สถานการณ์ตลาดรับสร้างบ้าน Q 3/2553


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(2 สิงหาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ฝ่ายวิจัยและพัฒนาธุรกิจ บริษัท ปทุมดีไซน์ ดีเวลลลอป จำกัด หรือพีดีเฮ้าส์ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นประชาชนในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-มิถุนายน 2553) จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,548 รายทั่วประเทศ ที่มีแนวโน้มต้องการสร้างบ้านหรือที่อยู่อาศัยหลังใหม่บนที่ดินของตัวเองทั่วประเทศ ทั้งนี้ มีผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นกลุ่มเป้าหมายจำนวน 364 ราย ในหัวข้อ “ที่มาของเงินลงทุนสร้างบ้านหลังใหม่” มาจากแหล่งใดระหว่าง “เงินออม” กับ “เงินกู้ยืมธนาคาร”

สำหรับผลสำรวจความต้องการปลูกสร้างบ้านหลังใหม่ พบว่าพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีความต้องการมากเป็นอันดับ 1 หรือคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 31% รองลงมาได้แก่จังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสัดส่วนคิดเป็น 25% และจังหวัดในภาคกลางคิดเป็นสัดส่วนเท่ากับ 19% จำนวนอีก 14%, 8% เป็นสัดส่วนในพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้ ในขณะที่ภาคตะวันออกพบว่ามีสัดส่วนน้อยที่สุด หรือเท่ากับ 3%

หากเปรียบเทียบพฤติกรรมของประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่มีแนวโน้มจะปลูกสร้างบ้านหลังใหม่ที่ต้องการว่าจ้างบริษัทรับสร้างบ้าน จากข้อมูลสำรวจเมื่อ 6-7 ปีก่อน พบว่า สัดส่วนผู้บริโภคที่เลือกใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้าน 60-70% นิยมใช้ “เงินออม” สร้างบ้านหลังใหม่ สัดส่วนที่เหลือประมาณ 30% เท่านั้นที่เลือกใช้ “เงินกู้ยืมธนาคาร”

ส่วนจากผลการสำรวจความเห็นครั้งนี้ พบว่า กลุ่มเป้าหมายหรือผู้บริโภคที่ต้องการจะสร้างบ้านหลังใหม่ บนที่ดินของตัวเองในปีนี้และอีก 1-2 ปีข้างหน้า มีความต้องการ “กู้ยืมเงินธนาคาร” มีสัดส่วนสูงถึง 79% และมีสัดส่วนเพียง 20% เท่านั้นที่จะใช้ “เงินออมหรือเงินสด”

สถิติดังกล่าว สะท้อนให้เห็นพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนและมีนัยสำคัญ ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจของผู้ประกอบการที่แข่งขันอยู่ในตลาดรับสร้างบ้าน รวมทั้งสถาบันการเงินหรือธนาคารฯ ที่ปล่อยสินเชื่อปลูกสร้างบ้าน

ฝ่ายวิจัยและพัฒนาธุรกิจฯ ระบุว่า ในสายตาผู้บริโภคมองว่าการกู้ยืมเงินธนาคารฯ เพื่อปลูกสร้างบ้านยังเป็นเรื่องยุ่งยาก และส่วนใหญ่ไม่ทราบมาก่อนว่าสามารถกู้ยืมได้ อาจเป็นเพราะขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดีพอ จากฝ่ายผู้ประกอบการและสถาบันการเงิน รวมถึงที่ผ่านมาขาดการอำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคที่ต้องการใช้บริการ

นอกจากนี้ผลสำรวจยังระบุ กลุ่มเป้าหมายจำนวน 55% เห็นว่า เหตุผลสำคัญที่ต้องการใช้เงินกู้ยืมธนาคารเพื่อปลูกสร้างบ้านเพราะเห็นว่า “ทำให้มีบ้านเร็วขึ้น และคุ้มค่าเมื่อเปรียบเทียบกับดอกเบี้ยที่จ่าย” เหตุผลรองลงมากลุ่มตัวอย่างจำนวน 37% เห็นว่า “การออมเงินอาจไม่ทันกับราคาบ้านที่แพงขึ้นทุกปี”

หากพิจารณาจากสถิติดังกล่าวแล้ว อาจมองได้ว่า แนวโน้มสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยประเภทปลูกสร้างบ้านบนที่ดินของตัวเอง ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ถ้าสามารถทำให้ผู้บริโภคและประชาชนรับรู้และมีความเข้าใจมากขึ้น รวมถึงตลาดรับสร้างบ้านก็จะสามารถขยายตัวเพิ่มได้เช่นกัน จากในอดีตที่ผู้บริโภคเคยคิดและเข้าใจว่าจะต้อง “ออมเงินให้ครบก่อนจึงจะสร้างบ้านได้” ซึ่งนับเป็นข้อด้อยและเสียเปรียบธุรกิจที่อยู่อาศัยประเภทอื่น เช่น บ้านจัดสรร บ้านมือสอง เพราะผู้บริโภคมีความเข้าใจเป็นอย่างดีว่าสามารถกู้ยืมหรือขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยได้จากธนาคารโดยไม่ยุ่งยาก

ฝ่ายวิจัยและพัฒนาธุรกิจฯ เห็นว่า การพัฒนาตลาดรับสร้างบ้านควบคู่ไปกับตลาดสินเชื่อเพื่อปลูกสร้างบ้านให้เติบโตนั้น ผู้ประกอบการควรหันมาให้ความสำคัญอย่างจริงจัง โดยเฉพาะบริษัทรับสร้างบ้านต้องเร่งปรับตัวให้มีการบริหารจัดการที่ชัดเจน เพื่อสถาบันการเงินจะได้ไว้วางใจและสนับสนุนสินเชื่อปลูกสร้างบ้านแก่ลูกค้าที่มาใช้บริการ รวมถึงผู้ประกอบการเกิดใหม่หรือที่เข้ามาสู่ธุรกิจรับสร้างบ้านได้ไม่นานก็ตาม การมีระบบการบริหารจัดการที่ดีและมีความเป็นมืออาชีพจริงคือสิ่งสำคัญ โดยอาจใช้วิธีเข้าร่วมเป็นเครือข่ายกับมืออาชีพตัวจริงที่มีประสบการณ์มานาน อย่างเช่น โมเดลธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์รับสร้างบ้าน ซึ่งในปัจจุบันสถาบันการเงินก็อำนวยความสะดวกและสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อให้เช่นกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.