัฒนธรรมเชื้อชาติในเรื่อง อาหารการกิน ที่ยังเป็นมรดกให้คนรุ่นหลังได้ใช้ทำมาหากินกันอยู่จนถึงปัจจุบัน
ขนมฝรั่งกุฎีจีนนี้มีต้นตำรับจากชาวโปรตุเกสที่อพยพมาจาก กรุงศรีอยุธยา ที่มาตั้งถิ่นฐาน ณ ชุมชนแห่งนี้ ปัจจุบันถ้าไปเดินแถวท่าพระจันทร์หรือย่านบางลำพู จะเห็นพ่อค้าแม่ขายนำมา จำหน่ายกันอยู่มากเจ้า
ขนมฝรั่งกุฎีจีนเป็นขนมที่ขึ้นชื่อคู่มากับชุมชนตั้งแต่อดีต ว่ากันว่าเป็นขนมที่ทำเลี้ยงกันเฉพาะงานฉลองเทศกาลตรุษสารท ซึ่งเป็นงานบุญของชาวคริสต์ เช่น งานฉลองวัด ช่วงคริสต์มาส หรืองานเสกป่าช้า จะมีการทำกินกันในหมู่ญาติ เคล็ดลับของความอร่อย ส่วนผสมประกอบด้วยแป้ง น้ำตาล การอบด้วยเตาที่ก่อขึ้น แบบโบราณ ใช้ฟืนจากไม้กระบูน หรือไม้โกงกาง เพื่อดับกลิ่นคาว จากไข่ด้วยอุณหภูมิที่สม่ำเสมอ ทำให้มีกลิ่นหอมและมีสีเหลืองสวย เนื้อในหวานนุ่ม ส่วนเนื้อนอกจะกรอบอร่อยเมื่อขนมสุกจากเตาสามารถเก็บได้นาน โดยไม่ต้องพึ่งผงฟูหรือสารกันบูด
การทำขนมกุฎีจีนในสมัยก่อนไม่มีหน้า ปัจจุบันจะประยุกต์ แต่งหน้า ซึ่งเชื่อกันว่ามีความหมายมากกว่าความอร่อย ชิ้นฟักเชื่อม มีความหมายให้อยู่เย็นเป็นสุข ลูกเกดและลูกพลับเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์และราคาแพง ส่วนน้ำตาลที่โรยหน้าให้ขาวฉาบอยู่บนขนม หมายถึงให้ความสุขร่ำรวยกันจนนับไม่ถ้วน
ชุมชนกุฎีจีน ชาวไทยพุทธจะอาศัยอยู่โดยรอบบริเวณวัดกัลยาณมิตร เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวไทย-จีนที่นับถือศาสนาพุทธ
วัดหมายถึงสถานที่ทางพระพุทธศาสนา ซึ่งปกติมีพระอุโบสถ พระวิหาร พระเจดีย์ รวมทั้งมีพระภิกษุสงฆ์อาศัย
วัดมาจากคำในภาษาบาลี “วตวา” ซึ่งแปลว่าเป็นที่สนทนา ธรรม บ้างก็ว่ามาจาก “วัตร” กิจปฏิบัติหรือหน้าที่ของพระภิกษุที่พึงกระทำ การจำศีล ภาวนา หรือสถานที่ที่พระภิกษุใช้ปฏิบัติภารกิจที่พึงกระทำ
วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร วัดแห่งนี้บอกถึงวิธีการดำรงชีวิตของชาวไทย-จีนที่มีประวัติศาสตร์มาเนิ่นนาน ซึ่งหลักฐานยังคงมีให้เห็นอย่างเด่นชัด ไม่ว่าจะเรื่องความเชื่อทางศาสนา การเฉลิมฉลองในเทศกาลสำคัญของชาวจีน ศิลปะอันงดงามที่สอดแทรกอยู่ตามมุมต่างๆ ของวัด
เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต กัลยาณมิตร) ได้อุทิศบ้านพร้อม ที่ดิน และซื้อที่ดินบริเวณใกล้เคียงอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งแต่เดิมเป็นหมู่บ้าน ที่มีภิกษุจีนพำนักอยู่ ได้สร้างเป็นวัดเมื่อ พ.ศ.2368 ในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 และถวายเป็นพระอารามหลวงแล้วได้พระราชทานนามว่า “วัดกัลยาณมิตร” ใน การนั้นรัชกาลที่ 3 พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารหลวง และพระประธาน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย “พระโต” รัชกาล ที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามว่า “พระพุทธไตรรัตนายก” ซึ่งเป็นที่เลื่อมใสศรัทธากันอย่างกว้าง ขวาง โดยเฉพาะชาวจีนมักจะเรียกติดปากกันว่า “ซำปอฮุดกง” หรือ “ซำปอกง”
