|
โอกาสทองท่องเที่ยวไทย เร่งเจาะ 5 ตลาดลุ่มน้ำโขง
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(2 สิงหาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
*พลิกวิกฤตสร้างโอกาสท่องเที่ยวไทย
*ก.ท่องเที่ยวกระตุ้นสู่ศูนย์กลางท่องเที่ยวกลุ่ม GMS
*คาดนักท่องเที่ยวของกลุ่มลุ่มน้ำโขงทะลุ 50 ล้านคนปี 2558
ฐานะที่ประเทศไทยเป็นพี่ใหญ่ทางการท่องเที่ยวของโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion :GMS) ซึ่งประกอบด้วย 6 ประเทศ คือ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน (ยูนนาน) ได้พลิกวิกฤตของชาติเปลี่ยนเป็นโอกาส ด้วยการเดินหน้ากระตุ้นการท่องเที่ยว โดยใช้โครงการพัฒนาความเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน ในกลุ่มประเทศ GMS เป็นหัวหอกในการรุกตลาดท่องเที่ยวในอนาคตอย่างจริงจังอีกครั้ง
งานนี้ หัวเรือใหญ่อย่าง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) ได้นำคณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนจากประเทศไทย ในการประชุมแลกเปลี่ยนเชิงธุรกิจการท่องเที่ยวระหว่างประเทศระหว่างผู้ประกอบการในพื้นที่ (Table Top Sales) และจัดสัมมนาความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และเวียดนามตามกรอบความร่วมมือ GMS ในรูปแบบจัดงานพบปะผู้ประกอบการในพื้นที่ (Table Top Sales) และการจัดกิจกรรม Familiarization Tip ภายในเส้นทางการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพ โดยมีผู้แทนและผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวภาคเอกชน จากสมาคม/ชมรมต่างๆ เข้าร่วมฯ คือ สมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว (ATTA) สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ(สทน.) สมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยวไทย (สนท.) สมาคมสปาไทย สมาคมโรงแรมไทย สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวสัมพันธ์ไทย-จีน สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย-ญี่ปุ่น สหพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย (สสทท.) สมาคมอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย)
รวมทั้ง สมาคมรถโดยสารไม่ประจำทาง สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวส่วนภูมิภาคจากจังหวัดต่างๆ และผู้บริหาร ข้าราชการของสำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จากส่วนกลาง และภูมิภาคจากสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดต่างๆ และสื่อมวลชน กว่า 70 คนร่วมเดินทาง ระหว่างวันที่ 19-23 กรกฎาคม 2553 ณ เมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม
หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวง เสกสรร นาควงศ์ ในฐานะเป็นประธานการสัมมนาความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวตามกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Sub-region : GMS) กล่าวว่า การแลกเปลี่ยนครั้งนี้ เพื่อกระชับความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มประเทศ GMS รวมทั้งสร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย อีกทั้งเป็นสื่อแนะนำผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน
'ประเทศไทยเป็นแรงงานใหญ่ ในการระดมความคิดเห็นในเชิงปฏิบัติการ ของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ของประเทศไทย สปป.ลาว และเวียดนาม ในการร่วมมือกัน ในการผลักดันการดำเนินงานด้านนโยบายการท่องเที่ยว การตลาด การส่งเสริม/พัฒนาการท่องเที่ยว การแก้ไขปัญหาท่องเที่ยวต่างๆ ร่วมกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะนำมาในเรื่องการพัฒนาการท่องเที่ยว ผลประโยชน์ การกระจายรายได้ทางการท่องเที่ยว และการแข่งขันการให้บริการนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ในระดับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงร่วมกัน อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืนต่อไป'
