แผนกระตุ้นเศรษฐกิจแบบ DIY


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( สิงหาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อรัฐบาล “หมดมุก” ในการฟื้นเศรษฐกิจ เอกชนและผู้บริโภคอเมริกันจึงต้องลงมือกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยตัวเอง และ...เพื่อตัวเอง

ทุกคนในสหรัฐฯ ยามนี้ต่างหน้าแห้งกันถ้วนหน้า หวาดหวั่น ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะถดถอยอีกเป็นครั้งที่ 2 เดือนมิถุนายนมีตำแหน่งงานที่สูญเสียไปถึง 125,000 ตำแหน่ง อัตราว่างงานยังสูง เกือบ 10% ตลาดบ้านยังไม่มีเสถียรภาพเต็มที่ แม้วิกฤติจะผ่านไป 4 ปีแล้ว แต่ที่น่าหดหู่ที่สุดคือ นโยบายการเงินและการคลังของรัฐบาล ที่เคยช่วยกอบกู้สหรัฐฯ ให้พ้นจากเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ เมื่อปีที่แล้วกำลังเสื่อมคลายมนต์ขลังช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2008-09) ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และรัฐบาลระดมนโยบายทั้งการเงินและการคลังอย่างเต็มอัตราศึก Fed ทั้งค้ำประกันและกว้านซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน หั่นดอกเบี้ย และอัดฉีดเงินมหาศาลเข้าสู่ระบบการเงิน รัฐสภาและทำเนียบขาว ช่วยกันเข็นแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ 787,000 ล้านดอลลาร์ออกมา นับเป็นการแทรกแซงครั้งมโหฬารจากภาครัฐ ที่เป็นดั่งอัศวินม้าขาว ซึ่งสามารถกอบกู้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้ ไตรมาสแรกของปี 2009 เศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวลงถึง 6.4% แต่ไตรมาส แรกของปีนี้ สหรัฐฯ กลับมาเติบโตอีกครั้งที่ 2.7%

อย่างไรก็ตาม มนต์ขลังของดอกเบี้ยต่ำและการเพิ่มการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐได้เริ่มเสื่อมคลาย Fed ดูจะหมดมุก กับการจัดการกับอัตราว่างงานที่ยังคงอยู่สูง ส่วนงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจก็ถูกใช้หมดไปกว่าครึ่งแล้ว คือใช้ไปแล้วประมาณ 417,000 ล้านดอลลาร์ เดือนกรกฎาคม รัฐสภาสหรัฐฯ เลื่อนการลงมติผ่านร่างกฎหมายขยายการให้สวัสดิการแก่คนตกงาน เศรษฐกิจเริ่มอ่อนเปลี้ยลง ทว่ามรสุมกลับทวีกำลังแรงขึ้น

ตั้งแต่เดือนมกราคมปีหน้า มาตรการลดภาษีที่ใช้มาตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดี Bush จะหมดอายุ ลง คาดว่า Fed จะเริ่มขึ้นดอกเบี้ย ในปีหน้าด้วย ดอกเบี้ยสูงและภาษีสูง จะทำให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่าย Robert Reich อดีตรัฐมนตรีแรงงานในสมัยอดีตประธานาธิบดี Clinton เตือนว่า ความหวาดผวาของชาวอเมริกันอาจกลายเป็นจริง เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจถดถอยเป็นครั้งที่ 2

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ยังคาดการณ์ว่า GDP ของ สหรัฐฯ จะเติบโต 3.2% ในปีนี้ และ 4% ในปีหน้า การฟื้นตัวของ เศรษฐกิจอเมริกันจะยังคงอยู่ต่อไป ต่อให้รัฐบาลไม่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ ก็ตาม

นโยบายของรัฐบาลช่วยหยุดยั้งความตื่นตระหนกเป็นเหมือน การช็อกไฟฟ้าให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับฟื้นคืนชีพได้อีกครั้งแต่การฟื้นตัวขั้นต่อไป คงจะหวังพึ่งรัฐบาลอีกไม่ได้แล้ว ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนอเมริกันจะต้องพึ่งตัวเอง หากไม่ต้องการเห็นเศรษฐกิจ ถดถอยอีกครั้ง ข่าวดีก็คือเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงสามารถพึ่งพากลไกที่ไม่ใช่ของรัฐ ซึ่งเคยช่วยกระตุ้นให้สหรัฐฯ ฟื้นตัวได้สำเร็จมาแล้วในปี 2009 นั่นคือความสามารถในการสร้างนวัตกรรมความสามารถในการล้มแล้วลุก เหนืออื่นใดคือความสามารถในการเกาะกระแสการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