วัดกัลยาณมิตรเป็นสถาปัตยกรรมไทยผสมจีนมีเอกลักษณ์ เฉพาะตัว ด้วยความทรงคุณค่าของวัดแห่งนี้ กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนวัดเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติเมื่อปี พ.ศ.2492
การที่พระราชทานว่าวัดกัลยาณมิตร หมายถึงมิตรดี หรือเพื่อนดี เพื่อนผู้มีกัลยาณธรรม เนื่องจากเจ้าพระยานิกรบดินทร์เป็นเสนาบดีคู่พระทัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ถวาย ตัวเป็นข้าหลวงเดิมในพระองค์มาตั้งแต่พระองค์ยังคงดำรงตำแหน่ง พระเจ้าลูกยาเธอ ประทับอยู่ที่วังท่าพระในสมัยรัชกาลที่ 2 และได้ค้าขายโดยสำเภาร่วมกับพระองค์ทั้งก่อนและภายหลังเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ
พระอุโบสถ ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบจีน ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ประดับหน้าบันปั้นลายดอกไม้ กระเบื้องเคลือบ สลับสีลายจีน ซุ้มประตูหน้าต่างพันลายดอกไม้ประดับกระจก ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพุทธประวัติ และรูปเครื่องบูชาอย่างม้าหมู่แบบไทยปนจีน ปัจจุบันบางส่วนได้เลือนหายไป
เสาเขียนลายทรงข้าวบิณฑ์ บริเวณหน้าพระอุโบสถมีซุ้มเสมา และศิลาหลัก “เสาใต้” จากจีนประดับเป็นระยะ ซุ้มเสมารอบพระ อุโบสถทำด้วยศิลาสลักลวดลายสวยงามและตุ๊กตาหินจากเมืองจีน พระอุโบสถหลังนี้สร้างเมื่อ พ.ศ.2370 อาคารก่ออิฐถือปูน กว้าง 20 เมตรเศษ ยาวประมาณ 31 เมตร พระวิหารหลวง วิหารหลวงพ่อโต “ซำปอกง” เป็นพระวิหารที่ใหญ่และสร้างได้สัดส่วนงดงาม ไม่ได้ตอกเสาเข็ม แต่ใช้ขุดพื้นรูปสี่เหลี่ยมฐานกว้าง ใช้ไม้ซุงทั้งท่อนเรียงทับซ้อนกัน 2-3 ชั้น
รูปแบบสถาปัตยกรรมไทย ก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้อง เคลือบ ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เชิงชาย หน้าบันทำด้วยไม้แกะสลักลายดอกไม้ลงรักปิดทอง ประดับกระจก ประตูหน้าต่าง เป็นไม้สักหนาแผ่นเดียว เขียนเป็นลายรดน้ำ ลายทองรูปธรรมบาล ด้านในมีผนังลายดอกไม้ ซึ่งปัจจุบันเลือนหายไปแล้ว เสาภายในพระวิหารเขียนเป็นลายดอกไม้ตั้งแต่พื้นจรดเพดาน ด้านหน้าพระวิหารหลวงมีซุ้มประตูหิน และตุ๊กตาหินศิลปะจีนตั้งเรียงรายอยู่
