|
Manifesto II
โดย
ภก.ดร. ชุมพล ธีรลดานนท์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( สิงหาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
Manifesto องก์ที่หนึ่งมีอันต้องจบลงไปอย่างกะทันหันก่อนเวลาอันควรด้วยการประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ Dr.Yukio Hatoyama ภายหลังชัยชนะของพรรค Democratic Party of Japan (DPJ) ที่เพิ่งพลิกกลับขั้วทางการเมืองได้เพียง 8 เดือนเท่านั้น
แม้ว่าผลงานเด่นในช่วงสั้นๆ ที่ผ่านมา ยกตัวอย่างการตรวจสอบงบประมาณประจำปีกันอย่างเข้มงวดรวมถึงการหั่นทอนค่าใช้ จ่ายของภาครัฐที่เกินความจำเป็นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นโยบายลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 25% ภายในปี 2020 เป็นต้น ซึ่งได้ปรากฏต่อสายตาสาธารณชนไปแล้วนั้นแต่ก็มีภารกิจอีกหลาย อย่างที่ยังรอการสะสางหรือกำลังอยู่ในขั้นดำเนินการเช่นการปรับลดราคาค่าทาง ด่วนลงอีก ปัญหาเงินบำนาญ โดยเฉพาะปัญหาการย้ายฐานทัพของสหรัฐอเมริกาออกจากเกาะโอกินาวา ซึ่งเป็นเสมือน ระเบิดเวลาที่ตั้งขึ้นโดยนายกรัฐมนตรี Hatoyama
ครั้นสืบย้อนกลับไปในช่วงสงครามเย็นนั้นเกาะโอกินาวาและหมู่เกาะใกล้เคียงที่สหรัฐอเมริกา ยึดมาได้แต่ครั้ง Battle of Okinawa ใน ปี 1945 ก่อนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในการรักษาแสนยานุภาพทางการทหารในภูมิภาคตะวันออกของทะเลจีน และมหาสมุทรแปซิฟิกเพื่อปิดกั้นการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์และคานอำนาจ กับสหภาพโซเวียตบนคาบสมุทรเกาหลี ในขณะเดียวกันก็คอยให้การสนับสนุนไต้หวัน
แต่ก่อนที่ชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กและคนชราที่เหลืออยู่เพียงหยิบมือจากการรุกรานในช่วง 82 วันบนเกาะแห่งนี้จะได้รับการช่วยเหลือนั้นรอยแผลลึกภายหลังสงครามถูกเปิดให้กว้างขึ้นไปอีกด้วยสิ่งปลูกสร้างถาวรของกองกำลังสหรัฐฯ ที่ลงหลักปักฐานบนเกาะโอกินาวาได้ตามอำเภอใจ
กลายเป็นตราบาปประทับอยู่ในจังหวัดโอกิ นาวา ซึ่งมีพื้นที่ไม่ถึง 1% ของประเทศแต่กลับมีฐานทัพอเมริกันตั้งอยู่ถึง 14 แห่งคิดเป็นสัดส่วน 5% ของกองกำลังทหารสหรัฐฯ ทั้งหมดภายในญี่ปุ่น
กระทั่งในปี 1972 สหรัฐอเมริกาส่งมอบเกาะโอกินาวาและหมู่เกาะข้างเคียงคืนสู่ญี่ปุ่นภายใต้เงื่อนไขของสนธิสัญญาความร่วมมือและความปลอดภัยทวิภาคีระหว่างสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น (Treaty of Mutual Cooperation and Security between the United States and Japan) ซึ่งในเนื้อความมิได้ลงลายลักษณ์อักษรว่ากองกำลังสหรัฐอเมริกาจะเข้าปกป้องญี่ปุ่นหากถูกรุกราน เพียงแต่สหรัฐอเมริกาสามารถคงฐานทัพทั้ง 3 เหล่าทัพไว้ได้บนเกาะโอกินาวา เพื่อรักษาสันติภาพ ในเขตมหาสมุทรแปซิฟิก
มลภาวะทางเสียง อาทิ จากฐานทัพอากาศ Futemma ซึ่งมีรันเวย์อยู่ท่ามกลางแหล่งชุมชน, จำนวนอุบัติเหตุและอาชญากรรมที่ก่อโดยทหารอเมริกันซึ่งประจำการอยู่บนเกาะโอกินาวา มีให้เห็น อยู่เนืองๆ โดยเฉพาะกรณีทหารอเมริกัน 3 นายลักพาตัวเด็กหญิงอายุ 12 ปีไปกระทำชำเราแล้วหนีกลับเข้าฐานทัพซึ่งถือเป็นเขตพื้นที่ของประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 1995 ที่ซ้ำร้ายก็คือทางการญี่ปุ่นไม่สามารถดำเนินคดีได้โดยตรงแม้จะทราบตัวคนร้ายก็ตามที ซึ่งไม่ผิดแผกไปจากการเสียสิทธิ สภาพนอกอาณาเขตในยุคดิจิตอล อีกตัวอย่างหนึ่ง ที่เป็นข่าวก็คืออุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ของทหารอากาศสหรัฐฯ ตกลงกลางมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งบนเกาะโอกินาวา ในปี 2004
