|
“โลกเก่า” กำลังแก่ลง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( สิงหาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ยุโรปจะยืดอายุเกษียณแก้ปัญหาผู้สูงอายุเพิ่มจำนวนมากขึ้น
Old Continent คือฉายาของยุโรปที่บังเอิญสอดคล้องกับแนวโน้มด้านประชากรของยุโรปในปัจจุบัน อายุขัยที่สูงขึ้นและอัตราการเกิดที่ต่ำลง ทำให้การเติบโตของประชากรในยุโรปโดยรวมชะลอตัวลง และอายุเฉลี่ยของชาวยุโรปสูงขึ้น สถานการณ์นี้กำลังสร้างแรงกดดันต่อระบบบำเหน็จบำนาญของรัฐในยุโรป คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (European Commission: EC) เพิ่งประกาศเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ถึงแผนการที่จะแก้ปัญหาใหญ่ ที่กำลังคุกคามโมเดลสังคมของยุโรปครั้งนี้
ประชากรของสหภาพยุโรป (EU) เพิ่งเลยหลัก 500 ล้านคนไปเมื่อปีที่แล้ว และนั่นคงเป็นจุดสูงสุดแล้ว เพราะคาดกันว่า จำนวนประชากรในยุโรปจะลดลง 50 ล้านคน ภายใน 40 ปีข้างหน้า ขณะเดียวกัน อายุขัยของคนยุโรปก็เพิ่มขึ้นประมาณ 2-3 ปีต่อทุกๆ 10 ปี ภายในปี 2050 ยุโรปจะมีประชากรที่มีอายุเกินกว่า 65 ปี ในจำนวนที่มากกว่าประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีถึงสองเท่า สถานการณ์เช่นนี้มีความหมายต่อระบบบำเหน็จบำนาญของยุโรปอย่างยิ่ง
ระบบบำเหน็จบำนาญของยุโรปเกิดขึ้นจากแนวคิดที่ให้คน วัยทำงานในวันนี้ ออกเงินเลี้ยงคนที่เคยทำงานในวันก่อน หรือผู้เกษียณอายุนั่นเอง โดยตั้งอยู่บนฐานข้อเท็จจริงที่ว่า ประชากรวัยทำงานมีจำนวนมากกว่าประชากรวัยเกษียณ แต่ข้อเท็จจริงนี้กำลังเปลี่ยนแปลงไปเป็นตรงกันข้าม ขณะนี้คนวัยทำงานต้องจ่าย เงินเลี้ยงคนที่เกษียณแล้ว คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 7% ของ GDP ยุโรป แต่เมื่อจำนวนคนวัยเกษียณจะเพิ่มขึ้นกว่าคนวัยทำงานเป็น สองเท่าภายในปี 2050 ก็หมายความว่าจำนวนเงินที่คนที่ยังทำงาน อยู่ จะต้องจ่ายเพื่อเลี้ยงคนที่หยุดทำงานแล้ว ก็จะเพิ่มขึ้นเป็นสอง เท่าเช่นกันเมื่อถึงปี 2050 นี่จะเป็นภาระที่เกินกำลังของคนในวัยทำงาน และหากปล่อยให้เป็นไปเช่นนี้ ระบบบำเหน็จบำนาญของ ยุโรปก็กำลังเดินหน้าสู่การล่มสลาย
EC จึงทำพิมพ์เขียวเสนอแนวทางนโยบายที่จะแก้ปัญหาข้างต้น พร้อมกับเตือนด้วยว่า การปฏิรูประบบครั้งใหญ่ครั้งนี้ ซึ่ง จะครอบคลุมทั้งตลาดแรงงาน ระบบสังคม และงบประมาณสาธารณะ คงจะสร้างความเจ็บปวดแก่ทุกฝ่าย
Laszlo Andor กรรมาธิการยุโรปฝ่ายกิจการการจ้างงานและสังคมชี้ว่า แม้หลายประเทศในยุโรปจะได้เริ่มปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญไปบ้างแล้ว แต่ปัญหาเศรษฐกิจถดถอยได้ซ้ำเติมและทำให้ผลกระทบจากปัญหาประชากรดังกล่าว หนักขึ้น โดยตั้งแต่ปี 2012 ประชากรวัยทำงานของยุโรปจะเริ่มลดลง ทางเลือก ที่ยุโรปมีคือ ลดเงินบำเหน็จบำนาญของผู้เกษียณอายุ หรือให้คนวัยทำงานจ่ายเงินเพื่อการเกษียณมากขึ้น หรือว่าผู้สูงอายุอาจต้อง ทำงานนานขึ้นอีกหลายปี