หอระฆังสร้างเมื่อ พ.ศ.2476 โดยช่างสมัยรัชกาลที่ 7 และ 8 มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม ชั้นบนของหอระฆังประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ชั้นล่างแขวนระฆังใบใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หล่อโดยช่างชาวญี่ปุ่น
วัดนี้เป็น 1 ใน 9 วัดที่ผู้คนมักจะนิยมมาทำบุญกราบไหว้ โดยเฉพาะ “พระโต” พระพุทธไตรรัตนายก เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นที่เคารพสักการะอย่างสูง
โดย มีประวัติว่า เจ้าพระยานิกรบดินทร์ (โต) ครั้งยังเป็นพระยาราชสุภาวดีสร้างวัดกัลยาณมิตร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างนั้น ทรงมีพระราชประสงค์จะให้มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ในครั้งกรุง เก่า คือ พระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่วัดพนัญเชิง
เพื่อให้เหมาะสมกับชื่อเดิมของเจ้าพระยานิกรบดินทร์ และเมื่อรัชกาลที่ 2 ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเจดีย์ใหญ่พระปรางค์วัดอรุณฯ แล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระพุทธรูปองค์โต และสร้างวิหารหลวง ซึ่งเป็นวิหารที่สูงที่สุดในสมัยนั้น เมื่อสร้างเสร็จจึงพระราชทานนามถวายพระพุทธรูปองค์นั้นว่า “พระโต”
บริเวณรอบๆ วัดเป็นสถานที่เก่าแก่ มีชุมชนตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี โดยมีชนหลายชาติหลากภาษาอยู่รวมกัน ทั้งไทย จีน ลาว เขมร โปรตุเกส ต่างก็มีวัฒนธรรมศาสนาเป็นของตนเอง บ้างนับถือเจ้าหรือเจ้าแม่ บ้างนับถือพุทธศาสนา บ้างนับถืออิสลาม บ้างนับถือคริสต์ แต่ทุกคนสามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
ศาลเจ้าเกียนอันกง หรือศาลเจ้าแม่กวนอิมที่ชาวบ้านเรียก กันติดปาก ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวัดกัลยาณมิตร ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ประวัติศาสตร์ของศาลเจ้าแห่งนี้มิได้มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร อาศัยการเล่าสืบต่อกันมา กล่าวกันว่า เป็นศาลเจ้าที่สร้างขึ้นโดยคนจีนที่ตามเสด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ปากคลองบางหลวง หรือคลองบางกอกใหญ่
เมื่อคราวที่พระองค์ทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีเหนือฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระราชวังเดิมและวัดอรุณราช วรารามในปัจจุบัน ครั้นต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า จุฬาโลกมหาราชทรงย้ายพระนครหลวงไปตั้งยังฝั่งพระนคร คนจีน เหล่านี้ได้อพยพไปตั้งถิ่นฐานบริเวณตลาดน้อยมาจรดสำเพ็ง ศาลเจ้าที่สร้างในสมัยนั้นมีอยู่สองศาลที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน คือศาลเจ้าพ่อโจวซือกง และศาลเจ้าพ่อกวนอู ศาลทั้งสองจึงชำรุดทรุดโทรมลง
