ชื่อโอวบุนโฮ้วนั้นเป็นชื่อที่คนไทยคุ้นหูกันพอสมควร ส่วนคนสิงคโปร์คนฮ่องกงและคนพม่าคงจะต้องรู้จักชื่อนี้ดีมาก ๆ ด้วยว่าชื่อของมหาเศรษฐีชาวจีนคนนี้ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อสวนสาธารณะในสิงคโปร์และฮ่องกง
ซึ่งก็เป็นสวนสาธารณะที่ตระกูลโอวเป็นผู้สร้างขึ้น และแม้ว่าคนไทยจะไม่ค่อยคุ้นกับชื่อโอวบุนโฮ้วนักแต่กับชื่อซิงเสียนเยอะเป้านั้นก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่เคยได้ยินมาก่อน
ซิงเสียนฯ เป็นหนังสือพิมพ์รายวันภาษาจีนในบ้านเราซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยตระกูลโอว
และต่อมากิจการนี้ตกทอดจนถึงมือเขยตระกูลโอว-ลีเอ็กซิม หรือ ลี สันติพงศ์ไชย
และลีนี่แหละที่ทำให้ซิงเสียนฯ ผงาดเรื่อยมาจนปัจจุบัน โดยที่ความยิ่งใหญ่ของซิงเสียนฯ
นั้น มีหลายคนถึงกับเปรียบเทียบว่าเป็น “ไทยรัฐแห่งย่านไชน่าทาวน์”
ทีเดียวเชียว
ซิงเสียนเยอะเป้าเป็นหนังสือพิมพ์รายวันภาษาจีนในไทยฉบับหนึ่งจากจำนวน
6 ฉบับที่ตีพิมพ์เผยแพร่กันอยู่ในขณะนี้
ซิงเสียน เป็นภาษาจีนกลาง 2 คำ ผสมกัน
“ซิง” คำนี้ถ้าถอดความเป็นภาษาไทยก็ควรจะหมายถึง “ดาว”
ส่วน “เสียน” นั้นหมายถึง “สยาม” ซึ่งเป็นชื่อที่คนจีนเคยใช้เรียกแผ่นดินที่เป็นประเทศไทยในอดีต
เพราะเหตุนี้ซิงเสียนเยอะเป้าเมื่อแปลเป็นไทยแล้ว จึงน่าจะต้องแปลว่าหนังสือพิมพ์รายวัน
“ดาวสยาม” เหมือนกับชื่อหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทยฉบับหนึ่งซึ่งก่อตั้งโดย
“กระแช่” หรือประสาน มีเฟื่องศาสตร์ แต่ขายให้คนอื่นไปแล้ว โดยผู้ซื้อนั้นก็ดูเหมือนว่าจะเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์จีนคู่แข่งของซิงเสียนฯ หรือ
“ดาวสยาม” เสียอีกด้วย
ซิงเสียนฯ นั้นก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช 2492 หรือ 36 ปีที่ผ่านมา โดยผู้ก่อตั้งก็คือเจ้าของกิจการยาหม่องตราเสือชื่อโอวบุนโฮ้วและโอวบุนปา
2 พี่น้องตระกูลโอวผู้มีชื่อเสียงสะเทือนเลื่อนลั่นคาบสมุทรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในแง่ที่เป็นมหาเศรษฐีใจบุญ
นิยมการบริจาคทรัพย์สินเงินทองช่วยเหลือการกุศลและสร้างสวนสาธารณะไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
อย่างเช่นสวนสาธารณะโอวบุนโฮ้วในฮ่องกงและสิงคโปร์ เป็นต้น
ในช่วงชีวิตของ 2 พี่น้องตระกูลโอวนี้พวกเขาได้ร่วมกันก่อตั้งกิจการค้าและการลงทุนขึ้นหลายอย่าง
โดยเฉพาะกิจการหนังสือพิมพ์นั้นก็มีการก่อตั้งขึ้น 3 ฉบับใน 3 ประเทศ ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทซิงเป้า
จำกัด
ที่ฮ่องกง พวกเขาก่อตั้งหนังสือพิมพ์รายวันภาษาจีนชื่อ ซิงเต๋า หรือ “ดาวฮ่องกง”
เพราะคำว่า “เต๋า” เป็นคำที่คนจีนมักใช้เรียกเกาะฮ่องกง
ที่สิงคโปร์ก็เป็นหนังสือพิมพ์รายวันชื่อ ซิงโจ้ว หรือ “ดาวสิงคโปร์”
โดยคำว่า “โจ้ว” นั้นก็คือสิงคโปร์นั่นแหละ
ส่วนอีกฉบับก็คือ ซิงเสียน ซึ่งคนจีนในประเทศไทยตลอดจนคนไทยจำนวนมากรู้จักกันดี
ทั้งซิงเต๋าและซิงโจ้วนั้นถ้านับอายุก่อตั้งก็คงจะราว ๆ 50 กว่าปีแล้ว
มีซิงเสียนฉบับเดียวที่เพิ่งจะมีอายุ 36 ปี
ปัจจุบันหนังสือพิมพ์ซิงเต๋าในฮ่องกงยังเป็นสมบัติของตระกูลโอวอยู่ โดยมีบุตรสาวคนหนึ่งของโอวบุนโฮ้วเป็นผู้ดำเนินกิจการ ส่วนซิงโจ้วนั้นได้ขายไปให้รัฐบาลสิงคโปร์เรียบร้อยนานแล้ว
และสำหรับซิงเสียน ก็มีลูกเขยและลูกสาวของโอวบุนปาเป็นทั้งเจ้าของและผู้บริหารในขณะนี้
ลูกสาวโอวบุนปาคนที่ว่านี้ชื่อ โอวเช็งซิน ภายหลังเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามเป็นไทยเสียใหม่ว่า
