เบื้องหลังการเสนอชื่อเทียม โชควัฒนา เพื่อรับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

มีหนังสืออยู่ไม่มากนักที่เคยเขียนเรื่องของ “เทียม โชควัฒนา” และในจำนวนน้อยนิดเหล่านี้ก็ต้องนับหนังสือ “ผู้จัดการ” เข้าไปด้วย

“ผู้จัดการ” ฉบับที่ 14 (ตุลาคม 2527) เคยลงประวัติของเทียม โชควัฒนา เอาไว้และสรุปว่า “เรื่องของนายห้างเทียมที่ผมเอามาลงครั้งนี้ เป็นเรื่องที่ผมภูมิใจมากและที่น่าเสียดายอย่างมากคือการที่สถาบันอุดมศึกษามองไม่เห็นผลงานของนายห้างเทียม โชควัฒนา นี้ถ้านายห้างเทียมอยู่แถว ๆ อเมริกาก็คงได้ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางพาณิชยศาสตร์ไปนานแล้วและก็คงจะได้ในระดับ TOP TEN UNIVERSITY ด้วย”

เทียม โชควัฒนา เกือบจะกลายเป็นคนดีที่โลกมองข้ามเสียแล้ว จนกระทั่งสถาบันอันทรงเกียรติอย่าง มศว.บางแสนมองเห็นคุณค่าแล้วก็นำมายกย่องด้วยการมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาบริหารธุรกิจ

การที่เทียมได้รับปริญญาดุษฎีฯ นั้นไม่ใช่ว่าสาเหตุมาจากข้อเขียนของ “ผู้จัดการ” แน่นอน แต่ต้องยกให้เป็นคุณความดีและผลงานของเทียมเองที่มีมากเสียจนกระทั่ง มศว.บางแสนจะต้องนำออกมาเผยแพร่ยกย่องเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้รู้และดำเนินรอยตามกันต่อไป

“เรามีหน้าที่ค้นหาผู้ที่ประกอบคุณงามความดี ประกอบสัมมาอาชีพด้วยการใช้วิชาความรู้ให้เหมาะสมแล้วไปทำความสำเร็จให้เกิดขึ้นนั้น เรามีหน้าที่ต้องหยิบยกคนผู้นั้นขึ้นมาเพื่อให้เป็นตัวอย่างของคนอื่น” ท่านรองอธิการบดี มศว.บางแสน ดร.บุญเอิญ มิลินทสูต เปิดเผยให้ “ผู้จัดการ” ทราบ

เบื้องหลังการค้นพบเพชรในตมที่คนมองไม่เห็นประกายอย่างเช่นเทียมนั้น ก็เนื่องมาจากรัฐบาลมีโครงการจะขยายความเจริญมาตามชายฝั่งภาคตะวันออก โดยสร้างโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดขึ้นมานั้น มศว.บางแสนในฐานะสถาบันการศึกษาสูงสุดในภาคตะวันออกจึงต้องการขยายวิชาภาคบริหารธุรกิจให้เจริญขึ้นมาเป็นคณะบริหารธุรกิจ เพื่อที่จะผลิตบัณฑิตทางการบริหารมารองรับเศรษฐกิจที่กำลังจะขยายตัวของภูมิภาคนี้

ดังนั้นในปีนี้เมื่อมีการเฟ้นหาบุคคลที่จะเสนอชื่อขึ้นรับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์นั้นคณะกรรมการบริหาร มศว.บางแสนจึงได้ลงมติให้เสาะหาบุคคลในภาคธุรกิจเพื่อมาเสนอชื่อกัน

บุคคลที่มีชื่อเสียงภาคธุรกิจของฟ้าเมืองไทยนั้นมีมากมายนับไม่ถ้วน และถ้าจะจำกัดลงไปเฉพาะภาคตะวันออกแล้วก็มีมิใช่น้อย ซึ่งก็ต้องนับ เทียม โชควัฒนา เข้าไปด้วย

เมื่อปลายปี 2517 บริษัท สหพัฒนาอินเวสเม้นต์ จำกัด ซึ่งมีเทียมเป็นประธานกรรมการ ได้มาสร้างความเจริญให้กับพื้นที่ทางชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกด้วยการสร้าง “โครงการสวนอุตสาหกรรมสหพัฒนา” บนเนื้อที่ 800 กว่าไร่ของอำเภอศรีราชา สามารถรับพนักงานได้กว่า 20,000 คน ซึ่งจะเป็นการลดปัญหาการว่างงานและส่งเสริมเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ให้เจริญยิ่งขึ้น

ซึ่งก็สามารถพูดได้เต็มปากว่า เทียมเป็นนักธุรกิจที่ทำความเจริญก้าวหน้าให้กับพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออกอย่างมาก