การยืดอายุเกษียณอาจเป็นทางเลือกที่ได้ผลที่สุด หากยุโรป ยังต้องการจะรักษาระบบบำเหน็จบำนาญเอาไว้ อายุเกษียณโดยเฉลี่ยของยุโรปอยู่ที่ 61.4 ปี เมื่อปี 2008 ซึ่งมากกว่า 59.9 ปี ในปี 2001 ประเทศต่างๆ ในยุโรปมีอายุเกษียณต่างๆ กันไป เช่น โรมาเนียเกษียณที่อายุ 55.5 ปีเท่านั้น ในขณะที่ไอร์แลนด์เกษียณ ที่อายุ 64.1 ปี
การตระหนักถึงปัญหาประชากร ทำให้หลายชาติในยุโรปมีแผนจะยืดอายุเกษียณแล้ว ไอร์แลนด์และอังกฤษจะยืดออกไปเป็น 68 ปีภายในปี 2028 สำหรับไอร์แลนด์ และ 2046 สำหรับอังกฤษ ส่วนสเปนและเยอรมนีกำลังเล็งที่จะยืดอายุออกไปเป็น 67 ปี จาก 65 ปีในปัจจุบัน แต่ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่อ่อนไหว แผนการที่จะยืดอายุเกษียณจาก 60 ปีเป็น 62 ปีของฝรั่งเศส ภายในปี 2018 ทำให้เกิดการประท้วงต่อต้านจากข้าราชการ
ในแผนการปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญของ EU ยังมีอีกสิ่ง หนึ่งที่ EU ต้องการจะกำจัดทิ้งไป นั่นคือการเกษียณก่อนกำหนด ซึ่งเกิดขึ้นจากแนวคิดการสละตำแหน่งงานให้คนที่อายุน้อยกว่า แต่ผู้เชี่ยวชาญเห็นว่าเป็นแนวคิดที่เกิดจากอคติความลำเอียง Anna-Sophie Parent ผู้อำนวยการกลุ่ม AGE Europe ซึ่งเป็น กลุ่มตัวแทนผู้สูงอายุของยุโรป ตั้งอยู่ในกรุงบรัสเซลส์ เห็นว่าทุกคน ควรมีสิทธิ์ที่จะทำงานไปเรื่อยๆ ตามที่ต้องการ โดยไม่ต้องถูกจำกัด ด้วยอายุเกษียณที่กำหนดไว้ และชี้ว่าผู้สูงอายุชาวยุโรปในปัจจุบัน มีสุขภาพที่แข็งแรงกว่าผู้สูงอายุในสมัยก่อน ซึ่งหมายความว่าพวกเขายังสามารถทำงานได้อีกนานหลายปี และการที่ผู้สูงอายุยังมีสิทธิ์ได้รับการจ้างงาน จะช่วยเปลี่ยนกรอบความคิดเดิมๆ และ ทัศนคติเก่าๆ เกี่ยวกับผู้สูงอายุที่ยังคงมีอยู่มากในยุโรป Parent เชื่อว่า ยุโรปไม่อาจจะใช้ “ทุนมนุษย์” (human capital) อย่างสุรุ่ยสุร่ายได้อีกต่อไป
อัตราการเกิดที่ต่ำของยุโรปคืออุปสรรคใหญ่ของการรักษา ระบบบำเหน็จบำนาญ ปัญหานี้เกี่ยวข้องกับการที่ผู้หญิงชาวยุโรป ตัดสินใจมีลูกน้อยลงกว่าในสมัยก่อน เนื่องจากพวกเธอรู้สึกว่าเป็นเรื่องยาก ที่จะหาความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานกับชีวิตครอบครัว Sotiria Theodoropoulou นักวิเคราะห์จากศูนย์ Euro-pean Policy Center กลุ่มนักคิดในบรัสเซลส์ชี้ว่า หากต้องการแก้ปัญหาอัตราการเกิดต่ำก็จะต้องแก้ที่ผู้หญิงด้วย โดยสังคมจะต้อง ช่วยให้ผู้หญิงรู้สึกง่ายขึ้นที่จะมีลูก ในขณะที่ยังเป็นผู้หญิงทำงาน เธอชี้ว่า ประเทศที่มีนโยบายครอบครัวและการจ้างงานที่ก้าวหน้า อย่างฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ ไอซ์แลนด์ และนอร์เวย์ พบว่ามีอัตราการเกิดที่ดีกว่า และแสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่างงานกับครอบครัวเสมอไป
ไม่ว่ายุโรปจะตัดสินใจเรื่องการยืดอายุเกษียณอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรลืมคือ การที่ชาวยุโรปมีอายุยืนขึ้น ถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ เพียงแต่อาจต้องแลกด้วยการที่จะต้องทำงานเพิ่มขึ้นอีกไม่กี่ปี ก่อนที่จะเกษียณอายุไปอย่างมีความสุข
แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง ไทม์
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|