ครั้นเมื่อในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการรื้อถอนและสร้างศาลเจ้า ขึ้นมาใหม่ได้อัญเชิญเจ้าแม่กวนอิมมาแทนเจ้าพ่อโจวซือกง และเจ้าพ่อกวนอู
ศาลเกียนอันเก๋ง ซึ่งมีความหมายว่าวังที่สร้างความสงบสุข ให้แก่แผ่นดินและผู้มากราบสักการะ ศาลเจ้าแห่งนี้ยังเป็นแหล่งรวมความศรัทธาของชาวจีนในชุมชน และเป็นแหล่งบอกเล่าถึงวัฒนธรรมจีนในประเทศไทยที่สำคัญในอดีต
โบสถ์ (Church) คืออาคารศักดิ์สิทธิ์สร้างขึ้นเพื่อนมัสการพระเจ้า เป็นสถานที่ซึ่งบรรดาสัตบุรุษรวมตัวกันปฏิบัติภารกิจสาธารณะ
อาคารโบสถ์หมายถึงบ้านของพระเจ้า บ้านที่มีไว้เพื่อให้ประชากรของพระมาชุมนุมพร้อมกัน ประกอบพิธีกรรม การมาชุมนุมกันเพื่อนมัสการพระเจ้าเป็นเอกลักษณ์ประการหนึ่งของวิถีชีวิตคริสต์ชน
ชาวโปรตุเกสเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่เข้ามาเจริญสัมพันธ ไมตรีกับประเทศไทยในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ.2054
และในปี 2310 ชาวโปรตุเกสได้ร่วมสู้รบพร้อมกับคนไทย
หลังจากเสียกรุง ชาวคริสต์ที่กรุงศรีอยุธยาต่างก็หลบหนีกระจัดกระจายกันไป
เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี บาทหลวงยาโกเบกอร์ ชาวฝรั่งเศส ซึ่งหนีภัยสงครามไปอยู่เขมรได้กลับเข้าบางกอกเมื่อ พ.ศ.2312 รวบรวมผู้คนที่นับถือศาสนาคริสต์ได้พอสมควร และได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดยได้พระราชทานเงิน 20 กษาปณ์ และที่ดินแปลงหนึ่ง ซึ่งบาทหลวงเลือกสถานที่อันเป็นชุมชนของฝรั่งโปรตุเกสย่านกุฎีจีน และตั้งชื่อที่ดินผืนนี้ว่าค่ายซางตาครูส โดยสร้างวัดซางตาครูส มีลักษณะเหมือนโรงสวด โรงไม้ใต้ถุนสูง แต่ไม่มีฝาผนัง จนกระทั่งพระองค์ได้ทรงเสด็จเยี่ยมวัด จึงมีรับสั่งให้สร้างผนังวัด อาคารวัดแห่งนี้ได้ถูกใช้มามากว่า 65 ปี
จนในปี พ.ศ.2377 พระสังฆราชคูรเวอซีเห็นวัดมีสภาพทรุดโทรม จึงสร้างวัดใหม่หลังที่ 2 มีลักษณะสถาปัตยกรรมคล้าย แบบจีน คือโครงตอนปลายอ่อนช้อยคล้ายลวดลายปูนปั้นบนหลังคา ศาลเจ้าจีน วัดหลังที่ 2 นี้มีอายุการใช้งานมากว่า 78 ปี
บาทหลวงกูเลียลโม กิ๊นตาครูสสร้างวัดหลังใหม่ขึ้นเป็นวัดหลังที่ 3 ซึ่งเป็นหลังปัจจุบันเมื่อ พ.ศ.2456
ตัวอาคารผสมผสานสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิกและแบบเรเนอซองส์ เป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูน ประดับตกแต่งด้วยปูนปั้น เป็นลวดลายใบไม้ดอกไม้ หัวเสาเป็นแบบคอรินเชียน ภายในอาคาร ประดับประดาไปด้วยกระจก Stain Glass โดยประกอบไปด้วยส่วนโดม ตัวอาคาร และห้องชาคริสเตียน