ดังนั้นอาจารย์ภาควิชาบริหารจึงเสนอชื่อ เทียม โชควัฒนา ขึ้นมาในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารจึงเสนอชื่อ เทียม โชควัฒนาขึ้นมาในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารของบางแสน ซึ่งประกอบด้วย รองอธิการบดี ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายต่าง ๆ 7 คน รองคณบดี 6 คณะ และผู้ทรงคุณวุฒิรวมทั้งสิ้น 20 คน

เมื่อมีการเสนอชื่อกลางที่ประชุมนั้น คณะกรรมการบางคนก็ไม่รู้จักเทียม บางคนก็รู้จักว่าเทียมเป็นพ่อค้าคนหนึ่งเท่านั้นบังเอิญว่า รศ.อนนต์ อนันตรังสี ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายบริหารเคยอ่านประวัติเทียมมาแล้วจากนิตยสาร “ผู้จัดการ” เล่มที่ 14 จึงได้นำ “ผู้จัดการ” ฉบับนั้นมาอ่านในที่ประชุม

“รายละเอียดที่เรารู้จักคุณเทียมนั้นเราต้องขอขอบคุณ ̔ผู้จัดการ̕ ที่ได้ลงยกย่องคุณเทียม ทำให้เรามองเห็นอัจฉริยะในตัวคุณเทียมได้ชัดเจนขึ้น” ท่านรองฯบุญเอิญกล่าว

เมื่อมีการหาข้อมูลของเทียมมาเสนอเพิ่มเติมในที่ประประชุมอีกครั้ง คณะกรรมการทุกคนก็ลงมติเห็นพ้องต้องกันในการจะเสนอชื่อเทียมเข้ารับปริญญาดุษฎีฯ ในครั้งนี้ในนามของ มศว.บางแสน

ผ่านจากขั้นตอนนี้แล้วก็จะต้องไปเจอกับขั้นตอนที่ยากยิ่งกว่านี้อีก 2 ขั้นตอน

ขั้นตอนแรกคือต้องผ่านกรรมการสภามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งประกอบไปด้วย อธิการบดี รองอธิการบดีทั้ง 7 วิทยาเขต รองอธิการบดีฝ่ายต่าง ๆ คณบดีทั้ง 7 คณะ และผู้อำนวยการฯ ซึ่งมีฐานะเทียบเท่าคณบดี รวมทั้งสิ้น 25 คน ซึ่งแต่ละคนก็มีสิทธิเสนอชื่อได้ 3 ชื่อ และถ้าจะรวมรายชื่อของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อมาทั้งหมดแล้วมีประมาณ 50 ชื่อ แต่ตามกฎของสภา มศว.จะอนุมัติให้ปริญญาดุษฎีฯ เพียงปีละไม่เกิน 10 คนเท่านั้น ดังนั้นกรรมการที่ลงคะแนนเสียงแต่ละคนก็จะต้องคอยลุ้นรายชื่อของตนเองไปด้วย

และปัญหาที่น่าหนักใจมากที่สุดก็คือกรรมการแต่ละคนนั้นเป็นนักอ่านและนักวิเคราะห์ตัวฉกาจมาก ดังนั้นแต่ละคนจึงมีประสบการณ์มาก ว่ากันว่าขั้นตอนนี้จึงเป็นศึกชิงดำที่ยากที่สุดและจะมีคนสอบตกมากที่สุดด้วย

เมื่อคณะกรรมการของ มศว.บางแสนได้ลงมติเลือกเทียมแล้วนั้น ก็ได้เตรียมตัวเตรียมใจไปให้กรรมการสภาฯ ที่กรุงเทพฯ ซักฟอกกันเต็มที่ ด้วยการรวบรวมข้อมูลของเทียมเพิ่มเติมจากหนังสือต่าง ๆ สืบถามจากแหล่งข่าวทางบุคคลที่รู้จักเทียม จนถึงขั้นบุกถึงบริษัทสหพัฒนฯ เพื่อสอบถามข้อมูลโดยปิดเรื่องเสนอชื่อเทียมมิให้รู้

เมื่อทุกอย่างเตรียมพร้อมแล้วท่านรองฯ บุญเอิญ และ ดร.ศักดา ปรางค์ประทานพร ก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเข้าร่วมประชุมและเสนอชื่อเทียมเพื่อให้กรรมการสภา มศว.พิจารณาในขั้นตอนต่อไป

ในที่ประชุมนั้นมีการแจกแฟ้มประวัติของผู้ที่ถูกเสนอชื่อให้คณะกรรมการแต่ละท่านได้อ่านและพิจารณากัน

