|
ซัมซุงเปิดศึกชิงบัลลังก์ผู้นำ ขยายช่องทางร้านแอร์
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(2 สิงหาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ซัมซุง ซอยเซกเมนต์ เดินเกิม Step Up ขยายตลาดเครื่องปรับอากาศพรีเมียม พร้อมเปิดตัวเครื่องฟอก สร้างแบรนด์ไวรัส ดอกเตอร์ ตอบโจทย์สุขภาพ พร้อมรุกช่องทางร้านสเปเชียลิตี้ด้านแอร์ ชิงฐานผู้นำอย่างมิตซูบิชิ หวังขึ้นแท่นผู้นำตลาดเครื่องปรับอากาศ
ตลาดเครื่องปรับอากาศมีปริมาณความต้องการในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 680,000 เครื่อง ส่วนในปี 2553 เดิมคาดว่าปริมาณความต้องการจะเพิ่มเป็น 720,000 เครื่อง แต่เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนมากและยาวนานกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้เครื่องปรับอากาศยังคงเป็นที่ต้องการแม้จะเข้าสู่กลางปี ซึ่งปรกติเป็นช่วงที่ยอดการสั่งซื้อเครื่องปรับอากาศต่ำมาก ทำให้คาดการณ์กันว่าในสิ้นปีจะมีปริมาณความต้องการเครื่องปรับอากาศโดยรวมอยู่ที่ 1 ล้านเครื่อง คิดเป็นมูลค่าประมาณ 12,000 ล้านบาท
'ปัจจัยที่ผลักดันให้เครื่องปรับอากาศมีการเติบโตค่อนข้างมากในปีนี้คือ โลกร้อน ราคาแอร์ลดลง ทำให้คนที่ไม่เคยมีเครื่องปรับอากาศตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันเซกเมนต์อินเวอร์เตอร์ก็มีการเติบโตมากเพราะผู้บริโภคใส่ใจเรื่องการประหยัดพลังงานมากขึ้น สุดท้ายผู้บริโภคตื่นตัวเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น หลังจากต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของหวัดซาร์ส หวัดนก ซึ่งเครื่องปรับอากาศรุ่นใหม่ๆ ก็เน้นเรื่องสุขภาพมากขึ้น' สมพร จันกรีนภาวงศ์ ผู้จัดการกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศ ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ กล่าว
ปัจจุบันอัตราการถือครองเครื่องปรับอากาศของครัวเรือนไทยมีเพียง 20% โอกาสในการขยายตลาดยังมีอีกมาก โดยเฉพาะโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ๆ ที่มักติดตั้งเครื่องปรับอากาศให้ลูกค้า ซึ่งปัจจุบันหลายค่ายต่างมีทีมขายเจาะตลาดโครงการโดยเฉพาะ ขณะเดียวกันก็พยายามสร้างตลาดรีเพลสเมนต์ หรือการกระตุ้นให้ผู้บริโภคที่ใช้เครื่องปรับอากาศอยู่แล้วเปลี่ยนมาใช้เครื่องรุ่นใหม่แทน โดยเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้บริโภค ด้วยการเปรียบเทียบถึงประสิทธิภาพการทำงานที่ดีกว่า รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่น้อยกว่า เพื่อให้ผู้บริโภคยอมที่จะจ่ายเพิ่มเพื่อให้ได้เครื่องปรับอากาศที่ดี ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าไฟในระยะยาว