วัดซางตาครูส นอกจากจะเป็นสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่งดงาม ริมน้ำเจ้าพระยาแล้ว ยังถือได้ว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์แสดงถึงความสัมพันธ์อันดีของชาวยุโรป ความมีขันติธรรมทางศาสนาของพระมหากษัตริย์ไทย ไม่ว่าชนชาติไหนที่ได้เข้ามาพึ่งบรมโพธิสมภาร
นอกจากนี้ยังจัดตั้งโรงเรียนซางตาครูสคอนแวนต์ เพื่อส่งเสริมการศึกษาแก่บุตรธิดาของคนในชุมชนและบริเวณโดยรอบ อีกด้วย จากวันเวลาที่ก่อตั้งโรงเรียนมาถึงอายุร้อยปีเศษแล้ว ผู้คนที่พักอาศัยอยู่ย่านฝั่งธน มักนิยมส่งบุตรหลานมาร่ำเรียน ณ สถานศึกษาแห่งนี้
คนย่านวงเวียนเล็ก วงเวียนใหญ่ ตอนเช้าจะพากันจูงมือน้องขึ้นรถตุ๊กตุ๊กเจ้าประจำ ที่มารับส่ง จนจบการศึกษาขั้นสูงสุดของโรงเรียน บางครั้งนักเรียนชาย-หญิงอาจเรียนต่อที่เซนต์ ฟรัง ซิสซาเวียร์ หรือสตรีวิทยา เซนต์คาเบรียล กรุงเทพคริสเตียน หรือสวนกุหลาบวิทยาลัย ซึ่งโรงเรียนซางตาครูส คอนแวนต์ได้ผลิต บุคลากรที่มีคุณภาพ มีชื่อเสียงรับใช้สังคมเป็นจำนวนมากเช่นกัน
มัสยิดมาจากภาษาอาหรับ หรือสุเหร่า (มาจากภาษามลายู) เป็นศาสนสถานของชาวมุสลิม คำว่ามัสยิด แปลว่า สถานที่กราบ ชาวมุสลิมแต่ละชุมชนจะสร้างมัสยิดขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา อันได้แก่การนมาซ การวิงวอน การปลีกตนเพื่อบำเพ็ญตบะ หาความสันโดษ นอกจากนี้ยังเป็นโรงเรียน สอนอัลกุรอานและศาสนา สถานที่ ชุมชนพบปะ ประชุม เฉลิมฉลอง ทำบุญ โดยจะต้องรักษา ไม่กระทำ สิ่งที่ขัดกับบทบัญญัติห้ามของอิสลามทั้งมวล
มัสยิดหลังวัดกัลยาณมิตร มัสยิดบางหลวง เป็นศาสนสถาน ของชาวมุสลิมในชุมชนที่เรียกว่า กุฎีขาว ซึ่งกำเนิดมาจากหมู่บ้าน เก่าแก่ของชาวมุสลิม ชื่อหมู่บ้านบางหลวง ในสมัยแผ่นดินพระเจ้า เอกทัศ ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 2
ชาวมุสลิมที่เกรงข้าศึกซึ่งกวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สิน จึงอพยพละถิ่นฐานลงมาทางใต้จนมาถึงธนบุรี ซึ่งในเวลานั้นได้มีชาว มุสลิมตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บางกอกน้อยแล้ว ชาวมุสลิมที่อพยพมามีทั้งนิกาย “ชีอะห์” และ “สุหนี่”
จึงได้พักอาศัยอยู่แพสองฟากฝั่งคลองบางกอกใหญ่ ชาวชีอะห์อยู่ฝั่งคลองทางทิศเหนือจากวัดหงส์รัตนารามไปจนถึงเจริญพาสน์
ส่วนชาวสุหนี่อยู่ฝั่งคลองวัดบุปผาราม ในขณะนั้นได้อาศัย ประกอบพิธีทางศาสนาที่กุฎีบางกอกใหญ่ คือมัสยิดต้นสน
เมื่อปี พ.ศ.2328 ชาวมุสลิมเริ่มขึ้นไปสร้างบ้านเรือน ตั้งเป็น หมู่บ้านบางหลวงและมีการสร้างมัสยิดบางหลวงขึ้นในหมู่บ้านนั้น
