|
โตโยต้าขอญี่ปุ่นชูไทยฐานผลิตเก๋งระดับโลก คาดใช้เวลาสรุปผล 1 ปี
ASTV ผู้จัดการรายวัน(4 สิงหาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
“โตโยต้า” เล็งผุดโครงการใหญ่ ยกไทยเป็นศูนย์กลางผลิตเก๋งระดับโลก เช่นเดียวกับปิกอัพ เร่งทำแผนเสนอบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น คาดใช้เวลาสรุปผล 1 ปี เชื่อมั่นมีศักยภาพพร้อม และเตรียมพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สู่ตลาดอีกหลายรุ่น โดยเฉพาะรถไฮบริด “โตโยต้า พรีอุส” และโครงการอีโคคาร์ ฟุ้งมูลค่าส่งออกปีนี้มีสิทธิ์ทะลุ 1.95 แสนล้านบาท ผงาดเป็นบริษัทส่งออกมูลค่าสูงสุดของไทย พร้อมปรับเพิ่มยอดขายในประเทศเป็น 3 แสนคัน ทำสถิติสูงสุดของโตโยต้าในไทย ด้าน “มาสด้า” เล็งย้ายฐานผลิตเก๋งคอมแพกต์ “มาสด้า 3” จากฟิลิปปินส์มาไทย รอเพียงบริษัทแม่ประเทศญี่ปุ่นยืนยัน คาดไม่เกินสิ้นปีนี้ได้ขอสรุป
ดันไทยฐานผลิตเก๋งระดับโลก
นายเคียวอิจิ ทานาดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด หรือ ทีเอ็มที (TMT) เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นฐานการผลิตปิกอัพขนาด 1 ตัน สำคัญระดับโลกของโตโยต้า จากการเป็นฐานผลิตเพื่อการส่งออกทั่วโลก แต่ในอนาคตโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ต้องการจะขยายบทบาทดังกล่าว ไปยังรถยนต์นั่ง หรือเก๋งด้วยเช่นกัน เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ระดับโลกอย่างแท้จริง
“ขณะนี้เรากำลังศึกษาแผนยกระดับไทย เป็นฐานการผลิตเก๋งระดับโลก จากปัจจุบันที่ผลิตรองรับตลาดในประเทศ และส่งออกภูมิภาคอาเซียน-ออสเตรเลียเป็นหลัก ซึ่งแผนทั้งหมดทีเอ็มทีจะต้องศึกษาครอบคลุม ทั้งเรื่องโรงงานผลิต การลงทุน และผลิตภัณฑ์ ตลอดจนตลาดส่งออก เพื่อให้บริษัทแม่โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น หรือ ทีเอ็มซี (TMC) เป็นผู้ตัดสินใจ โดยคาดว่าจะชัดเจนและสรุปได้ภายใน 1 ปีนับจากนี้ไป”
โดยโอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางผลิตเก๋งระดับโลก มีความเป็นไปได้สูงมาก เพราะไทยมีศักยภาพความพร้อมสูงสุด และปัจจุบันโตโยต้าในประเทศไทย เป็นบริษัทเดียวที่มีกำลังการผลิตเดือนละกว่า 5 หมื่นคัน นับว่า สูงที่สุดในโลก แม้ในสหรัฐอเมริกาจะมีตัวเลขการผลิตสูงกว่า แต่เป็นยอดการผลิตของบริษัทในเครือหลายแห่งรวมกัน
นายทานาดะ กล่าวว่า ในส่วนของโรงงานที่จะรองรับโครงการศูนย์กลางผลิตเก๋งระดับโลก ไทยมีพื้นที่ว่างขยายการผลิต หรือสร้างโรงงานเพิ่มได้ ทั้งที่เกตเวย์ (ปัจจุบันผลิตเก๋ง) และโรงงานบ้านโพธิ์ (ผลิตปิกอัพและรถอเนกประสงค์พีพีวี) จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งสามารถนำมาพิจารณาว่า ตรงไหนมีความเหมาะสมมากที่สุดได้ทั้งคู่
“ประกอบกับทิศทางตลาดเก๋ง ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนยอดขายเก๋งและปิกอัพปัจจุบันใกล้เคียงกันมาก ทำให้เชื่อว่าอนาคตตลาดเก๋ง จะมีมากกว่า หรือมีสัดส่วนเกิน 50% แต่ไม่ได้หมายความว่ายอดขายปิกอัพจะลดลง ตลาดปิกอัพยังจะเติบโตต่อไป เพียงแต่สัดส่วนปริมาณจะน้อยกว่าเก๋งเท่านั้น”