โดยแบรนด์ผู้นำแต่ละค่ายต่างพยายามเพิ่มรุ่นที่เป็นระบบอินเวอร์เตอร์มากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาใช้รุ่นที่ดีขึ้น ซึ่งช่วยสร้างมูลค่าให้ตลาด ชดเชยกับราคาเครื่องปรับอากาศที่ตกต่ำลงทุกปี โดยผู้นำตลาดอย่าง มิตซูบิชิ อีเล็คทริค ชูคอนเซ็ปต์ Select the Right โดยซอยเซกเมนต์เครื่องปรับอากาศออกเป็น 4 กลุ่ม ตามรูปแบบการใช้งาน โดยรุ่นท็อปคือ ซูเปอร์อินเวอร์เตอร์ ชูประสิทธิภาพในการทำความเย็นและการประหยัดพลังงาน รองลงมาเป็นรุ่นมูฟอาย ซึ่งมีเซ็นเซอร์ในการจับตำแหน่งที่ที่มีอุณหภูมิสูง จากนั้นก็จะส่งลมเย็นไปยังตำแหน่งนั้นเป็นพิเศษ ขณะที่รุ่น Wide & Long สามารถพ่นลมเย็นได้ไกลเหมาะสำหรับห้องที่มีความยาว และรุ่นอีโคโน แอร์ เป็นรุ่นราคาประหยัด ทั้งนี้ มิตซูบิชิ อีเล็คทริค จะมีการลอนช์เครื่องปรับอากาศรุ่นใหม่ 16 รุ่น
ขณะที่พานาโซนิคมีการใช้ เคน-ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์ เป็นพรีเซนเตอร์ ที่มาพร้อมกับประโยคที่ว่า 'ประหยัดไฟเพิ่มขึ้น ผมก็ยิ้มได้กว้างขึ้น' โดยชูเรื่องความประหยัด นอกจากนี้พานาโซนิคยังมีการซอยเซกเมนต์เป็น 4 รุ่น โดย 3 รุ่นแรกคือ ซูเปอร์ เดอลุกซ์ อินเวอร์เตอร์, เดอลุกซ์ อินเวอร์เตอร์ และเดอลุกซ์ จะเน้นการประหยัดไฟและระบบฟอกอากาศ ที่จะแตกต่างกันตรงประสิทธิภาพในแต่ละรุ่น ส่วนรุ่น สแตนดาร์ด เป็นรุ่นไฟติ้งโมเดล ทว่าก็มีแผ่นฟอกอากาศ
ด้านค่ายเกาหลีอย่างซัมซุงก็มีการแบ่งเซกเมนต์เครื่องปรับอากาศออกไปตามรูปแบบการใช้งานของลูกค้า โดยกลุ่มเดอลุกซ์ เป็นตลาดพรีเมียม ซึ่งซัมซุงมีการลอนช์เครื่องปรับอากาศกลุ่มมองบลังค์รุ่นใหม่ 2 รุ่น และวิวาลดิ อินเวอร์เตอร์ 4 รุ่น ส่วนลูกค้ากลุ่ม Step Up หรือกลุ่มที่มีการเปลี่ยนจากเครื่องเก่ามาใช้เครื่องใหม่ที่มีเทคโนโลยีสูงขึ้น โดยมีเครื่องปรับอากาศกลุ่มวิวาลดิ 4 รุ่น ส่วนตลาดแมส อาจจะคำนึงเรื่องราคามากเป็นพิเศษ ซัมซุงก็มีเครื่องปรับอากาศกลุ่มแม็กซ์ 4 รุ่น และซูเปอร์แม็กซ์อีก 3 รุ่น นอกจากนี้ยังมีกลุ่มลูกค้าโครงการ ซึ่งซัมซุงก็มีเครื่องปรับอากาศสำหรับงานโครงการในปีนี้ 4 รุ่น
นอกจากนี้ยังมีการใช้ อั้ม-พัชราภา ไชยเชื้อ เป็นพรีเซนเตอร์ ซึ่งนอกจากการที่อั้มเคยมีประสบการณ์ตรงจากการเป็นไข้หวัด 2009 แล้ว น่าจะเป็นความพยายามขยายฐานไปสู่ตลาดแมสหรือบรรดาแฟนละคร เนื่องจากดาราถือเป็นเทรนด์เซตเตอร์ของผู้ชม ซึ่งจะเป็นการสร้างการรับรู้ไปสู่ผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น
ขณะเดียวกันก็มีการใช้สื่อและพนักงานขายหน้าร้านในการเอ็ดดูเคตและกระตุ้นให้ผู้บริโภคเลือกใช้เครื่องปรับอากาศรุ่นที่สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าให้ตลาดมีการเติบโตมากขึ้น ปัจจุบันตลาดเครื่องปรับอากาศที่เป็นระบบอินเวอร์เตอร์มีไม่เกิน 10% ของความต้องการในตลาดโดยรวม ดังนั้นโอกาสยังเปิดกว้างในการสวิตชิ่งให้ผู้บริโภคหันมาใช้เครื่องปรับอากาศรุ่นที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ดีเพื่อชิงความเป็นผู้นำตลาด ซัมซุงจึงพยายามขยายช่องทางไปสู่ร้านแอร์ ซึ่งโฟกัสสินค้าเครื่องปรับอากาศตลอดทั้งปี ขณะที่โมเดิร์นเทรดทั่วไปจะให้ความสำคัญกับสินค้าตามฤดูกาลขาย พอหมดหน้าร้อน ก็เลิกขายเครื่องปรับอากาศ ขณะที่ร้านแอร์ยังต้องขายเครื่องปรับอากาศต่อไป ที่สำคัญผู้นำตลาดอย่างมิตซูบิชิ ครอบครองช่องทางร้านแอร์ได้อย่างเหนียวแน่น หากซัมซุงจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำก็ต้องช่วงชิงตลาดดังกล่าว