มัสยิดบางหลวงมีลักษณะเป็นทรงไทยทั้งหลัง มีด้านหน้าประดับด้วยปูนปั้นลายก้านแย่งใบฝรั่งเทศ ดอกพุดตาน กรอบหน้าบันประกอบด้วยเครื่องลำยองประดับห้ามฉายไว้บนยอด ตามซุ้ม กรอบประตูหน้าต่างทุกบ้านประดับปูนปั้นลายเดียวกัน ตัวอาคารส่วนที่เป็นปูนทาสีขาวทั้งหมด
ส่วนที่เป็นไม้ทั้งหมดทาสีเขียว นับได้ว่าเป็นมัสยิดก่ออิฐถือปูนแห่งเดียวในโลกที่เป็นทรงไทย แปลกไปจากมัสยิดอื่นๆ ทั่วไป ที่เป็นทรงไทยผสมกลมกลืนศิลปะจีน ฝรั่ง ที่มาผสมผสานอย่างลงตัวได้อย่างงดงาม ซึ่งตามปกติในภาพที่เคยผ่านตา หรือจากความทรงจำนั้นจะเป็นอาคารรูปโดมสีเขียว มีหอคอย มีสัญลักษณ์ ดาว เดือน เด่นเป็นสง่า
แม้ว่ามัสยิดจะตั้งอยู่ลึกเข้าไปในชุมชนแต่ผู้มาเยือนจะได้รับ ไมตรีจิต การต้อนรับจากชาวชุมชนเป็นอย่างดี
มัสยิดบางหลวง นับเป็นศาสนสถานที่การท่องเที่ยวกรุงเทพ มหานคร จัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวประเภท Unseen in Bangkok
จะเห็นได้ว่าชุมชนกุฎีจีนแห่งนี้ แม้กาลเวลาผ่านล่วงเลยมา แต่กลิ่นอายแห่งอดีตยังคงคุกรุ่นในความรู้สึกของชาวชุมชน โดย ผู้คนที่อาศัยแตกต่างแนวความคิด วิถีชีวิต เชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรมที่แตกต่าง ยังคงพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ยังคงอาศัยการสัญจรทางน้ำ ซึ่งมีท่าเรือที่วัดซางตาครูสและท่าเรือวัดกัลยาณมิตร ไปลงฝั่งพระนครที่ท่าปากคลองตลาด แม้ว่ากำลังจะถูกเบียดเบียน จากกระแสความเจริญที่ถาโถมเข้าสู่ชุมชนทุกเมื่อเชื่อวันก็ตาม แต่สิ่งเหล่านี้กลับก่อให้เกิดการหล่อหลอม ผสมผสานแนวการดำรงชีวิตเป็นเอกลักษณ์ชุมชนที่ไม่มีใครเหมือน
เดือนสิงหาคม เป็นเดือนแห่งวันแม่ ได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่านสื่อต่างๆ ทำให้นึกถึงพระคุณแม่ที่มีมากล้นเหลือคณานับ ตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา การที่จะให้ลูกมีสติปัญญาที่ดี รักการเรียน ทำให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข มีความรักหวังดีต่อลูกเสมอ
โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกินแล้วจะมิมีขาดตกบกพร่องเป็นอันขาด
สมัยก่อนยังไม่มีนมพลาสเจอไรซ์แพร่หลายอย่างทุกวันนี้
ทุกเช้าเครื่องดื่มคือน้ำข้าวใส่นมใส่ไข่ ตับผัดกระเทียมพริกไทยใส่แม็กกี้ ไข่ดาว มะเขือเทศ พร้อมดื่มไมโลหรือโอวัลติน แอตตาไวท์ หรือกลัวลูกๆ จะเบื่อก็จะเปลี่ยนเป็นต้มจืดตำลึง หมูบะช่อกับกุ้ยช่ายผัดตับหมู ซึ่งเต็มไปด้วยธาตุเหล็ก บำรุงเม็ดเลือด เหมาะกับวัยเด็กที่ซุกซน ซึ่งกำลังเจริญเติบโต เสริมกระดูก และฟัน แคลเซียม ฟอสฟอรัสในกุ้ยช่าย