คาดนักท่องเที่ยวทะลุ 50 ล้านคนปี 2558
ทั้งนี้ จากรายงานด้านการท่องเที่ยวของประเทศต่างๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2545 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมาเยือนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ประมาณ 16.0 ล้านคน ต่อมาในปี 2549 เพิ่มจำนวนเป็น 22.4 ล้านคน ล่าสุดในปี 2553 คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เดินทางมาเยือนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ในราวๆ ประมาณ 30 ล้านคน โดยแนวโน้มในปี พ.ศ.2558 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เดินทางมาเยือนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพิ่มจำนวนเป็น 52.02 ล้านคน โดยอานิสงส์ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นนี้ จะทำให้ประเทศไทยได้ผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวในภูมิภาคดังกล่าวจำนวนไม่น้อย
'การเติบโตอย่างต่อเนื่องของนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศดังกล่าว เกิดจากความร่วมมือของกลุ่มประเทศ GMS ที่ได้เดินหน้าดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอด 18 ปีที่ผ่านมา โดยโครงการพัฒนาความเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน ในกลุ่มประเทศ GMS เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบด้วย ประเทศกัมพูชา สปป.ลาว สหภาพพม่า ไทย เวียดนาม และจีน (ยูนนาน-จีนตอนใต้)
โดยมีการร่วมลงนามในกรอบความร่วมมือด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และการท่องเที่ยว ในหลายๆ กรอบความร่วมมือ ไม่ว่า GMS (Greater Mekong Sub-region), ASEAN, BIMSTEC (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation), ACMECS (Ayeyawady - Chao Phraya Mekong Economic Cooperation Strategy) ซึ่งจะมีวัตถุประสงค์ในภาพรวม เพื่อร่วมกันพัฒนาภูมิภาคไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน'
ประวัติศาสตร์-วัฒนธรรมจุดขายหลัก
ทั้งนี้ หากวิเคราะห์ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การท่องเที่ยวกลุ่มประเทศดังกล่าวยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากจุดขายหลักของแต่ละประเทศที่โดดเด่น ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวไม่ว่า แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ สถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ในลักษณะHeritage Site อาหารการกิน และอัธยาศัยของผู้คน โดยในหลายสถานที่ ได้รับการยกย่องจาก UNESCO ให้เป็นมรดกโลก ไม่ว่า นครวัด-กัมพูชา เมืองหลวงพระบาง-สปป.ลาว เมืองเก่ากรุงศรีอยุธยาและสุโขทัย-ประเทศไทย ฮาลองเบย์ของเวียดนาม ล้วนเป็นสิ่งดึงดูดใจที่มีศักยภาพสูงสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
'อีกทั้งยังมีวิถีชีวิต (Way of Life) ความเป็นอยู่ อัธยาศัยที่เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติด้วย อันจะส่งเสริม เกื้อกูล และสามารถนำไปสู่ความสงบสุขในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทำให้เกิดการบูรณาการการท่องเที่ยวอนุภูมิภาคเข้าด้วยกัน ในรูปแบบจุดหมายปลายทางเดียวกัน (Single Tourism Destination) โดยจะต้องมีการทำการตลาดร่วมกัน มีการตระหนักถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นร่วมกันอย่างจริงใจและจริงจังมากขึ้น'
นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางเชื่อมโยงเพื่อการท่องเที่ยวในหลายๆ ช่องทางอย่างเสรีต่อไป ตลอดจนจะต้องมีแผนการเชิงปฏิบัติการในการขจัดอุปสรรคการท่องเที่ยวในระดับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงต่างๆ อาทิ การออกวีซ่า ณ จุดผ่านแดน บรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาล ระบบโลจิสติกส์ระหว่างอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เป็นต้น
