|
การเมืองพ่นพิษหลักสูตรนานาชาติอ่วม งัดกลยุทธ์รับมือปีการศึกษาหน้า
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(2 สิงหาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
สถานการณ์ความไม่สงบในเมืองไทย เป็นประเด็นใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเข้าศึกษาในหลักสูตรนานาชาติของสถาบันต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาชาวต่างชาติ ที่ส่วนใหญ่กังวลเรื่องสถานกาณ์ความไม่ปลอดภัยที่จะเกิดขึ้น ทำให้ยอดจำนวนผู้เรียนในหลักสูตรนานาชาติของสถาบันต่างๆ ในปีการศึกษา 2553 มีตัวเลขลดลงอย่างมาก บางรายต้องขยายเวลาการรับสมัคร รวมถึงการงัดกลยุทธ์เดินสายโรดโชว์นอกฤดูกาลกระตุ้นความเชื่อมั่นหลังสถานกาณ์สงบแล้ว หรือชูหลักสูตรใหม่ๆ มองไปข้างหน้า “ผู้จัดการรายสัปดาห์” สำรวจผลกระทบที่เกิดขึ้นและกลยุทธ์ต่างๆ ไว้อย่างน่าสนใจ
เอแบคครวญยอดผู้เรียนลด 40%
โรดโชว์นอกฤดูหวังปีหน้าฟื้น
กมล กิจสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักทะเบียนและประมวลผล มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) ให้ข้อมูลว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้จำนวนนักศึกษาชาวต่างชาติที่จะเข้าศึกษาในหลักสูตรนานาชาติลดลงไปกว่า 40% หรือจำนวน 200 คน จากจำนวนศึกษาชาวต่างชาติที่สมัครเรียนในแต่ละปีที่ 600 คน ขณะที่นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่นั้นมีจำนวนหนึ่งที่ยกเลิกการศึกษาหรือพักการเรียนต่อในนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เดินทางกลับประเทศแล้วผู้ปกครองเป็นห่วงกับสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยแม้จะได้มีการจ่ายค่าเทอมไปแล้วก็ตาม
ทั้งนี้ กมล ยอมรับว่า การติดตามข่าวสารผ่านสื่อทีวีทำให้เกิดความหวาดกลัวกับภาพที่ปรากฏ ซึ่งครอบคลุมกับนักศึกษาทุกกลุ่มประเทศจาก 6 ทวีป 85 ประเทศที่ศึกษาในเอแบคกว่า 3,000 คน โดยเฉพาะญี่ปุ่น และประเทศในยุโรป แม้นักศึกษาเดินทางเข้าไทยแล้วในช่วงเหตุการณ์แต่ทางรัฐบาลของประเทศนั้นๆ ได้ขอร้องให้เดินทางออกจากประเทศไทย
ซึ่งตนมองว่าการเมืองส่งผลกระทบมากกว่าสถานการณ์เศรษฐกิจเพราะหากมองสภาพเศรษฐกิจจะพบว่ากระทบตั้งแต่ปีที่ผ่านมาแต่มีจำนวนนักศึกษาต่างชาติเข้าเรียนตามที่สมัคร
ถ้าจะถามถึงกลยุทธ์ที่นำมาใช้ได้ดีในสถานการณ์เช่นนี้คือการชี้แจง ประกาศ ผ่านเว็ปไซต์ของมหาวิทยาลัย และส่งอีเมลล์ถึงข้อเท็จที่เกิดขึ้นว่าสถานการณ์ภายในประเทศไม่ร้ายแรงตามที่เห็นในภาพข่าว และอธิบายถึงจุดที่ตั้งหรือตำแหน่งของจุดเกิดเหตุที่ห่างไกลกับสถานที่ตั้งของสถาบันที่อยู่รามคำแหงและที่บางนา
และอีกวิธีหนึ่งที่เอแบคนำมาใช้คือการเดินสายไปยังกลุ่มเประเทศเป้าหมายหรือในเอเชียเพื่อไปชี้แจงด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการเดินทางนอกฤดูกาลของการเดินสายไปทำตลาดยังประเทศเหล่านี้ ทั้งนี้ กมล บอกว่าอาจทำในบางประเทศเท่านั้นแต่เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้เรียนและหน่วยงานต่างๆ ที่ส่งนักศึกษามาอย่างโครงการแลกเปลี่ยน ทั้งนี้มุ่งหวังในระยะยาวหรือในปีการศึกษาหน้าหรือปี 2554 ที่จะได้ตัวเลขนักศึกษาต่างชาติคืนกลับมา ส่วนในปีนั้นเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นพยายามรักษาสภาพคือประคับประครองกลับกลุ่มนักศึกษาที่ศึกษาอยู่เดิมมากกว่า
