|
วิถีชีวิตใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นใน “เวียงจันทน์”
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( สิงหาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
คนเวียงจันทน์ทุกวันนี้กำลังปรับตัวเข้าสู่วิถีชีวิต “คนเมือง” ที่เต็มไปด้วยความยุ่งเหยิง เร่งรีบ อันเนื่องจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ถนนไกสอน พมวิหาน ทั้งยามเช้าและช่วง 4-5 โมงเย็น เป็นช่วงที่มีรถราวิ่งกันอย่างขวักไขว่ สี่แยกไฟแดงบนถนนเส้นนี้ ช่วงก่อนเข้าถึงประตูไชย รถเริ่มติดเป็นแถวยาว อาจต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ไฟแดง จึงจะผ่านได้
เช่นเดียวกับถนนล้านช้าง ช่วงเมื่อผ่านจากประตูไชย มุ่งหน้าสู่ตลาดเช้า หรือเมื่อเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนนสามแสนไท เพื่อมุ่งหน้าไปยังสนามบินนานาชาติวัดไต การจราจรก็ไม่แตกต่างกัน
จำนวนรถที่มากขึ้น จนเนื้อที่ถนนไม่สามารถรองรับได้ทัน ก่อให้เกิดการจราจรติดขัด รวมถึงการก่อสร้างโครงการต่างๆ ที่ปรากฏขึ้นเป็นดอกเห็ด เป็นปรากฏการณ์ปกติของเมืองที่กำลังมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง
“นครหลวงเวียงจันทน์” เมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) กำลังเผชิญสถานการณ์นี้
อาจเรียกได้ว่าทุกวันนี้ถนนแทบจะทุกสายในนครหลวงเวียงจันทน์กำลังมีการก่อสร้างเกิดขึ้นเป็นระยะ ทั้งการสร้างบ้าน สร้างตึกแถวขนาดเล็กไปจนถึงก่อสร้างโครงการ หรืออาคารขนาดใหญ่
โครงการใหญ่ที่สุดคือการก่อสร้างกำแพงกันตลิ่ง และปรับทัศนียภาพริมฝั่งแม่น้ำโขงตลอดแนวทางฝั่งทิศใต้ถนนฟ้างุ่ม ซึ่งเป็นถนนเลียบชายโขงของเวียงจันทน์
โครงการนี้ได้รับสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากองค์การพัฒนาเศรษฐกิจเกาหลี (EDCF) เป็นวงเงินถึง 35.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,182 ล้านบาท) เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว (2552) คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2556
คนที่ไปเดินเที่ยวริมโขงในนครหลวงเวียงจันทน์ยามนี้ นอกจากจะเห็นภาพของถนนฟ้างุ่มที่รถราเริ่มแน่นขนัดแล้ว ยังต้องเผชิญกับฝุ่นจำนวนมากจากการถมทรายที่ปลิวมาเป็นระยะๆ
(อ่านเพิ่มเติมได้จากเรื่อง “การสร้างบ้านแปงเมืองอย่างมีนัยสำคัญของลาว” นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2552 หรือใน www.gotomanager.com)
ปรากฏการณ์นี้สามารถมองได้ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ
สำหรับคนที่ชื่นชมวิถีชีวิตที่เงียบสงบของ สปป.ลาว อาจมองอย่างมีอคติว่าพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ขยายตัว โดยเฉพาะเมื่อระบบทุนนิยมก้าวรุกเข้ามาในพื้นที่จะทำลายวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของคนลาว
นั่นคือความสมถะ รักสงบ อยู่อย่างพอเพียง สำหรับอีกหลายคน วิถีชีวิตคนเมืองนำมาซึ่งความสะดวกสบาย ความทันสมัยเมื่อหลายปีก่อนคนในเวียงจันทน์ได้แต่มองดูจากโทรทัศน์
โดยเฉพาะกับคนลาวรุ่นใหม่
และเฉพาะอย่างยิ่งกับ lifestyle ในเรื่องของอาหารการกิน
ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ชาวเวียงจันทน์ได้มีโอกาสลิ้มลองรสชาติอาหารฟาสต์ฟู้ดชื่อดัง “เดอะ พิซซ่าคอมปานี” ที่มาเปิดสาขาพร้อมกับร้านไอสกรีมสเวนเซ่นส์ ซึ่งตั้งอยู่ตรงหัวมุมด้านขวาของลานจอดรถหอวัฒนธรรมบนถนนสามแสนไท เยื้องๆ กับโรงแรมลาวพลาซ่า
ผู้ที่ซื้อลิขสิทธิ์แฟรนไชส์ของทั้ง 2 ร้านนี้ จากบริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนลเข้ามาเปิดสาขาในนครหลวงเวียงจันทน์ คือบริษัท RMA Laos บริษัทในเครือ RMA Group ซึ่งเป็นบริษัทผู้จัดจำหน่ายยานยนต์ เครื่องจักรกลในอุตสาหกรรมหนัก และการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีฐานอยู่ในสหรัฐอเมริกา แต่มีเครือข่ายกระจายออกไปกว่า 100 ประเทศทั่วโลก
สำหรับใน สปป.ลาว RMA Group คือผู้ที่นำรถยนต์ยี่ห้อฟอร์ดเข้ามาเปิดตลาด โดยการร่วมทุนกับนักธุรกิจท้องถิ่น (ดูรายละเอียดได้ที่ www.rmagroup.net)
ทั้งร้านเดอะ พิซซ่า และร้านไอสกรีมสเวนเซ่นส์ได้รับการตอบรับอย่างดีจากคนเวียงจันทน์
ล่าสุดเมื่อปลายเดือนมิถุนายน บนถนนฟ้างุ่ม ถนนเลียบชายโขงของเวียงจันทน์ แฟรนไชส์ไก่ทอดชื่อดัง KFC ได้เริ่มทดลอง ตลาดใน สปป.ลาว โดยการเปิดสาขาแห่งแรกขึ้นในห้องแถวเพียง 1 คูหา
ถือเป็นการเปิดตัวเป็นครั้งแรกของแบรนด์ฟาสต์ฟู้ดจากฟากตะวันตกในดินแดนที่เงียบสงบแห่งนี้
แม้ว่าก่อนหน้านี้ในเวียงจันทน์จะมีร้านอาหารจากหลากหลายเชื้อชาติ โดยเฉพาะร้านอาหารฝรั่งเศส หรืออิตาเลียน แต่ร้านเหล่านี้เป็นลักษณะที่เจ้าของร้านซึ่งเป็นชาวตะวันตกเข้ามาเปิดร้านอาหารเพื่อให้บริการแก่ชาวตะวันตกด้วยกัน ที่มาเที่ยว ทำงาน หรือทำธุรกิจอยู่ในลาว
มิใช่ลักษณะแฟรนไชส์ที่มุ่งตลาดไปยังคนท้องถิ่น เหมือนการเข้ามาเปิดสาขา ของร้าน KFC แห่งนี้
นอกจากเดอะ พิซซ่า ไอสกรีม สเวนเซ่นส์ และ KFC แล้ว อีกไม่นานนี้ ชาวเวียงจันทน์จะได้มีโอกาสลิ้มลองรสชาติ ของแฮมเบอร์เกอร์ชื่อดัง อย่าง McDonald ซึ่งได้ขึ้นป้ายประกาศตัวอย่างชัดเจนแล้วว่า กำลังจะเข้ามาเปิดสาขาอยู่ในศูนย์การค้ายูดี ทาวน์ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง
รถติด การก่อสร้าง รวมถึงการเข้ามาของแฟรนไชส์ฟาสต์ฟู้ดชื่อดัง ถือเป็นสัญลักษณ์ของเมืองใหญ่ ที่คนเวียงจันทน์ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อีกแล้วในช่วงนับจากนี้
วิถีชีวิตใหม่ๆ กำลังเริ่มต้นขึ้น ณ นครหลวงเวียงจันทน์
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|