และแผนกระตุ้นเศรษฐกิจแบบ “ทำด้วยตัวเอง” (DIY) ของ ภาคเอกชนและผู้บริโภคอเมริกันได้เริ่มขึ้นแล้ว ไม่เคยมีครั้งใดที่งบดุลของบริษัทอเมริกันจะหน้าตาดีเท่านี้มาก่อน แถมผู้บริโภคยังลดการก่อหนี้และเพิ่มการออม ปัญหาที่เหลือคือความลังเลที่จะใช้จ่าย ภาคธุรกิจจึงออก “แผนกระตุ้นเศรษฐกิจ” ฉบับย่อมๆ ของตัวเองขึ้นมา เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค American Eagle ร้านแฟชั่นวัยรุ่นออกโปรโมชั่นต้อนรับเปิดเทอม ด้วยการแจกเสื้อยืด ตั๋วหนัง และ smart phone ฟรีแก่ลูกค้าวัยเรียนChrysler ออกโปรโมชั่นดอกเบี้ย 0% แถมช่วยผ่อนให้ 2 เดือนแรก ในขณะที่ธนาคารยังลังเลที่จะปล่อยสินเชื่อให้ SME แต่ Sam’s Club ยักษ์ใหญ่คลังสินค้าของสหรัฐฯ ได้ริเริ่มโครงการให้สินเชื่อแก่ธุรกิจขนาด เล็กสูงถึง 25,000 ดอลลาร์ การลงทุนในภาคเอกชนลดลง เนื่องจากกำลังการผลิตล้นเกิน อาคารสำนักงานและพื้นที่ขายในห้าง สรรพสินค้ายังว่างอยู่มากมาย โรงงานหลายแห่งไม่มีการผลิต และรัฐบาลก็ไม่ได้ออกแผนช่วยเหลือใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม แผนช่วยเหลือที่มีอยู่แล้วก็ยังคงมีประโยชน์ ในเดือนกรกฎาคมประธานาธิบดี Obama ประกาศว่า กระทรวงพลังงานจะค้ำประกันเงินกู้ให้แก่บริษัท Abound Solar ใน Loveland รัฐโคโลราโด Abound เป็นบริษัท ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ที่เพิ่งตั้งใหม่ แต่สามารถระดมทุนจากเอกชนได้ 104 ล้านดอลลาร์ในปี 2008 เงินกู้ก้อนใหม่นี้จะช่วยสร้างโรงงานที่โคโลราโดสำเร็จ จะช่วยสร้างโรงงานผลิตพลังงาน แสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ที่อินเดียนาโพลิสด้วย Abound จ้างงาน 350 คนและกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว คาดว่ายอดขายจะก้าวกระโดดจากเพียง 6,000 ดอลลาร์ในปี 2009 เป็น 35 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ และอาจพุ่งขึ้นไปเป็น 120 ล้านดอลลาร์ในปี 2011 เนื่องจากความต้องการพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้น 3-4 เท่าของกำลังการผลิตของบริษัท และเซลล์สุริยะส่วนใหญ่คือ 95% ที่ Abound ผลิตได้ ถูกส่งเป็นสินค้าส่งออก

ตลาดต่างประเทศอาจเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญที่สุดในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ DIY ของเอกชนสหรัฐฯ ในขณะที่ตลาดยุโรปยังซบเซา แต่เศรษฐกิจโลกกลับยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ในเดือน กรกฎาคมกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพิ่งปรับเพิ่มประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้เป็น 4.5% เนื่องจาก การเติบโตอย่างแข็งแกร่งในจีน อินเดีย แอฟริกาใต้ และละตินอเมริกา IMF ถึงกับปรับเพิ่มประมาณการการเติบโตของบราซิล ในปีนี้จาก 5.6% เป็น 7.2%

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเคยวิจารณ์ Obama ที่เรียกร้องให้สหรัฐฯ เพิ่มการส่งออกเป็น 2 เท่าภายในปี 2015 ว่าเป็นเรื่องเพ้อฝัน แต่ขณะนี้การส่งออกกลายเป็นเครื่องจักรที่ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตไปแล้วจริงๆ การส่งออกของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 17% ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การเติบโตอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในเอเชียกำลังเป็นสวรรค์ของผู้ผลิตในอเมริกา จีนซื้อต้นถั่วจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 8 เท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จาก 89 ล้านดอลลาร์ เป็น 737 ล้านดอลลาร์ การส่งออกจะยังคงเป็นแหล่งสำคัญในการเติบโตของสหรัฐฯ ต่อไป และจะช่วยสร้างงานใหม่ด้วย

Disney กำลังสร้างเชนโรงเรียนสอนภาษาในจีน โดยใช้ตัวการ์ตูนที่โด่งดังของตน สอนภาษาอังกฤษให้แก่เด็กน้อยชาวจีน Apple เพิ่งเปิดตัวร้านค้าปลีกซึ่งมีการออกแบบอันเป็นเอกลักษณ์ ที่นครเซี่ยงไฮ้เมื่อเดือนกรกฎาคม และมีแผนจะเปิดร้านทั้งหมด 25 แห่งในจีนภายในปี 2012 General Motors มียอดขายเพิ่มขึ้นในบราซิลและจีน จะทำให้ GM สามารถ จ่ายคืนเงินกู้ 43,000 ล้านดอลลาร์แก่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เร็วยิ่งขึ้น

