กลยุทธ์ครองใจลูกน้อง บริหารคนแบบเกมฟุตบอล


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(2 สิงหาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ก่อนกระแสฟุตบอลโลกจะลอยลมไปไกลมากกว่านี้ คงไม่อิหลักอิเหลื่อนักหากจะหยิบเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬาสุดฮิตของคนทั่วโลกมาปรับใช้กับการบริหารงานบุคคลให้ 'โดนใจ' ทั้งลูกน้องและเจ้านาย ตามประสาคนคอเดียวกัน

ในเกมฟุตบอล กับการทำงานมีความคล้ายคลึงกันประการหนึ่งคือ เป็นเรื่องของการบริหาร 'คน' ตั้งแต่การคัดเลือก การพัฒนา การให้โอกาส รวมถึงทำอย่างไรจึงจะเค้นศักยภาพของคนๆนั้นออกมาให้ได้มากที่สุด และดีที่สุด โดยโค้ช หรือผู้จัดการทีมก็เปรียบได้ดังซีอีโอ ขณะที่กับตันทีมก็เปรียบได้ดังผู้จัดการทีม ซึ่งซีอีโอหรือผู้จัดการทีมไม่เพียงแค่บริหารนักเตะเท่านั้น แต่ต้องบริหารส่วนสนับสนุนที่อยู่เบื้องหลังด้วย เช่น แพทย์ประจำทีม เทรนเนอร์ หัวหน้าผู้ฝึกสอน สต๊าฟโค้ช เป็นต้น

ฟุตบอลนั้นเกมจะไหลลื่นมีประสิทธิภาพในการถล่มประตูได้มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับผู้เล่นแต่ละคนว่าเล่นสอดประสานกันได้ดีขนาดไหน หรือเกมที่ได้เปรียบอยู่แล้วได้เปรียบยิ่งขึ้น ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของโค้ชที่จัดตัวผู้เล่นตัวสำรองลงไปว่าถูกหรือผิด หากมองเกมพลาดโอกาสที่เกมจะแพ้มีอยู่สูง

แต่ละทีมจะมีนักเตะตำแหน่งต่างๆ 23 คน แต่มีโอกาสได้เป็นตัวจริงโชว์ฝีเกือกให้แฟนๆได้กรี๊ดเพียง 11 คน เท่านั้น เช่นเดียวกับองค์กรทั้งขนาดใหญ่และเล็กทั้งหลายที่มีพนักงานจำนวนมาก แต่คนที่มีโอกาสไต่เต้าขึ้นไปเป็นระดับบริหารเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ดังนั้น การทำงานที่ต้องบริหารคนหมู่มากก็ต้องมีปัญหามากเพราะไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจได้ ที่สำคัญไม่มีใครยอมรับอย่างหน้าชื่นได้ว่าคนอื่นเหนือกว่า ตามประสาปุถุชนทั่วไปย่อมคิดว่าตนเองดีกว่า เก่งกว่า เหนือกว่าคนอื่น

บางคนอาจเก่งจริงเมื่อได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่อย่างหนึ่ง พอได้รับโปรโมตให้ทำหน้าที่อีกอย่างหนึ่งกลับประสบความล้มเหลวไปเลยก็มี ยกตัวอย่างโค้ช หรือผู้จัดการทีมบางคนสมัยเป็นนักเตะสร้างผลงานไว้มากมาย กลายเป็นนักเตะระดับตำนานของสโมสร แต่พอขยับขึ้นมาเป็นผู้บริหารแล้ว กลับสร้างผลงานคนละเรื่องกับเมื่อครั้งเป็นนักเตะ ซึ่งเรื่องนี้มีให้เห็นมากมายทั้งในเกมระดับพรีเมียร์ลีก หรือระดับฟุตบอลโลกที่เพิ่งผ่านมา เช่น กรณีของดีเอโก มาราโดนา เมื่อตอนเป็นนักเตะพาทีมอาร์เจนติน่าคว้าแชมป์โลก แต่พอก้าวขึ้นมาเป็นผู้จัดการกว่าจะพาทีมชาติของตนคว้าตั๋วไปเตะที่แอฟริกาใต้ก็ทำให้คนทั้งประเทศลุ้นกันจนเหงื่อตก