นอกจากสถานการณ์การเมืองที่ กมล มองว่าเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อจำนวนนักศึกษาที่ลดลงแล้ว กับปัจจัยอื่นๆ นั้นมองว่าไม่ใช่ปัญหาหรือแม้แต่การแข่งขันของหลักสูตรนานาชาติของสถาบันต่างๆ ก็ตาม แต่กลับมองว่าสภาพการแข่งขันจะทำให้วงการการศึกษาโดยเฉพาะหลักสูตรนานาชาติดีขึ้นและประเทศต่างๆ มองไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาสามารถดึงผู้เรียนจากประเทศต่างๆ เข้ามาศึกษาได้
ปัจจุบันมีจำนวนนักศึกษาที่ศึกษาในหลักสูตรนานาชาติ 30,000 คน แบ่งเป็นนักศึกษาชาวไทย 17,000 คนและนักศึกษษชาวต่างชาติ จาก 6 ทวีป 85 ประเทศ 3,000 คน โดยมีสัดส่วนของนักศึกษาจากประเทศจีนมากที่สุดหรือ 2,500 คน ยุโรป 100 คน อเมริกาเหนือ 100 คนและลดหลั่นลงมาของจำนวนนักศึกษาจากแอฟริกา ออสเตเรีย อเมริกาใต้และกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ตั้งเป้าขยายนักศึกษาชาวต่างชาติเพิ่มเป็น 5,000 คน
และเพื่อสู่เป้าหมายดังกล่าวล่าสุดได้เตรียมเพิ่มหลักสูตรนานาสูตรใหม่ ที่คาดจะเปิดสอนได้ในปี 2554 คือ หลักสูตรความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และหลักสูตรนานาชาติภาษาไทย โดยเฉพาะหลักสูตรหลังนี้กลุ่มเป้าหมายหลักคือนักศึกษาจากประเทศที่มีความสนใจในภาษาไทย และเป็นผู้ที่ได้เคยเรียนภาษาไทยจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันในประเทศมาแล้วต้องการเรียนกับเจ้าของภาษาโดยตรง ซึ่งพบความต้องการของนักศึกษากลุ่มดังกล่าวสูงมากขึ้นโดยสนใจเพื่อศึกษาภาษาไทยสำหรับการติดต่อทำธุรกิจระหว่างไทย จีน
นอกจากการเตรียมเปิดหลักสูตรใหม่แล้ว ที่กมล มองว่า จะเป็นจุดดึงดูดให้กับผู้สนใจเข้าศึกษาที่เอแบค ยังบอกถึงจุดแข็งด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความเป็นนานาชาติอย่างแท้จริงทั้งหลักสูตร ผู้สอนที่เป็นชาวต่างชาติหรือหากเป็นอาจารย์ไทยก็จบการศึกษาจากต่างประเทศ ผู้เรียนที่มีความหลากหลายของนักศึกษาจากนานาประเทศและบรรยากาศของแคมปัสทั้งรามคำแหงและบางนา
แต่อย่าไงรก็ตาม กมล มองว่า หลักสูตรนานาชาติในเประเทศยังมีความน่าสนใจจากสถาบันต่างๆ ที่ได้มีการพัฒนารวมถึงเอแบคเองก็ตาม และที่สำคัญจุดแข็งในภาพรวมที่ทำให้หลักสูตรนานาชาติในประเทศในประเทศไทยมีความน่าสนใจคือชีวิตความเป็นอยู่ของนักสึกษาที่สะดวกสบาย อัธยาศัยของผู้คน และราคาค่าเหล่าเรียนเมื่อเทียบกับต่างประเทศเช่นสหรัฐอเมริกาที่มีค่าเล่าเรียนพร้อมที่พักที่ 30,00-35,000 เหรียญสหรัฐต่อปี ขณะที่ออสเตเรียอยู่ที่ 6,000-7,000 เหรียญสหรัฐต่อปี ขณะที่หลักสูตรนานาชาติในประเทศไทยเฉลี่ยที่ 3,000-4,000 เหรียญสหรัฐเท่านั้น
มหิดล ไม่หวั่นเดินหน้า
ผุดหลักสูตรใหม่รับวัยโจ๋