ซัมซุง รุกช่องทางร้านเครื่องปรับอากาศ พร้อมตั้งเป้าขยายคู่ค้าที่เป็นร้านแอร์เพิ่มอีก 80 ร้านค้า จากเดิมที่มีอยู่เพียง 30 ร้านค้า ทั้งนี้เพื่อขยายช่องทางใหม่ๆ หลังจากที่ก่อนหน้านี้สามารถขยายช่องทางไปสู่โมเดิร์นเทรดได้อย่างกว้างขวาง โดยสัดส่วนช่องทางจำหน่ายเครื่องปรับอากาศของซัมซุงแบ่งเป็น โมเดิร์นเทรด 25% ร้านเครื่องปรับอากาศ 25% ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้า 42-43% และช่องทาง B2B อีกประมาณ 7-8%
ปัจจุบันร้านเครื่องปรับอากาศทั่วประเทศมีอยู่ประมาณ 2,000-3,000 ร้านค้า โดยซัมซุงตั้งเป้าที่จะเจาะช่องทางร้านเครื่องปรับอากาศไว้ที่ 150 ร้านค้า ซึ่งมีทั้งร้านใหญ่และร้านที่เป็นมาสเตอร์ดีลเลอร์ที่จะกระจายสินค้าไปสู่ร้านแอร์เล็กๆ อีกที อย่างไรก็ดี หลังจากสามารถเจาะช่องทางร้านแอร์ได้ 110 ร้านค้าในปีนี้แล้ว ปีหน้าซัมซุงจะโฟกัสในการพัฒนาช่องทางเหล่านี้ให้มีความแข็งแกร่งก่อนจะเดินหน้าขยายช่องทางร้านจำหน่ายเครื่องปรับอากาศเพิ่มในปีถัดไป
นอกจากนี้ในช่วงครึ่งหลังของปี ซัมซุง จะมีการลอนช์เครื่องฟอกอากาศ ไวรัส ดอกเตอร์ ในราคา 6,000 กว่าบาท ครอบคลุมพื้นที่ 10 ตารางเมตร เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์เสริมร่วมกับเครื่องปรับอากาศรุ่นเก่าที่ไม่มีระบบฟอกอากาศ โดยเครื่องฟอกอากาศดังกล่าวสามารถเคลื่อนย้ายได้ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคได้สัมผัสกับประสบการณ์การฟอกแบบไวรัส ดอกเตอร์ ของซัมซุง ซึ่งบริษัทหวังว่าหากถึงเวลาที่ผู้บริโภคเหล่านี้จะเปลี่ยนเครื่องปรับอากาศใหม่จะนึกถึงซัมซุงเป็นแบรนด์แรก
'แผนการทำการตลาดในช่วงครึ่งปีหลัง เรายังคงสานต่อแนวคิด Air Con for Health โดยนำเสนอเครื่องปรับอากาศเพื่อสุขภาพ ควบคู่ไปกับการสื่อสารเทคโนโลยีฟอกอากาศ ไวรัส ดอกเตอร์ ให้เป็นที่รู้จัก นอกจากนี้ปัจจัยความสำเร็จยังเกิดจากการเลือกใช้กลยุทธ์ช่องทางจัดจำหน่ายให้ครอบคลุม โดยมีการเพิ่มเครือข่ายร้านค้าไปสู่ตลาดต่างจังหวัดมากขึ้น โดยเฉพาะร้านแอร์ พร้อมกันนี้ยังได้มีการฝึกอบรมให้กับดีลเลอร์และช่างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขายและบริการไปสู่ผู้บริโภค ตลอดจนการจัดทำ Dealer Support Center หรือ DSC ซึ่งจะให้บริการด้านอะไหล่สำรอง และการฝึกอบรมการให้บริการของพนักงานและตัวแทนจำหน่ายของซัมซุง' ศศิธร กู้พัฒนากุล ผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจเครื่องปรับอากาศ ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|