หมายเหตุบรรณาธิการ


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

“ผมได้มีโอกาสในชีวิตที่คุยกับผู้หลักผู้ใหญ่มาหลายระดับ ตั้งแต่ระดับอดีตรองนายกรัฐมนตรี นักการเมืองผู้จัดการใหญ่ธนาคาร และคนใหญ่คนโตในวงการธุรกิจหลายสาขาวิชาชีพ ทั้งหมดที่ได้เข้าไปสัมผัสนั้น มีอยู่เพียงไม่กี่คนที่ผมมีความรู้สึกประทับใจ และรู้สึกอบอุ่นที่ได้เข้าใกล้รวมทั้งประเทืองปัญญาผมด้วย และหนึ่งในไม่กี่คนนั้นก็มี นายห้างเทียม โชควัฒนา อยู่ด้วย”

“ผมรู้จักนายห้างเทียมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 และได้มีโอกาสไปนั่งคุยเพื่อขอความรู้ประสบการณ์ในชีวิต แต่แทนที่ผมจะได้พบคนที่จะต้องมีลักษณะใหญ่โต เพราะมีกิจการในเครือหลายสิบบริษัท ผมกลับพบคนที่สมถะ และดูธรรมดาสามัญมาก แต่ในรูปแบบของความธรรมดานั้น ก็ยังดูออกว่าแฝงไว้ด้วยบารมีและความเมตตาธรรม ที่หาได้ยากในสังคมทุกวันนี้ พอจะเรียกนายห้างเทียมได้ว่า เป็นคนที่อยู่ในระดับสูงสุด ที่คืนสู่สามัญได้แล้ว”

“การทำเรื่องของนายห้างเทียมครั้งนี้ เป็นการนำการทำงานของนายห้างตั้งแต่เยาว์วัย จนถึงปัจจุบันมาเล่าให้ฟัง ยิ่งได้ศึกษานายห้างอย่างละเอียดแล้ว ก็พอจะพูดได้ว่า คนคนนี้เป็นคนที่มีแต่สร้างกับสร้าง”

“การสร้างของนายห้างเทียมเป็นการสร้างโดยใช้ไหวพริบปฏิภาณ การเรียนรู้ อย่างไม่หยุดยั้ง การทำงานหนัก สามัญสำนึก และที่สำคัญที่สุด การมีคุณธรรมในการค้าขาย ซึ่งหาได้ยากมากในวงการนี้”

“บทเรียนที่นายห้างเทียมเล่าให้ฟัง และที่ผมสืบเอามามิใช่สิ่งที่จะหากันได้ในโครงการ MBA ที่ไหนไม่ว่าจะเป็น Harvard หรือ WHARTON หรือจากลมปากของคนที่คุยว่า เป็นปรมาจารย์ทางการตลาด หรือจากบรรดาที่ไปนั่งสัมมนากันแล้วยกทฤษฎีโน่นทฤษฎีนี่ขึ้นมาว่ากัน แต่การตลาดของนายห้างเทียมคือ ผลงานของการที่เด็กหนุ่มส่งของโชวห่วยในตรอกอาเนยเก็ง ทรงวาด ได้สร้างขึ้น แล้วกล้างัดข้อกับบริษัทข้ามชาติ เช่น คอลเกตปาล์มโอลีฟ กับลีเวอร์บราเธอร์โดยที่ตัวเองไม่มีการศึกษาอะไรเลย”

“ผลงานอันนั้นคือ ยอดขายของกลุ่มเครือสหพัฒน์ที่ผมคิดว่า มีมูลค่าหลายพันล้านบาทต่อปี ในจำนวนบริษัทร่วม 70 บริษัท ที่เกิดขึ้นจากคนที่เคยทำงานแบบจับกังแบกของให้กับเตี่ยและอาเมื่อ 50 กว่าปีก่อน”



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.