ดร.พรเกษม กันตามระ ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการหลักสูตรนานาชาติ (International Program) วิทยาลัยการจัดการ กล่าวว่า ที่ตั้งของวิทยาลัยการจัดการฯอยู่บริเวณต้นถนนวิภาวดีเชื่อมต่อกับบริเวณดินแดงนั้นอยู่ในเขตพื้นที่ความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนต่อเนื่องมาจนถึงปลายพฤษภาคม ซึ่งระยะช่วงเวลาดังกล่าวนั้นเป็นช่วงเวลาเปิดรับสมัครนักศึกษาประจำปีภาค B ของวิทยาลัยฯ ทำให้วิทยาลัยไม่สามารถทำกิจกรรมเพื่อการเปิดรับสมัครได้อย่างเต็มที่เท่าที่ควรเช่น ต้องงดกิจกรรม Open House แนะนำหลักสูตร ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักของมหาวิทยาลัย บวกกับประกาศหยุดงานติดต่อกันและปิดอาคารเรียนเพื่อรักษาความปลอดภัยเป็นระยะ ทำให้ผู้ที่สนใจศึกษาต่อไม่สามารถเข้ามามาปรึกษาและสอบถามข้อมูลการรับสมัครจากเจ้าหน้าที่ของวิทยาลัยได้ นอกจากนี้กิจกรรมการออกไปแนะนำหลักสูตรยังนอกสถานที่ที่ทำร่วมกับพันธมิตรก็มีการยกเลิกหลายๆกิจกรรม ดังนั้นจึงมีเพียงช่องทางประชาสัมพันธ์ทางเว็บไซน์เท่านั้น
จึงทำให้ยอดการเข้ามาสมัครของนักศึกษาในเทอมที่ผ่านมาลดน้องลงไปแต่ ก็ไม่ถึงระดับที่รุนแรงมากนักเพราะมีกลุ่มนักศึกษาที่ต้องการและตั้งใจเข้ามาศึกษาที่ CMMU อยู่จำนวนไม่น้อยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ดร.พรเกษม มองว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลกระทบในระยะสั้น เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติอย่างในทุกวันนี้ เชื่อว่ายอดการสมัครของนักศึกษาก็จะเข้ามาสู่ภาวะปกติ
ดร.พรเกษม ยังได้กล่าวถึง ทิศทางการศึกษาต่อในระดับปริญญาโทหลักสูตรนานาชาติว่า มีแนวโน้มการเติบโตที่เพิ่มขึ้น สามารถสะท้อนได้จาก จำนวนของมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรีในประเทศขณะนี้ซึ่งมีมากกว่า 20 สถาบันการศึกษาที่ได้เปิดหลักสูตรนานาชาติขึ้นมารองรับ ความต้องการของภาคธุรกิจที่ต้องการบุคลกรที่มีความรู้และสามารถใช้งานภาษาอังกฤษและภาษาต่างชาติอื่นๆเป็นภาษาที่สองหรือที่สาม และจากการสำรวจข้อมูลพบว่า ทัศนคติของนักศึกษาและผู้ปกครองในปัจจุบันมองว่า การศึกษาในระดับปริญญาตรียังไม่สามารถสร้างความมั่นใจในการออกไปทำงานได้เท่าที่ควรจึงนิยมที่จะศึกษาต่อในระดับปริญญาโททันทีหลังจากจบการศึกษาปริญญาตรี
ด้าน ดร.เจอร์ราด ท็อกแกร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการหลักสูตรนานาชาติ กล่าวเสริมว่า วิทยาลัยการจัดการได้มีการแบ่งกลุ่มนักศึกษาปริญญาโทออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มนักศึกษาที่เพิ่งจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีซึ่งจะมีอายุตั้งแต่ 24 ปี ลงมา กลุ่มที่สองเรียกว่า Young Manager หรือผู้ที่ทำงานมาแล้วประมาณ 2-3ปี โดยจะมีอายุระหว่าง 24-30 ปี และกลุ่มที่ 3 จะเป็นกลุ่ม ซีเนียร์แมเนเจอร์หรือเอ็กเซ็กคูลซีฟ อายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป
ซึ่งวิทยาลัยฯ มีจำนวนนักศึกษาในกลุ่มที่ 2 ค่อนข้างมาก รองลงมาก็เป็นกลุ่มซีเนียร์แมเนเจอร์ สำหรับกลุ่มแรกนั้นเริ่มมีเพิ่มมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีมานี้ และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น และได้สังเหตุเห็นปัญหาของการเรียนรวมกันระหว่างนักศึกษาจบใหม่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานมาก่อนเลย เมื่อต้องมาเรียนรวมกับคนที่มีประสบการณ์ทำงานมาแล้วหลายๆปี ก็จะตามไม่ทันหรือนึกภาพของการทำงานไม่ออก จึงมองว่าควรแยกกลุ่มผู้เรียนให้ชัดเจน จึงได้พัฒนาเพิ่มหลักสูตรใหม่ขึ้นมาชื่อว่า Master of Management (International, Full-Time) Program เป็นสาขาการบริหารจัดการ หลักสูตรนานาชาติ ภาคปกติเรียนเต็มเวลา เพื่อรองรับนักศึกษากลุ่มจบใหม่ดังกล่าว