การเติบโตของเศรษฐกิจโลกทำให้ความต้องการสินค้าในภาคบริการเพิ่มขึ้น และภาคบริการเป็นภาคธุรกิจที่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ทำงานอยู่ Moody’s Economy.com มีทีมเจ้าหน้าที่ชาวอเมริกันที่ทำงานให้แก่ธนาคารในยุโรป ไตรมาสแรกของปีนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าไปเที่ยวในสหรัฐฯ มีมากถึง 6.9 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นถึง 15.3% จากปีก่อน หากนักท่องเที่ยวชาวจีนไปเที่ยวสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจจะช่วยแก้ปัญหาสหรัฐฯ ขาดดุลการค้าต่อจีนอย่างมหาศาลได้

การมีตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่และมีกำลังซื้อสูง มีตลาดแรงงาน ที่มีประสิทธิภาพสูง และตลาดทุนที่มาตรฐาน รวมทั้งมีระบบกฎหมายที่คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นประเทศที่สามารถดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ได้มากกว่าประเทศอย่างจีนเสียอีก เพียงไตรมาสแรกของปีนี้ สหรัฐฯ ดึงดูดการลงทุนได้ถึง 44,000 ล้านดอลลาร์ Hexagon ผู้ผลิตเครื่องมือของ Sweden เสนอซื้อ Intergraph ด้วยเงิน 2,100 ล้านดอลลาร์ Intergraph เป็นบริษัทซอฟต์แวร์วิศวกรรมและแผนที่ในแอตแลนตา GM ตกลงขาย GM Global Steering Holdings ให้แก่บริษัท Pacific Century Motors ของจีน ด้วยเงิน 450 ล้านดอลลาร์ เพียงครึ่งแรกของปีนี้ บริษัทต่างชาติได้ทำข้อตกลงซื้อกิจการบริษัทอเมริกันไปแล้วถึง 397 ราย มูลค่ารวม 116,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจาก 265 รายมูลค่ารวม 32,000 ล้านดอลลาร์ ในช่วงครึ่งปีแรกของปีก่อน

ในเดือนพฤษภาคม TD Bank ของแคนาดา ซื้อกิจการธนาคาร 3 แห่งในฟลอริดาที่ประสบปัญหาธุรกิจ ธนาคารทั้งสาม มีสาขารวมกัน 69 แห่ง และสินทรัพย์รวม 3,900 ล้านดอลลาร์ สาขา 8 แห่งของธนาคารต่างชาติในสหรัฐฯ ได้ซื้อกิจการสถาบัน การเงินสหรัฐฯ 11 แห่งที่ล้ม Fiat ค่ายรถยักษ์ใหญ่ของอิตาลี ซึ่งเคยช่วย Chrysler จากการล้มละลาย ประกาศจะเปิดตัวแทนจำหน่ายรถเฟียตใน 41 รัฐของสหรัฐฯ

ในขณะที่ธนาคารอเมริกันเองยังเข็ดขยาดกับการปล่อยกู้ ธนาคารต่างชาติที่กำลังเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ จึงกลายเป็นแหล่งเงินกู้ใหม่ ในปีนี้ธนาคารระหว่างประเทศที่อยู่ในสหรัฐฯ ปล่อยเงินกู้ รายใหญ่คิดเป็นสัดส่วน 17% ของสินเชื่อทั้งหมดในธุรกิจอสังหา ริมทรัพย์ เพิ่มจากเพียง 9% ในปีที่แล้ว ในเดือนมิถุนายน ธนาคาร Industrial and Commercial Bank of China ประกาศจะเริ่มปล่อยสินเชื่อก้อนใหญ่ที่สูงกว่า 100 ล้านดอลลาร์ ให้แก่เจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ธนาคาร Banco do Brasil ซึ่งเพิ่งได้รับอนุญาตจากรัฐบาลอเมริกันให้ทำธุรกิจในสหรัฐฯ ได้ ประกาศแผนเปิดสาขา 15 แห่ง

น่าแปลกที่ในขณะที่คนอเมริกันเชื่อมั่นในการฟื้นตัวของประเทศตัวเองน้อยลง แต่ต่างชาติกลับเชื่อมั่นในอนาคตของสหรัฐฯ มากขึ้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีแรก อาจอาศัยเงินงบประมาณของประเทศ แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีที่สองนี้ อาจต้องเปลี่ยนไปพึ่งพิงเงินทุนจากต่างประเทศแทน รวมทั้งการพึ่งพาตัวเองของภาคเอกชนและผู้บริโภคอเมริกัน

แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.