สุรีย์
ส่วนลูกเขยเป็นผู้เป็นสามีของโอวเช็งซินหรือสุรีย์นี้ก็คือ ลีเอ็กซิม
หรือชื่อไทยของเขาก็คือ ลี สันติพงศ์ไชย ประธานและผู้อำนวยการบริษัทเซิงเป้า
(ไทย) จำกัดหรือหนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเป้า
หนังสือพิมพ์ซึ่งมีหลายคนขนานนามให้เป็น “ไทยรัฐฉบับภาษาจีน”
ไม่ว่าจะพิจารณาจากแนวทางการนำเสนอข่าวหรือยอดการจัดจำหน่ายตลอดจนยอดโฆษณา
ด้านไหนก็ได้
โอวบุนโฮ้วและโอวบุนปานั้น เป็นคนจีนเชื้อสายฮากกา หรือที่เรียกกันว่าจีนแคะ ต้นตระกูลของพวกเขาเดิมอยู่ที่หมู่บ้านยงติง ตรงพรมแดนรอยต่อระหว่างพวกจีนแคะกับจีนฮกเกี้ยน
ตระกูลโอวก็เลยพูดได้ทั้งภาษาแคะและภาษาฮกเกี้ยนคล่องแคล่วพอ ๆ กัน
ต้นตระกูลของโอวบุนโฮ้วและโอวบุนปาอพยพเข้ามาปักหลักทำกินในแผ่นดินพม่าตั้งแต่คนในรุ่นปู่ย่าของทั้ง
2 แล้ว เพราะฉะนั้นโอวบุนโอ้วและโอวบุนปาจึงเกิดที่ประเทศพม่า
ในวัยที่ยังเป็นหนุ่มฉกรรจ์ 2 พี่น้องตระกูลโอวนี้ได้ร่วมกันทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายยาหม่องตราเสือขึ้นที่พม่า
70 - 80 ปีมาแล้ว โดยมีร้ายขายยาหม่องชื่อ “ยงอันท้ง” ซึ่งหมายถึงร้านของคนจากหมู่บ้านยังติง
ก็เป็นกิจการที่ประสบความสำเร็จน่าภูมิอกภูมิใจมาก ๆ
จากยาหม่องตราเสือและร้านขายยายงอันท้ง โอวบุนโฮ้วและโอวบุนปาเดินหน้าขยายกิจการต่อมาด้วยการตั้งบริษัทจัดจำหน่ายสินค้าจากต่างประเทศนับเป็นร้อย
ๆ ชนิด ซึ่งสมัยนั้นกิจการที่ว่านี้ใหญ่โตพอ ๆ กับห้างเบอร์ลี่ยุคเกอร์ในประเทศไทยทีเดียว และก็ขายสินค้าประเภทเดียวกับเบอร์ลี่ยุคเกอร์เสียด้วย
“ห้างฯ ของพวกเขาชื่อ สวิส-เบอร์ม่า สินค้าจากต่างประเทศทุกอย่างที่ส่งเข้ามาขายในประเทศไทยโดยผ่านห้างเบอร์ลี่ยุคเกอร์ สมัย 60-70 ปีที่แล้วนั้น ถ้าส่งไปขายที่พม่าก็จะขายโดยห้างสวิส-เบอร์ม่าของตระกูลโอว”
ผู้ที่ทราบเรื่องราวตระกูลโอวเป็นอย่างดีเล่าให้ฟัง
เพียงไม่ถึง 20 ปีให้หลังสำหรับ 2 พี่น้องตระกูลโอว ประเทศพม่านั้นก็คงจะเล็กเกินไปเสียแล้ว
เพราะฉะนั้นจากพม่าพวกเขาจึงต้องขยายกิจการยาหม่องตราเสือออกไปที่สิงคโปร์และฮ่องกงพร้อม
ๆ กับการเปิดตลาดอีกหลายประเทศในย่านเอเชียอาคเนย์ ซึ่งรวมทั้งประเทศมาเลเซียและประเทศไทยด้วย
กลยุทธ์การตลาดของยาหม่องตราเสือต้องถือว่าแปลกแหวกแนวมากสำหรับสมัยนั้นซึ่งก็กว่า
50 ปีมาแล้ว คือไม่ว่ายาหม่องตราเสือจะเข้าตลาดประเทศไหนประเทศนั้นมักจะต้องมีหนังสือพิมพ์ภาษาจีนหนึ่งฉบับก่อตั้งขึ้นโดยนายห้างยาหม่องตราเสือ
“วัตถุประสงค์ดั้งเดิมของการก่อตั้งหนังสือพิมพ์ก็เพื่อจะไว้ใช้เป็นสื่อโฆษณายาหม่องตราเสือเป็นหลัก
เพราะฉะนั้นซิงเต๋าซิงโจ้งและซิงเสียน จึงเกิดขึ้นมาได้เพราะเหตุนี้”
ลี สันติพงศ์ไชย เล่ากับ “ผู้จัดการ”
กิจการของตระกูลโอวเมื่อเริ่มแผ่กิ่งก้านสาขาออกมาจากพม่าแล้วนั้น ได้ใช้ฮ่องกงและสิงคโปร์เป็นฐานใหญ่แทนฐานเก่าในพม่า
ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ที่ว่าศักยภาพทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์และฮ่องกงนั้นได้เปรียบพม่าหลายเท่า
ในแง่ของอัตราเสี่ยงทางการเมืองก็มั่นคงกว่ากันมาก
ทั้งนี้มีการแบ่งความรับผิดชอบกันคือ โอวบุนโฮ้วจะนั่งประจำอยู่ที่ฮ่องกงส่วนผู้น้อง-โอวบุนปาก็นั่งบัญชาการอยู่ที่สำนักงานในสิงคโปร์
สำหรับกิจการตระกูลโอวในประเทศอื่นนอกเหนือจากนี้ก็จะเป็นหน้าที่ของลูก
ๆ หรือคนที่ใช้แซ่โอวเหมือนกันดูแลเป็นหูเป็นตาแทน
“ก็เป็นคอนเซ็ปต์เก่าแบบคนจีน คือหลักการบริหารของโอวบุนโฮ้วโอวบุนปานั้นกิจการใดที่เขาไม่มีเวลาดูแลหรือลูก
