|
กันตรึม...เสียงดนตรีแห่งอีสานใต้
โดย
ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย ยงยุทธ สถานพงษ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( สิงหาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ลักษณะเฉพาะของอีสานใต้ในเขตสุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ คือเป็นพื้นที่ที่มีชาติพันธุ์มอญ-เขมร อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก พวกเขามีภาษาและดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยส่งผลผลิตของกันตรึม ในนาม “ร็อคคงคย” วางตลาดทั่วประเทศมาแล้วเมื่อเกือบ 20 ปีก่อน และยังคงมีธุรกิจขายเสียงที่ทำตลาดท้องถิ่นในประเทศเพื่อนบ้านและตลาดที่ไกลถึงแคนาดา อเมริกา อย่างต่อเนื่องเงียบๆ มาถึงปัจจุบัน
“กันตรึม” เป็นบทเพลงที่ใช้เนื้อร้องภาษาเขมรที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ด้วยท่วงทำนองดนตรีจากจังหวะตรัวหรือซอ ที่คึกคักและสนุกสนานเร้าใจ แต่บางช่วงบางตอนของจังหวะดนตรีก็สามารถแสดงถึงความนิ่งสงบ และแฝงด้วยจิตวิญญาณของกลุ่มคนไทยเชื้อสายเขมรที่สืบทอดมายาวนาน
ไพโรจน์ โสนาพูน เจ้าของ “ไพโรจน์ซาวด์” วัย 46 ปี คือผู้สร้างตำนานร็อคคงคย ให้คนรู้จักในวงกว้างว่ากันตรึมคืออะไร วันนี้เขายังทำธุรกิจเพลงกันตรึม แม้ว่าชีวิตที่ผ่านมาของเขามีจังหวะหลากหลายที่ไม่แพ้เพลงกันตรึมเลยทีเดียว
ไพโรจน์เริ่มต้นอาชีพจากการเป็นช่างซ่อมวิทยุและเครื่องเสียง ก้าวเข้าสู่ธุรกิจผลิต เพลงกันตรึมขายด้วยทุน 1,000 บาท ที่ได้จากการเก็บออมจากการซ่อมวิทยุ ว่าจ้างศิลปิน ที่รู้จักมาบันทึกเสียงในห้องอัดเล็กๆ ที่ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ใส่ตลับต้นทุน 10 บาท ออกวางขาย หลังจากเกิดแรงบันดาลใจจากการเห็นลูกค้าจำนวนมากรุมซื้อเทปเพลงกันตรึมในร้านค้าในงานช้างเมืองสุรินทร์
“เงินแค่นั้นทำอะไรไม่ได้มาก ซื้อเทปเปล่าเช่าเครื่องเสียงครั้งละ 300 จ้างคณะกันตรึม บันทึกเสียง 2-3 วัน ตอนนั้น ผมขายตลับละ 50 บาท ปี 2530 ปีแรกที่เริ่มบันทึกเสียงและเปิดแผงของตัวเองที่อำเภอปราสาท ผมขายได้ไม่ถึงร้อยม้วน” ไพโรจน์เล่าถึงช่วงเริ่มต้นธุรกิจ ซึ่งเขาก็ยังสู้ทนทำสิ่งที่ชอบต่อไป
“ผมอัดเป็น 100 ชุด ที่ไม่ประสบความสำเร็จ จนมีชุดยอดรัก โคกนาสาม ที่ทำยอดขายได้ 1,000 ม้วนต่อปี ดีใจมาก จุดประกายทำให้เรามีกำลังใจสู้”
จากยอดรัก โคกนาสาม ไพโรจน์เดินหน้าบันทึกเสียงกันตรึม ออกขายเดือนละ 1-2 ชุด แต่ก็ไม่มีชุดไหนที่ได้รับความนิยมอีก เป็นคนอื่นคงเลิกไปทำอย่างอื่น แต่ไพโรจน์ไม่ยอมเลิกจากธุรกิจที่เขารัก ซ้ำยังเฝ้าหาคำตอบว่าทำไมผลงานของเขาขายไม่ได้ แต่คนฟังยังฟังของคนอื่น นั่นแสดงว่าสินค้าของเขาต้องมีข้อเสียอะไรสักอย่าง