ไทย-จีน บิ๊กท่องเที่ยวเอเชีย
สำหรับ ประเทศไทย ถือเป็นประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่มีแหล่งดึงดูดใจทางการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพมากที่สุด ถือเป็นประเทศผู้นำด้านการท่องเที่ยวแนวหน้าในระดับทวีปเอเชีย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีการเจริญเติบโตที่ดีที่สุด และทวีปเอเชียยังเป็นทวีปที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือนเป็นอันดับ 2 รองมาจากทวีปยุโรป และเป็นจุดหมายปลายทางที่การท่องเที่ยวมีการขยายตัวมากที่สุด โดยคาดว่าจะขยายตัวมากขึ้นตามการเติบโตของจีนและอินเดีย
'ในภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ จุดเด่นประเทศไทย มีความคุ้มค่าเรื่องของราคา และมูลค่าของเงินที่จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวมากกว่า (Thailand: Land of Value of Price) แม้ว่าศักยภาพทางด้านการบริหารงานและการจัดการภาครัฐและเอกชน รวมทั้งปัญหาการจัดการทางเศรษฐกิจและการเมือง ที่ต่ำกว่าประเทศสิงคโปร์ในทุกๆ ด้านก็ตาม'
นอกจากนี้ ยังมีจีนเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีศักยภาพตลาดเติบโตไม่แพ้กัน โดยคาดการณ์ว่า ในอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า จีนจะเป็นผู้ส่งออกนักท่องเที่ยวที่มากที่สุดในโลกและจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีผู้ไปเยือนมากที่สุดเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นประเทศที่มีความคุ้มค่าของราคา แต่การท่องเที่ยวของประเทศไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องการการเข้ามามีส่วนร่วม ความรักใคร่สามัคคีในหมู่คณะ ต้องการจัดสรรผลประโยชน์และกระจายรายได้ที่ทั่วถึง ในการจัดการและบริหารการท่องเที่ยวไทย โดยจะต้องเริ่มตั้งแต่รากหญ้า ที่เป็นคนในท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นฝ่ายที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม
'หากคนท้องถิ่นมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการพัฒนา การส่งเสริมการท่องเที่ยว ย่อมทำให้การพัฒนา การส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นไปอย่างลำบาก และทำให้นักท่องเที่ยวไม่สนใจที่จะมาท่องเที่ยว ณ ท้องถิ่นที่เจ้าของพื้นที่ไม่ยินดี ไม่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว ดังนั้นการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการท่องเที่ยวท้องถิ่น โดยชุมชน ในลักษณะแนวทางที่เรียกกันว่า การท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT Community Based Tourism) เป็นพื้นฐานแรกๆ ในการที่จะทำให้การท่องเที่ยวในชุมชน มีความเข้มแข็ง มีการบริหารจัดการพื้นฐานที่ดี และนำไปสู่ความยั่งยืน สามารถต่อยอดและเชื่อมโยงการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพซึ่งกันและกัน'
หากสามารถขจัดอุปสรรคการท่องเที่ยวในระดับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงหลายๆ ประการได้ บรรยากาศการท่องเที่ยวก็จะดีขึ้นเป็นเงาตามตัว และความเจริญทางด้านเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงก็จะเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วย อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างบ้านพี่เมืองน้องในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง จะมีความแน่นแฟ้น รักใคร่สามัคคีมากยิ่งขึ้นไป
แนะเน้นเทคโนโลยี-เพิ่มบูรณาการ
นอกจากนี้ สำหรับการท่องเที่ยวของประเทศไทย ควรมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีบทบาทมากขึ้นทุกๆ วัน ก็จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา การท่องเที่ยวของประเทศไทยยังมีจุดอ่อน ยังขาดการบูรณาการข้อมูลการท่องเที่ยวที่ดี ไม่มีแผนผังเว็บไซต์การท่องเที่ยวทั้งขนาดใหญ่และขนาดย่อย และเว็บไซต์ส่วนใหญ่ทางการท่องเที่ยวของไทย
'โดยเฉพาะโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยวหน่วยงานรัฐ ยังไม่เปิดให้มีการจองการบริการผ่านระบบออนไลน์ อีกทั้งประเทศเพื่อนบ้านในระดับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงหลายประเทศ ยังขาดความพร้อมในเรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพื่อการท่องเที่ยว ในเมืองท่องเที่ยวหลักๆ อาทิ เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า จะพบว่ามีปัญหาแทบทุกด้าน โดยเฉพาะระบบโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยว' แหล่งข่าวบอกในตอนท้าย
*********
ภูมิหลัง GMS:Greater Mekong Subregion
โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
โครงการ GMS เป็นความร่วมมือของ 6 ประเทศ คือ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน (ยูนนาน) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 โดยมีธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB: Asian Development Bank) เป็นผู้ให้การสนับสนุนหลัก กลุ่มประเทศ GMS มีพื้นที่รวมกันประมาณ 2 ล้าน 3 แสนตารางกิโลเมตร หรือประมาณพื้นที่ของยุโรปตะวันตก มีประชากรรวมกันประมาณ 250 ล้านคน และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นจุดศูนย์กลางในการเชื่อมโยงติดต่อระหว่างภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โครงการ GMS มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางการค้า การลงทุนอุตสาหกรรมการเกษตร และบริการ สนับสนุนการจ้างงานและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น ส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือทางเทคโนโลยีและการศึกษาระหว่างกัน ตลอดจนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ส่งเสริมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมและเพิ่มขีดความสามารถรวมทั้งโอกาสทางเศรษฐกิจในเวทีการค้าโลก ระหว่าง 4-5 กรกฎาคม 2548 จีนได้เป็นเจ้าภาพการประชุม GMS Summit ครั้งที่ 2 ณ นครคุนหมิง
โดยผู้นำได้ออกแถลงการณ์ร่วมคุนหมิง (Kunming Declaration) ซึ่งมีเป้าหมายคือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความปรองดองและความมั่งคั่งของอนุภูมิภาค รวมถึงความพยายามในการลดปัญหาความยากจนและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยสนับสนุนให้มีการติดต่อและการแข่งขันระหว่างกัน นอกจากนั้น ผู้นำประเทศ GMS ได้แสดงเจตนารมณ์ให้มีการลงนามในภาคผนวกและพิธีสารแนบท้ายของความตกลงขนส่งข้ามพรมแดน (GMS Cross-Border Transport Agreement) ให้เสร็จครบถ้วนภายในปี 2548
อีกทั้งเห็นชอบกับความริเริ่มในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยให้การคุ้มครองระบบนิเวศของพื้นที่ป่าไม้และต้นน้ำในอนุภูมิภาค ภายใต้โครงการ GMS Bio-diversity Corridor ทั้งนี้ได้มีการลงนามข้อตกลงในเรื่องการขนส่ง การค้าพลังงาน การควบคุมโรคติดต่อในสัตว์ และการสื่อสารโทรคมนาคม และลาวรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม GMS Summit ครั้งที่ 3 ในปี 2551
สาขาความร่วมมือของ GMS ได้แก่ คมนาคมขนส่ง โทรคมนาคม พลังงาน การค้า การลงทุนเกษตร สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
สำหรับแผนงานลำดับความสำคัญสูง (Flagship Programs) จำนวน 11 แผนงาน ได้แก่
1) แผนงานพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor)
2) แผนงานพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor)
3) แผนงานพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor)
4) แผนงานพัฒนาเครือข่ายโทรคมนาคม (Telecommunications Backbone)