ๆ ก็ยังขึ้นมารับผิดชอบไม่ได้ พวกเขาจะเอาคนเซ็ปต์เก่าเหมือนกันดูแลแทน เพราะเขาเชื่อว่าคนแซ่เดียวกันนี้ไว้ใจได้
ไม่โกงแซ่เดียวกันแน่ ซึ่งส่วนมากก็เป็นคนใช้ได้ ซื่อสัตย์ อย่างกิจการหนังสือพิมพ์ซิงเสียนในยุคแรก
ๆ ก็เอาคนจากฮ่องกงมาบริหาร เป็นคนแคะแซ่โอว” ลี สันติพงศ์ไชย เล่าต่อมา
ทั้งโอวบุนโฮ้วและโอวบุนปา เป็นมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยอย่างมาก ๆ
พวกเขาลงทุนสร้างสวนสาธารณะไว้ใหญ่โตที่ฮ่องกงและที่สิงคโปร์ มีบ้านโอ่อ่าสวยงามหลายหลังในหลายประเทศ ซึ่งปัจจุบันส่วนมากจะตกเป็นสมบัติของรัฐบาลประเทศนั้น
ๆ ไปแล้ว เพราะขืนให้ทายาทเก็บรักษาไว้ก็คงจะไม่คุ้มกับค่าภาษีโดยเฉพาะภาษีที่ดิน
แต่ถึงจะร่ำรวยสักปานใด ทั้งโอวบุนโฮ้วและโอวบุนปาก็คงจะหลีกหนีกฎธรรมชาติไปไม่พ้นอยู่ดี
โอวบุนปา ผู้น้อง เสียชีวิตเมื่อปี 2487
อีก 10 ปีต่อมา โอวบุนโฮ้ว ผู้พี่ก็ตามน้องชายของเขาไปบ้าง
ถ้าทั้ง 2 ยังสามารถมีอายุยืนยาวอยู่ได้ถึงปัจจุบัน ก็คงจะมีอายุราว ๆ
90 กว่าปีเข้าไปแล้ว
สำหรับโอวบุนโฮ้วนั้น เขามีภรรยา 4 คน มีบุตรบุญธรรม 4 คน เท่ากับจำนวนภรรยา เป็นชาย
3 หญิง 1 และมีบุตรแท้ ๆ กับภรรยาอันดับที่ 3 อีก 5 คน บุตรทั้ง 9 ของโอวบุนโฮ้วเสียชีวิตในระหว่างสงครามโลกครั้งที่
2 ที่สิงคโปร์ 2 คน ขณะนี้ทายาทที่เหลืออีก 7 ของเขาส่วนใหญ่จะไปใช้ชีวิตเรียบ
ๆ อยู่ในหลายประเทศ อย่างเช่นสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย เป็นต้น มีบุตรสาวเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ยังดูแลกิจการของโอวบุนโฮ้วอยู่ในฮ่องกง
ส่วนโอวบุนปามีภรรยา 3 คน น้อยกว่าพี่ชายเพียงคนเดียว เพราะเหตุใดมิทราบได้
ภรรยาคนแรกไม่มีบุตรด้วยกัน ภรรยาคนที่ 2 มีบุตร 4 คนและภรรยาคนที่ 3 เลี้ยงบุตรบุญธรรมไว้คนหนึ่ง
ก็ภรรยาคนที่ 2 ของโอวบุนปานี่แหละที่เป็นแม่ยายของลี สันติพงศ์ไชย
บุตรที่เกิดกับภรรยาคนที่ 2 ทั้ง 4 คนนี้มีคนโตเป็นหญิงชื่อ โอวเช็งฮู้
คนที่ 2 คือ ภรรยาของลี สันติพงศ์ไชยที่ชื่อโอวเช็งซิน คนที่ 3 เป็นชายชื่อ
โอวเช็งฉ่าย และคนเล็กเป็นชายอีกเหมือนกัน คนนี้ชื่อ โอวเช็งเต็ก
ตระกูลโอวเมื่อสิ้นโอวบุนโฮ้วและโอวบุนปาแล้วนั้น โอวเช็งฉ่าย ได้ขึ้นเป็นผู้นำตระกูลมีอำนาจสูงสุดในการควบคุมกิจการของตระกูลโอวทั้งหมด
เพราะเขาเป็นบุตรชายของตระกูลโอวที่มีอาวุโสสูงสุดตามกฎการสืบทอดทายาทของคนจีน
(โอวเช็งฉ่ายเป็นบุตรชายแท้ ๆ ที่เกิดกับภรรยาคนที่ 2 ของโอวผู้น้อง ส่วนโอวบุนโฮ้วผู้พี่ถึงจะมีบุตรชายแต่ก็เกิดกับภรรยาคนที่ 3 ตามกฎแล้วตำแหน่งผู้นำจึงต้องตกอยู่กับโอวเช็งฉ่าย)
แต่โอวเช็งฉ่ายคงสร้างบุญเมื่อชาติก่อนน้อยเกินไปก็เป็นได้ เขาจึงเสียชีวิตเมื่อปี
2514 ที่ประเทศชิลีด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตก
“เป็นคนรูปร่างอ้วนมาก ชอบกินโน่นกินนี่ ก็เลยเป็นโรคมีไขมันมากในเส้นเลือดแล้วก็ตายในที่สุดทั้งที่อายุยังไม่มาก”
ลีพูดถึงจุดจบของน้องภรรยาให้ฟัง
สำหรับลีนั้นเขาเข้ามาอยู่ในประเทศไทยและรับช่วงกิจการหนังสือพิมพ์ซิงเสียนฯ ของตระกูลโอวโดยเป็นเจ้าของและบริหารเองเมื่อปี
2509 ก่อนหน้าที่โอวเช็งฉ่ายจะเสียชีวิตประมาณ 6 ปีก็เกือบ 20 ปีเต็มแล้วที่ลีต้องปลุกปั้นหนังสือพิมพ์ภาษาจีนฉบับนี้
ลี มีชื่อเดิมเป็นชื่อจีนว่า ลีเอ็กซิม เป็นคนฮกเกี้ยน เกิดเมื่อเดือนมกราคมปี
2468 ที่ย่างกุ้ง ประเทศพม่า
และกว่าจะมีวันนี้ซึ่งพร้อมสมบูรณ์ทั้งชื่อเสียงและทรัพย์สมบัตินั้น ลี
ต้องผ่านช่วงชีวิตที่ระหกระเหินและลำบากยากแค้นมาแล้วหลายครั้งหลายครา หลายแผ่นดินอีกด้วย
