|
สัญญาณดอกเบี้ยเริ่มขยับ ฉุดธุรกิจประกันชะลอตัว
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(2 สิงหาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานอัตราการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553 ชะลอตัวลง 14.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เทียบกับในช่วง 4 เดือนแรกที่เติบโต 17.1% จากปีที่แล้ว โดยเป็นผลจากการหดตัวของธุรกิจใหม่ในเดือน พ.ค. จากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองมากกว่าที่คาด ขณะที่แนวโน้มผลประกอบการในเดือน มิ.ย. 2553 คาดว่าจะกลับมาขยายตัวด้วยเลขสองหลักอีกครั้ง หลังการชุมนุมทางการเมืองยุติลง ซึ่งน่าจะส่งผลให้เบี้ยประกันภัยรับรวมของธุรกิจประกันชีวิตในช่วงครึ่งแรกของปีเติบโตจากปีที่แล้วได้ไม่ต่ำกว่า 15-16%
สำหรับทิศทางธุรกิจในช่วงครึ่งหลังของปี ยังน่าจะรักษาอัตราการเติบโตทางธุรกิจให้อยู่ในระดับเลขสองหลักได้อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะยังได้รับปัจจัยบวกจากแรงซื้อเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีในช่วงสิ้นปี การคลี่คลายของเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และความเชื่อมั่นของผู้บริโภค รวมถึงการแข่งขันระหว่างบริษัทประกันและนโยบายเชิงรุกในการเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์
ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของธนาคารพาณิชย์ ประกอบกับแนวโน้มการชะลอตัวของการของสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงครึ่งปีหลัง หลังมาตรการลดหย่อนภาษีการโอนและจดจำนองเพื่อกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สิ้นสุดลงในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ทำให้ทำประกันเพื่อคุ้มครองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (MRTA: Mortgage Reduce Term Loan) ที่เป็นตัวเร่งยอดการทำประกันใหม่ของการขายประกันผ่านธนาคารพาณิชย์ (Bancassurance) ลดลง ส่งผลให้อัตราการเติบโตของธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลังลดลงจากที่คาดไว้เดิม และเมื่อผนวกกับผลกระทบจากปัญหาการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตในปี 2553 ลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวในระดับประมาณ 18-23% เป็น 16-18%
เบี้ยประกันภัยรับรวมเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้น 6.4% จากปีก่อน แต่ชะลอตัวลงแรงเมื่อเทียบกับเดือนเม.ย. ที่เพิ่มขึ้น 11.8% จากผลกระทบของจำนวนวันทำการที่ลดลง จากเหตุรุนแรงทางการเมือง ซึ่งทำให้ปริมาณธุรกิจใหม่ในเดือน พ.ค. หดตัวลง 6.3% เทียบกับเดือนเม.ย. ที่เพิ่มขึ้น 4.4% ขณะที่การจัดเก็บเบี้ยประกันปีต่อไปของผู้เอาประกันรายเดิมในเดือน พ.ค. ยังค่อนข้างคงที่ โดยมีอัตราเพิ่ม 13.1% เทียบกับเดือน เม.ย. ที่เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 15.5%
กลุ่มบริษัทประกันที่มีธนาคารพาณิชย์ไทยถือหุ้น 8 บริษัทถือว่าได้รับผลกระทบมาก เพราะฐานธุรกิจใหม่ของบริษัทประกันในกลุ่มนี้กว่า 70% มาจากการขายผ่านช่องทางธนาคาร (Bancassurance) แต่เมื่อต้องปิดทำการชั่วคราวจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง จึงทำให้ปริมาณธุรกิจใหม่หดตัวมากกว่ากลุ่มบริษัทประกันอื่น โดยหดตัวลง 7.2% เทียบกับบริษัทที่เหลือที่หดตัวเพียง 5.4% อย่างไรก็ตามอัตราการจัดเก็บเบี้ยปีต่อไปของกลุ่มบริษัทที่มีธนาคารพาณิชย์ถือหุ้น ยังคงขยายตัวสูงมากถึง 29.6% สะท้อนถึงคุณภาพของผู้เอาประกันรายเดิม