5) แผนงานซื้อ-ขายไฟฟ้าและการเชื่อมโยงเครือข่ายสายส่งไฟฟ้า (Regional Power Interconnection and Trading Arrangements)
6) แผนงานการอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุนข้ามพรมแดน (Facilitating Cross-Border Trade and Investment)
7) แผนงานเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน (Enhancing Private Sector Participation and Competitiveness)
8) แผนงานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และทักษะความชำนาญ (Developing Human Resources and Skills Competencies)
9) กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาสิ่งแวดล้อม (Strategic Environment Framework)
10) แผนงานการป้องกันน้ำท่วมและการจัดการทรัพยากรน้ำ (Flood Control and Water Resource Management)
11) แผนงานการพัฒนาการท่องเที่ยว (GMS Tourism Development)
เดินหน้า 7 สาขาพัฒนาการค้า-ท่องเที่ยว
สำหรับความคืบหน้าการดำเนินงาน GMS ที่สำคัญ ล่าสุดในสาขาต่างๆ ได้แก่ สาขาสื่อสารโทรคมนาคม พลังงาน การอำนวยความสะดวกทางการค้า การท่องเที่ยว และสาขาคมนาคมขนส่ง ได้มีการเร่งรัดพัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงตามแนวพื้นที่เศรษฐกิจ ประกอบด้วย
(1) แนวตะวันออก-ตะวันตก (East West Economic Corridor) เชื่อมโยงพม่า-ไทย-ลาว-เวียดนาม ที่เส้นทางถนนฝั่งตะวันออก รวมสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2549 และทางฝั่งตะวันตกด้านพม่า กำหนดแล้วเสร็จในปี 2553
(2) แนวเหนือ-ใต้ เชื่อมโยงไทย-พม่า/ลาว-จีน ซึ่งเส้นทางผ่านพม่าเสร็จแล้ว ส่วนเส้นทางผ่านลาวมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2550 (สะพานข้ามแม่น้ำโขงที่เชียงของ-ห้วยทราย อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมจุดที่ตั้งและงบประมาณค่าก่อสร้าง ในส่วนนี้ไทยสนับสนุนค่าก่อสร้างครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่ง สปป.ลาว อยู่ระหว่างการขอสนับสนุนจากจีน โดยจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี) และ
(3) แนวตอนใต้ เชื่อมโยงไทย-กัมพูชา-เวียดนาม เส้นตอนใน (อรัญประเทศ-พนมเปญ-โฮจิมินห์-วังเตา) มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2550 และเส้นเลียบชายทะเล (ตราด-เกาะกง-สแรแอมปึล-กามู-นำเชา) ที่มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2553 โดยไทยได้มีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือการพัฒนาเส้นทางสำคัญในประเทศเพื่อนบ้านทั้งในรูปของการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ (สำรวจ/ออกแบบ/ศึกษาความเหมาะสมฯ) และให้ความช่วยเหลือทางการเงินในรูปเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือในการอำนวยความสะดวกกฎระเบียบการผ่านแดน ประกอบด้วย
1) ความตกลงการอำนวยความสะดวกการผ่านแดนของคนและสินค้าในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Cross Border Transport Agreement) ซึ่ง 6 ประเทศลงนามร่วมกันแล้ว และอยู่ระหว่างการเจรจาภาคผนวกและพิธีสารแนบท้ายความตกลงให้แล้วเสร็จภายในปี 2548 และจะมีผลสมบูรณ์ในปี 2550 โดยจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง 6 ประเทศ เพื่อกำกับการดำเนินงานความตกลงฯ
2) การเดินเรือพาณิชย์ในลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน 4 ประเทศ (ไทย-พม่า-ลาว-จีน) มีการลงนามความตกลงร่วมระหว่างรัฐมนตรีคมนาคม 4 ประเทศ เมื่อ 20 เมษายน 2543 ต่อมาจีนได้ช่วยศึกษา EIA และดำเนินการปรับปรุงร่องน้ำระยะที่ 1 ให้สามารถเดินเรือขนาด 150 DWT ได้ ตลอดจนช่วยฝึกอบรมu3604 ด้านการเดินเรือ
ด้าน สาขาสื่อสารโทรคมนาคม มีการพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคมด้านตะวันออก (East Loop) ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพฯ-เวียงจันทน์-วินห์-โฮจิมินห์ ซิตี้-พนมเปญ-กรุงเทพฯ แล้วเสร็จและเปิดให้บริการแล้ว การดำเนินงานในส่วนของไทยได้สร้างเครือข่ายโทรคมนาคมเชื่อมโยงตามแนวหลักจนถึงชายแดนไทย/ประเทศเพื่อนบ้านแล้วเสร็จ ในระยะต่อไปจึงควรผลักดันการดำเนินการเชื่อมโยงโครงข่ายต่อเนื่องจากไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