ยันผลิตพรีอุส-อีโคคาร์
จากทิศทางดังกล่าว แน่นอนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สู่ตลาด จึงต้องสอดคล้องกับสภาพตลาด โดยปัจจุบันเก๋งที่ผลิตในไทยไม่ว่าจะเป็น โตโยต้า รุ่นโคโรลล่า อัลติส, รุ่นคัมรี่, รุ่นวีออส และยาริส ล้วนได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี และในไทยยังมีศูนย์พัฒนาและวิจัยประจำภูมิภาคในไทย จึงย่อมมีศักยภาพในการพัฒนาและผลิตเก๋งรุ่นใหม่ๆ สู่ตลาดได้
“ไม่เพียงเท่านี้โตโยต้ายังให้ความสำคัญ กับรถพลังงานทางเลือกไปพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นรถพลังงานเชื้อเพลิงธรรมชาติ หรือ ซีเอ็นจี (CNG) น้ำมันไบโอดีเซล รวมถึงน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E85 โดยเฉพาะรถยนต์ไฮบริด ซึ่งในไทยโตโยต้าได้ผลิตและทำตลาดรุ่นคัมรี่ไปแล้ว และเรากำลังวางแผนจะผลิต โตโยต้า พรีอุส รถยนต์ไฮบริดโมเดลใหม่ในไทย เพื่อรองรับตลาดในประเทศและส่งออกอาเซียน โดยทุกอย่างจะชัดเจนภายในช่วงระยะเวลา 1 ปีจากนี้ และอีก 2-3 ปี โตโยต้ายังมีโครงการผลิตอีโคคาร์ในไทยตามที่ได้ประกาศไปแล้ว” นายทานาดะกล่าวและว่า
สำหรับการส่งออกรถยนต์โตโยต้าจากประเทศไทย มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้คาดว่าจะส่งออกทั้งหมด 330,000 แสนคัน โดยแบ่งเป็นปิกอัพ 270,000 คัน สำหรับส่งออกไปทั่วโลก 109 ประเทศ และเก๋งอีก 60,000 คัน ในภูมิภาคอาเซียน และ ออสเตรเลีย
“หากเป็นไปตามเป้าหมาย รวมการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป และชิ้นส่วนของโตโยต้าจากไทย มีมูลค่ามากกว่า 1.95 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่ทำได้ 1.56 แสนล้านบาท ซึ่งน่าจะผลักดันทำให้โตโยต้าเป็นบริษัทส่งออกมากที่สุดในประเทศไทย จากปัจจุบันที่บริษัทคอมพิวเตอร์ทำได้มากที่สุด”
ขายถล่มสถิติ 300,000 คัน/ปี
นายทานาดะ กล่าวว่า ส่วนตลาดรถยนต์ในประเทศปีนี้ จากการที่ยอดขายรวมครึ่งแรกของปีขยายตัวกว่า 50% ประกอบกับทิศทางเศรษฐกิจและการเมืองเมืองไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ราคาน้ำมันมีเสถียรภาพ และราคาสินค้าทางการเกษตรปรับตัวดี จึงทำให้จากเดิมคาดตลาดรถยนต์ถึงสิ้นปีนี้อยู่ที่ 650,000 คัน โตโยต้าได้ปรับเพิ่มเป็นประมาณ 750,000 คัน หรือเทียบกับปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 37% ซึ่งเป็นสถิติยอดขายสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของตลาดรถไทย
“โตโยต้าเองได้ปรับเพิ่มเป้าหมายการขายเช่นกัน จากเดิมเมื่อต้นปีตั้งไว้ 250,000 คัน เพิ่มเป็น 300,000 คัน ซึ่งถือเป็นสถิติการขายที่ดีที่สุดของโตโยต้าในประเทศไทย โดยที่ผ่านมาเคยทำได้สูงสุดเพียงกว่า 290,000 คันเท่านั้น และเมื่อรวมกับตัวเลขออกทั้งหมด ทำให้โตโยต้าในประเทศไทยมียอดขายกว่า 600,000 แสนคัน เป็นการบรรลุเป้าหมายตั้งแต่ปีแรก ในการเข้ามาบริหารงานทีเอ็มทีของผม จากเดิมจะต้องทำให้ได้ภายใน 3 ปี” นายทานาดะกล่าว
