กฎหมายฟอกเงิน KYC/DCC เรื่องที่สถาบันการเงินต้องรู้จัก

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( สิงหาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

กฎหมายฟอกเงิน KYC/CDD เป็นส่วนหนึ่งของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และกฏหมายดังกล่าวจะเริ่มบังคับให้สถาบันการเงินต้องปรับตัว เพราะสถาบันการเงินเป็นเส้นทางการเงินที่เปิดโอกาสให้เกิดการก่ออาชญากรรม

กฎหมายฟอกเงิน KYC/DCC หรือ Know Your Customer/Customer Due Diligence เป็นส่วนเพิ่มเติมที่ได้รับการแก้ไขใน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน คาดว่าจะมีผลบังคับใช้จริงในปลายปีนี้ หลังจากได้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คนเข้ามาดูแล

สาเหตุที่มีกฎหมายฟอกเงินฉบับเพิ่มเติมขึ้นมา เนื่องมาจากกระบวนการก่อการร้ายระดับสากล หรืออาชญากรรมภายในประเทศได้เพิ่มจำนวนมากขึ้น รวมถึงช่องทางการขโมยข้อมูลที่พัฒนามากขึ้นด้วยการอาศัยเทคโนโลยีทันสมัย ทำให้การขโมยเลขบัตรเครดิตหรือประกันสังคม เกิดขึ้นได้ง่าย

เส้นทางเข้า-ออกของเงินส่วนใหญ่จะผ่านสถาบันการเงินเป็นหลัก ทำให้สถาบันการเงินกลายเป็นช่องทางการก่ออาชญากรรมไปโดยปริยาย

คำว่า KYC หมายถึง กระบวนการตรวจสอบความถูกต้องของบุคคล ส่วน DCC หมายถึง พฤติกรรมการโอนเงิน ฝาก ถอน มีความผิดปกติหรือไม่

กฎหมายดังกล่าวบังคับให้สถาบันการเงินต้องตรวจสอบลูกค้าทุกคนที่เปิดบัญชี เช่น บุคคลธรรมดา นิติบุคคล บุคคล ที่ไม่มีความสามารถตามกฎหมาย (ผู้เยาว์) และองค์กรที่ไม่ใช่นิติบุคคล เช่น ชมรมชุมชน เป็นต้น

และให้นำรายชื่อของผู้ฝากบัญชีเปรียบเทียบกับรายชื่อผู้ก่อการร้ายในบัญชีของรัฐ หรือองค์กรก่อการร้ายภายในและระหว่างประเทศ เช่น UN List, OFAC List, EU List และ AU List

เอกสารที่ธนาคารจะต้องขอจากลูกค้าที่มาเปิดบัญชีเพิ่มเติมนอกจากบัตรประชาชน ธนาคารจะต้องขอข้อมูลอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น บัตรประกันสังคม เลขที่หนังสือเดินทาง ฯลฯ

ลูกค้าต่างชาติ ผู้ที่ไม่ใช่ย้ายถิ่นฐาน จะต้องแสดงเอกสารเปิดบัญชี เช่น หมายเลขหนังสือเดินทาง ประเทศที่ออก หมายเลขประจำตัวคนต่างด้าว

สถาบันการเงินต้องวิเคราะห์แหล่งเงินของลูกค้าได้ จากการประกอบอาชีพว่า มีความผิดปกติอย่างไร และสถาบันการเงิน ทำหน้าที่รายงานความผิดปกติที่เกิดขึ้น และสามารถตรวจสอบบัญชีเงินฝาก บัญชี บัตรเครดิต ตู้นิรภัยหรือการฝากทรัพย์ และข้อมูลของลูกค้าจะต้องเก็บไว้นาน 5 ปี

กรณีลูกค้าไม่ยอมให้ข้อมูลตามที่ธนาคารขอธนาคารมีสิทธิไม่เปิดบัญชีให้กับลูกค้าได้เช่นเดียวกัน เพราะขั้นตอนของการทำ KYC/DCC จะช่วยลดความเสี่ยงสนับสนุนช่องทางการเงินให้กับผู้ก่อการร้าย และรักษาภาพลักษณ์ของสถาบันการเงิน

สถาบันการเงินที่ต้องทำ KYC/DCC ภายใต้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มี 3 หน่วยงานหลัก คือ สถาบันการเงิน บริษัทที่ปรึกษาทางด้านการเงินที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และบริษัทให้บริการ