ปัจจุบัน ADB ให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านในการศึกษาความเหมาะสมในการเชื่อมโยงโครงข่าย เพื่อให้การก่อสร้างโครงข่ายด้านตะวันตก (West Loop) และด้านเหนือ (North Loop) ครบเต็มระบบ ตลอดจนส่งเสริมการให้ความช่วยเหลือพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรและองค์กร ปรับปรุงกฎระเบียบด้านโทรคมนาคมสู่เสรี และให้เอื้อต่อการลงทุนภาคเอกชน ในระหว่างการประชุม GMS Summit ครั้งที่ 2 มีการลงนาม MOU of the Planning and Construction of GMS Information Superhighway Network ซึ่งจะส่งเสริมยกระดับเทคโนโลยีให้เป็นระบบ Roadband เพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้ ICT ในเชิงพาณิชย์ในอนุภูมิภาคให้มากขึ้น
สาขาพลังงาน ประเทศ GMS ได้ลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการซื้อขายไฟฟ้าและการเชื่อมโยงเครือข่ายสายส่งระหว่างรัฐบาล 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (Inter Governmental Agreement) ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2545 โดยปัจจุบันได้เร่งจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานด้านไฟฟ้า ตลอดจนแปรแผนแม่บทการสร้างระบบเครือข่ายสายส่งไฟฟ้า 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงสู่ปฏิบัติ โดยเริ่มพัฒนาเครือข่ายสายส่ง 500 Kv. เชื่อมโยงร้อยเอ็ด(ไทย)-น้ำเทิน 2(ลาว)-ฮาติน (เวียดนาม) ในระยะแรก และเริ่มดำเนินการศึกษาเพื่อจัดทำข้อตกลงปฏิบัติการด้านเทคนิคและธุรกิจเพื่อดำเนินการซื้อ-ขายไฟฟ้าในอนุภูมิภาค (PTOA) โดยเร็ว โดยในการประชุม GMS Summit ครั้งที่ 2 มีการลงนาม MOU on the Guidelines for the Implementation of the Regional Power Trade Operating Agreement - Stage#1 เพื่อความเข้าใจร่วมกันในแนวทางดำเนินงานข้อตกลงฯ
สาขาการท่องเที่ยว ได้ดำเนินแผนการตลาด 'Six Countries One Destination' ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวร่วมกันและสนับสนุนภาคเอกชนเปิดธุรกิจท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่าง 6 ประเทศ ในรูป Package Tour ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประเทศ GMS ในการดำเนินงานศูนย์ประสานงานด้านการท่องเที่ยวของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และไทยมีบทบาทหลักในการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการและดำเนินแผนการตลาด พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ดึงดูดนักลงทุนเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาคนี้ ตลอดจนผลักดันความร่วมมือ GMS VISA ซึ่งปัจจุบันไทยได้ผลักดันให้มีการดำเนินงานระหว่างไทย/กัมพูชา เป็นโครงการนำร่อง ภายใต้กรอบ ACMECS
สาขาการอำนวยความสะดวกทางการค้า ได้ส่งเสริมความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร พัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานองค์กรด้านการค้าของประเทศในอนุภูมิภาค และเริ่มศึกษารายละเอียดการตรวจปล่อยสินค้า ณ จุดเดียว (Single-Stop Inspection) ในจุดพื้นที่ชายแดนเป้าหมายเป็นโครงการนำร่อง 4 จุด คือ
1) มุกดาหาร (ไทย)-สะหวันนะเขต (ลาว)
2) ลาวบาว (เวียดนาม)-แดนสวรรค์ (ลาว)
3) อรัญประเทศ (ไทย)-ปอยเปต (กัมพูชา)
4) บาเวต (กัมพูชา)-มอคไบ (เวียดนาม) ก่อนเพื่อนำมาปรับใช้ที่ด่านอื่นๆ ต่อไป