ทั้งนี้ การขยายตัวอย่างมากของตลาดรถไทย ส่งผลให้กำลังการผลิตทุกโรงงานแทบจะไม่เพียงพอรองรับ จึงต้องเพิ่มเวลาทำงานเป็น 2 กะ และเพิ่มการทำงานล่วงเวลา หรือ โอที (OT) อีกโรงงานละ 5 ชั่วโมง แต่ความต้องการของตลาดที่มีมากกว่า โตโยต้าจึงต้องลดเวลาผลิตต่อคันลง โดยในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ มีแผนลดเวลารถยนต์ออกจากสายการผลิตโรงงานเกตุเวย์จากปัจจุบัน 1.4 นาที เป็น 1.25 นาที โรงงานบ้านโพธิ์ลดลงมาเป็น 1.8 นาที และโรงงานสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ ลดเวลาลงเป็น 51 วินาที ซึ่งถือว่าเป็นโรงงานที่มีประสิทธิภาพการผลิตที่ดีที่สุดในโลกของโตโยต้า จึงแสดงให้เห็นศักยภาพของโตโยต้าในประเทศไทย ที่จะเป็นฐานการผลิตระดับโลกทั้งปิกอัพและเก๋ง
มาสด้ารอคำตอบผลิต “น้อง 3”
นายโชอิชิ ยูกิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเปิดตัว “มาสด้า 3” รุ่นปรับโฉม ด้วยรูปลักษณ์สปอร์ตรอบคัน ทั้งเครื่องยนต์ 1.6 ลิตร และ 2.0 ลิตร สนนราคา 7.55 แสนบาท-1.035 ล้านบาท เชื่อว่า จะได้การตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี พร้อมช่วยดันให้ยอดขาย “มาสด้า 3” ปีนี้ถึง 6,000 คัน จากยอดขายรวมทุกรุ่นกว่า 35,000 คัน ส่วน “มาสด้า 3 โมเดลเชนจ์” คาดว่า จะทำตลาดภายในปีหน้า
“อย่างที่ทุกคนทราบว่าใกล้ถึงเวลาที่ มาสด้า 3 ใหม่ หรือรุ่นโมเดลเชนจ์ จะทำตลาดแล้ว ส่วนจะย้ายฐานการผลิตออกจากฟิลิปินส์หรือไม่ และเตรียมผลิตที่ประเทศใดๆ เรายังไม่สามารถให้รายละเอียดได้ และต้องรอการคำตอบจากบริษัทแม่ ประเทศญี่ปุ่น คาดว่าจะได้ข้อสรุปพร้อมคำยืนยันอย่างเป็นทางการไม่เกินสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ตาม ก็มีแนวโน้มสูงที่จะย้ายมาผลิตที่ประเทศไทย และถ้ามาจริงต้องลงทุนเพิ่มเติม ซึ่งเป็นส่วนของมาสด้า มอเตอร์ คอร์เปอเรชัน ล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับ ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี”
ในกรณี “มาสด้า 3 ใหม่” ย้ายฐานการผลิตมาประเทศไทย จะทำให้การบริการจัดการต่างๆ ง่ายขึ้น ขณะเดียวกัน ลูกค้าชาวไทยจะได้รับการส่งมอบรถเร็วขึ้น เพราะตัดขั้นตอนไปหลายอย่าง ทั้ง ระยะเวลาที่ต้องรอหลังการสั่งซื้อจากโรงงานฟิลิปปินส์ การผ่านพิธีการศุลกากร การประเมินอัตราแลกเปลี่ยน
ด้าน สุรีทิพย์ ละอองทอง โฉมทองดี ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จากความคึกคักของตลาดรถยนต์ไทย โดยยอดขายครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.2553) เกือบ 360,000 คัน เติบโต 54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 และด้วยปัจจัยบวกที่มีต่อเนื่อง พร้อมทิศทางเศรษฐกิจสดใส คาดว่าถึงสิ้นปีตลาดรวมน่าจะทำได้ 740,000 คัน หรือถ้าสถานการณ์ดีสุดๆ กอปรกับทุกค่ายมีรถพร้อมส่งมอบได้ทัน อาจเห็นตัวเลขถึง 780,000 คัน โดยมาสด้าตั้งเป้าครองส่วนแบ่งตลาด 5%
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|