|
วันเดอร์เวิลด์... Small but Beautifulบนเส้นทางเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(1 สิงหาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
๐ เปิดประสบการณ์สร้างธุรกิจให้อยู่รอดและยั่งยืน
๐ จากคนตกงานกลายเป็นผู้ประกอบการรุ่นเก๋า
๐ เผยเคล็ด (ไม่) ลับบนเส้นทางธุรกิจที่แบ่งปันกันได้
๐ ใช้โอกาสผสานตัวตนก้าวผ่านวิกฤตได้อย่างลงตัว
ภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจได้อย่างมากมายในอันดับต้นๆ คือวิกฤตหรือการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ยากจะควบคุมหรือคาดการณ์ได้และนับวันจะเกิดมากขึ้น เพราะฉะนั้น ผู้ประกอบการที่สามารถเข้าใจและปรับตัวได้อย่างรวดเร็วเท่านั้น จึงจะนำพาองค์กรให้อยู่รอดและก้าวต่อไปได้ โดยที่เหนือมากกว่านั้น หากสามารถมองทะลุและเชื่อมโยงความแข็งแกร่งที่มีอยู่ให้เข้ากับโอกาสใหม่ ย่อมจะสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรได้อย่างน่ายินดี
๐ ก้าวไปเพื่ออนาคต
"คีย์เวิร์ดที่เราได้จากการเรียนรู้ธุรกิจตลอด 25 ปีที่ผ่านมา คิดว่าคำที่น่าจะเหมาะสมคือ การเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส" สุทธิชัย เอี่ยมเจริญยิ่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท วันเดอร์เวิลด์ โปรดักส์ จำกัด ผู้ผลิตของเล่นไม้เพื่อพัฒนาการของเด็ก ที่สร้างชื่อติดอันดับ 1 ใน 3 ของธุรกิจ สรุปถึงเส้นทางธุรกิจที่บุกเบิกและขับเคลื่อนมาตั้งแต่วันที่เริ่มต้นจนถึงวันนี้
เขาเล่าว่า บริษัทแรกที่ก่อตั้งขึ้น (บริษัท วันเดอร์เวิลด์ โปรดักส์ จำกัด) เนื่องจากหลังจากเรียนจบคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาสำรวจ ในปี 2525 แต่ไม่สามารถหางานทำได้ เป็นเพราะจังหวะนั้นอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจของไทยกำลังตกต่ำนั่นเอง เขาจึงหาทางออกให้ตัวเองด้วยการร่วมกับพี่ชายริเริ่มธุรกิจขึ้นมา และเลือกที่จะทำของเล่นไม้โดยเน้นการส่งออกเพราะในเวลานั้นเป็นช่วงขาขึ้นของธุรกิจนี้ ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีความรู้และประสบการณ์มาก่อน แต่ขวนขวายหาผู้รู้ในเรื่องการผลิตและลองผิดลองถูกในเรื่องการตลาด
จนกระทั่ง 3 ปีต่อมา เมื่อเขาพบว่าจุดอ่อนของธุรกิจของเล่นของไทยคือการไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับผู้เล่น โดยเฉพาะในตลาดส่งออกซึ่งมีความจำเป็นมากขึ้นเพราะในตลาดต่างประเทศมีการเรียกร้องมาตรฐานที่เพิ่มขึ้นทุกปี เขาจึงหันมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้เพื่อให้ธุรกิจของเล่นไม้ยืนอยู่ในธุรกิจนี้ได้ต่อไป และเป็นที่มาให้เขาตั้งบริษัทใหม่ (บริษัท นิชิเวิร์ล จำกัด) ซึ่งเป็นการร่วมมือกับบริษัทนิชิกังของญี่ปุ่น เพื่อนำเข้าและจัดจำหน่ายของเล่น
แต่เมื่อประเทศญี่ปุ่นเกิดวิกฤตเศรษฐกิจทำให้นิชิกังบริษัทที่ยึดถือวิธีคิดและทำแบบญี่ปุ่นยาวนานมากว่า 80 ปี ไม่สามารถปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของโลก จนต้องปิดตัวเองไป ทำให้เขาได้เรียนรู้และมุ่งสร้างธุรกิจที่พร้อมปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทันทั้งเพื่อให้รอดพ้นจากวิกฤตและมองหาโอกาสใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา นิชิเวิร์ลได้เป็นตัวแทนจำหน่ายของเล่นดังๆ เช่น ตุ๊กตาบาร์บี้ เป็นต้น จนกลายเป็นบริษัทผู้นำเข้าของเล่นรายใหญ่ในปัจจุบัน
