|
CEO กวิน กาญจนพาสน์ “Exclusive” BTS Assets
โดย
สุปราณี คงนิรันดรสุข
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( สิงหาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
บนชั้น 14 ของตึก TST กวิน กาญจนพาสน์ (Kavin Kanchapas) ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่ช่วยคีรีดูแล 3 ธุรกิจหลัก คือ 1. ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 2. ธุรกิจโรงแรมและการบริหารโรงแรม และ 3. ธุรกิจบริการรวมถึงรับเหมาก่อสร้าง โดยแต่ละธุรกิจจะมีการร่วมทุนกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญชำนาญการ
“เควินเขาออกมาทำงานในช่วงที่เราแย่ที่สุด เราสองคนพ่อลูกเหมือนสหายร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กัน และผมก็สบายใจว่าไม่ได้ทำคนเดียว เขาเหมือนผม ไลฟ์สไตล์ใกล้เคียงกัน ชอบรถ ชีวิตวัยเด็กผู้ชายของผมกับเขาก็เหมือนกัน แต่เขารอบคอบและ conservative มากกว่าผม ตอนนี้ผมให้เขาดูแลเรื่องพร็อพเพอร์ตี้ทั้งหมด” คีรีเล่าให้ฟัง
ตั้งแต่กวินเข้ามาทำงานบริหารดูแลกิจการธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในนามบริษัท BTS Assets ที่เกิดขึ้นในโครงสร้าง BTS ใหม่ หลังการฟื้นฟูและควบรวมกิจการระหว่างธนายงและ BTS เขาได้พยายามตั้งเข็มทิศธุรกิจด้วยคอนเซ็ปต์ Exclusive+ ศักยภาพของ BTS ที่สร้างโอกาสทางรายได้ให้เกิดขึ้นกับ BTS Assets ซึ่งมีแลนด์แบงก์รอการพัฒนาราวๆ สามพันไร่ แบ่งเป็นสองประเภทโครงการคือ โครงการประเภทที่ตั้งอยู่ตลอดแนวรถไฟฟ้า BTS ซึ่งถือเป็นการลงทุนหลัก และโครงการประเภทนอกแนว BTS เช่น ธนาซิตี้ที่เพิ่งฟื้นตัวและรอการปรับให้เป็นสปอร์ตคลับหรูให้เป็นจุดเปลี่ยนเพิ่มมูลค่าโครงการ
“สมัยคุณพ่อทำธนาซิตี้เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว อาจจะมีคู่แข่งเยอะแต่ไม่เป็นมืออาชีพมาก พอคุณพ่อใช้เวลาสร้างคอนเซ็ปต์บ้านสมัยใหม่เป็นคนแรก ถัดมาวันสองวันก็มีคนทำตามแล้ว อันนี้ผมไม่ชอบที่สุดเลย ผมต้องการทำธุรกิจที่เป็น Exclusive มากกว่า เพราะอยู่ได้นาน ไม่มีคู่แข่ง เราจะเอาความเป็น exclusive มาเสริมธุรกิจ property” กวินย้ำถึงแนวคิดทำธุรกิจรุ่นใหม่
ธุรกิจหลักที่กวินถือว่า exclusive mass transit รายเดียวคือรถไฟฟ้า BTS เป็นระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพที่คนกรุงเทพฯ ย่านใจกลางเมืองต้องการใช้บริการ ดูจากสถิติรายงานจำนวนผู้โดยสารรถประจำทางต่อวันในปี 2535 เท่ากับ 4.07 ล้านคนและลดลงเป็น 1.6 ล้านคน ในปี 2551 หรือลดลงเฉลี่ยปีละ 5.6% เพราะคนกรุงเทพฯ หันไปใช้ระบบรถไฟฟ้ามากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ กวินได้นำเอาศักยภาพความเป็น Exclusive จาก BTS ไปต่อยอดและสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดที่จับต้องได้ให้เกิดกับโครงการของ BTS Asset ที่อยู่ตามแนวรถไฟฟ้า ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาในปัจจุบัน โดยสองโครงการที่กำลังก่อสร้างคือ โครงการคอนโดมิเนียม Abstracts พหลโยธินกับสุขุมวิท 66/1 และโครงการโรงแรม Four Points by Sheraton ใกล้สถานีสุรศักดิ์
สำหรับโครงการยักษ์ใหญ่ คอนโดมิเนียมระดับพรีเมียมอย่าง “Abstracts พหลโยธิน พาร์ค” สูง 34 ชั้น 3 อาคาร มูลค่าลงทุนเกือบหมื่นล้านบาท ที่ใช้เงินทุน หมุนเวียน 2,000 ล้านบาท สำหรับการ renovation หลังจากซื้อสินทรัพย์อาคารและที่ดิน 22.5 ไร่ที่เคยเป็นของแนเชอรัลพาร์คมาจาก บสท.