คดีอุกฉกรรจ์นอกเกาะโอกินาวาก็มีให้เห็นเป็นระยะ เช่นกรณีที่เพิ่งเกิดเมื่อเร็วๆ นี้ที่ทหารอเมริกันฆ่าคนขับรถแท็กซี่ซึ่งจ้างวานจากแหล่งท่องเที่ยวยามราตรีของกรุงโตเกียวมาส่งที่ฐานทัพของสหรัฐฯ ในเมือง Yokosuka เพียงเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าโดยสาร
แม้ว่าในปี 1996 รัฐบาลทั้งสองประเทศได้ตกลงร่วมกันที่จะย้ายฐานทัพออกไปจากเกาะโอกินาวาภายใน 7 ปีแต่ได้เกิดเหตุวินาศกรรมตึก World Trade Center ที่นิวยอร์ก เมื่อปี 2001 ขึ้นเสียก่อน ซึ่งถูกนำมาอ้างในเรื่องความปลอดภัย ภายในภูมิภาคส่งผลให้การดำเนินการตามข้อตกลงดังกล่าวถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด
กระนั้นก็ตาม ความสงบสุขบนเกาะโอกินาวา โดยปราศจากทหารอเมริกันกลับมาเป็นความหวังที่ลุกโชนขึ้นอีกครั้งเมื่อพรรค Social Democratic Party (SDP) ชูประเด็นการเจรจาย้ายฐานทัพสหรัฐฯ ออกจากเกาะแห่งนี้ซึ่งได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนชาวโอกินาวาอย่างท่วมท้นใน การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อคราวล่าสุดและในเวลาต่อมากลายเป็น โจทย์ใหญ่ของรัฐนาวา Hatoyama ซึ่งมีพรรค SDP ร่วมรัฐบาลอยู่ด้วย
แต่ในความเป็นจริงแล้วรัฐบาลญี่ปุ่นจำต้องแบกรับภาระด้วยจำนวนเงินถึง 6 แสนล้านเยนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการย้ายฐานทัพและทหารจำนวนราว 8,000 นาย รวมถึงครอบครัวอีก 9,000 คนไปยังเกาะกวม ซึ่งเป็นดินแดนในปกครองของสหรัฐอเมริกาที่ตั้งอยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิก
อีกทางเลือกหนึ่งคือย้ายฐานทัพไปที่เกาะ Tokunoshima ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัด Kagoshima แต่ก็ถูกคัดค้านเนื่องจากประชาชนที่อาศัยอยู่บนเกาะแห่งนี้ก็เคยตกอยู่ในชะตากรรมเช่นเดียวกับชาวโอกินาวา เมื่อครั้งที่ถูกทหารอเมริกันเข้าครอบครองในช่วงสงครามเย็น
เหนือเหตุผลอื่นใดคือภาวะผู้นำของ Hato yama ที่ถูกตั้งฉายาให้เป็น happou bijin ที่แปลตามตัวอักษรได้ว่าคนงามแปดทิศ แต่วลีนี้ในภาษาญี่ปุ่นหมายถึงผู้ที่พยายาม เอาอกเอาใจคนรอบข้างเพื่อรักษาภาพลักษณ์ของตัวเองให้ดูดีในสายตาคนรอบข้าง เข้าทำนองบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น
นั่นอาจเป็นคุณสมบัติที่ดีอย่างหนึ่งสำหรับปัจเจกชนแต่หาใช่นายกรัฐมนตรีของประเทศไม่ ด้วยเหตุนี้การเจรจากับรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจึงประสบความล้มเหลวและเป็นผลให้พรรค SDP ลาออกจากสถานะพรรคร่วมรัฐบาล
กอปรกับสาเหตุสำคัญอีกประการในกรณีเงินทุนอื้อฉาวของพรรค DPJ ที่เกี่ยวข้องกับ Ichiro Ozawa เลขาธิการพรรคผู้ทรงอิทธิพลจนทำให้เจ้าหน้าที่ของพรรค 3 คนถูกจับกุมและตรวจสอบอยู่ในขณะนี้ซึ่งสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลและวิกฤติศรัทธาที่ตกต่ำกว่า 20% จากเดิม 70% เมื่อตอนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ในที่สุดเช้าวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา นายก รัฐมนตรี Hatoyama เปิด แถลงการณ์ก้าวลงจากตำแหน่งผู้นำประเทศเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่ไม่ สามารถปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับชาวโอกินาวาและกรณีความไม่โปร่งใส ของ เงินทุนพรรค ซึ่ง Ichiro Ozawa ก็ลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการของพรรคด้วยเช่นกัน
