การถดถอยของการเมือง “สีเขียว”


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( สิงหาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

เหตุใดนโยบายลดโลกร้อน จึงไม่ใช่ “ของตาย” ที่จะทำให้นักการเมืองชนะเลือกตั้งได้อีกต่อไป

ย้อนหลังไปเมื่อ 3 ปีก่อน การเมืองเรื่องโลกร้อนยังอยู่ในยุคทอง หลังจาก An Inconvenient Truth ภาพยนตร์รางวัลออสการ์ปี 2006 ของ Al Gore สร้างความตกตะลึงให้แก่ผู้ชมทั่วโลก เมื่อเตือนว่านิวยอร์กและไมอามีอาจจะต้องจมอยู่ใต้น้ำถึง 20 ฟุต ในช่วง 12 เดือนหลังจากนั้น บรรดาผู้นำโลกต่างกระโจนเข้าสู่การเมืองเรื่องโลกร้อนกันถ้วนหน้า Angela Merkel ผู้นำเยอรมนีได้ฉายา “climate chancellor” หลังจากไปถ่ายรูปที่ Greenland กับภูเขาน้ำแข็งที่กำลังละลายและประกาศจะให้ยุโรป ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20% ภายในปี 2020 Tony Blair นายกรัฐมนตรีอังกฤษในขณะนั้น ประณามปัญหาโลกร้อนเป็นสิ่งที่ น่าเกลียดน่ากลัว ไม่ต่างอะไรกับลัทธิฟาสซิสต์ เกทับด้วยเป้าหมาย ลดก๊าซเรือนกระจกถึง 60% โลกได้เกิดมี “ผู้นำสีเขียว” คนแรก ของโลก เมื่อ Kevin Rudd ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของออสเตรเลีย ด้วยการชูนโยบายแก้ปัญหาโลกร้อน ซึ่ง Rudd บอกว่า เป็น “ปัญหา การเมือง เศรษฐกิจ และศีลธรรมที่ใหญ่ที่สุดในยุคสมัยของเรา”

แต่บัดนี้ “การเมืองสีเขียว” กำลังตกต่ำลงทั่วโลก ประชาชนไม่เห็นว่าปัญหา โลกร้อนสำคัญอีกต่อไป มีชาวเยอรมันเพียง 42% เท่านั้นในขณะนี้ที่ยังกังวลกับ ปัญหาโลกร้อน จาก 62% ในปี 2006 มีชาวออสเตรเลียเพียง 53% ที่ยังคิดว่าโลก ร้อนเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งลดลงอย่างฮวบฮาบ จาก 75% เมื่อปี 2007 คนอเมริกันจัดให้ปัญหาโลกร้อนอยู่อันดับโหล่สุดของทั้งหมด 21 ปัญหาที่ทำให้พวกเขาวิตกที่สุด นายกรัฐมนตรี Stephen Harper แห่งแคนาดา เห็นว่าปัญหาโลกร้อนเป็นแค่ ปัญหาปลีกย่อย ส่วนปัญหาสำคัญจริงๆ คือปัญหาเศรษฐกิจโลก ในเดือนมิถุนายน เขาสั่งยกเลิกการประชุมรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม ที่มักจะจัดขึ้นก่อนหน้าการประชุม สุดยอดประจำปีผู้นำ G8 และ G20 อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาตั้งแต่ปี 1994 ส่วน Merkel ตัดลดงบประมาณพัฒนาสิ่งแวดล้อม และ Barack Obama ก็ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับแผนการลดคาร์บอนนัก

แต่ความตกต่ำของนโยบายสีเขียวที่สร้างความขวัญเสียที่สุด ให้แก่นักการเมือง คือการที่ Rudd กลายเป็นผู้นำสีเขียวคนแรก ที่ต้องตกจากอำนาจสังเวยนโยบายสิ่งแวดล้อมของตัวเอง การยึกยักเรื่องนโยบายลดคาร์บอน ทำให้ถูกฝ่ายค้านโจมตีอย่างหนัก จน Rudd เสียคะแนนนิยมอย่างฮวบฮาบ ในที่สุดเขาก็ถูกลูกพรรคของตัวเองรวมหัวกันโค่นลงจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ในขณะที่การเลือกตั้งออสเตรเลียกำลังใกล้เข้ามา