เมื่อแฟ้มของเทียมถูกแจกในที่ประชุมก็มีการนำเสนอโดยท่านรองฯ บุญเอิญ และดร.ศักดา

ดร.ศักดาได้เล่าถึงบรรยากาศในวันนั้นว่า “เป็นการยากที่จะให้คนที่มีแบ็กกราวด์เป็นครูส่วนใหญ่ยอมรับความเด่นของคน คนนี้ ส่วนใหญ่ถ้าเสนอนักวิชาการเขาจะรู้จัก เพราะมหาวิทยาลัยของเรามีรากฐานมาจากความเป็นครู เพราะฉะนั้นอาจารย์อาวุโสส่วนใหญ่จะรู้จักคนในวงการศึกษามาก โอกาสที่จะเสนอคนที่เป็นอาจารย์ดูจะง่ายกว่า หรือถ้าเสนอคนดังระดับชาติยังจะมีโอกาสมาก แต่คนที่เป็นคนเก่งและเงียบอาจจะยากมาก แต่เราก็เชื่อมั่นในคนที่เราเสนอมาก เราเก็บรวบรวมข้อมูลของคุณเทียมใส่แฟ้มและแจกให้กรรมการทุกท่าน ผมอธิบายให้กรรมการสภาทราบว่ามหาวิทยาลัยของเรานอกจากจะยกย่องคนที่ทำเกียรติประวัติดีเด่นเป็นที่รู้จักสมควรยกย่อง อีกประการที่เราควรยกย่องคือคนที่ดีเด่น มีคุณธรรม มีความสามารถเราควรค้นพบคนเหล่านั้นแล้วมาตีแผ่สรรเสริญ นี่คือหน้าที่อีกอันหนึ่งของมหาวิทยาลัย สิ่งที่คณะเรามองคือหนึ่งเป็นคนมีคุณธรรมสูง สองนอกจากผู้นั้นจะประสบผลสำเร็จทางการเงินแล้ว จะต้องทำธุรกิจที่เป็นประโยชน์ต่อชาติ ไม่ใช่เป็นยี่ปั๊วที่ร่ำรวยเพราะถือโอกาสจังหวะดี ต้องสร้างงานให้คนในนั้นสามารถพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ อีกประการคือผู้นั้นต้องมีส่วนร่วมในสังคมที่เราอยู่ด้วยและต้องเป็นผู้ที่ปรับตัวให้ทันสมัย ปริญญาที่ให้เขาเป็นเกียรติประวัติแก่เขาจริง ๆ ไม่ใช่ให้แล้วเขาเอาไปใช้ประโยชน์ได้อีก นี่คือสิ่งที่เรายกย่องคุณเทียม ในการโหวตแต่ละขั้นต้องผ่านรอบที่สำคัญคือต้องได้ 17 เสียงใน 20 เสียง คือเกือบทุกคนต้องยอมรับถึงจะชนะ แต่เป็นที่น่ายินดีจริง ๆ ว่าคุณเทียมเป็นคนนอกคือไม่ได้ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเราเลย และไม่เคยเขียนหนังสือและก็ไม่ใช่ดาวสังคมอีกด้วย แต่เมื่อเราเสนอคุณเทียมในที่ประชุมนั้นก็มีการโหวตและก็ผ่านมาได้อย่างสบายด้วยความดีของคุณเทียมจริง ๆ ที่ประชุมถึงยอมรับ”

“ในการโหวตนี้แต่ละคนเขาก็เสนอชื่อของเขาเหมือนกัน มศว. จะจำกัดได้ปีหนึ่งไม่เกิน 10 คน คนที่เสนอชื่อเขาก็อยากให้คนที่เขาเสนอนั้นได้ แต่ถ้าไปโหวตให้คนอื่นหมด พอถึงของตัวเองก็อด การที่เขาจะโหวตให้เราเขาก็ต้องเชื่อจริง ๆ ว่าคนที่เราเสนอนั้นเด่นจริง ๆ”

เมื่อถึงเวลาลงคะแนนก็มีผู้ลงคะแนนให้เทียมอย่างท่วมท้น แต่ก็ยังไม่สามารถลงมติได้ เพราะตามธรรมเนียมในขั้นตอนนี้จะมีการลงคะแนนให้ 2 รอบ ดังนั้นจึงต้องมีการลงคะแนนเสียงให้ใหม่ในวันรุ่งขึ้น เพื่อให้เวลาคณะกรรมการได้กลับไปพิจารณากันใหม่อีกครั้งหนึ่งและสามารถเปลี่ยนคะแนนเสียงได้ใหม่ในวันรุ่งขึ้น

ในวันรุ่งขึ้นเมื่อถึงเวลาลงคะแนนเสียงเป็นรอบสุดท้ายของขั้นตอนนี้ก็ปรากฏว่าคะแนนเสียงให้เทียมก็ชนะขาดลอยเหมือนเดิม