“เราลงทุนปรับปรุงก่อสร้างตึกคอนโดมิเนียม Abstracts ตึกแรกกับที่จอดรถประมาณ 2-3 พันล้านบาท ถ้ารวมสามตึกก็ประมาณห้าพันล้านบาท แต่ถ้าคิดเฉพาะรายได้ที่คาดว่าจะได้จากตึกนี้ตึกเดียวก็ประมาณ 3,200 ล้านบาทแล้ว” กวินคาดการณ์การลงทุนเพื่ออนาคตของธุรกิจที่จะเกิดขึ้น
จุดขายที่โดนใจลูกค้าคือ ทำเลที่ตั้งคอนโดมิเนียมใกล้สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินและอยู่ในแนวรถไฟฟ้าสีเขียวส่วนต่อขยายด้วย แต่จุดแตกต่างที่ดึงดูดใจ ลูกค้าทั้งนักลงทุนและรายย่อยที่ซื้อคอนโดมิเนียม Abstract คือได้สิทธิสมาชิกสมาร์ทการ์ด Abstracts ใช้รถไฟฟ้าฟรีสิบปี ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการและไลฟ์สไตล์ของคนเมือง (City Solutions) อย่างตรงประเด็น ถือเป็นกลยุทธ์ส่งเสริมการตลาดของคอนโดมิเนียมระดัมพรีเมียมที่คู่แข่งไม่มี
เช่นเดียวกับโครงการ Abstracts สุขุมวิท 66/1 ตั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าอุดมสุข ที่มีลักษณะเป็นคอนโดมิเนียมสูง 5 ชั้น จำนวน 4 อาคาร แต่ละอาคารคั่นด้วยสระว่ายน้ำ ราคาตารางเมตรละ 75,000 บาท
“คำว่า Abstracts เป็นเรื่องที่เรารู้สึกได้โดยเราจะไม่ตั้งชื่อต่อท้ายด้วยแลนด์ แต่อยากให้ลูกค้าเข้าใจว่า เราให้สิ่งที่เป็น infinity นอกจากความเป็น exclusive ในสิทธิประโยชน์เดินทางด้วย BTS สิบปี ตัวการ์ดจะเป็นตัวเชื่อมโยงลิงค์สมาชิกของเราเป็น Abstracts Citizen เราจะมีคลับมี social network เว็บไซต์และกิจกรรมพาเที่ยว นอกจากนี้ผมยังติดต่อคุยกับเทสโก้โลตัสและบิ๊กซี เพื่อให้สมาชิกเราซื้อของใช้ประจำวันได้ลดราคามากกว่าคนอื่น”
นี่คือ Abstracts Card ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์บริการทางการเงินหนึ่งของบริษัทสมาร์ทการ์ด BSS (Bangkok Smart System) ที่แบงก์กรุงเทพร่วมถือหุ้น 10% และมี Point of Sales ของแบงก์ที่ใช้ได้ทันที 2 หมื่นกว่าจุด ขณะนี้มีสมาชิกสมาร์ท การ์ดประมาณ 2 ล้านคนแล้วและการ์ดนี้สามารถใช้ระบบตั๋วร่วมระหว่าง BTS+รถใต้ดิน MRT+รถด่วนพิเศษ BRT ที่ขยายไปสู่การซื้อของนอกกลุ่ม BTS ได้ด้วยในปีหน้า หลังจากมีแผนลงทุนระบบสมาร์ทการ์ดของ Abstracts อีก 8 ร้อยล้านบาท