เมื่ออายุ 16 ขณะกำลังเรียนอยู่ในชั้นเตรียมอุดมศึกษาที่ย่างกุ้งนั้น สงครามโลกครั้งที่
2 อุบัติขึ้นแล้วในยุโรป พร้อมกันกับกองทัพอันเกรียงไกรของนักรบเลือดอาทิตย์อุทัยก็เริ่มยาตราเข้ายึดแผ่นดินพม่า
ลีกับญาติ ๆ อีกราว 60 ชีวิตต้องหนีภัยสงครามจากย่างกุ้งไปอยู่ที่มัณฑะเลย์ ซึ่งที่นี่พี่ชายของลีเปิดร้านขายกาแฟเล็ก ๆ ขึ้น ส่วนลีก็ทำขนมวางขายในร้านกาแฟหาเลี้ยงชีพ
“ปรากฏว่าร้านกาแฟไม่มีกำไร ส่วนคนทำขนมขายได้กำไรดี” ลีเล่าแบบขำ ๆ
จากทำขนมขาย ไป ๆ มา ๆ ก็ขยับฐานะมาเป็นพ่อค้าขายส่งแป้งที่ใช้สำหรับทำขนมปังและเส้นบะหมี่
“มีคนยูนนานคนหนึ่งเขาร่วมหุ้นกับเรา เขาบอกว่าเห็นเรามีแววทางการค้า
เราก็ไปเอาเงินจากย่ามาลงทุนค้าแป้ง ซึ่งย่าก็ต้องเอาทองไปขายให้ คือธุรกิจนี้แต่เดิมมีแขกคนหนึ่งเขาทำอยู่รายเดียว
เขาขายราคาแพงและมักจะเอาแป้งจากโรงงานไปผสมเสียก่อนที่จะขาย แป้งก็เลยคุณภาพไม่ค่อยดี เราก็คิดว่าถ้าเราทำจะต้องแย่งตลาดแขกคนนี้
เราจึงไปรับซื้อแป้งจากโรงงานโดยให้ราคาสูงว่าที่โรงงานเขาเคยขายให้แขกนิดหน่อย ไม่เช่นนั้นเขาไม่ขายให้
จากนั้นเราก็เอาไปขายตามชนบทในราคาที่ต่ำกว่าที่คนเดิมเขาขาย และแป้งของเราไม่ผสม คุณภาพดี ทำไปได้พักเดียวลูกค้าก็ติด
ก็กำไรดีมาก คือทุนที่เอามาลงแล้วยังเหลืออีกเยอะ ทำอยู่นานขยายกิจการมาเรื่อย
ๆ” ลีพูดถึงวี่แววการเป็นพ่อค้าของเขาซึ่งเริ่มตั้งแต่อายุเพิ่งจะ
16 ปี เท่านั้น
แต่ลีก็เป็นพ่อค้าขายส่งแป้งได้เพียง 4 ปี เมื่อสงครามสงบแล้วเขาต้องเดินทางกลับย่างกุ้ง
และได้เข้าเรียนด้านวิศวกรรมศาสตร์
“ตอนนั้นเรียนไปทำงานไป เพราะเราก็ตั้งร้านขายพวกกล้องถ่ายรูปและฟิล์ม”
ก็อาจจะพูดได้ว่าสำหรับหนุ่มน้อยวัย 20 อย่างลีนั้นที่จะต้องเรียนก็เรียนกันไปส่วนชีวิตพ่อค้าก็คงจะหยุดไม่ได้เสียแล้ว
ผลก็คือเมื่อจบจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้งแทนที่จะหันเหชีวิตไปเป็นวิศวกรตามวิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมาโดยตรง
ลีกลับจะต้องกลายเป็นเจ้าของห้างขายอุปกรณ์ถ่ายภาพใหญ่โตแห่งหนึ่งในพม่า
ด้วยความตั้งใจของเจ้าตัวซึ่งก็เป็นห้างที่จำหน่ายกล้องถ่ายรูปที่มีชื่อเสียงหลายยี่ห้อในสมัยนั้น
“อย่างกล้องฮัสสาบลัดของสวีเดนเป็นต้น” ลียกตัวอย่าง “ก็ใช้การตลาดวิธีเดียวกับเมื่อครั้งที่ค้าแป้งนั่นแหละ
คือเราเน้นสินค้าคุณภาพดี บริการเยี่ยมและราคายุติธรรมถึงเจริญเติบโตขึ้นมาได้”
ลีเอ็กซิม แต่งงานกับโอวเช็งซิน ลูกสาวเศรษฐียาหม่องตราเสือที่ย่างกุ้งเมื่ออายุได้
26 ปี หรือเมื่อประมาณ 44 ปีที่แล้ว
ถ้าจะสังเกตกันสักนิดก็จะพบว่าช่วงที่ลีแต่งงานนั้นก็เป็นช่วงเดียวกันที่กิจการของตระกูลโอวออกจากพม่าไปตั้งหลักที่สิงคโปร์และฮ่องกงแล้ว
(พิจารณาจากอายุการก่อตั้งหนังสือพิมพ์ซิงเต๋าและซิงโจ้วซึ่งมีอายุ 50 กว่าปีถ้านับถึงปัจจุบัน
และเมื่อโอวบุนโฮ้วต้องไปนั่งคุมกิจการอยู่ที่ฮ่องกง ส่วนโอวบุนปาเกือบจะไม่มีเวลาออกมาจากสิงคโปร์เลย
หน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบดูแลกิจการดั้งเดิมในพม่าของตระกูลโอวก็คงจะเป็นใครไปไม่ได้ถ้าไม่ใช่ลีเอ็กซิม
ซึ่งนอกจากจะเป็นเขยของตระกูลโอวแล้วก็ยังเป็นนักธุรกิจหนุ่มผู้มีความสามารถอีกด้วย
เมื่อ 40 กว่าปีที่แล้วนั้นลีเอ็กซิมจึงมีตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการกิจการ
3 แห่งในพม่า คือยาหม่องตราเสือ บริษัทสวิส เบอร์ม่า และห้างขายอุปกรณ์ถ่ายภาพที่เขาสร้างขึ้นมาด้วยลำแข้งตัวเอง
