|
เปิดแผน "ทีจี" ตั้งโลว์คอสต์ "ไทยเกอร์แอร์" ดับอหังการแอร์เอเชีย
ASTV ผู้จัดการรายวัน(3 สิงหาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
"การบินไทย" จับมือ "ไทยเกอร์แอร์" ตั้งโลว์คอสต์แข่ง "แอร์เอเชีย" เตรียมเซ็นเอ็มโอยู วันนี้ วงในแฉข้อมูลลึก “บิ๊กการบินไทย” ดอดหารือบอร์ดหนุนซื้อหุ้น ” ไทเกอร์ แอร์เวย์ส” 51% อ้างอุดจุดอ่อนเปิดเกมชิงตลาดภูมิภาค เขี่ยนกแอร์แค่ในประเทศ พร้อมแฉเด็ก ปชป.เดินตามรอยหางแดง ใช้กลยุทธ์ไม่ต่างกลุ่มชินคอร์ปซื้อหุ้นไทยแอร์เอเชีย จนครองตลาด Low Cost “ปิยสวัสดิ์” เปิดเกมล็อบบี้บอร์ด
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยแผนการลงทุนสายการบินต้นทุนต่ำแห่งชาติ (national low cost airline) โดยเตรียมจับมือกับกลุ่มไทเกอร์แอร์โฮลดิ้งส์ ธุรกิจในเครือเทมาเสก เพื่อเปิดดำเนินการ "ไทย ไทเกอร์ แอร์เวย์ส" ขึ้นในเมืองไทย ในวันที่ 2 สิงหาคม 2553 นี้ การบินไทยเตรียมจะลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจเบื้องต้น (MOU) กับกลุ่มไทเกอร์ แอร์เวย์ส โฮลดิ้ง ซึ่งปัจจุบันไทเกอร์ฯจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ และจะเริ่มเปิดบินตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไป
โดยวางเป้าหมายเพื่อเข้าไปชิงส่วนแบ่งผู้โดยสารระหว่างประเทศจำนวนมหาศาลในภูมิอาเซียน และเอเชีย-แปซิฟิก แข่งขันกับเจ้าตลาดอย่างกลุ่ม แอร์เอเชีย ซึ่งขณะนี้เปิดเครือข่ายสายการบินโลว์คอสต์ครอบคลุมถึง 4 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ส่วน นกแอร์ซึ่งเป็นสายการบินลูกที่การบินไทยถือหุ้นใหญ่ 39.5% จะวางตำแหน่งให้พัฒนาเส้นทางบินเฉพาะภายในประเทศเท่านั้น เนื่องจากยังไม่พร้อมจะขยายเที่ยวบินไปต่างประเทศ อีกทั้งเคยเปิดบินมาแล้วในอดีต เส้นทางกรุงเทพฯ-เดลี แต่ล้มเหลว การดำเนินงานขาดทุนมโหฬาร
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า เมื่อวันที่ 30 กรกฎคม 2553 ที่ผ่านมา ได้มีการเรียกประชุมคณะกรรมการบริษัท การบินไทย ในวาระพิเศษโดยฝ่ายบริหารต้องการหารือนอกรอบกับบอร์ดบางส่วนในเรื่องแผนการลงทุนสายการบินต้นทุนต่ำแห่งชาติ โดยการบินไทยจะเข้าไปซื้อหุ้นของไทเกอร์ แอร์เวย์ส ในสัดส่วน 51% โดยนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) และฝ่ายบริหารการบินไทยเสนอแผนการตั้งสายการบินตันทุนต่ำ (Low Cost Airline) ว่าเป็นการดำเนินการภายใต้กลยุทธ์ TG100 Strategy โดยจะให้ ไทเกอร์ แอร์เวย์ส บินในเส้นทางภูมิภาค
ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายบริหาร (EMM) ได้ประชุมเมื่อสัปดาห์ผ่านมาเห็นชอบแผนดังกล่าวและเตรียมเรื่องเสนอบอร์ดในวันที่ 31 กรกฎาคม 2553 และหากได้รับความเห็นชอบได้เตรียมกำหนดลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในความร่วมมือการร่วมทุน (Joint Venture) กับ ไทเกอร์ แอร์เวย์ส ในวันนี้ (2 สิงหาคม 2553)