โดยในระหว่างการประชุม GMS Summit ครั้งที่ 2 มีการลงนาม MOU ระหว่างคู่ประเทศในระดับทวิภาคีเพื่อดำเนินงานตามความตกลง Cross Border Transport Agreement ในไทย 4 ด่าน คือ ด่านมุกดาหาร-สะหวันนะเขต อรัญประเทศ-ปอยเปต แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก และแม่สอด-เมียวะดี โดยจะเป็นการเริ่มดำเนินงาน SSI อย่างเป็นรูปธรรมด้วย และไทยได้เสนอให้แต่ละประเทศมีการทำ One Stop Service ที่ด่านพรมแดนของตนเองเพื่ออำนวยความสะดวกการผ่านแดนในแต่ละประเทศก่อน โดย One Stop Service ของไทยเริ่มดำเนินงาน ณ 5 ด่านนำร่อง ได้แก่ มุกดาหาร อรัญประเทศ สะเดา แม่สาย และแม่สอด ซึ่งเมื่อสามารถหารูปแบบที่เหมาะสมได้แล้วจะได้นำไปเป็นตัวอย่างให้กับประเทศอื่นๆ ต่อไป
สาขาการลงทุน ได้มีการปรับปรุงข้อมูล กฎระเบียบ และมาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกการลงทุน รวมถึงการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนแต่ละประเทศอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ที่จังหวัดเชียงรายเป็นโครงการนำร่อง ส่งเสริมบทบาท GMS Business Forum ซึ่งไทยเป็นประธานตั้งแต่ปี 2549 และมีฝ่ายเลขานุการอยู่ที่เวียงจันทน์ สปป.ลาว และหอการค้าของประเทศ GMS ทั้งหมดเป็นสมาชิก ให้เป็นกลไกภาครัฐ-เอกชนในการระดมทุนและสร้างเครือข่ายดึงดูดนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
สาขาพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ดำเนินโครงการ Phnom Penh Plan เพื่อฝึกอบรมผู้บริหารระดับกลางและระดับสูงของประเทศ GMS โดยใช้เครือข่ายสถาบันการศึกษาของอนุภูมิภาค เช่น สถาบันลุ่มแม่น้ำโขง และ AIT ของไทย และจัดตั้ง Task Force เพื่อดำเนินงานการพัฒนาความร่วมมือ 3 ด้าน คือ แรงงาน สาธารณสุข และการศึกษา โดยมุ่งเน้นความร่วมมือในการเฝ้าระวังโรคติดต่อ (Communicable Diseases Control) อันเกิดจากการเปิดพรมแดน การใช้ประโยชน์จากระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการศึกษา และการสร้างระบบข้อมูลตลาดแรงงานและการบริหารจัดการแรงงานข้ามพรมแดน ตลอดจนเน้นการดำเนินโครงการพัฒนาชุมชนเพื่อยกระดับความเป็นอยู่และแก้ปัญหาความยากจน บทบาทของไทยในเรื่องนี้ค่อนข้างชัดเจนและต่อเนื่อง โดยไทยให้ความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านในลักษณะทวิภาคีทั้งที่ผ่านกรมวิเทศสหการ และทั้งที่ทำโดยตรงกับหน่วยงานปฏิบัติเองใน 9 สาขา โดยครอบคลุมเรื่องของการฝึกอบรม การแลกเปลี่ยนนักวิชาการการวิจัยพัฒนาร่วม การดูงาน และการช่วยสร้างและสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยพัฒนาด้านทรัพยากรมนุษย์ เช่น ศูนย์ฝึกฝีมือแรงงาน โรงพยาบาล โรงเรียน ตลอดจนในปัจจุบันรัฐบาลได้สนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถการดำเนินงานของสถาบันลุ่มแม่น้ำโขง (Mekong Institute) และสถาบันการศึกษาและฝึกอบรมอื่นๆ ของไทยให้มีบทบาทเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในลักษณะเครือข่ายการศึกษา อบรมและวิจัยในอนุภูมิภาค
สาขาสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการพัฒนาสภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศ GMS ให้มีความยั่งยืน ด้วยการปรับปรุงระบบข้อมูลข่าวสาร จัดทำตัวชี้วัด และวางกรอบกลยุทธ์ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมที่มีการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เกิดขึ้นจากโครงการลงทุนต่างๆ จัดทำ GMS Atlas ซึ่งช่วยในการระบุสถานะด้านสิ่งแวดล้อมและพื้นที่เสี่ยงของอนุภูมิภาค เตรียมการจัดตั้งกลไกคณะกรรมการร่วมระหว่างประเทศเพื่อดำเนินงานการพัฒนาเชิงยั่งยืน และให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้าน Biodiversity Corridor เพื่อให้การพัฒนาเศรษฐกิจและการรักษาไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมมีความสมดุล และยังตั้ง Environmental Operation Center (EOC) เป็นศูนย์ประสานการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม ณ กรุงเทพฯ อีกด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|