|
ยุทธวิธีย่างก้าวสู่ "Green Business"
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(2 สิงหาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ธุรกิจสีเขียวเชิงอนุรักษ์ หรือ Green business นับเป็นทิศทางที่ทุกธุรกิจกำลังก้าวไป แต่แนวทางใดที่จะเหมาะกับการก้าวเข้าสู่รูปแบบธุรกิจดังกล่าว คงต้องมีการพิจารณากันในเชิงกลยุทธ์หลายวิธีการ เริ่มจาก
แนวทางแรก ถือเป็นการพัฒนาตนเองเพื่อรุกเข้าสู่กิจการสีเขียว ซึ่งก็ต้องใช้ทักษะ ทรัพยากร ความรู้ เทคโนโลยีที่ตนเองมีอยู่แล้ว นำมาผสมผสานสร้างสรรค์นวัตกรรมเชิงอนุรักษ์ให้เกิดขึ้นด้วยตนเอง
ซึ่งการพัฒนาตนเองเข้าสู่ธุรกิจเชิงอนุรักษ์ด้วยตนเองนี้ อาจแบ่งหลักๆเป็นระยะสั้น และระยะยาว โดยระยะสั้นนั้น จะเป็นการปรับปรุง ปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงาน การให้บริการ รวมถึงรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้มีแนวโน้มของความเป็น "สีเขียว" มากยิ่งขึ้น เพื่อสอดรับกับเทรนด์ของธุรกิจสมัยใหม่ที่กำลังมุ่งเข้าสู่ทิศทางนี้อย่างไม่หยุดยั้ง
อาทิ วอลล์-มาร์ทที่มุ่งเข้าสู่ความเป็นผู้นำของธุรกิจค้าปลีกเชิงอนุรักษ์ ซึ่งเริ่มตั้งแต่การปรับรูปแบบร้านให้เป็นอีโคสโตร์มากขึ้น ลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อยคาร์บอนออกสู่บรรยากาศ ลดการใช้ถุงพลาสติกแก่ลูกค้า ลดความสิ้นเปลืองในการขนส่งสินค้า
ที่สำคัญ คือ สร้างสรรค์ซัพพลายเชนสีเขียว ที่มีการตรวจสอบซัพพลายเออร์ของตน ให้ดำเนินนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด ทั้งการลดมลภาวะ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก การไม่ใช้แรงงานผิดกฎหมาย การไม่ปนเปื้อนสารพิษ ฯลฯ ซึ่งหากตรวจสอบเจอก็จะตัดออกจากการเป็นซัพพลายเออร์ของตนทันที ซึ่งปัจจุบันก็ต้องถือว่าวอลล์-มาร์ทอยู่แนวหน้าของธุรกิจค้าปลีกสีเขียวของโลกทีเดียว
หรือกรณีของบริษัทฟริโตเลย์ ที่มีการติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ในโรงงานของตน เพื่อลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลอันจะก่อให้เกิดคาร์บอนต่อบรรยากาศสูงขึ้นเรื่อยๆ และแม้แต่การปรับรูปแบบแพคเกจก็ถือเป็นอีกหนึ่งเทคนิคในการเข้าสู่ธุรกิจสีเขียวได้ ดังที่ ซาร่า ลี ผู้ผลิตเบเกอรี่ชั้นนำ ได้ปรับรูปแบบหีบห่อสินค้าของตน ทำให้ง่ายต่อการขนส่ง ลดปริมาณการใช้รถบรรทุกไปได้กว่าพันเที่ยวต่อปีทีเดียว
ส่วนในระยะยาวนั้น กิจการคงต้องมีการพัฒนานวัตกรรมสีเขียวที่นับว่ามีความแตกต่างโดดเด่นจากคู่แข่งอย่างชัดเจน เพื่อสร้างความยั่งยืนในการดำเนินงานสำหรับธุรกิจเชิงอนุรักษ์นี้ อาทิ กรณีโตโยต้ากับการพัฒนาเทคโนโลยีการขับเคลื่อนแบบไฮบริดที่ทรงประสิทธิภาพได้เป็นแห่งแรกๆ ทำให้การขับขี่ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงลงไปได้มาก
แต่ก็ได้ข่าวว่าอีกหลายกิจการ กำลังจะคิดค้นขุมกำลังการขับขี่แบบใหม่โดยใช้ไนโตรเจน นัยว่าพลังงานเยอะกว่า แถมยังไม่ปล่อยสารพิษออกมาเลยด้วย เพราะใช้น้ำในการขับเคลื่อนเท่านั้น หากสำเร็จเชิงพาณิชย์เมื่อไร ก็คงถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของอุตสาหกรรมรถยนต์กันเลย
อีกแนวทางหนึ่ง ซึ่งอาจจะถือเป็นทางลัดเพื่อผลักดันกิจการเข้าสู่ความเป็น กรีน อย่างรวดเร็ว มิต้องรั้งรอใดๆ เมื่อเห็นความได้เปรียบด้านธุรกิจสีเขียวที่ใดแล้ว ก็รีบไปนำเข้ามาสู่กิจการอย่างทันทีทันควันกันเลยทีเดียว ซึ่งกลยุทธ์นี้ก็คือ การนำเข้าไอเดีย ทักษะ แนวคิดธุรกิจสีเขียวจากภายนอก เสมือนหนึ่งการเข้าซื้อกิจการที่นิยมกันมานั่นเอง