แล้วก็ผ่านมาถึงด่านสุดท้ายที่จะมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากด้านต่าง ๆ อีก 9 ท่านมาเข้าร่วมพิจารณาตัดสินชี้ขาดเป็นเอกฉันท์ เมื่อถึงขั้นตอนนี้ก็มีผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านที่รู้จักเทียมอย่างเช่น ดร.ถาวร พรประภา ดังนั้นการลงคะแนนเสียงในรอบสุดท้ายจึงผ่านมาได้อย่างสบาย

ในที่สุดเทียม โชควัฒนา ก็ได้รับการไว้วางใจจากสภามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒให้ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาบริหารธุรกิจ เป็นคนที่ 4 ในรอบ 32 ปี

ท่านรองฯ บุญเอิญได้กล่าวถึงการพิจารณาปริญญาของ มศว.ในครั้งนี้ว่า “การที่เราจะเลือกใครได้นั้นเราจะต้องพิจารณาให้รอบคอบจริง ๆ เสียก่อน เพราะไม่เช่นนั้นมันจะกลายเป็นการค้าไปมุ่งผลประโยชน์ส่วนตนไปเสีย เพราะฉะนั้นที่ประชุมจึงเข้มงวดมากในเรื่องนี้ ไม่ใช่ให้ใครง่าย ๆ ให้แล้วก็ต้องดูว่าสมควรให้จริง ๆ มหาวิทยาลัยจะต้องประกันได้ว่าสิ่งที่เรายกย่องนั้นดีจริง ๆ แต่ถ้าเราไปประกันว่าคนนี้ดีจริงแล้วมาพบว่าคนนี้ไม่ดีอย่างที่มหาวิทยาลัยประกัน แล้วก็ทำให้สถาบันเราเสียชื่อเสียงเราก็ต้องรักษาชื่อเสียงปริญญาของมหาวิทยาลัยเอาไว้ ดังนั้นทุกคนที่เราเสนอไปเราต้องแน่ใจว่าดีจริง”

“การที่เราเสนอชื่อคุณเทียมนั้นเราไม่มีผลประโยชน์อะไรกับคุณเทียมเลย เราไม่เคยรู้จักกันเป็นการส่วนตัวมาก่อน ไม่เคยรู้จักเครือญาติของคุณเทียม ดังนั้นการที่เรายกย่องก็เป็นการยกย่องด้วยความเต็มใจจริง ๆ” นี่คือคำพูดของอาจารย์ส่วนใหญ่ของ มศว.บางแสน ที่ได้กล่าวกับ “ผู้จัดการ”

ดังนั้นเมื่อนายกสภาฯ มีหนังสืออนุมัติออกมาแล้ว คณาจารย์จาก มศว.บางแสน จำนวนหนึ่งจึงเดินทางมาที่บริษัทสหพัฒนฯ เพื่อแจ้งข่าวเรื่องปริญญาดุษฎีบัณฑิตฯ ให้เทียมทราบ

และนี่ก็เป็นครั้งแรกที่บรรดาคณาจารย์ที่เสนอชื่อเทียมและตัวของเทียมเองได้มีโอกาสพบหน้าและสนทนากัน

“ผมไม่นึกเลยว่าใครจะมายกย่องผม ตัวผมเองไม่เคยเรียนหนังสืออะไรมาเลย ไม่มีความรู้อะไรเลย แล้วมาได้รับการยกย่องถึงเพียงนี้” นี่คือคำพูดที่เทียมได้กล่าวกับบรรดาคณาจารย์ในวันนั้น

และก่อนวันที่เทียมจะขึ้นรับปริญญานั้น มศว.บางแสนได้ทำพิธีมอบครุยซึ่ง มศว.บางแสนได้ตัดและมอบให้กับผู้ที่ได้รับปริญญาดุษฎีฯ ทุกคน

ในวันนั้นเทียมและครอบครัวได้เดินทางมาที่ มศว.บางแสนเพื่อมารับมอบครุย ขณะที่ลองสวมเสื้อครุยอยู่นั้น คำคำหนึ่งที่เทียมพูดอยู่ตลอดเวลาคือ “ผมดีใจจริงๆ” พร้อมกับลูบเสื้อครุยไปมาเหมือนไม่คาดฝันที่จะได้มาพบกับวันนี้

หลังจากเสร็จพิธีมอบครุยให้แล้วบรรดาคณาจารย์ของ มศว.บางแสนก็ได้รับเชิญจากเทียมให้ไปเยี่ยมชม “โครงการสวนอุตสาหกรรมสหพัฒนฯ” ซึ่งหลายคนยังไม่เคยไปเห็นมาก่อน เมื่อเดินชมความเจริญของโครงการนี้แล้วทุกคนก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “เราตัดสินใจเลือกคนไม่ผิดเลย”



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.