อีเพย์เมนท์ (e-payment) การให้บริการด้านการเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์

นอกจากองค์กรทั้ง 3 แห่งแล้ว กฎหมายฉบับนี้ยังได้ครอบคลุมอาชีพที่ต้องรายงานธุรกรรมการเงินของลูกค้า แต่ไม่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับ KYC/DCC คือ

1. ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการดำเนินการ การให้คำแนะนำ หรือการเป็นที่ปรึกษาในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับการลงทุนหรือการเคลื่อนย้ายเงินทุนตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินตามมาตรา 13

2. ผู้ประกอบอาชีพค้าอัญมณี เพชรพลอย ทองคำ หรือเครื่องประดับที่ประดับ ด้วยอัญมณี เพชรพลอย หรือทองคำ

3. ผู้ประกอบอาชีพค้าหรือให้เช่าซื้อรถยนต์

4. ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับนายหน้า หรือตัวแทนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์

5. ผู้ประกอบอาชีพค้าของเก่าตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า

6. ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงินตามประกาศกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการประกอบ ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ หรือตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

7. ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่มิใช่สถาบันการเงินตามประกาศกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

8. ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับบัตรเครดิตที่มิใช่สถาบันการเงินตามประกาศกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต หรือตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

9. ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เคาน์เตอร์เซอร์วิสและสบายเพย์

พันตำรวจเอก ดร.สีหนาท ประยูรรัตน์ รองเลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) บอกว่า หลังจาก พ.ร.บ.เพิ่มเติมในส่วนของ KYC/DCC คาดว่าจะมีการประกาศใช้ภาย ในปลายปี

หลังจากนั้นสถาบันการเงินมีเวลา 2 ปี เพื่อติดตั้งระบบข้อมูลติดตามลูกค้า และเมื่อพ้นเวลาดังกล่าวหากสถาบันการเงินใดไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และมีผู้ก่อการร้ายใช้ช่องทางส่งเงินเข้า-ออก สถาบันการเงินจะถูกปรับครั้งละ 500,000 บาท และวันละ 5,000 บาท

แต่ข้อบังคับดังกล่าวเป็นเรื่องใหม่สำหรับสถาบันการเงิน ซึ่งกฎหมายได้เปิดโอกาสให้ขยายติดตั้งระบบออกไปอีก 1 ปี รวมทั้งสิ้นเป็นระยะ 3 ปี

การประกาศใช้กฎหมายฟอกเงินที่มี KYC/DCC มีขั้นตอนละเอียดอ่อนและเข้าใจยาก รัฐจึงต้องการให้สถาบันการเงินได้มีเวลาปรับตัว

การติดตั้งระบบ KYC/DCC จะช่วยทำให้หน่วยงานรัฐร่วมทำงานกับสถาบันการเงินได้ง่ายขึ้น เพราะในปัจจุบันการติดตามเส้นทางการเงินยังเป็นไปลำบาก เพราะจำนวนบัญชีของสถาบันการเงินมีจำนวนมาก และองค์กรหรือบุคคล มีบัญชีหลากหลายต่อ 1 คน

รองเลขาธิการได้อธิบายให้เห็นถึงเหตุการณ์ครั้งล่าสุดเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองที่ผ่านมา ที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้ประกาศให้ปิดบัญชีของนักการเมือง นักธุรกิจ และผู้เกี่ยวข้องจำนวน 152 บัญชี เพื่อตัดท่อน้ำเลี้ยงที่ก่อให้เกิดปัญหาวุ่นวาย

“กระบวนการเข้าไปตรวจสอบบัญชี บุคคลที่เกี่ยวข้องต้องใช้คณะทำงานกว่า 100 คน ทำงานเป็นกะจนถึงเที่ยงคืน และใช้เวลา 1 เดือนในการค้นหาบัญชีเหล่านี้ แต่หากมีซอฟต์แวร์เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดฐานข้อมูล และวิเคราะห์จะทำให้การทำงานเหลือเพียง 1 วัน หรือครึ่งวันเท่านั้น”

แสดงให้เห็นว่าสถาบันการเงินจะต้องลงทุนติดตั้งระบบเทคโนโลยี เพื่อติดตามพฤติกรรมลูกค้า