"เรามองว่าของเล่นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็ก การมีของเล่นหลายแบบ เพราะคนมีความหลากหลายและเห็นว่าชีวิตไม่ได้มีด้านเดียว ของเล่นไม้ที่เราผลิตออกมาขายช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ส่วนตุ๊กตาบาร์บี้เป็นการสวมบทบาท หรือ Role Play เพื่อให้รู้ว่าสังคมมีคนแบบนั้นแบบนี้ แต่คนเล่นสามารถเลือกได้เองที่จะเป็นคนแบบไหน"
จากนั้นในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง เมื่อบริษัทนำเข้าต้องเผชิญกับปัญหาครั้งใหญ่จากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงอย่างมาก ขณะที่บริษัทจำนวนมากต้องปิดตัวลง แต่ที่นี่ คิดหาทางออกใหม่เพื่อให้พนักงานที่อยู่ด้วยกันมามีงานทำและมีรายได้คงเดิมต่อไป ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสในการขยายธุรกิจใหม่ ด้วยการขยับเข้าสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา (Educational Materials) ทั้งของเล่น อุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งหนังสือ แต่เพราะเห็นว่าหนังสือประกอบการเรียนที่มีอยู่ของสำนักพิมพ์ต่างๆ ไม่มีคุณภาพดีพอสำหรับเด็กไทย จึงก่อตั้งสำนักพิมพ์ปาเจราขึ้นเพื่อทำหนังสืออย่างที่ต้องการ กลายเป็นอีกโอกาสหนึ่งของธุรกิจ
ต่อมาเมื่อปัญหาโลกร้อนกำลังกลายเป็นวิกฤตการณ์ที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ การตัดสินใจขยายเข้าสู่ธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสิ่งแวดล้อม จึงเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ด้วยการเข้าสู่ธุรกิจจัดการของเสีย (waste management) คือธุรกิจการกำจัดขยะโดยสามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น เพราะมองว่านี่เป็นธุรกิจที่มีอนาคตอย่างมาก
๐ คิดแบบต่อยอด
สำหรับวิธีคิดในการเลือกทำธุรกิจของผู้นำมากประสบการณ์ ข้อแรกที่คิดคือ ควรจะทำธุรกิจที่ตนเองถนัด จะเห็นว่า 4 บริษัทที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการคิดแบบต่อยอดเชื่อมโยงกันได้ โดยในแง่ของกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นเด็ก เริ่มมาจากของเล่นเด็ก ต่อไปที่หนังสือสำหรับเด็ก หรือในแง่ของเครื่องเล่นสนามที่ทำให้กับลูกค้าที่เป็นเทศบาลต่างๆ จึงเป็นจุดเชื่อมโยงไปสู่ธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม ข้อที่สองคือ การมองโอกาสของธุรกิจนั้น และข้อที่สามคือ ธุรกิจที่ทำอยู่เดิมต้องสามารถเติบโตไปได้ด้วย โดยไม่ขัดแย้งกับธุรกิจใหม่
โดยมีหลักยึดหลังจากตกผลึกความคิดได้เมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเรียกว่า "ความเชื่อของวันเดอร์เวิลด์" คือเชื่อว่า "ถึงแม้จะเล็ก แต่สวยงาม" หรือ Small but Beautiful โดยนำมาใช้สร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรหรือธุรกิจทั้งหมดที่ทำอยู่ ด้วยการมองจากความจริงว่าภาพรวมธุรกิจของเล่นเป็นธุรกิจที่มีขนาดธุรกิจเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่นๆ แม้กระทั่งบริษัทขนาดใหญ่ในธุรกิจนี้ยังมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น