'ยกตัวอย่างนักเตะที่เก่งแล้วเป็นโค้ชได้ห่วย ถ้าไม่ยกตัวอย่างผลงานของแกรม ซูเนสส์ ในเกมพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 04/05 สมัยเป็นนักเตะฝีเท้าเป็นที่ยกย่อง สามารถขึ้นทำเนียบนักเตะตำนานของลิเวอร์พูล แต่พอมาเอาดีทางโค้ชก็ระหกกระเหินเป็นโค้ชอยู่หลายสโมสร จนกระทั่งมาคุมนิวคาสเซิลที่มีนักเตะชั้นนำอยู่มากมาย แกก็คุมจนได้อันดับ 14 จาก 20 ทีม นอกเหนือจากมันสมองที่ทำทีมดีๆจนร่วงแล้ว ทักษะความเป็นผู้นำก้ไม่ได้เป็นรองกึ๋นเลย สามารถสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้จารึกในลีกฟุตบอลอังกฤษ เป็นโค้ชคนแรกที่คุมทีมจนนักเตะทีมเดียวกันอย่างลี โบวเยอร์ และคีรอน ดายเออร์ ชกกันเองในสนาม' บุญฤทธิ์ ฉันสุวรรณ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอสคิว ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเครื่องฟอกอากาศ และพัดลมฮันนี่เวลล์ และสวิตช์ปลั๊กแบรนด์ซีเมนส์ เจ้าของผลงานมหา'ลัยลูกหนัง กล่าว

ในองค์กรธุรกิจที่มีพนักงานจำนวนมากและมีผู้จัดการคอยดูแล การเป็นลูกน้องที่เก่งไม่ได้แปลว่าจะเป็นผู้จัดการที่เก่งได้ เพราะตอนเป็นพนักงานธรรมดาก็เหมือนการเล่นเป็นนักเตะในทีมฟุตบอล ทักษะความรู้ที่ใช้ก็แค่การเล่นฟุตบอล แต่พอมาเป็นผู้จัดการต้องใช้ทักษะความสามารถด้านอื่นประกอบ ไม่ว่าจะเป็นจิตวิทยาในการบริหารคน การตัดสินใจที่เด็ดขาด ความสามารถด้านการบริหารจัดการ

ดังนั้น ถ้าจะโปรโมตพนักงานสักคน ผู้ที่เป็นหัวหน้าต้องดูว่าคนนั้นมีทักษะความสามารถที่จำเป็นต้องใช้ในระดับที่สูงขึ้นหรือไม่ หากไม่มีสามารถพัฒนาขึ้นมาได้หรือไม่ มิเช่นนั้นจะเหมือนกันคำพูดที่ฝรั่งมักเตือนกันว่า 'ถ้าคุณโปรโมตพนักงานที่ดีคนหนึ่ง คุณอาจได้ผู้จัดการที่ห่วยมาคนหนึ่ง และเสียพนักงานที่ดีไปคนหนึ่ง' ซึ่งกรณีเช่นนี้มีให้เห็นบ่อยครั้ง เมื่อเป็นเช่นนี้หากองค์กรจะผลักดันใครให้รับบทบาทไหนจึงต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน พร้อมทั้งสร้างบุคลากรใหม่เตรียมไว้ ขณะเดียวกันยังต้องนำมาพัฒนาทักษะด้านต่างๆเพื่อให้พร้อมกับการรับตำแหน่งที่สูงขึ้น พยายามอธิบายเรื่องผลตอบแทนในระยะสั้นกับระยะยาวในตำแหน่งที่สูงขึ้นด้วย

พนักงานที่มากด้วยความสามารถก็เปรียบเหมือนกับซูเปอร์สตาร์ในทีม บุคลากรคือทรัพยากรที่สำคัญที่สุดขององค์กร แต่เอาเข้าจริงหลายครั้งคงเห็นว่าผู้จัดการทีมยอมเขี่ย หรืออัญเชิญนักเตะระดับซูเปอร์สตาร์ออกจากทีมอย่างไม่ไยดี ดูอย่างนิโคลา อเนลกา นั่นประไร แต่ก็มีหลายต่อหลายทีมที่พอนักเตะดังออกจากทีมไปแล้วกลับกลายเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน ประเด็นสำคัญที่ทำให้ผู้จัดการทีมต้องตัดสินใจทำเช่นนี้ คงเป็นเพราะมีความรู้สึกว่าหากนักเตะคนใดขาดระเบียบวินัย ทำงานเป็นทีมไม่เป็น เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรไม่ได้ องค์กรก็ไม่ควรรักษาไว้แม้จะเก่งแค่ไหนก็ตาม เพราะมิเช่นนั้นจะทำให้ทีมเวิร์ก และทีมสปริตขององค์กรต้องเสียไปด้วย การที่เมสซี่ครองบอลได้ดี เลี้ยงลูกได้ติดเท้า เพราะเขาใช้เวลาอยู่กับลูกฟุตบอล ให้ความสนใจ เอาใจใส่ และ เช่นเดียวกับผู้จัดการทีม


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.