ด้านการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตในช่วง 5 เดือนแรกของปี ยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น 14.9% แต่อยู่ในอัตราที่ช้าลงเมื่อเทียบกับช่วง 4 เดือนแรกที่ขยายตัว 17.3% ซึ่งการเติบโตของเบี้ยประกันในช่วง 5 เดือนแรกปีมาจากผู้เอาประกันรายใหม่เพิ่มขึ้น 10.1% และการส่งเบี้ยประกันปีต่อไปของผู้เอาประกันรายเดิมเพิ่มขึ้น 17.2% โดยที่กลุ่มบริษัทที่มีธนาคารพาณิชย์ถือหุ้น 8 บริษัท ยังคงมีอัตราเติบโต 29.9% ต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ชะลอลงจากที่เติบโต 49.5% ในเดือนเม.ย. 53 ขณะที่ภาพรวมบริษัทอื่นปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.5% จากที่หดตัว 3.4% ในเดือนก่อนหน้า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในช่วงครึ่งปีหลังธุรกิจประกันชีวิตจะสามารถรักษาการเติบโตของธุรกิจทั้งปี 2553 อยู่ที่ประมาณ 16-18% จากปีก่อนที่เติบโต 16.8% โดยมีปัจจัยหนุนจากแรงซื้อเพื่อความต้องการความคุ้มครองชีวิตที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงปัจจัยหนุนอื่นๆ ซึ่งน่าจะช่วยชดเชยผลกระทบจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่คงจะปรับขึ้นเพิ่มเติม ปัจจัยหนุนต่างๆ ดังกล่าว ได้แก่ ยังมีลูกค้าบางกลุ่มยังคงเห็นความสำคัญของการทำประกัน ไม่ว่าจะเป็นฐานลูกค้ารายใหม่ที่ไม่เคยทำประกันมาก่อน หรือแม้แต่ลูกค้ารายเดิมที่ต้องการซื้อประกันเพิ่มเพื่อครอบครัวหรือตามระดับรายได้ที่สูงขึ้น โดยเป็นสินค้าที่ให้ความคุ้มครองชีวิตและสุขภาพในวงเงินที่มากกว่าเงินออมที่นำส่งเป็นค่าเบี้ยประกัน นอกจากนี้หากกระทรวงการคลังอนุมัติการเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับผู้ซื้อในกลุ่มใหม่ ๆ เช่น ประกันสุขภาพและประกันชีวิตของผู้สูงอายุ จะช่วยเป็นแรงกระตุ้นการเติบโตของธุรกิจในระยะต่อไป
ในช่วงที่เหลือของปีนี้ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังน่าจะมีความต่อเนื่อง เมื่อความเสี่ยงทางการเมืองลดลง แม้จะมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก แต่ไม่ได้นำมาสู่ภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจจนถึงขั้นถดถอย คาดว่าเศรษฐกิจไทยก็ยังมีโอกาสเติบโตจากไตรมาสก่อนได้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงปรับเพิ่มประมาณการจีดีพีปี 2553 เป็น 4-6% จากเดิม 2.6-4.5% จากปี 2552 ที่หดตัว 2.3% ซึ่งอำนาจซื้อ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่น่าจะอยู่ในเกณฑ์ดีจะเป็นปัจจัยบวกต่อธุรกิจประกันชีวิต
สำหรับปัจจัยหนุนการเติบโตที่สำคัญของธุรกิจ เช่น ด้านฤดูกาล พบว่ายอดขายประกันมักเพิ่มสูงเป็นพิเศษในช่วงเดือนสุดท้ายของปี เพื่อรับสิทธิประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจ เป้าหมายในการเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมในระดับสูงของธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะในช่วงโค้งสุดท้ายของปี โดยเน้นการออกโครงการส่งเสริมการขายที่จูงใจระหว่างธนาคารพาณิชย์และบริษัทประกันพันธมิตร รวมถึงกลยุทธ์การขายข้ามและขายพ่วงผลิตภัณฑ์ต่างๆ
แม้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะยังคงมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มธุรกิจประกันชีวิตในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ก็ลดลงจากเดิม เนื่องจากให้น้ำหนักกับทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ที่ตอบสนองต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าคาดในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา และอาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีกในอนาคต โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้าย ส่งผลให้ประกันชีวิตลดความน่าดึงดูดใจลง รวมถึงการขายประกันผ่านช่องทางธนาคารหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ลูกค้าจะเปรียบเทียบผลตอบแทนระหว่างการทำประกัน การฝากเงิน และการลงทุนผ่านกองทุนรวม โดยผลตอบแทนจากการทำประกันแบบที่ขายผ่านธนาคารอยู่ที่ประมาณ 2-3% ต่ำกว่าแบบประกันชีวิตที่ขายผ่านช่องทางอื่น เนื่องจากมักเป็นการประกันระยะสั้นเพียง 10-15 ปี ขณะที่บางธนาคารเริ่มออกผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำพิเศษที่ให้ดอกเบี้ยสูงถึง 3% ส่วนกองทุนรวมต่างก็เร่งออกกองทุนใหม่ ๆ เพื่อชดเชยการไถ่ถอนหน่วยลงทุนที่ครบกำหนดในปีนี้ โดยประเมินอัตราผลตอบแทนที่คาดว่าผู้ลงทุนจะได้รับสำหรับกองทุนความเสี่ยงต่ำในอัตราไม่ต่ำกว่า 2-3%
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|