ทำไมการต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน ซึ่งเคยเป็นนโยบายหาเสียงยอดฮิต ที่รับประกันเรียกคะแนนเสียงได้อย่างแน่นอน จึงกลับกลายเป็นเผือกร้อนสำหรับนักการเมืองทั่วโลก สาเหตุส่วนหนึ่ง เป็นเรื่องการเมืองภายในแต่ละประเทศเอง Rudd ตกเป็นเหยื่อความแตกแยกภายในพรรคแรงงานของเขา ซึ่งเต็มไปด้วยกลุ่มเล็ก กลุ่มน้อย พอๆ กับที่ตกเป็นเหยื่อทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไปของประชาชนต่อปัญหาโลกร้อน ส่วน Obama หมดพลังงานและทุนทางการเมืองไปโขกับการผลักดันกฎหมายใหญ่ๆ อย่างการปฏิรูประบบประกันสุขภาพ จึงไม่ต้องการหาเรื่องใส่ตัวอีก หากจะต้องผลักดันร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่มีความขัดแย้งสูง ส่วนยุโรปหลังจากยุ่งกับการกอบกู้ธนาคารที่ร่อแร่ มาบัดนี้กลับต้องเจอ ปัญหาที่หนักกว่า ถึงขั้นต้องกอบกู้ประเทศจากการล้มละลาย เนื่องจากหนี้สาธารณะล้นพ้นตัว

แต่สาเหตุที่ใหญ่ที่สุดคือ นโยบายสิ่งแวดล้อมโดยตัวมันเอง เป็นดาบสองคม นโยบายนี้เคยถูกใช้เป็นเหมือนสิ่งที่ตัดสินว่าใครเป็นเทพใครเป็นมาร เหมือนอย่างที่ Rudd เคยทำสำเร็จ และทำให้เขาชนะเลือกตั้งออสเตรเลียอย่างถล่มทลายมาแล้วในปี 2007 แต่การควบคุมโลกร้อน เป็นเรื่องที่ทำยากกว่าที่พูดอย่างมากจนนึกไม่ถึง ไม่ง่ายเหมือนกับการแย่งกันเกทับกันปาวๆ ว่าจะลดก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ลงให้มากกว่าคนอื่นๆ เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้น ในปี 2007 ซึ่งนอกจากไม่ต้องลงทุนอะไรเลยแล้ว ยังได้หน้าแถมว่า เป็นนักการเมืองเพื่อสิ่งแวดล้อมเสียออก แต่การจะลดคาร์บอนลงให้ได้มากๆ ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เป็นเรื่องที่ยากลำบากและใช้เงินมหาศาล เพราะต้องปรับรื้อระบบเศรษฐกิจของประเทศใหม่ ทั้งหมด ไม่เช่นนั้นก็ไม่มีทางจะลดคาร์บอนลงตามเป้าได้

Rudd จึงกลายเป็นผู้นำสีเขียวคนแรกที่ต้องสังเวยให้แก่ความจริงอันโหดร้ายของการเปลี่ยนเป้าหมายบนกระดาษให้กลาย เป็นความจริง ออสเตรเลียเป็นประเทศส่งออกถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในขณะที่ถ่านหินคือแหล่งแพร่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และ ยังเป็นประเทศที่บริโภคพลังงานมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก การลดคาร์บอนลงมากๆ จึงหมายความว่า ชาวออสเตรเลียจะต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตอย่างขนานใหญ่

นโยบายสีเขียวจะได้รับการชื่นชมก็ต่อเมื่อมันหมายถึงการให้เงินอุดหนุนเชื้อเพลิงสะอาด หรือการจัดการกับบริษัทใหญ่โต ที่แพร่คาร์บอน แต่นโยบายสีเขียวจะถูกรังเกียจทันที หากไปแตะต้องวิถีชีวิตของคน เช่น ต้องขับรถให้น้อยลง หรือต้องมีสระน้ำน้อยลง ศัตรูทางการเมืองของ Rudd จึงสามารถฉวยประโยชน์ จากความกลัวที่จะต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวออสเตรเลีย

ส่วนนโยบายผลักดันการใช้เชื้อเพลิงสะอาดมีค่าใช้จ่ายสูงมาก การเปลี่ยนจากถ่านหินมาเป็นก๊าซหรือพลังงานนิวเคลียร์ ซึ่ง ปลอดจากคาร์บอนโดยสิ้นเชิง ล้วนมีราคาแพง นโยบายผลิตเอทานอลจากข้าวโพดของสหรัฐฯ และไบโอดีเซลจากเมล็ด rapeseed ของยุโรป เพื่อนำมาใช้แทนน้ำมันเป็นสิ่งที่ดี แต่ทว่าน้ำมันที่ประหยัดได้นั้นกลับถูกจีนกว้านซื้อไปแทนให้เจ็บใจเล่น และต่อให้เป้าหมายของสหประชาชาติที่ตั้งเป้าจะลดคาร์บอนลงถึง 80% ภายในปี 2050 กลายเป็นจริงได้จริงๆ แต่นักเศรษฐศาสตร์ก็ยังคงถกเถียงกันอย่างหน้าดำหน้าแดงว่า มันจะคุ้มกันหรือไม่ ที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายมหาศาลไปกับการอุดหนุนเชื้อเพลิงสะอาดและการลดคาร์บอน แลกกับการหลีกเลี่ยงความเสียหายที่จะเกิดจากโลกร้อน

ยุโรป ซึ่งเป็นทวีปที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในโลก ลดคาร์บอนลงได้ 11.3% ตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา แต่น่าเสียดาย ที่หาใช่เป็นเพราะนโยบายลดโลกร้อนไม่ หากแต่เป็นเพราะการล่มสลายของธุรกิจในประเทศยุโรปตะวันออกที่เคยเป็นคอมมิวนิสต์ และเป็นเพราะการถดถอยทางเศรษฐกิจในยุโรป

นโยบายสีเขียวยังกลายเป็นเพียงหน้ากากสวยหรูอันใหม่ที่ นำมาใช้ปิดบังการเมืองเรื่องผลประโยชน์แบบเดิมๆ โครงการผลิต เชื้อเพลงชีวภาพเป็นเพียงเหล้าเก่าในขวดใหม่ของการอุดหนุนภาค เกษตร ด้วยการใช้งบ 20,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี เที่ยวไล่เจ้าของที่ดินที่ไม่ปล่อยคาร์บอน โครงการอุดหนุนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นหน้าเป็นตาให้แก่เยอรมนีในการแก้ปัญหาโลกร้อน อาจเป็นนโยบายสิ่งแวดล้อมที่ฟุ่มเฟือยมากที่สุดในโลก เพราะผลิต พลังงานได้เพียง 0.25% ของพลังงานทั้งหมด แต่ต้องแลกมาด้วย เงินมหาศาลถึง 125,000 ล้านดอลลาร์

แต่เรื่องอื้อฉาวที่สุดที่เกิดขึ้นกับการเมืองเรื่องโลกร้อนคือกรณีอื้อฉาวที่เรียกว่า “climategate” ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เมื่อพบความผิดปกติในรายงานของ Inter-governmental Panel on Climate Change (IPCC) หน่วยงาน วิจัยของสหประชาชาติ ซึ่งข้อมูลวิจัยของหน่วยงานนี้เป็นพื้นฐานของการวางนโยบายลดโลกร้อนของประเทศทั่วโลก เรื่องอื้อฉาวนี้ จะกระทบความน่าเชื่อของ IPCC อย่างแน่นอน รวมถึงกระทบจุดยืนของ IPCC ที่พยายามยืนยันว่า การลดคาร์บอนไดออกไซด์ มากๆ เป็นเพียงหนทางเดียวที่จะแก้ปัญหาโลกร้อนได้