หากแต่อีก 2 วันถัดมาความผันผวนทาง การเมืองญี่ปุ่นปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น เมื่อ Naoto Kan รองนายกรัฐมนตรีได้รับคะแนนเสียงเฉือนคู่แข่งคนอื่นอย่างเป็นเอกฉันท์ให้เป็นหัวหน้าพรรค DPJ และเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 61 ของญี่ปุ่นซึ่งเป็นไปตามโพลของทุกสำนัก
Naoto Kan เกิดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 1946 ในครอบครัวของชนชั้นกลางซึ่งบิดาประกอบอาชีพ Salary man อยู่ที่จังหวัด Yamaguchi ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จาก Tokyo Institute of Technology ในปี 1970 หลังจากนั้นหนึ่งปีเขาสอบผ่านเป็นทนายที่ทำหน้าที่ ดูแลเรื่องสิทธิบัตรก่อนผันตัวสู่เส้นทางการเมือง
ชื่อเสียงของ Kan เริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะคนรุ่นใหม่ที่กระตือรือร้นจากบทบาทแกนนำประชาคมและการรณรงค์สิทธิความเท่าเทียมของสตรีในสังคมญี่ปุ่น ต่อมากลายเป็นที่รู้จักของสาธารณชนอย่างกว้างขวางเมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, แรงงานและสวัสดิการสังคมในปี 1996 ซึ่งได้ออกมากล่าวขอโทษประชาชนและแสดงความรับผิดชอบต่อเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายในกรณีการแพร่กระจายเชื้อ HIV ที่ปนเปื้อนมาในโลหิตอันเกิดจากความผิดพลาดของรัฐบาลเมื่อปี 1980
อาจกล่าวได้ว่า Key man ที่อยู่เบื้องหลัง ความสำเร็จตั้งแต่ก่อตั้งพรรค DPJ จนถึงปัจจุบันก็คือ Naoto Kan ผู้ที่พยายามชี้นำกลยุทธ์ Manifesto ของพรรค DPJ มาใช้ปฏิรูปประเทศด้วยแผนนโยบายฟื้นคืนชีพเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ชะงักไป 2 ทศวรรษ
แม้ว่าการเจรจาย้ายฐานทัพอเมริกันออกจากเกาะโอกินาวา ที่อดีตนายกรัฐมนตรี Hatoyama ทิ้งท้ายไว้จะเป็นหน้าที่อันหนักอึ้งที่ไม่อาจละเลยก็ตาม แต่ภารกิจซึ่ง Naoto Kan เลือกที่จะเริ่มดำเนินการก่อนคือการลดหนี้สาธารณะที่มีอยู่ราว 2 เท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (GDP) ให้ได้ภายใน 10 ปี รวมถึงการผลักดันนโยบายการเพิ่มภาษีบริโภคจาก 5% ในปัจจุบันเป็น 10% ในอนาคตอันใกล้
แต่นั่นไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะพรรค DPJ เพิ่งจะพ่ายแพ้การเลือกตั้งวุฒิสภาเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงรายละเอียดของบริบทและความจำเป็นของการเพิ่มภาษีบริโภคเพื่อช่วยปลดหนี้สาธารณะพร้อมกับผลประโยชน์ที่คืนกลับสู่ประชาชนจากการปรับโฉมญี่ปุ่นไปสู่รัฐสวัสดิการเหมือนกับบางประเทศในยุโรปเหนือเช่นสวีเดน ซึ่งเท่ากับว่าการผลักดันนโยบายผ่านสภานับจากนี้จะไม่ราบรื่นอย่างที่ควรจะเป็น
ในเวลาอันยากลำบากนี้ Kan อาจต้องเร่งทบทวนและปรับกลยุทธ์การนำเสนอ Manifesto องก์ที่สองขึ้นมาใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมเป็นเท่าทวีเพื่อเร่งสร้างบทพิสูจน์ด้วยผลงานที่เป็นรูปธรรม ซึ่งหากไม่เป็นเช่นนั้นแล้วอาจไม่มีโอกาสสำหรับ Manifesto องก์ที่สามให้เห็นบนเวทีการเมืองญี่ปุ่นอีกต่อไป
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|