ส่วนอาหารกลางวันแล้วแต่ความสะดวก แต่ต้องมีประโยชน์ ต่อร่างกายเสมอ ใส่ปิ่นโตหิ้วไปทานที่โรงเรียนช่วงพักกลางวัน โตขึ้นมาหน่อยใส่กล่องข้าวอะลูมิเนียมไป เมื่อก่อนพยาธิปากขอระบาดในเด็กๆ มาก วันหยุดถ้าไม่ได้ไปไหน เด็กๆ ทุกคนจะถูกถ่ายยา “บุคแลก” หรือตำมะเกลือ สดคั้นน้ำใส่หัวกะทิ เพื่อถ่ายพยาธิออกมา
ส่วนอาหารเย็นนั้น แม่จะเตรียมพร้อม ทำให้นึกถึงอาหาร การกินที่แม่ชอบทำให้ลูกๆ กินทุกวัน เสน่ห์ปลายจวักเมื่อใครได้มีโอกาสลิ้มลองแล้ว ต้องบอกว่าอร่อยจริงๆ
บรรดาลูกๆ ทั้งเจ็ดของแม่ที่ได้รับมรดกของเรื่องสูตรอาหาร มาเต็มร้อย จะมีพี่สาวคนโต “แอ๊ด” คนที่สาม “อี๊ด” และน้องสาว คนสุดท้อง “แจ๋ว” เก็บมาได้เต็มร้อยทีเดียว
ส่วน 4 คนที่เหลือก็พอจะกล้อมแกล้มทำกินกันอดตาย แต่สามารถสมัครเป็นนักชิม นักติได้อย่างไม่ขัดเขิน
วันนี้ “แอ๊ด” โชว์ฝีมือน้ำพริกตาแดง ส่วน “อี๊ด” จะมาบอก สูตรของแกงคั่วเห็ดเผาะหน่อไม้หวาน ซึ่งหน้าฝนจะหาซื้อมาทำ ได้ไม่ยากนัก
พริกแห้งมีสรรพคุณเป็นเครื่องชูรส ทำให้อยากอาหาร ขยายหลอดลม ขับลมและเหงื่อ ทำให้การไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น
อย่างน้ำพริกตาแดง ผักจิ้มใช้ผักเสี้ยนดอง กุ่มดอง ต้มน้ำ ให้สุก ล้างผักให้สะอาด ใส่น้ำตาลมะพร้าวลงไปเล็กน้อย นำตาก แดด วันสองวันก็ทานได้แล้ว ไม่มีพิษมีภัย หรือทานกับผักสด ผักสวนครัวหลังบ้าน จิ้มกับขมิ้นขาว แตงกวา หรือถั่วฝักยาว มะเขือ อิ่มอร่อยไปได้ 1 มื้อแล้ว โดยไม่ลืมปลาย่างป่นเติมให้ได้รสชาติเข้มข้น
เครื่องปรุง หอม กระเทียม กุ้งแห้ง ปลากรอบ มะขามเปียก พริกแห้งเผา กะปิ น้ำตาลปี๊บ น้ำมะขามเปียก
ส่วนแกงคั่ว ต้องล้างเห็ดเผาะให้สะอาดปราศจากดินทราย ปลอกสับหน่อไม้ให้เป็นเส้น เนื้อหมู ถ้าชอบชะอมใส่ด้วยมะพร้าวคั้นแยกหัว แยกหางกะทิ น้ำตาล น้ำปลา
ส่วนเครื่องแกงจะประกอบไปด้วยหัวหอมเผา กระเทียมเผา ข่า ตะไคร้ ผิวมะกรูด กะปิ และพริกแห้ง
แม้ว่าพ่อแม่ในยุคก่อนจะมีลูกให้เลี้ยงทั้งครอบครัวเป็นสิบ แต่เลี้ยงลูกรอด และเป็นคนดีมีการมีงานทำ อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ด้วยเหตุที่ว่าใช้หลักพอดี พอเพียงในการเลี้ยงลูกนั่นเอง แต่ปัจจุบันแม้ว่าทุกคนทุกครอบครัว จะมีลูกเพียงคนสองคน แต่จะได้ยินเสมอว่าพ่อแม่เลี้ยงลูกเป็นสิบคนได้ แต่ลูกเลี้ยงพ่อแม่คนเดียวไม่ได้ ถูกลูกๆ ทอดทิ้งเป็นข่าวให้เห็นอยู่เสมอ
ฉะนั้นลูกๆ ทุกคนต้องท่องจำ ระลึกถึง และต้องปฏิบัติทำขณะที่พ่อแม่ผู้มีพระคุณยังมีชีวิตอยู่ จะได้ไม่ต้องโหยหาไปทำบุญ หาของชอบอุทิศส่วนกุศลไปให้ ซึ่งได้เพียงสุขทางใจเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น การมีกตัญญูรู้คุณทำให้ทุกคนสุขแบบนิรันดร
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|