โดยการเข้าซื้อกิจการหรือเทคโอเวอร์ธุรกิจสีเขียวนี้ เป็นที่นิยมกันมากสำหรับกิจการขนาดใหญ่ที่มีความแข็งแกร่งทางด้านการเงินและผลประกอบการสูง แต่อาจจะพัฒนาธุรกิจในแนวทางแบบดั้งเดิมมานาน จนกระทั่งไม่ทันกิจการอื่นๆที่มุ่งเข็มมาทางด้านธุรกิจเชิงอนุรักษ์เพื่อสังคมสิ่งแวดล้อมดังกล่าว ซึ่งหากกิจการเหล่านี้จะมาพัฒนาตั้งแต่ต้นเอง ก็ยังไม่มีประสบการณ์และทักษะมากมายนัก รวมถึงค่อนข้างล่าช้า ไม่ทันเกมการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงอยู่ทุกขณะด้วย
ดังนั้น แนวทางที่เหมาะสมมาก คือ เข้าเทคโอเวอร์กิจการที่ประสบความสำเร็จทางด้านธุรกิจสีเขียวแล้ว และนำมาผสมผสานสร้างผลผนึกทางธุรกิจร่วมกัน ถ่ายโอนเทคโนโลยีและความรู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจกรีนเหล่านี้
ซึ่งหลากหลายเคสของการเทคโอเวอร์ที่โด่งดังในทศวรรษนี้ อาทิ ลอรีอัลเจ้าแห่งธุรกิจความงาเข้าซื้อกิจการบอดี้ช็อป ซึ่งถือเป็นธุรกิจคอสเมติคที่โด่งดังเป็นอันมาก จากแนวคิดรักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อมและสังคม
โดยบอดี้ช็อปนั้น ถือเป็นยุคแรกๆของกิจการข้ามชาติที่ประกาศจุดยืนชัดเจนในการเข้าสู่ธุรกิจสีเขียวอย่างเต็มตัว ที่โดดเด่นที่สุด เห็นจะเป็นการที่กิจการจะไม่มีการทดลองผลิตภัณฑ์กับสัตว์เลย ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติแนวทางการดำเนินงานในธุรกิจเครื่องสำอางที่ต้องใช้สิ่งมีชีวิตมาทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยก่อนให้คนนำมาใช้
หรือ แม้แต่วัตถุดิบหลักของเครื่องสำอางบอดี้ช็อปก็เน้นย้ำว่ามาจากธรรมชาติล้วนๆ ไม่ก่อให้เกิดสารพิษจากสารเคมีต่างๆ ซึ่งการที่ลอรีอัลเทคโอเวอร์บอดี้ช็อปมานั้น ก็ถือว่าได้ทั้งแบรนด์ ทั้งแนวคิด ทั้งทักษะความรู้ทางด้านธุรกิจสีเขียวดังกล่าวมาอย่างทันควัน เพื่อนำไปประยุกต์กับกิจการได้เป็นอย่างดี ไม่ต้องลองผิดลองถูกพัฒนาเองให้เสียเวลาครับ
หรือในธุรกิจไอศครีมพรีเมียม เบนแอนด์เจอรี่ ก็ถูกซื้อไปโดยยูนิลิเวอร์เรียบร้อย ผนวกเข้ากับพอร์ตโฟลิโอในธุรกิจไอศครีมของตนที่มีวอลล์เป็นหัวหอกหลักอยู่ ซึ่งการซื้อเบนแอนด์เจอรี่นั้น ก็ถือเป็นก้าวที่น่าสนใจของยูนิลีเวอร์อย่างยิ่ง เนื่องจากจะทำให้เติมเต็มธุรกิจของตน รวมถึงได้ทั้งแบรนด์ ความรู้ และโน้มนำการก้าวเข้าสู่ธุรกิจสีเขียวได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเบนแอนด์เจอรี่มีชื่อเสียงอย่างมาก ในด้านการรับผิดชอบต่อสังคมมาช้านานแล้ว
นอกจากนี้ การที่เบนแอนด์เจอรี่เข้ามาสู่ชายคาของเจ้าแห่งธุรกิจคอนซูเมอร์โพรดักส์อย่างยูนิลิเวอร์ ก็เสมือนต่อยอดความได้เปรียบให้กับกิจการของตนด้วย ทั้งในแง่เงินทุน ทักษะทางการตลาด ช่องทางการกระจายสินค้า ฯลฯ จนทำให้ยอดขายของเบนแอนด์เจอรี่พุ่งสูงขึ้นถึง 70% และกลายเป็นผู้นำรายใหม่แทนที่ฮาเกนดาสในอเมริกาไปแล้ว เรียกว่าเป็นดีลที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดดีลหนึ่งในทศวรรษนี้
ลองพิจารณาดูครับว่า กิจการของท่านจะเหมาะสมกับแนวทางใดในการก้าวเข้าสู่ธุรกิจสีเขียวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งแน่ว่าช้าเร็วทุกกิจการคงต้องปรับตัวเข้ากับทิศทางดังกล่าว เพราะยากยิ่งที่จะหลีกเลี่ยงกระแสรักสังคมและสิ่งแวดล้อมในโลกใบนี้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|