ความเชื่อซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่ใช้มาตลอด มี 3 เรื่อง คือ เรื่องแรก เชื่อว่าการประมาณตนอยู่เสมอว่าตัวเองเล็กแต่สวยงาม ทำให้องค์กรมุ่งไปที่หนทางซึ่งทำให้สามารถยืนหยัดอยู่ได้บนขาของตัวเอง เรื่องที่สอง เชื่อว่าการออกแบบและการสร้างแบรนด์ (design & branding) เป็นสิ่งสำคัญ เพราะ "การออกแบบที่ดี นำลูกค้าใหม่มาให้ และคุณภาพที่ดี ช่วยรักษาลูกค้าเดิมเอาไว้" จึงให้ความสำคัญกับการประกวดในเวทีใหญ่ๆ ระดับโลกเพื่อให้คนของเราตื่นตัวอยู่เสมอและเพิ่มการยอมรับจากตลาดมากขึ้น ทั้งในด้านไอเดียดีๆ และมาตรฐานระดับโลก เรื่องที่สาม เชื่อว่าที่นี่เป็นองค์กรที่ดี หมายถึงมีความฉลาดและมีวัฒนธรรม (smart & civilize) ด้วยการทำงานด้วยความฉลาด มีประสิทธิภาพ ทำให้บริษัทมีกำไร ขณะเดียวกัน ต้องคำนึงถึงการอยู่ร่วมกันอย่างมีอารยธรรม มีวัฒนธรรมที่ดีให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) อย่างยุติธรรม
อย่างไรก็ตาม เขามองว่า คนในองค์กรหรือทรัพยากรบุคคลเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้องค์กรหรือธุรกิจก้าวมาถึงวันนี้ ยิ่งการมีธุรกิจหลายอย่าง การมีคนที่สามารถคิดแทนและทำแทนได้เป็นสิ่งที่ดี โดยผู้บริหารและผู้นำไม่ต้องคิดให้ทุกเรื่อง เพราะการเป็นผู้บริหารที่อยู่ในบทบาทของผู้ชี้แนะและผู้กำกับได้มากเท่าไรยิ่งจะทำให้องค์กรแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น ในขณะที่ การสร้างคนที่ต้องมีควบคู่กันไปของผู้บริหารคือ ต้องรู้ว่าคนที่เลือกเข้ามานั้นมีศักยภาพ ต้องสามารถสื่อสารกันได้อย่างเข้าใจกันดี และสุดท้ายต้องสามารถให้ความยุติธรรมกับทุกคน จึงจะช่วยกันขับเคลื่อนองค์กรไปได้อย่างดี
แต่การก้าวพลาดเกิดขึ้นได้ เพราะตามปกติเมื่อทำงานไประยะหนึ่งแล้วรู้สึกสบายๆ คนทั่วไปจึงมักจะเอนหลัง และเมื่อปล่อยให้รู้สึกสบายนานเกินไป โอกาสที่จะเกิดวิกฤตย่อมมีได้ ตรงกันข้ามถ้าไม่เอนหลังนานวิกฤตที่จะเกิดย่อมจะเบากว่า แต่ไม่ว่าปัญหาจะใหญ่หรือเล็ก ต้องเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือบททดสอบที่สามารถเผชิญและก้าวข้ามผ่านไปได้
"ส่วนมากวิกฤตจะมีต้นทางมาจากความสำเร็จ เพราะทำให้เรานั่งสบายๆ เช็คและบาลานซ์น้อยลง หรือเรียกได้ว่าเป็นกับดักแห่งความสำเร็จ เพราะในช่วงที่สภาพแวดล้อมหรือปัจจัยภายนอกดี ทำอย่างไรก็มีกำไร เราอาจจะเอาเงินไปลงทุนในสิ่งไม่จำเป็นหรือพัฒนาไม่ถูกเรื่อง ไม่ตอบโจทย์ธุรกิจที่ทำ ซึ่งวิธีแก้คือ เมื่อผิดได้เรียนรู้แล้วก็ทำใหม่แก้ไขให้ถูก แต่สุดท้ายความผิดย่อมจะอยู่ที่ผู้บริหารหรือผู้นำ เมื่อเราร่วมตัดสินใจ เราโยนให้คนอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราต้องเรียนรู้และหาทางป้องกัน ซึ่งการวางระบบที่ดีและการทำตามหลักคิด เร็ว-ช้า-หนัก-เบา ของคุณเทียม โชควัฒนา ที่สร้างสหพัฒน์ฯ ให้อยู่มาถึงวันนี้ได้ เมื่อนำมาใช้บ้างจะช่วยให้การตัดสินใจและการขยับตัวโดยใช้จังหวะที่เหมาะสมได้ดีขึ้น"
๐ ผู้นำทันยุค
นอกจากให้ความสำคัญกับคนในองค์กรที่มีอยู่ทั้งหมดประมาณ 700 คน แบ่งเป็นพนักงานฝ่ายผลิตซึ่งอยู่ที่โรงงานประมาณ 500 คน กับพนักงานออฟฟิศประมาณ 200 คน อยู่ในองค์กรอย่างมีความสุข ยังให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ด้วย ในเรื่องความสุข เพราะคิดว่าไม่มีทางที่จะมีความสุขคนเดียวได้ ถ้าคนอื่นไม่มีความสุขด้วย จึงต้องทำให้คนที่อยู่รอบข้างหรือ stakeholder มีความสุขไปด้วย
