|
CSR เชิงรุก รีไซเคิลกล่องเครื่องดื่ม
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(2 สิงหาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ไมเคิล อี พอร์เตอร์ ปรมาจารย์ด้านกลยุทธ์การแข่งขัน เคยกล่าวถึงแนวทางซีเอสอาร์เชิงกลยุทธ์ (Strategie CSR) ซึ่งก็คือการปรับแผนยุทธศาสตร์ธุรกิจมาใช้ในมิติที่มีหลักการของความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
การพัฒนาความสามารถ หรือความ “เก่ง” ในกระบวนการทำธุรกิจ และด้วยจิตสำนึกที่ “ดี” ดังกล่าวก็เป็นการสร้างความแตกต่างอย่างโดดเด่น (Differentiation) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเป็นองค์ประกอบสำคัญของการจะเป็น “ผู้นำธุรกิจ”
ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ความจริงใจในการเลือกทำในเรื่องที่เป็น “คุณค่าร่วม” (Shared Value)ที่เป็นคุณกับธุรกิจ และมีค่าในสายตาของสังคม
กรณี เต็ดตรา แพ้ค บริษัทชั้นนำระดับโลกด้านกระบวนการผลิตและบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม เตรียมเปิดตัวกล่องยูเอชทีหรือบรรจุภัณฑ์แบบปลอดเชื้อ ที่ได้รับการรับรองติดฉลาก Forest Stewardship Council? (FSC)ที่ประเทศจีนในเดือนกรกฎาคม 2553
บรรจุภัณฑ์แบบปลอดเชื้อของเต็ดตรา แพ้ค ที่ติดฉลาก FSC จะจำหน่ายในประเทศจีนเป็นครั้งแรกและคาดว่าในปีนี้เฉพาะตลาดในประเทศจีนเพียงแห่งเดียว จะมีจำนวนสูงถึงสองพันล้านกล่อง และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มยอดจำหน่ายกล่องชนิดนี้ในประเทศจีนให้ได้ถึง 14,000 ล้านกล่องในปี 2554
นี่เป็นอีกก้าวหนึ่งของ เต็ดตรา แพ้ค ในการสนับสนุนการจัดการป่าไม้อย่างมีความรับผิดชอบ และดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องโดยวัตถุดิบต้นทางต้องมั่นใจว่าเป็นวัตถุดิบที่ได้มาจากแหล่งต้องผ่านการรับรองมาตรฐานสูงสุดที่กำหนดโดย FSC
นับตั้งแต่การเปิดตัวบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารเหลวที่ติดฉลาก FSC เป็นครั้งแรกในโลกที่ประเทศอังกฤษ เมื่อปี 2550 เต็ดตรา แพ้ค ได้ทยอยเปิดตัวบรรจุภัณฑ์ที่ติดฉลาก FSC ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยมียอดรวมกว่าสองหมื่นสามพันล้านกล่องในปี 2552
สำหรับในประเทศไทย เต็ดตรา แพ้ค ก็ได้ดำเนินกลยุทธ์กิจกรรมเพื่อสังคมที่เชื่อมโยงถึงการใช้ผลิตภัณฑ์ในเชิงบวก
เมื่อเร็วๆ นี้มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภา) ยามยาก สภากาชาดไทย ร่วมกับ บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ได้เปิดตัวโครงการ “หลังคาเขียวเพื่อมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก” เชิญชวนคนไทยทั่วประเทศร่วมกันเก็บกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วนำไปบริจาคที่จุดรับกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วที่บิ๊กซีทุกสาขาทั่วประเทศ
นับเป็นครั้งแรกของประเทศที่มีการนำกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วไปรีไซเคิลผลิตเป็น “แผ่นหลังคา” มอบให้กับมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภา) ยามยาก นำไปช่วยเหลือสำหรับการสร้างที่อยู่อาศัยให้ผู้ที่ประสบอุทกภัย โดยมีผู้ร่วมสนับสนุน ได้แก่ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และศูนย์รีไซเคิลกล่องเครื่องดื่ม ร่วมด้วย “อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม” ทูตประจำโครงการฯ เป็นแนวร่วมรณรงค์ให้เกิดการจัดเก็บคัดแยกกล่องเครื่องดื่มใช้แล้ว
รัสตี้ เคคูเอว่า กรรมการผู้จัดการ บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “บทบาทของเต็ดตรา แพ้ค ครอบคลุมทั้งการดำเนินกิจกรรมทั้งการรณรงค์ให้ความรู้และเกิดการปฏิบัติจริงในการจัดเก็บกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วอย่างถูกต้อง จัดกิจกรรมเดินสายในสถาบันศึกษา และหน่วยงานต่างๆ การติดตามผลและรายงานการจัดเก็บอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนกระบวนการผลิต “แผ่นหลังคา” เพื่อมอบให้กับมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภา) ยามยาก สภากาชาดไทย ทั้งนี้ บริษัทฯ มีแผนดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นระยะเวลา 3 ปี ระหว่างปี 2553 - 2555”