“หลังเปิดตัวเป็นทางการ 16 กรกฎาคมนี้แล้ว เราจะมีลูกค้าสามกลุ่มเข้าคือ กลุ่มแรกคือ-end user ที่พักอาศัยอยู่จริง สอง-กลุ่มนักลงทุน investor ที่นิยมลงทุนซื้อคอนโดมิเนียม แนวรถไฟฟ้าจำนวนห้องเยอะๆ แล้วปล่อยให้เช่า และสาม-กลุ่มเจ้าของที่ดินโครงการขนาดเล็กใกล้แนวรถไฟฟ้า ที่ขาด marketing tools และต้องการใช้ brand value ของ ‘Abstacts’ ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าได้ เช่นเดิมอาจจะขายได้แค่ตารางเมตรละ 65,000 บาทแต่พอใส่แบรนด์ ‘by Abstract’ เข้าไปอาจจะขายได้ 75,000-80,000 บาทเพราะเรามีโฆษณาและสิทธิประโยชน์ขึ้นรถไฟฟ้า BTS ฟรีสิบปีเข้าไปช่วย” กวินเล่าให้ฟังถึง brand value
ความจริง การบริหารงานสินทรัพย์เชิงความคิด exclusive ของกวิน ได้ปรากฏอยู่ในธุรกิจบริการ Services เช่น การบริหารจัดการบูติกโฮเต็ล U Hotel ที่เชียงใหม่ที่เขาลงทุนไปร้อยล้านกว่าบาท และให้บริษัท Absolute Hotel Services ซึ่งถือหุ้นร่วมกันกับกลุ่มของโจนาธาน อดีตผู้บริหารไมเนอร์กรุ๊ป เป็นผู้บริหาร
เป็นเรื่องน่าสังเกตว่า กวินมักเลือกซื้อและเป็นเจ้าของที่ดินโบราณที่มีเรื่องราวประวัติศาสตร์ยาวนานนับร้อยๆ ปี โดยคำแนะนำและคอนเนกชั่นของสุธรรม ศิริทิพย์สาคร สถาปนิกนักบริหารมืออาชีพที่ทำงานให้กับคีรีมาตั้งแต่แรกเริ่มธนายงกรุ๊ปจนถึงปัจจุบัน “ปกติเวลาเขาส่งข้อมูลมาให้มีโรงแรมอะไรเกิดขึ้น เราจะไม่ค่อยไปดู แต่วันนั้นเราไปดูโดยรถตู้สองคันไปดูกันหมด ผมชอบ ก็เลยซื้อโรงแรมเล็กๆ บนเนื้อที่ห้าไร่นี้ เนื่องจากที่นี่มีเรื่องราวของต้นไม้โบราณต้นนี้ต้นเดียว เหมือนกับที่ U Hotel เชียงใหม่ที่มีเรือนโบราณร้อยปีที่เจ้าเมืองสร้าง” กวินเล่าให้ฟังถึงที่มาของโรงแรมอิน-จันมูลค่า 50 ล้านบาท ซึ่งจะเปิดสิ้นปีนี้ ที่ตรงนี้มีความพิเศษคือ เป็นที่ตั้งของต้นไม้โบราณ “อินจัน” อายุสองร้อยปี แต่ละกิ่งก้านมีสองสีคือสีเหลืองและเขียว
อีก 7 ปี กวินก็จะอายุครบ 40 ระยะเวลาแปดปี เขาต้องพิสูจน์ศักยภาพในฐานะซีอีโอคนรุ่นใหม่ของ BTS สามารถนำ BTS Asssets สู่ความเป็นผู้นำธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างมั่นคงและ exclusive ได้ดังมุ่งหมายหรือไม่?
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|