ใช้ระยะเวลาเรียนประมาณ 18 เดือนหรือ 1ปีครึ่งแบ่งภาคการเรียนออกเป็น 5 เทอม โดยจุดเด่นของหลักสูตรของหลักสูตรนี้คือ ในเทอมที่สาม นักศึกษาจะต้องไปศึกษายังมหาวิทยาลัยพันธมิตรกับวิทยาลัยการจัดการในต่างประเทศซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของแต่ละประเทศ
สวนสุนันทา ชี้แนวโน้มโต
สร้างหลักสูตรโดนใจตลาด
ขณะที่ ดร.สมเดช รุ่งศรีสวัสดิ์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันพบความตื่นตัวของผู้ปกครองในการส่งลูกหลานเข้าเรียนหลักสูตรนานาชาติเพื่อต้องการให้ได้เรียนหลักสูตรที่สอนด้วยภาษาอังกฤษ ดังนั้นผู้ปกครองมีอิทธิพลค่อนข้างสูงในการตัดสินใจส่งบุตรหลานเข้าเรียนหลักสูตรนานาชาติ ขณะที่ความสนใจของผู้เรียหรือนักศึกษานั้นแนวโน้มความสนใจเพิ่มขึ้นกว่าที่ผ่านมา ด้วยความน่าสนใจของหลักสูตรที่แต่ละมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชนนำเสนอเพื่อสอดคล้องกับอุตสาหกรรม และการเติบโตของธุรกิจในแต่ละยุคสมัย
และสำหรับสวนสุนันทาเอง ได้เปิดหลักสูตรนานาชาติ ระดับปริญญาตรี มา 5 ปีแล้ว พบว่าสาขาวิชาธุรกิจการบิน ในหลักสูตรศิลปศาสตร์บัณฑิต ที่ได้รับความสนใจสูงสุด เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน และได้ร่วมกับสายการบินบางกอกแอร์เวย์ซึ่งการเรียนการสอนครอบคลุมการบริหารธุรกิจการบินทั้งหมด ทั้งงานส่วนออฟฟิศ ระบบการให้บริหารอย่างการจองตั๋ว เป็นต้น ประกอบกับอุตสาหกรรมการบินในไทยมีการเติบโตจึงได้รับการตอบรับจากผู้เรียนจำนวนมาก
นอกจากนี้ยังมีสาขาวิชาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สาขาธุรกิจภัตตาคารและที่พัก ขณะเดียวกันยังมีหลักสูตรธุรกิจบัณฑิต 2 สาขาวิชา ประกอบด้วย สาขาวิชาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศและสาขาวิชาการจัดการโรงแรมและท่องเที่ยว ซึ่งสาขาวิชาดังกล่าวนี้ได้มองถึงการรองรับตลาดแรงงานและอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตของการแรงงานเข้าสู่อุตสาหกรรมจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ดร.สมเดช ยอมรับว่า เนื่องจากสถาบันได้เปิดสอนหลักสูตรนานาชาติยังเป็นสถาบันระดับกลางเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยของรัฐ เอกชน ขนาดใหญ่ที่เปิดหลักสูตรนานาชาติเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามคุณภาพการศึกษานั้นได้ให้ความสำคัญมาเป็นอันดับหนึ่ง แม้ว่าในตลาดบางแห่งจะมีการแข่งขันในเรื่องราคาเพื่อเป็นจุดขายก็ตาม แต่สำหรับมหาวิทยาลัยจะชูคุณภาพการเรียนการสอนมาก่อน แม้จะมีราคาหลักสูตรที่ไม่สูงมากนัก มีราคาเรียนต่อเทอม 30,000 บาท และยังมีการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่องทั้งจำนวนอาจารย์ที่จะเพิ่มสัดส่วนของอาจารย์ชาวต่างชาาติมากขึ้นและจำนวนนักศึกษาชาวต่างชาติมากขึ้น แม้ปัจจุบันสัดส่วนยังเป็นกลุ่มนักศึกษาชาวไทยก็ตาม
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|