มีข่าวร้ายมาบอก อ่านแล้วชวนกัน ฆ่าตัวตายดีไหม


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

คำว่าเศรษฐกิจโลกตกต่ำดูช่างห่างไกลตัวเหลือเกิน ฟังกันอ่านกันบางทีนึกภาพไม่ออกว่าจะมาเกี่ยวข้องกับเมืองไทยในแง่ไหน หรือมากระทบความเป็นอยู่ของคนไทยอย่างไร

คนที่รู้ไปแล้ว ได้รับผลกระทบไปแล้ว เป็นข่าวไปแล้ว อย่างวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ แห่งกลุ่มน้ำตาลบ้านโป่ง สมเจตน์ วัฒนสิทธุ์ แห่งบริษัทศิริวิวัฒน์ ก็ดูเหมือนไม่ได้รับความสนใจจากคนวงนอกเท่าไหร่ โดยอาจจะคิดไปว่าเป็นเรื่องธรรมดาของการประกอบธุรกิจหรือ “เรื่องของชาวบ้าน”

ลองมาฟังทัศนะของนายธนาคารและนักธุรกิจบางคนที่ “ผู้จัดการ” ประมวลมาให้อ่านกันสักหน่อยดีไหม เผื่อจะได้เตรียมตัวเตรียมใจไว้รับกับมหันตภัยด้านเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศนี้อีกครั้งหนึ่งแล้ว

เริ่มต้นจากชาตรี โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ของแบงก์กรุงเทพส่งจดหมายเวียนลงวันที่ 22 ตุลาคม 2528 ถึงพนักงานทุกคนเล่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่เลวร้ายในทุก ๆ ด้าน และกล่าวถึงสภาพของธุรกิจในเมืองไทยว่าทั้งด้านการค้าขายหรือการลงทุน สามารถพูดอย่างตรงไปตรงมาว่าอยู่ในขั้นวิกฤต

“ผมคิดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันเป็นภาวะที่ผิดปกติ เพราะความเสียหายได้แผ่กระจายเป็นวงกว้างครอบคลุมไปทั่วทุกวงการค้าและอุตสาหกรรม ทั้งอัตราคนว่างงานก็มีสูงขึ้นมากอาจจะเรียกว่าเป็นภาวะที่ตกต่ำมากที่สุดในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาก็ว่าได้” บางตอนในจดหมายของชาตรี โสภณพนิช ที่สร้างความฮือฮาจนคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์หลายฉบับโค้ดเอาไปเขียนถึง

มาลองฟังความเห็นของ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ รองผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ดูบ้าง ดุเดือดเผ็ดมันไม่แพ้นายใหญ่ของแบงก์กรุงเทพเลย

“เศรษฐกิจที่ซบเซานี้จะก่อให้เกิดผลกระทบหลายด้านต่อธุรกิจเอกชนที่คุ้นเคยกับการเจริญเติบโตระดับสูงในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา และในปีหน้าจะต้องมีปัญหาธุรกิจประสบกับความล้มละลายให้เห็นกันมากขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าหากรัฐบาลไม่ทำอะไร เศรษฐกิจของโลกไม่เอื้ออำนวย หรือพระสยามเทวาธิราชไม่โปรด ปีหน้า (2529) จะเป็นปีที่วิกฤตที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในช่วง 25-30 ปี”

หรือจะเป็นความเห็นของประกิต ประทีปะเสน ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่สายสินเชื่อของธนาคารไทยพาณิชย์ก็ออกมาในทำนองเดียวกัน

“ในแง่ความรู้สึกของผมตั้งแต่ทำธนาคารมา ปีนี้เป็นปีที่ร้ายแรงที่สุด ขณะนี้ผมก็พูดกับผู้จัดการสาขาของผมเสมอว่า ถ้าคุณเป็นผู้จัดการสาขาแล้วคุณไม่ผ่าน 2 ปีนี้ คุณยังไม่แกร่ง ใครผ่าน 2 ปี คือปี 2528-2529 ไปได้จะเป็นผู้จัดการที่แกร่ง เพราะคุณจะได้บทเรียนจากลูกค้าที่มีปัญหามากมาย จะได้บทเรียนจากภาวะเศรษฐกิจคราวนี้เยอะมาก”

โดยทั่ว ๆ ไปแม้ว่าสภาพเศรษฐกิจจะซบเซา ตลาดพวกสินค้าอุปโภคบริโภคจะไม่ได้รับผลกระทบเท่าใดนักแต่ในปี 2528 นี้ บริษัทสหพัฒนฯ ยักษ์ใหญ่ของวงการสินค้าประเภทดังกล่าว ยังต้องประสบกับการขาดทุนเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี มิพักต้องไปพูดถึงธุรกิจอื่นหรืออุตสาหกรรมอื่น

ยิ่งมาฟังความเห็นของนักวิชาการภาครัฐบาลอย่างดร.วีรพงษ์ รามางกูร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กับปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ที่เสนอรายงานหัวข้อ “ภาพเศรษฐกิจส่วนร่วมของไทย” ในการสัมมนาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา เมื่อวันที่ 14-15 ธันวาคม ก็ยิ่งหมดหวังหนักเข้าไปอีก

ในรายงานฉบับดังกล่าวแจ้งว่าจากผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าระยะ 5-6 ปีต่อไป ปัญหาเศรษฐกิจสำคัญของประเทศโดยเฉพาะปัญหาเรื่องการขาดดุลการค้า การขาดดุลงบประมาณปัญหาภาระหนี้ต่างประเทศ และปัญหาการว่างงานจะทวีความร้ายแรงมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางมรสุมทางเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันสิ่งที่เป็นสัญญาณที่ดีก็คือเสียงจากฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีก็ออกมาให้ความเห็นหลายต่อหลายครั้งในทำนองยอมรับปัญหาว่าเกิดขึ้นจริง และรัฐบาลพร้อมที่จะร่วมกันแก้ไขไปกับภาคเอกชนซึ่งท่าทีเดิมของฝ่ายรัฐบาลมักจะออกมาในรูปที่ปฏิเสธความรุนแรงของปัญหาเศรษฐกิจ สวนทางกับภาคเอกชนมาตลอด

อย่างไรก็ตาม (ขออีกทีเถอะ) “ผู้จัดการ” อยากจะยกความเห็นของประกิต ประทีปะเสน ที่กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของฝ่ายรัฐบาลไว้อย่างน่าสนใจ เป็นการปิดท้ายรายงาน

“เวลาใครว่าเศรษฐกิจไม่ดี ภาครัฐบาลเขาก็ออกมาว่ายังดีอยู่ แต่สักสองเดือนที่ผ่านมาเขาเริ่มออกมาแล้วว่าไม่ดีจริง เรื่องมาตรการแก้ไขที่เป็นหลัก ๆ ผมยังมองไม่เห็น พอเศรษฐกิจไม่ดีรัฐบาลก็ตั้งคณะทำงานขึ้นมาแก้ไข แต่เผอิญคณะที่แก้ไขก็เกี่ยวข้องหรือรับผิดชอบงานทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลอยู่แล้ว ก็ไม่รู้ว่าเขาจะมองเห็นปัญหาหรือเปล่า ก็หมายความว่าเราต้องการคนใหม่มาดูไหม หรือจะลองดูโดยเอาคนเก่าคณะหนึ่ง คนใหม่คณะหนึ่งช่วยกันมอง ก็อาจจะช่วยแก้ปัญหาได้ตรงเป้ามากขึ้น”



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.