กล่องเครื่องดื่ม ใช้แล้วที่เก็บรวบรวมมาจะนำเข้ากระบวนการรีไซเคิล ผลิตแผ่นหลังคาโดยกล่องเครื่องดื่มใช้แล้ว 2,000 กล่อง สามารถนำไปผลิตเป็นแผ่นหลังคา 1 แผ่น ขนาด 2.40 x 0.90 เมตร โดยใช้เพียงกล่องเครื่องดื่มเท่านั้นเป็นวัตถุดิบ ไม่มีการใช้สารเคมีประกอบในกระบวนการผลิต ไม่แตกง่าย มีคุณสมบัติ ทนไฟ ไม่ดูดซับแสงแดด หรือความร้อน ช่วยประหยัดพลังงาน นอกจากนี้ กล่องเครื่องดื่มรีไซเคิล 1 ตัน ยังช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้ถึง 900 กิโลกรัม ช่วยประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บขยะประมาณ 4 ตารางเมตร”
ขณะที่ จริยา จิราธิวัฒน์ ผู้บริหารฝ่ายการตลาดและการสื่อสาร บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ บอกว่า “ปีนี้นับเป็นปีที่สามแล้ว ที่บิ๊กซีทำงานร่วมกับเต็ดตรา แพ้ค ในการรณรงค์การรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่ม จากการที่เป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เรามีความยินดีที่ได้ร่วมดำเนินโครงการหลังคาเขียวฯ ด้วยการสนับสนุนจุดรับกล่องเครื่องดื่มบริโภคแล้วในบิ๊กซีทั้ง 68 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งหลังจากการจัดเก็บจากผู้บริโภคทั่วประเทศ เราจะรวบรวมกล่องเครื่องดื่มทั้งหมดจัดส่งไปยังศูนย์กระจายสินค้าของบิ๊กซี ที่อำเภอวังน้อย จังหวัดอยุธยา เพื่อให้ไฟเบอร์พัฒน์มารับไปรีไซเคิลต่อไป น่ายินดีที่ได้เห็นการตอบรับอย่างดีจากลูกค้าของบิ๊กซี”
นอกจากนี้ บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด ยังต่อยอดนำ “เครื่องอัดกล่องเครื่องดื่มเพื่อชุมชน” ไปทดลองใช้จริงในพื้นที่โรงเรียนและชุมชนนำร่องในสองจังหวัด คือ สมุทรปราการ และ กาญจนบุรี พร้อมจัดกิจกรรมขยายผลในแต่ละท้องถิ่นให้มีการคัดแยกกล่องเครื่องดื่มอย่างเป็นระบบ และใช้ประโยชน์จากเครื่องอัดกล่องเครื่องดื่ม เพื่อลดปัญหาพื้นที่จัดเก็บ เกิดความยั่งยืนในการรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่มใช้แล้ว
กลอยตา ณ ถลาง ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เป็นจากผลงานที่ได้จากโครงการประกวดเครื่องอัดกล่องเครื่องดี่มเพื่อชุมชนในระดับอุดมศึกษาซึ่งได้จัดขึ้นในปี 2552 เพื่อให้การนำกล่องเครื่องดื่มที่บริโภคเสร็จแล้วกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยการลดปัญหาพื้นที่จัดเก็บ ลดต้นทุนในการจัดการ และประหยัดพลังงานในการขนส่ง
“โดยเฉลี่ยแล้วกล่องเครื่องดื่มที่บริโภคแล้วจำนวน 100 กล่อง จะมีน้ำหนักเพียงหนึ่งกิโลกรัม ซึ่งถ้าเราดื่มนมหรือ น้ำผลไม้ในกล่องเครื่องดื่มหมดแล้ว ไม่ได้บีบหรือพับแบน จะต้องใช้พื้นที่ในการจัดเก็บและขนส่งมากกว่าถึงห้าเท่าตัว เช่น รถบรรทุกหนึ่งคัน สามารถขนกล่องเปล่าที่ไม่มีการบีบหรือพับแบน ได้ในปริมาณสามตันต่อเที่ยว แต่หากมีการบีบอัด จะสามารถบรรทุกกล่องเครื่องดื่มได้ถึง 15 ตัน”
เต็ดตรา แพ้ค ได้ร่วมกับศูนย์รีไซเคิลกล่องเครื่องดื่ม บริษัทไฟเบอร์พัฒน์ จำกัด นำเครื่องอัดกล่องเครื่องดื่มเพื่อชุมชนติดตั้งและทดสอบการทำงานของเครื่องให้พร้อมสำหรับการใช้งานจริง และให้เกิดการพัฒนากระบวนการจัดการกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วอย่างเป็นระบบในพื้นที่โรงเรียนและชุมชนนำร่องในจังหวัดสมุทรปราการ และกาญจนบุรี
นอกจากนี้ยังได้จัดให้มีคณะทำงานรณรงค์ในพื้นที่ เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้งาน และดูแลรักษาเครื่อง ตลอดจนการตอกย้ำให้นักเรียนและประชาชนในพื้นที่จัดเก็บ และคัดแยกกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วให้เอื้อต่อการนำกล่องเหล่านั้นเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล
ข้อคิด...
เต็ดตรา แพ้ค (Tetra Pak) เป็นกิจการที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับกระบวนและบรรจุอาหาร ระดับผู้นำของโลก กล่องบรรจุอาหารและเครื่องดื่มที่พิมพ์ตราอะไรก็ตาม ส่วนใหญ่ก็ผลิตจากแหล่งนี้แหละ
การประกาศจุดยืนด้านความรับผิดชอบการดำเนินธุรกิจสู่ความยั่งยืนมีการใช้คำขวัญว่า “ปกป้องทุกคุณค่า” หรือ “Protects What's Good” ก็เพื่อยืนยันเป้าหมายการรักษาให้อาหารปลอดภัยและพร้อมสำหรับการบริโภคในทุกที่ ฐานะที่เป็นแหล่งใหญ่ในด้านบรรจุภัณฑ์ เมื่อมีความมุ่งมั่นในการแสวงหาและพัฒนาวัตถุดิบที่ปลอดเชื้อ เพื่อความปลอดภัยและสร้างประเพณีการรีไซเคิลแทนที่จะเป็นลดขยะแก่สังคม
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|