สำหรับหลักคิดในเรื่องความสุข คืออะไรที่ทำแล้วไม่รบกวนคนอื่น ไม่ทำให้คนอื่นมีความทุกข์ ด้วยการ "คิดลึกและคิดกว้าง" สำหรับ "การคิดลึก" ในแง่ลูกค้า เมื่อสินค้าของบริษัทคือของเล่นก็ต้องคิดว่าจะออกแบบอย่างไร ผลิตอย่างไรให้ได้ของดีและราคาถูกลง เพื่อให้ลูกค้าได้ประโยชน์ ในแง่ของพนักงาน ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้บริษัทมีกำไรเพื่อจะมาแบ่งให้กัน ในแง่ของซัพพลายเออร์ คิดว่าจะทำอย่างไรให้ติดต่อธุรกิจระหว่างกันได้อย่างเป็นมิตร ไม่ถูกต่อว่า
ส่วน "การคิดกว้าง" เป็นการมองไปที่ชุมชนหรือสังคมว่า เมื่อเราอยู่ในสังคมนี้อย่างมีความสุข เราก็อยากจะทำให้สังคมนี้มีความสุขไปด้วย ด้วยการทำกิจกรรมเพื่อสังคม โดยคิดว่าเราอยากได้สังคมแบบไหน เราก็ทำอย่างนั้น และเมื่อความสุขของเราไม่ได้อยู่ที่การบริจาค เพราะคิดว่าเป็นกิจกรรมที่มีประสิทธิภาพน้อยที่สุด เราจึงเลือกทำกิจกรรมอื่น ที่ส่งผลดีต่อสังคมมากกว่า เช่น โครงการทรีพลัส (Tree Plus) ซึ่งมาจากความคิดว่าเมื่อตัดต้นไม้มา 1 ต้น จะให้ชาวสวนปลูกทดแทน 1 ต้น และจะมีการปลูกอีก 1 ต้น ในพื้นที่แถวสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ราชการเพื่อไม่ให้ใครไปตัด และเป็นการปลูกคืนป่า เพราะฉะนั้น ของเล่นทุกชิ้นที่ขายไปจะทำให้มีต้นไม้เพิ่มขึ้นในโลก
"เรามองว่า การจะอยู่ร่วมกับสังคมได้ดี การจะทำธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ต้องสามารถผสมผสานตัวเราเข้ากับสังคมได้ เพราะถ้าเราเติบโตไปคนเดียว โดยสังคมไม่ได้เติบโตไปกับเรา ธุรกิจอาจจะไปไม่รอด เพราะไม่ได้ใช้ธรรมาภิบาลควบคู่กับการดำเนินธุรกิจ"
นอกจากจะเป็นผู้บริหารในฐานะเจ้าของธุรกิจที่ต้องดูแลกิจการที่สร้างขึ้น ในอีกบทบาทหนึ่ง เขายังเป็นผู้นำองค์กรเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะเห็นความสำคัญในเรื่องความสุขของสังคมหรือจะเรียกว่าความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility) เขาจึงเน้นว่า อยากให้ผู้ประกอบการคิดถึงสิ่งที่ควรทำจะทำให้สิ่งที่ทำนั้นมีประสิทธิภาพสูงกว่า ในขณะที่ต้องใช้จ่ายเท่ากัน เพราะกิจกรรมทุกอย่างที่ทำมีต้นทุน และเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมไม่มีรูปแบบ (pattern) ตายตัวว่าต้องทำอะไร
โดยแนวความคิดเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมที่นำเข้าไปใส่ในสินค้าของวันเดอร์เวิลด์ เป็นของเล่นหรือเกมในกลุ่มที่เรียกว่า Eco Seris ออกแบบมาเพื่อให้เด็กๆ เกิดความตระหนักในเรื่องของการดูแลธรรมชาติ การลดภาวะโลกร้อน เช่น บ้านตุ๊กตา ซึ่งมีโซล่าร์เซล กังหันลม จักรยาน และถังขยะรีไซเคิล หรือเกมช่วยนกเพนกวินสร้างบ้านซึ่งเป็นก้อนน้ำแข็งที่พร้อมจะละลายถ้าช่วยไม่ได้ เป็นต้น
"มันเป็นศิลปะในการทำสิ่งที่เหมาะสมและถูกต้อง โดยไม่ต้องจ่ายเงินมาก แต่เป็นการรับผิดชอบต่อสังคมแล้ว เช่น การออกแบบที่ดีเพื่อให้ได้สินค้าที่ดี โดยไม่คิดเอาเปรียบผู้บริโภค หรือการคำนึงถึงคนที่ทำงานในบริษัทให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ถือเป็นความรับผิดชอบโดยตรง เป็นเนื้อแท้ของธุรกิจและเป็นสิ่งที่ต้องทำก่อนอย่างอื่น สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งเรื่องความรับผิดชอบและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ต้องคิดถึงการใช้เงินหรือการบริจาค ดีกว่าการทำตามๆ กัน เพื่อให้ผ่านการตรวจสอบเท่านั้น เพราะการจ่ายเงินไปแบบนั้นอาจจะไม่ได้อะไรกลับมาเลย" ผู้นำทันยุค กล่าวทิ้งท้าย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|