อย่างไรก็ดี การเร่งให้มีกฎหมาย KYC/DCC เข้ามา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าในฝั่งยุโรป และอเมริกาได้เริ่มบังคับใช้มาระยะหนึ่งแล้ว

โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา เมื่อเกิดเหตุการณ์ถล่มตึกเวิลด์เทรด เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 ได้ประกาศใช้กฎหมาย KYC/DCC ทันที และเรียกว่า Financial Action Task Force: FATF เพราะหลังจากตรวจสอบรายชื่อผู้ขับขี่เครื่องบิน พบว่าไม่มีเลขที่ประกันสังคม ใช้เอกสารปลอมเปิดบัญชี หนังสือเดินทางและวีซ่าออกโดย ประเทศตะวันออกกลาง

เหตุการณ์เวิลด์เทรดได้ชี้ให้เห็นถึงเส้นทางการเงินผ่านสถาบันการเงินของผู้ก่อการร้ายกลุ่มอัลไกด้า สนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายขนาดเล็กต่างๆ ด้วยการให้เงิน เพื่อก่ออาชญากรรม

กฎหมายดังกล่าวทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ปรับเงินสถาบันการเงิน 100 แห่ง จำนวน 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กรณีสถาบันการเงินเปิดบัญชีให้กับกลุ่มบริษัทที่ทำธุรกิจกับกลุ่มฮาร์มัด ประเทศอิสราเอล ซึ่งสหรัฐฯ มองว่ากลุ่มฮาร์มัดเป็นกลุ่มก่อการร้าย

การนำกฎหมาย KYC/DCC มาประกาศใช้ในเมืองไทย เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ไทยยังตามหลังประเทศ มาเลเซีย และสิงคโปร์ได้ประกาศใช้ล่วงหน้าไปก่อนแล้ว

อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลไทยพยายามเร่งให้มีการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวเพิ่มเติม เพราะประเทศไทยถูกระบุให้เป็นประเทศเฝ้าจับตามองของประเทศพัฒนาแล้ว และกลุ่มประเทศ G20 หากรัฐบาลไม่ประกาศใช้กฎหมายอาจจะลำบากในการทำธุรกิจกับกลุ่มประเทศเหล่านี้ในอนาคต

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยได้ประกาศ ใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และมีการปรับปรุงกฎหมาย ให้ทันต่อเหตุการณ์ปัจจุบันมาเป็นลำดับ

พันตำรวจเอก ดร.สีหนาทบอกว่า ตั้งแต่สำนักงานก่อตั้งมาเป็นระยะเวลา 11 ปี สามารถยึดทรัพย์จากการฟอกเงินจำนวน 4,000 ล้านบาท และคาดว่าจะมีปริมาณการยึดทรัพย์เพิ่มมากขึ้นในอนาคต เพราะกระบวนการฟอกเงินมีความซับซ้อน เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอาศัยช่องทางเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต

รองเลขาธิการบอกว่าแม้สถาบันการเงินมีเวลาเหลือ 2-3 ปี แต่ควรเร่งศึกษาเพราะกฎหมายเป็นเรื่องใหม่ และพันตำรวจเอก ดร.สีหนาทในฐานะผู้มีส่วนร่วมในการออกกฎหมายฉบับดังกล่าวยังยอมรับว่าเป็นเรื่องยากมาก

ทวีศักดิ์ แสงทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท แซส ซอฟท์แวร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้จำหน่ายโซลูชั่นด้านป้องกันการฟอกเงิน (Anti-Money Laundering: AML) บอกว่า การติดตั้งเทคโนโลยีรองรับกฎหมาย KYC/DCC จะต้องใช้เวลา โดยเฉพาะสถาบันการเงินขนาดใหญ่ใช้เวลาติดตั้ง 8 เดือน ส่วนสถาบันการเงินขนาดเล็กใช้เวลา 6 เดือน และหลังจากนั้นจะใช้เวลาทดสอบอีก 1 ปี

กฎหมายจะเริ่มประกาศใช้ในปลายปีนี้ ดูเหมือนว่าสถาบันการเงินไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อีก เพราะหากละเลยจะต้องเสียค่าปรับเป็นรายวัน วันละ 5,000 บาท และต้องเสียค่าปรับต่อการโอนเงินเข้า-ออกต่อครั้ง ครั้งละ 500,000 บาท ถือว่าเป็นเงิน ไม่ใช่น้อย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.