ลีนั่งบริการกิจการทั้ง 3 แห่งเป็นเวลา 10 กว่าปี ทุกอย่างกำลังก้าวหน้าด้วยดี
แต่การเมืองในประเทศพม่าก็เล่นตลกกับเขาและกิจการที่เขาบริหารอยู่จนได้
นายพลเนวินก้าวขึ้นมามีอำนาจในพม่าด้วยการรัฐประหารและเป็นการรัฐประหารที่มาพร้อม
ๆ กับนโยบายสังคมนิยมที่ทำการกวาดล้างนายทุนและนักการเมืองฝ่ายปฏิปักษ์อย่างชนิดที่เลือดท่วมแผ่นดินพม่า
“นายพลเนวินบอกว่า คนพม่านั้นมีแต่คนจน ส่วนคนรวยมีแต่พวกพ่อค้าคนกลางที่รับซื้อสินค้าจากผู้ผลิตด้วยราคาต่ำแล้วเอาไปจำหน่ายให้ประชาชนผู้บริโภคในราคาสูง
กอบโกยกำไรฝ่ายเดียว เพราะฉะนั้นนายพลเนวินจึงต้องการทำลายพ่อค้าคนกลางให้หมด
ซึ่งในทางปฏิบัติมักจะมีบ่อย ๆ ที่เจ้าหน้าระดับล่าง ๆ ปฏิบัติกันตามอำเภอใจ
ใช้เหตุผลส่วนตัวเข้าตัดสินว่าใครจะอยู่ในข่ายต้องกวาดล้าง อย่างเช่นชอบตึกของเขา
อยากเอามาทำเป็นสำนักงานของรัฐก็สั่งปิดกิจการเพื่อจะยึดตึก เห็นรถยนต์จอดอยู่สวยดี
อยากได้ ก็ปิดกิจการเพื่อจะเอารถเพียงคันเดียว ไป ๆ มา ๆ ก็เลยมีการกวาดล้างหมด ไม่ว่าพ่อค้าเล็กพ่อค้าใหญ่
กิจการของเราก็โดนด้วย เราก็เลยต้องอพยพออกมาจากพม่า” ลีพูดด้วยน้ำเสียงที่ยังมีแววขมขื่นอยู่นิด
ๆ แม้ว่าเขาและครอบครัวจะออกมาจากพม่าร่วม 20 กว่าปีแล้วก็ตาม
ออกจากพม่าครอบครัวของลีไปอยู่กับพี่น้องตระกูลโอวที่สิงคโปร์พักหนึ่งก่อน จากนั้นก็ไปอยู่ที่ฮ่องกง
เป็นผู้บริหารหมายเลข 2 ของกิจการตระกูลโอวที่นั่น
จนกระทั่งเมื่อปี 2509 ลีจึงได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเพื่อดูแลกิจการหนังสือพิมพ์ซิงเสียเยอะเป้า
“น้องภรรยาที่เขาเป็นผู้นำ เขาขอให้มาอยู่ที่เมืองไทย เพราะถ้าอยู่สิงคโปร์ก็ต้องเป็นหมายเลข
2 ที่ฮ่องกงก็เป็นหมายเลข 2 อีก มีที่เมืองไทยนี่แหละที่ยังไม่มีคนดูแล น้องภรรยาก็บอกว่า
ถ้ามาอยู่ที่นี่ก็จะเป็นหมายเลข 1 เราจึงมาเมืองไทย” ลีเล่าอย่างเปิดอกพูดกัน
ประเทศไทยสำหรับลีและครอบครัวแล้วต้องถือว่าเป็นของแปลกใหม่อย่างมาก ๆ
เป็นประเทศที่มีคนจีนแคะและจีนฮกเกี้ยนอยู่กันน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับมาเลเซียและสิงคโปร์
ส่วนมากจะเป็นพวกแต้จิ๋ว
แต่เมื่ออยู่ไปได้ไม่กี่ปี ลีและครอบครัวของเขาก็พบว่า เขาน่าจะมาอยู่ที่ประเทศไทยเสียก่อนหน้านี้หลาย
ๆ ปี
“ยังเสียดายถ้าเข้ามาก่อนนั้นสัก 5 ปีคงจะดีมาก เพราะที่ดินก็ยังหาซื้อได้ง่าย อย่างที่ดินแถวสีลมเมื่อปี
2504 ราคาเพียงตารางวาละ 2-3 พันบาท ตอนเราเข้ามาอยู่ก็ขึ้นเป็น 5-6 พันและ
8 พันแล้ว ยิ่งเดี๋ยวนี้ราคาวาละเป็นแสนบาท เป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตรวดเร็วมาก
เสถียรภาพในทุก ๆ ด้านก็มั่นคงดี” ลีให้ความเห็นกับ “ผู้จัดการ”
สำหรับลีนั้นเขาถือว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาพวกตระกูลโอวได้มองข้ามประเทศไทยไปอย่างน่าเสียดายที่สุด
“พวกเขากลัวว่าประเทศไทยอาจจะเป็นแบบเวียดนาม ลาว หรือเขมร เขาจึงไม่สนใจที่จะลงทุนในเมืองไทยเลย
เป็นความเชื่อตามทฤษฎีโดมิโนที่เคยเชื่อ ๆ กัน อย่างกิจการหนังสือพิมพ์มีแค่ไหนก็ทำกันแค่นั้น
ไม่มีการปรับปรุง ไม่มีการขยายงาน และไม่มีการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
แต่เผอิญเราไม่คิดอย่างที่พวกเขาคิด”
ในความเห็นของผู้ที่เคยผ่านเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประเทศพม่าอย่างลีนั้น
เขาเชื่อว่าประเทศไทยจะไม่กลายเป็นคอมมิวนิสต์อย่างที่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยหลายประเทศเป็นกัน
และลีมั่นใจมากว่าเขาคิดไม่ผิด
เกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ซิงเสียนฯ เมื่อลีเข้ามารับผิดชอบนั้น ลีได้ตัดสินใจรับซื้อหุ้น
50 เปอร์เซ็นต์ จากโฮวเชงฮ่าย ซึ่งเมื่อรวมกับหุ้นที่ภรรยาของลีถืออยู่เดิมแล้วกิจการหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ก็ตกเป็นของลีโดยตรงทันที
“เราทยอยซื้อหุ้นต่อมาเรื่อย ๆ จนขณะนี้ก็ถืออยู่กว่า 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว”
ลีเปิดเผยให้ฟัง
หนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเป้านั้น เป็นหนังสือพิมพ์ที่มีแนวเป็นกลาง ๆ
มาโดยตลอดไม่ว่าจะเป็นยุคแรกสมัยที่โอวบุนโฮ้วยังมีชีวิตอยู่ หรือสมัยต่อมา จนกระทั่งสมัยที่ลี
สันติพงศ์ไชย เป็นเจ้าของและผู้บริหาร โดยเฉพาะความเป็นกลางในปัญหา 2 จีน
“ถูกวางกันมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งแล้ว คือเราจะไม่เข้าข้างใคร ไม่เป็นกระบอกเสียงให้ใคร ไม่ว่าจะเป็นไต้หวันหรือจีนแผ่นดินใหญ่ เราถือว่าเป็นนักธุรกิจ
มีเพื่อนฝูงอยู่ทั้ง 2 ฝ่ายเราจึงต้องเป็นกลาง ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องอ่านหนังสือพิมพ์ของเรา”
ลีให้เหตุผล
แต่หนังสือพิมพ์ซิงเสียนฯ ในยุคของลีก็มีหลายสิ่งเหมือนกันที่ลีต้องตัดสินใจเปลี่ยนแปลงเสียใหม่อย่างเช่น
เรื่องข้อตกลงที่ผู้บริหารคนเดิมเคยทำไว้กับหนังสือพิมพ์ภาษาจีนด้วยกันในยุคนั้น เรื่องหนึ่งที่เห็นได้ชัด
“ผู้จัดการคนเดิมเข้าใจว่าเขาจะโดนหลอกเพราะความอิจฉาของบางคนหาว่าซิงเสียนฯ
ขายดีและมีโฆษณามากที่สุดจากจำนวนหนังสือพิมพ์จีน 3 ฉบับในขณะนั้น เขาก็มีข้อตกลงร่วมกันทั้ง
3 ฉบับว่าทุกฉบับจะพิมพ์ไม่เกิน 16 หน้า ตอนที่เราเข้ามาแรก ๆ จึงอ่านเจอบ่อย
ๆ ที่ซิงเสียนจะต้องลงข้อความว่า ขออภัยฉบับนี้โฆษณาให้ไม่ได้ต้องขอเป็นฉบับหน้าเพราะเนื้อที่หมด
ทั้งนี้ก็เพราะซิงเสียนพิมพ์เต็ม 16 หน้าแล้ว โฆษณาอยากลงก็ลงไม่ได้ ส่วนฉบับอื่นเขามีแค่
10 หน้าอย่างมาก 12 หน้า อย่างนี้มันก็หลอกกันชัด ๆ เพราะโฆษณาเมื่อลงกับเราไม่ได้เขาก็ต้องหนีไปลงกับฉบับอื่น
ด้วยเหตุนี้เมื่อเราเข้ามาบริหารเต็มตัวเราจึงยกเลิกข้อตกลง พอเลิกแล้วซิงเสียนสามารถเพิ่มหน้าขึ้นมาเป็น
20 หน้าทันที ใครอยากลงโฆษณาก็ลงได้ ส่วนตอนนี้ก็เพิ่มเป็น 36 หน้าแล้ว”
ลีพูดถึงสิ่งที่เขาจำเป็นต้องแก้ไขเมื่อเข้ามารับผิดชอบหนังสือพิมพ์ซิงเสียนในช่วงต้น
ๆ
หรืออย่างเรื่องการลงทุนกว่า 7 ล้านบาทเพื่อนำแท่นพิมพ์ระบบออฟเซตเข้ามาติดตั้งแทนเครื่องพิมพ์เก่าที่ชราภาพเมื่อปี
2510 นั้นก็ต้องนับเป็นการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่งของหนังสือพิมพ์ซิงเสียนในยุคของลี
“เรื่องนี้ตอนนั้นผมหนักใจที่สุด เราตั้งใจจะทำพิธีเปิดการใช้งานเครื่องพิมพ์ระบบใหม่นี้ในวันที่
23 ตุลาคม ก็เรียนเชิญท่านพจน์ สารสิน รองนายกรัฐมนตรีสมัยนั้นมาเป็นประธานเปิด
วันที่ 15 ตุลาคม แล้วเครื่องยังส่งจากต่างประเทศมาไม่ครบ กินไม่ได้นอนไม่หลับเลย
เป็นห่วงมาก จนเป็นแผลในกระเพาะเพราะความเครียดและโหมงานหนักเพื่อเร่งติดตั้งให้ทัน
ซึ่งก็ทันจวนเจียนพอดี พอท่านพจน์กดปุ่มแท่นพิมพ์ทำงานออกมาเป็นหนังสือทันที
คนทึ่งกันมาก” ลีถือโอกาสเล่าเกร็ดอันเกิดจากการตัดสินใจลงทุนเปลี่ยนแท่นพิมพ์ในครั้งนั้นให้ฟังด้วย
ซิงเสียนเยอะเป้าในช่วงแรกที่ลีเริ่มเข้ามารับผิดชอบนั้นมียอดพิมพ์ราว
ๆ 6 หมื่นฉบับ จัดเป็นหนังสือพิมพ์ที่มียอดการจำหน่ายสูงสุดในบรรดาหนังสือพิมพ์ภาษาจีนด้วยกัน
ส่วนปัจจุบันนั้นยอดพิมพ์ได้เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 8 หมื่นฉบับแล้ว ซึ่งก็ยังครองตำแหน่งผู้นำในยุทธจักรเหมือนเดิม