ก่อนหน้านี้ฝ่ายบริหารการบินไทยได้เคยนำเสนอที่ประชุมบอร์ดแล้วอย่างไม่เป็นทางการเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา โดยกำหนดยุทธศาสตร์ ไทเกอร์ แอร์เวย์ส ชิงส่วนแบ่งตลาดในภูมิภาคซึ่ง นกแอร์ ไม่สามารถตอบสนองให้การบินไทยได้
ด้านนายปิยสวัสดิ์เคยกล่าวก่อนหน้านี้ โดยระบุว่า การบินไทยตั้งนกแอร์ เมื่อ 6 ปีก่อน ถือหุ้น 39.5% ล่าสุดได้ร่วมมือกันตามแผนกลยุทธ์ Two-Brand Strategy เพื่อทำการบินร่วม (Code share) ในเส้นทางภายในประเทศ เช่น พิษณุโลก, อุบลราชธานี และเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน แต่นกแอร์มีข้อจำกัดเรื่องจำนวนเครื่องบิน ส่วนตลาดการบินในภูมิภาคซึ่งมีจุดบินที่น่าสนใจอีกมาก ทั้ง ฮานอย คุนหมิงแต่เป็นจุดอ่อนของการบินไทยที่ไม่สามารถเปิดการตลาดได้อย่างเต็มที่ ซึ่งต้องจะต้องแก้ไขในเรื่องนี้
สำหรับแผนดำเนินงานของไทเกอร์แอร์เวย์สระยะแรก หลังจากการบินไทยเข้าถือหุ้นใหญ่แล้ว คือ จะใช้เครื่องบิน A 320 จำนวน 3 ลำ ทำการบินในเส้นทางภูมิภาค โดยการบินไทยจะต้องใช้เงินประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 51% ในไทเกอร์แอร์เวย์ส โดยส่วนหนึ่งจะใช้กองทุนสวัสดิการพนักงานการบินไทย ส่วนที่เหลืออีก 49% จะเป็นของผู้ถือหุ้นเดิม คือ สิงคโปร์แอร์ไลน์ และไรอันแอร์ ซึ่งสิงคโปร์ แอร์ไลน์ มีกลุ่ม เทมาเส็กเป็นผู้ถือหุ้น ดังนั้นการที่ผู้บริหารการบินไทย ภายใต้การนำของนายปิยสวัสดิ์ทำอยู่ในขณะนี้ไม่ต่างจากตอนที่กลุ่มชินคอร์ปซื้อหุ้นแอร์เอเชีย และทำให้เกิดไทยแอร์เอเชีย เป็นสายการบินต้นทุนต่ำเข้ามาเปิดทำการบินภายในประเทศไทยได้ และไทยแอร์เอเชียเข้ามาใช้ไทยเป็นฮับแย่งตลาดการบินไทยโดยตรง และกลายเป็นผู้ครองตลาดในภูมิภาคในขณะนี้
“ตอนนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลถูกครหาว่า นโยบายเสรีการบินเอื้อให้ไทยแอร์เอเชีย ซึ่งเป็นธุรกิจในเครือชินคอร์ป ซึ่งมีกลุ่มเทมาเส็กถือหุ้นอยู่ด้วย ทำให้ไทยแอร์เอเชียเข้าข่ายทำผิด พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจการบิน ในกรณีสัดส่วนการถือหุ้นไม่เป็นไปตามที่กำหนด เนื่องจากตามกฎหมายกำหนดให้สัดส่วนการถือหุ้นของธุรกิจสายการบินจะต้องมีสัดส่วนของคนไทยรวมไม่ต่ำกว่า 51% ซึ่ง ไทยแอร์เอเชีย ถือหุ้นโดย บริษัท แอร์เอเชีย 49 % และบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทของคนไทยในสัดส่วน 51 % แต่ใน ชินคอร์ปฯ มีต่างชาติถือหุ้นอยู่กว่า 35%”
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|