เมื่อ การเมืองสีเขียวกำลังเสื่อมในทางศีลธรรม การแก้ปัญหา โลกร้อนจึงเริ่มลดฐานะความสำคัญลงในโลกตะวันตก นอกจากนี้ จะทำให้เกิดการเมืองเรื่องโลกร้อนกระแสที่ 3 ขึ้น ซึ่งจะอยู่ระหว่าง กระแสหลักที่เห็นว่า ปัญหาโลกร้อนเป็นหายนภัยที่จะต้องหยุดยั้ง ให้ได้ ไม่ว่าจะต้องแลกกับอะไรกับอีกกระแสหนึ่งที่ปฏิเสธปัญหาโลกร้อนโดยสิ้นเชิง โดยเห็นว่าเป็นเรื่องลวงโลก กลุ่มกระแสที่ 3 ที่จะเกิดขึ้นใหม่นี้จะชั่งน้ำหนักอย่างระมัดระวังมากขึ้น ระหว่างสิ่งที่ต้องเสียไปกับประโยชน์ที่จะได้คืนมาจากการควบคุมการปล่อยคาร์บอน และจะมองหาทางเลือกอื่นๆ นอกเหนือจากการตั้งเป้าหมายลดคาร์บอนแต่เพียงอย่างเดียวด้วย

คาดว่าการถกเถียงครั้งใหม่เกี่ยวกับปัญหาโลกร้อน จะสอดคล้องกับความจริงมากขึ้นกว่าในอดีต และจะไม่ยึดติดกับวิธีลดคาร์บอนแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจรวมถึงการเปลี่ยนจากการให้เงินอุดหนุนไปเป็นการให้เงินสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา ซึ่ง นักเศรษฐศาสตร์ด้านโลกร้อนเรียกร้องกันมานานแล้ว และยังอาจ รวมถึงการสอนให้สังคมต้องปรับตัว รับกับสภาพภูมิอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างยากจะขัดขืน มากกว่าจะเน้นการหยุดโลกไม่ให้ร้อนขึ้นแต่เพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม แนวคิดใหม่ในการถกเถียงปัญหาโลกร้อนดังกล่าว ยังไม่ได้รับการใส่ใจมากนัก เนื่องจากนักสิ่งแวดล้อมกระแสหลักกลัวว่า จะไปเบี่ยงเบนความสนใจจากการพยายามผลักดันเรื่องการลดคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้มากที่สุด แม้ว่าการให้สังคมปรับตัวยอมรับสภาพของโลกที่ร้อนขึ้น อาจจะได้ผลดีกว่าและเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการลดคาร์บอนก็ตาม

อันที่จริงแล้ว มนุษย์ได้ปรับตัวรับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยน แปลงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานานหลายศตวรรษอยู่แล้ว หากนำปัญหาระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในผลกระทบที่เกิดจากโลกร้อนไปถามชาวดัตช์ ซึ่งต้องปรับตัวเข้ากับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นมาตลอดชีวิต พวกเขาคงจะตอบว่าสบายมาก ปัญหาน้ำจืด ลดลง อีกผลกระทบหนึ่งของโลกร้อน อาจแก้ด้วยการจัดสรรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย ซึ่งง่ายกว่าการพยายามจะห้ามอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้น วิศวกรรมการจัดการภูมิอากาศ (climate engineering) เป็นนวัตกรรมใหม่อีกอย่าง ที่จะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้ เช่น การจัดการเมฆ และการสะท้อนความร้อนกลับขึ้นไปสู่อวกาศ

นโยบายสีเขียวที่ใช้อยู่ในปัจจุบันอาจกำลังเสื่อมศรัทธาจากประชาชน แต่หากนั่นหมายถึงว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้งบประมาณของนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมไปในทางที่ดีขึ้น จากนโยบายเก่าๆ ที่ได้ผลน้อย และผลที่ได้ไม่คุ้มกับงบประมาณที่เสียไป เป็นการนำเงินไปใช้กับนโยบายสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ที่ดีกว่าเดิม อย่างเช่นการป้องกันผลกระทบต่างๆ ที่เกิดจากปัญหาโลกร้อน และการวัดความคุ้มค่าของนโยบายโลกร้อนและสิ่งแวดล้อมในอนาคตที่ดีขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้ก็คงจะเป็นสิ่งที่จะให้ ประโยชน์ที่คุ้มค่าและถาวรในอนาคต ที่แม้แต่ Kevin Rudd เอง ก็คงจะเห็นด้วย แม้ว่าตัวเขาเองจะต้องสังเวยอำนาจทางการเมืองไปแล้วกับการเสื่อมความนิยมในนโยบายโลกร้อนก็ตาม

แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.