“ถ้ามองกันว่าภายในระยะเวลา 20 ปีที่ลีเข้ามาในซิงเสียนแล้วทำยอดเพิ่มขึ้นไปได้เพียงแค่
2 หมื่นฉบับนั้นก็คงต้องถือว่าโตช้ามาก แต่ก็น่าเห็นใจ เพราะอย่าลืมว่าหนังสือพิมพ์ภาษาจีนในเมืองไทยนั้นจำนวนผู้อ่านมันลดลงเรื่อย
ๆ เพราะคนรู้หนังสือจีนมีแต่ลดไม่มีเพิ่ม ซึ่งซิงเสียนฯ สามารถทำยอดสวนทางกับสภาพความเป็นจริงขึ้นไปได้นี่
ต้องยอมรับว่าเขาเก่งมาก” พ่อค้าจีนชั้นหลานคนหนึ่งวิจารณ์
หรือก็อาจจะพูดได้อีกอย่างหนึ่งว่าการก้าวขึ้นมาจากยอดพิมพ์ 6 หมื่นเป็น
8 หมื่นของซิเสียนนั้นไม่ใช่เกิดจากการขยายกลุ่มอ่าน แต่น่าจะเกิดจากการเข้าไปช่วงชิงกลุ่มผู้อ่านจากหนังสือพิมพ์คู่แข่งเสียมากกว่า
เพราะฉะนั้นในกลุ่มหนังสือพิมพ์จีนตลอด 36 ปีที่ผ่านมาจึงมักจะปรากฏว่ามีหนังสือพิมพ์หลายฉบับเกิดขึ้นได้พักหนึ่งแล้วก็ปิดไป หรือไม่ก็จะต้องหานายทุนกันใหม่เรื่อย
ๆ ส่วนที่สามารถยืนยงอยู่ได้ตลอดมาดูเหมือนจะมีซิงเสียนเยอะเป้าฉบับเดียว
ก็แน่นอนล่ะ ที่ผลสำเร็จอันนี้ของลี สันติพงศ์ไชย ย่อมจะทำให้เขาต้องตกเป็นเป้าโจมตีจากคู่แข่งอยู่บ่อย
ๆ โดยเฉพาะกับผู้ที่ชอบทำตัวเป็น “มาเฟีย” ในกลุ่มพ่อค้าชาวจีนทั้งหลายนั้นก็อาจจะเรียกได้ว่าจ้องทำลายเขาอย่างไม่ให้คลาดสายตาทีเดียว
“ลีเป็นคนประเภทที่น่าจะเรียกว่ายอมหักไม่ยอมงอจริง ๆ เพราะฉะนั้นในทางธุรกิจเขาก็เดินหน้าเต็มตัวไม่มีลดราให้ใคร เขาถือว่าธุรกิจมันต้องแข่งขันกัน
ใครเก่งกว่าก็ได้เป็นผู้ชนะ ส่วนในเรื่องกลุ่มอิทธิพลซึ่งชอบใช้หนังสือพิมพ์เป็นตัวสร้างบารมี ลีเป็นคนที่ไม่ยอมลงให้กับพวกนี้หัวเด็ดตีนขาด
ก็อย่างนี้แหละที่เมื่อประมาณปี 2525 เขาจึงต้องมีเรื่องปะทะกับเจ้าพ่อเยาวราชที่ชื่อตั้งซีเฮี้ยง
ซึ่งตั้งซีเฮี้ยงหรือชื่อไทยนรรัตน์ ตั้งปกรณ์ คนนี้เป็นคนกว้างขวางมากในวงการตำรวจและนักการเมือง
โชคดีที่ลีเสมอตัวไม่ถูกตีจมติดดินอย่างที่บางคนต้องการ” นักธุรกิจจีนย่านเยาวราชพูดกับ
“ผู้จัดการ” เกี่ยวกับลี สันติพงศ์ไชย
ในวัยที่ย่าง 61 ปี ในทุกวันนี้ของลีจึงเป็นวัยที่กว่าจะผ่านแต่ละปีมาได้นั้น
ต้องเหน็ดเหนื่อยทั้งกายและใจอย่างมาก ๆ
และก็คงใกล้เวลาที่จะต้องวางมือจากงานทั้งหลายเสียบ้างแล้ว
ซิงเสียนเยอะเป้าในยุคนี้จึงเป็นยุคที่ทายาทของลีกำลังจะขึ้นมาแทนเขา
ลี สันติพงศ์ไชย มีบุตรหญิง-ชาย รวม 5 คน
คนโตเป็นหญิงชื่อ ลินดา มีครอบครัวอยู่ที่ฮาวาย สหรัฐอเมริกา
คนที่สองก็เป็นหญิงอีกชื่อ ซูซี่ แต่งงานแล้วเหมือนกันและขณะนี้รับผิดชอบงานในฝ่ายโฆษณาของหนังสือพิมพ์ซิงเสียน ซูซี่
เรียนระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดของสหรัฐฯ แล้วมาเรียนภาษาจีนระดับปริญญาตรีต่อที่สิงคโปร์
คนที่ 3 ก็เป็นหญิงอีกนั่นแหละ คนนี้ชื่อ เน็ดด้า จบปริญญาตรีจากสแตนฟอร์ดและกำลังทำปริญญาโทด้านวารสารศาสตร์อยู่ที่บอสตัน
ลีตั้งความหวังที่จะให้ลูกสาวคนที่ 3 นี้กลับมาช่วยงานหนังสือพิมพ์ซิงเสียนฯ อีกคน
เมื่อเรียนสำเร็จแล้ว
ส่วนคนที่ 4 เป็นผู้ชายชื่อ อารี สันติพงศ์ไชย ลูกชายของลีคนนี้ลีคิดว่าจะให้เป็นผู้สืบทอดงานทั้งหมดต่อจากเขา
ซึ่งปัจจุบันอารีนั่งทำงานในซิงเสียนฯ ด้วยตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ
และคนที่ 5 -สุดท้องเป็นผู้ชายชื่อวินซ์ กำลังเรียนหนังสืออยู่ที่ฮาวาย
อนาคตของลูกแต่ละคนนั้น ลีมีส่วนร่วมวางแผนให้อย่างใกล้ชิด
ลีมีความเชื่อว่าในการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ สำคัญที่สุดคือ “การจัดการ”
"ถ้าสามารถเป็นผู้จัดการที่เก่งแล้วกิจการมันไปได้ ส่วนหน้าที่อื่น