“ตอนแรกผมคิดแค่อยากได้เงิน แต่การที่จะอยากได้เงินของเขา มันไม่ใช่เรื่องง่าย เราต้องศึกษาศาสตร์เพลงตรงนั้นด้วย ของแต่ละพื้นที่ เป็นการศึกษาไปในตัวว่าเพลงพื้นบ้านเป็นแบบไหน จากนั้นเราศึกษาจังหวะจะโคน และธรรมชาติของเพลงแต่ละชุมชนว่ามันเป็นแบบนี้ เป็นเพลงพื้นบ้านนั้น ซึ่งยอดก็กระเตื้องขึ้นมาอีกนิดหน่อย” ไพโรจน์เล่าถึงผลลัพธ์หลังจากทำการวิเคราะห์สินค้าของตัวเอง โดยตระเวนดูการเล่นดนตรีสดและศึกษาอย่างจริงจัง ก่อนบันทึกเสียง
เมื่อเริ่มเข้าใจดนตรี เขาก็หันมาศึกษาระบบเสียง ทำอย่างไรที่จะอัดเสียงแล้วได้อารมณ์เพลงอยู่ครบเต็มร้อยไม่ใช่แค่ 10-20% ซึ่งเป็นจุดอ่อนของระบบอัดเสียงที่เขาพลาดมา ส่วนนี้เป็นการเรียนรู้เรื่องเทคนิคล้วนๆ ว่าทำอย่างไรระบบเสียงจะชัดใส ไมค์ต้องดี สัญญาณต้องชัด ไม่ใช่แค่อัดๆ ไปอย่างที่แล้วมา
ปี 2535 ไพโรจน์ซาวด์ก็ประสบความสำเร็จจากชุดร็อคคงคย ทำให้คนรู้จักดนตรี กันตรึม เพราะวางจำหน่ายทั่วประเทศกับค่ายอาร์เอส
“ผมใช้เวลา 5 ปี กว่าจะเป็นที่รู้จักมักคุ้นกับคนในวงการเพลงกันตรึม ใช้เวลากว่า 10 ปี กว่าจะย้ายมาตั้งหลักแหล่งอย่างจริงจังในตัวเมืองสุรินทร์ ก่อนจะมาเจอวิกฤติในปี 2540”
เรียกว่าพอจะเริ่มไปได้ดีก็มีวิกฤติเข้ามาแทรก แต่จนถึงวันนี้ไพโรจน์ก็ยังยึดมั่นใน ธุรกิจที่เขารัก โดยกลับจากวิกฤติมาแบบฮึดสู้ โดยมีธุรกิจห้องบันทึกเสียงและร้านจำหน่าย เพลงส่วนตัวเล็กๆ ในเมืองสุรินทร์ เป็นที่รู้จักในพื้นที่อีสานใต้ทั้งสุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ ผลงานจากห้องบันทึกเสียงของเขาบางส่วนถูกส่งข้ามไปยังกัมพูชา แคนาดา และสหรัฐ อเมริกา ในชุมชนเชื้อสายเขมรที่อพยพไปตั้งรกราก แต่ผลตอบรับก็ไม่ได้เป็นกอบเป็นกำ เพราะโดนทั้งการละเมิดลิขสิทธิ์ไม่ต่างจากเพลงของค่ายยักษ์ใหญ่ ส่วนที่ส่งขายในประเทศไกลๆ ก็เป็นรูปแบบช่วยกันเผยแพร่มากกว่าจะทำตลาดจริงจัง
แต่สิ่งหนึ่งที่ไพโรจน์ภูมิใจซึ่งอาจจะมากกว่าความสำเร็จเล็กน้อยที่ธุรกิจเลี้ยงตัวเองอยู่ในวันนี้ ก็คือการทำให้บทเพลงกันตรึมจากอีสานใต้ ดังไกลและเป็นที่รู้จักทั่วประเทศและต่างประเทศ
รวมทั้งการเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมพื้นบ้านให้ยังคงแทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตของเศรษฐกิจยุคใหม่ของอีสานใต้ได้สืบไป
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|