|
จิตอาสาสุขทั้งผู้ให้และะผู้รับ
โดย
นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( สิงหาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
"คนส่วนใหญ่อยากทำความดี แต่คนคนหนึ่งจะลงมือทำความดีเป็นเรื่องที่ยาก ถ้ามีปัญหาอุปสรรคมากก็เกิดความท้อใจเลิกทำความดีได้ง่าย และความดีเป็นเรื่องที่สัมผัสได้เฉพาะตน ทำแทนกันไม่ได้"
เป็นคำกล่าวของหลวงตาปพนพัชร์ จิรธัมโม เจ้าอาวาสวัดคำประมง เชิญชวนให้จิตอาสาเข้ามาช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มาพักรักษาตัว ณ อโรคยศาล วัดคำประมง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
หลวงตาเชื่อว่าการเปิดเวทีในการให้คนมาทำความดีอย่างต่อเนื่อง และความดีจากหลายๆ คน จะช่วยเชื่อมโยงและเรียงร้อยกัน ทำให้เป็นกระแสความดียิ่งใหญ่ขึ้น จะดึงดูดให้คนอื่นมาร่วมกันทำความดีได้มากขึ้นไปอีก
อภิรดา นิลาศน์ (ก้อย) วัย 30 ปี เป็นหนึ่งในจิตอาสาที่เข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วย สอนออกกำลังกายด้วยโยคะ เพราะก้อยมีอาชีพเป็นครูโยคะ อยู่ที่โรงเรียนบ้านโยคะอุดร จังหวัดอุดรธานี อยู่ห่างจากสกลนครราว 160 กิโลเมตร
ก้อยมีประสบการณ์ความรู้ความสามารถด้านโยคะ เพราะร่ำเรียนด้านโยคะวิชาการจากสถาบันโยคะวิชาการ มูลนิธิหมอชาวบ้าน และเดินทางไปเรียนโยคะวิชาการที่มหาวิทยาลัยไกรวัลยธรรม เมืองโลนาฟหล้า ประเทศอินเดีย และเข้าอบรมฝึกโยคะสำหรับสตรีมีครรภ์ ณ มหาวิทยาลัยซานตาครูส เมืองบอมเบย์ ประเทศอินเดีย
ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองที่ก้อยได้เดินทางมาวัดคำประมง แต่ละครั้งจะอยู่ประมาณ 2-3 วัน และเป็นความตั้งใจของเธอจะพยายามมาให้ได้ทุกเดือน
ทุกครั้งที่ก้อยมาที่นี่ เธอรู้สึกว่ามีความสุขที่ได้เป็นผู้ให้ เพราะการช่วยเหลือผู้ป่วยให้หันมาออกกำลังกายจะช่วยทำให้ร่างกายผ่อนคลายและแข็งแรง
ความสุขของเธอไม่ได้เกิดจากเป็นผู้ให้อย่างเดียว แต่เธอได้ความสุขกลับมาเช่นเดียวกัน เพราะได้เห็นคนไข้ยิ้มแย้ม และหัวเราะ โดยเฉพาะช่วงเวลาออกกำลังกาย เพราะบางท่าก็ยาก ทำให้ผู้ป่วยบางรายร้องโอดโอย อาจเป็นเพราะว่าผู้ป่วยไม่ได้ออกกำลังกายบ่อย
นอกจากมีกิจกรรมช่วยสอนโยคะแล้ว ก็ยังช่วยเหลืองานอื่นๆ เช่น ด้านประชาสัมพันธ์ จัดอาหารเลี้ยงแขกที่เดินทางมาพบหลวงตา
ในตอนเย็นก้อยก็จะมาร่วมสวดมนต์ ทำวัตรเย็น ฟังเทศน์จากหลวงตา ทำให้เธอรู้สึกจิตใจสงบ
ก้อยเล่าให้ฟังว่า เธอรู้จักวัดคำประมง เพราะเห็นป้ายประกาศเล็กๆ ติดอยู่ที่สนามบินอุดร พูดถึงโครงการ “มาเป็นจิตอาสากันเถอะ เพียงปีละ 1 วัน” (หรือมากกว่า) เธอจึงสนใจและเดินทางมาที่นี่
จิตอาสาที่เดินทางมาวัดคำประมงจะมีหลายประเภท บางรายมาคนเดียว หรือมาเป็นหมู่คณะ มีอาชีพหลากหลาย ตั้งแต่แพทย์ พยาบาล และบุคคลทั่วไปที่มีความรู้เฉพาะด้าน หรือบุคคลมาช่วยงานด้านเอกสาร จดประวัติผู้ป่วยใหม่ รวมไปถึงพูดคุยกับผู้ป่วย และปลูกผักปลอดสารพิษ
แต่วัดยังต้องการความช่วยเหลือบางสาขา เช่น แพทย์ที่มีความชำนาญทุกแขนง พยาบาล นักโภชนาการที่มีความรู้ด้านอาหารบำบัดตามแนว Gerson หรือ Macrobiotics เภสัชกร ผู้ป่วยมะเร็งเก่า ผู้มีประสบการณ์ในการช่วยดูแลผู้ป่วย เป็นต้น
หลวงตากล่าวว่า การเป็นจิตอาสาไม่ติดที่รูปแบบ แต่อาศัยเห็นเป้าหมายร่วมกัน นำความรู้ความสามารถมาลงมือปฏิบัติเลย ประเมินผลที่ความสุขของผู้เป็นจิตอาสา และความสุขของผู้ป่วย
การเดินทางมาของจิตอาสายังคงหมุนเวียนสลับเปลี่ยนกันไป และวัดแห่งนี้ก็ยังเปิดประตูต้อนรับจิตอาสาที่พร้อมจะทุ่มเทแรงกายและแรงใจอยู่เสมอ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|