ๆ เราใช้คนอื่นทำได้ อย่างเช่นพวกนักบัญชีหรือเทคนิคเชียนด้านต่าง ๆ เพราะฉะนั้นผมจึงพยายามเน้นให้ลูก
ๆ เขาเรียนด้านการจัดการและการบริหารเป็นหลัก เพื่อที่จะได้เอาความรู้ที่ร่ำเรียนมานั้นกลับมาช่วยงานที่ครอบครัวได้สร้างไว้แล้วและพัฒนาให้มันก้าวหน้าต่อไป”
ลีให้เหตุผลที่เขาจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของลูก ๆ
โดยเฉพาะ อารี สันติพงศ์ไชย แล้วลีตั้งความหวังไว้กับลูกชายคนนี้มากทีเดียว
อารีถูกส่งเข้าเรียนชั้นมัธยมและเตรียมอุดมศึกษาที่โรงเรียนประจำในประเทศออสเตรเลีย ชื่อโรงเรียนจีลอง
(GELLONG) ซึ่งอารีใช้เวลาเรียนอยู่ที่นี่ 5 ปีเต็ม ๆ
โรงเรียนจีลองนั้นเป็นโรงเรียนชั้นนำแห่งหนึ่ง ก็คล้าย ๆ กับที่อังกฤษมีโรงเรียนอีตัน หรือบ้านเรามีโรงเรียนวชิราวุธนั่นแหละ
“เป็นโรงเรียนที่ฝึกอบรมและให้การศึกษาเด็กดีมาก เขาสอนให้รู้จักการเป็นผู้นำมีความซื่อสัตย์และเป็นสุภาพบุรุษ”
ลีพูดถึงโรงเรียนแห่งนี้ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ทำให้เขาต้องส่งลูกชายไปอยู่ที่นี่ถึง
5 ปี
และจากจีลอง อารีได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรีเลียในคณะเศรษฐศษสตร์
จากนั้นก็ไปเรียนภาษาจีนที่ไต้หวันเมื่อได้รับปริญญาตรีทางเศรษฐศาสตร์จากออสเตรเลียแล้ว
ปัจจุบันอารี สันติพงศ์ไชย อายุ 28 ปี เขาเริ่มเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของหนังสือพิมพ์ซิงเสียนฯเมื่อปี
2523 หรือเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา บุกเบิกกิจการแยกสีและทำเพลตเป็นของตนเอง
คือบริษัทอารีซีสเท็มส์ จำกัดเมื่อราว ๆ ปี 2524 และปีนี้ร่วมกับนักลงทุนมาเลเซียและฮ่องกงก่อตั้งบริษัทนิวเอร่าขึ้นมาเป็นผู้แทนจำหน่ายรถฟอร์ดในประเทศไทย
ก็น่าจะเรียกได้ว่าอารีไม่ได้ทำให้ลี สันติพงศ์ไชย ผิดหวังแม้แต่น้อยนิด
“เขาเป็นคนไม่เที่ยวเตร่เฮฮา เอาล่ะถึงเขาจะเป็นลูกคนรวย อารีคิดแต่ว่าเขาจะทำงานให้ประสบความสำเร็จ เขาเสนอโครงการมาให้ดูเป็นสิบ ๆ โครงการ ก็ปฏิเสธไปมากเพราะไม่อยากให้เขาเสี่ยงมากเกินไป
จนโครงการล่าสุดก็คือบริษัทนิวเอร่าที่จะขายรถฟอร์ดที่เราต้องยอมให้เขาทำ
เพราะเขาก็เชื่อมั่นมากกว่าเขาทำได้” ลีพูดถึงอารีให้ฟัง
ลี สันติพงศ์ไชย ในทุกวันนี้จึงดูเหมือนว่าจะหมดห่วงในเรื่องผู้ที่จะมาสืบทอดกิจการหนังสือพิมพ์ซิงเสียนฯ และกิจการอื่น ๆ ของครอบครัวไปมากแล้ว
แต่ ลียังตื่นเช้าอยู่เป็นปกติ รีบเข้าที่ทำงานที่ซิงเสียนฯ เหมือนกับที่เคยทำอยู่ทุกวันตลอด
20 ปีที่ผ่านมา พอช่วงใกล้เที่ยงลีก็จะออกไปกินเลี้ยงกับพ่อค้านักธุรกิจและเพื่อน ๆ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหากัน จากนั้นช่วงบ่ายก็จะไปออกกำลังด้วยการตีกอล์ฟ ซึ่งก็ถือเป็นการสังคมไปด้วยในตัว
“ก็คงจะวางมือจากงานเด็ดขาดยังไม่ได้มันยังรู้สึกห่วง ๆ อยู่”
เขาให้เหตุผล
ลียังมีตำแหน่งในขณะนี้เป็นประธานและผู้อำนวยการของหนังสือพิมพ์ซิงเสียนฯ อยู่
และก็เพิ่งจะได้รับเกียรติแต่งตั้งให้เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ของประเทศอุรุกวัย ประจำประเทศไทย เมื่อไม่นานมานี้
เส้นทางเดินของลีเอ็กซิม หรือ ลี สันติพงศ์ไชย นั้นอาจจะพูดได้ว่ามาถึงจุดสุดยอดที่ตัวเขาก็ควรจะภาคภูมิใจได้แล้ว
เพียงแต่ลีเองก็ยังคิดไม่ตกเหมือนกันว่า เขาควรจะต้องวางมือจากงานทั้งปวงจริง ๆ เมื่อไรดี
โอวบุนโฮ้วผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ซิงเสียนฯ คงช่วยตอบคำถามนี้ให้กับลีไม่ได้แน่
ก็คงอารี สันติพงศ์ไชย นั่นแหละที่จะต้องเป็นผู้ตอบคำถามนี้