บ่อยครั้งที่การอภิปรายออกมาที่เกือบจะเป็นการโต้วาที เมื่อใดที่มีการอภิปรายทำนองนี้คนฟังมักจะเป็นฝ่ายสนุกสนานเฮฮา
แต่คนพูดไม่แน่ว่าจะสนุกไปด้วย ยิ่งคนพูดฝ่ายหนึ่งเป็นตัวแทนจากแบงก์ชาติ
กับอีกฝ่ายหนึ่งเป็นตัวแทนสมาคมธนาคารไทยและบริษัทเงินทุน เพราะหากเกิดมองหน้ากันไม่ติด
เรื่องจะยุ่งกันใหญ่ ก็โชคดีไปที่ลงเอยด้วยดีในตอนท้าย
นาน ๆ ครั้งหรืออาจจะยังไม่เห็นเลยก็ว่าได้ ที่จะพบการอภิปรายซึ่งมีตัวแทนที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อเรื่องอย่างเป็นทางการมานั่งเรียงหน้าพูดกันอย่างค่อนข้างเปิดอก
ด้วยลีลาประชดประเทียดเคล้าไปกับเนื้อหาที่มีสาระ เรียกเสียงฮาจากผู้ฟังแทบตลอดเวลาของช่วงการอภิปราย
หัวข้อเรื่องที่อภิปรายกันก็คือ “โฉมหน้าของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินภายใต้กฎหมายใหม่”
ที่อาศัยห้องประชุมตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นสังเวียน เมื่อวันที่
6 ธันวาคมเวลาบ่ายจัด ๆ
ผู้อภิปรายประกอบไปด้วยบรรยงค์ ล่ำซำ ประธานสมาคมธนาคารไทย สุนทร อรุณานนท์ชัย นายกสมาคมบริษัทเงินทุน และสมาคมสมาชิกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
เอกกมล คีรีวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบธนาคารพาณิชย์ และ ดร.ศุภชัย
พานิชภักดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน
อย่างที่บอกแต่แรกว่า ลีลาการอภิปรายของแต่ละท่าน ออกมาในท่วงทำนองประชดประเทียดโดยเฉพาะ
บรรยงค์ ล่ำซำ ขนาดท่านออกตัวว่าไม่ค่อยรับเชิญไปพูดที่ไหน แต่ลูกเล่นลูกฮาของท่านแพรวพราวระยิบระยับไปหมด
อย่าว่าแต่คนฟังหัวร่อกันปากไม่ได้หุบเลย คนที่ถูกหางเครื่องของท่านประธานสมาคมธนาคารไทยฟาดใส่คือสองผู้อำนวยการหนุ่มของแบงก์ชาติยัง
“ก๊าก” ออกมาบ่อย ๆ ที่หนักหน่อยก็ ธนดี โสภณศิริ ผู้ดำเนินการอภิปราย
เสียง “ก๊าก” ของท่านดังก้องกว่าใคร เพราะปากจ่ออยู่ที่ไมค์ซึ่งเปิดอยู่โดยที่เจ้าตัวไม่รู้
เพื่อให้ได้บรรยากาศในการอภิปรายใกล้เคียงกับความจริง “ผู้จัดการ”
เลยวงเล็บไว้หลังประโยคแต่ละประโยคที่เรียกเสียงฮาจากผู้ฟัง ใครอ่านแล้วไม่ฮาไม่เป็นไร
ติดต่อมาขอเทปไปฟังได้
และต้องออกตัวว่า เนื้อหาที่นำมาลงนี้เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น เนื่องด้วยตัวพระราชกำหนดจริง
ๆ มีการตีพิมพ์ลงตามหนังสือแนวธุรกิจหลายฉบับแล้ว แต่ขอรับรองว่า ที่เราตัดทอนมาลงนี้
สามารถสะท้อนความ “รู้สึก” ของทั้งฝ่ายเอกชนและทางการได้อย่างชัดเจน
บรรยงค์ ล่ำซำ
“สวัสดีครับท่านผู้มีเกียรติ ก่อนอื่นผมต้องขออภัยด้วยว่า ผมมาช้าไปหน่อย
และต้องขอสารภาพด้วยว่า ตามปติผมไม่ค่อยรับเชิญไปอภิปรายที่ไหน ปกติผมยึดหลักว่า
คนทำไม่ค่อยพูด (ฮา) คนพูดไม่ค่อยทำ (ฮา) จริง ๆ แล้ววันนี้ผมถูกผู้จัดการเขาล้อมกรอบให้มา
โดยผมเองไม่ทราบว่ามายังไง เข้าใจว่ามาเป็นผู้ฟังอภิปราย เอาเข้าจริง ๆ ผมกลายเป็นผู้อภิปรายไปเสียแล้ว”
"อีกอย่างหนึ่งผู้จัดก็เอาผมมาค่อนข้างจะฉุกเฉินนะครับ ยังกับการออกพระราชกำหนดฉบับนี้
(พ.ร.ก.แก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์) (ฮา) เมื่อมาถึงที่นี่ผมก็เห็นผู้เข้าร่วมอภิปรายกับผมก็เห็น
2 ท่านนี่คือ ท่านอาจารย์เอกกมลกับท่านอาจารย์ศุภชัยแล้ว ผมก็อดอกสั่นขวัญแขวนไม่ได้
(ฮา) เพราะท่านทั้งสองนี่เป็นผู้ชำนาญการอภิปรายค่อนข้างจะมาก ที่ท่านพูดเมื่อกี้ไม่ต้องมีโน้ตเลย
ไม่มีเสียงเอ้อ เสียงอ้า (ฮา)”
“นอกจากนั้นแล้วท่านยังเป็นผู้กำกับผมกับคุณสุนทร (อรุณานนท์ชัย)
อีกด้วย ผมก็ไม่ทราบว่าหลังจากกลับจากที่นี่ไปแล้วท่านจะปรับหรือจะจำผมอย่างไร
(ฮา) หรือท่านอาจจะไปสั่งท่านอธิบดีกรมตำรวจห้ามผมไปต่างประเทศ ผมก็อาจจะอดไปเที่ยวเมืองนอกกับเขาบ้าง
(ฮา) ก็เลยทำให้รู้สึกเป็นห่วง”
“ฉะนั้นวันนี้ถ้าผมจะพูดอะไรที่อาจจะเลอะเลือน ไม่เข้าท่า ไม่ถึงใจพระเดชพระคุณ ผมก็ต้องขออภัยด้วย
ก่อนที่จะอภิปรายผมขอเรียนว่า สิ่งใดที่ผมจะพูดต่อจากนี้ไปขอให้เป็นความเห็นส่วนตัวของผมก็แล้วกัน
ไม่ใช่เป็นความเห็นของสมาคมหรือสมาชิกของสมาคม เพราะการมาพูดครั้งนี้ผมก็ไม่ได้ไปขอหรือได้รับฉันทานุมัติจากมวลสมาชิกมาพูด
หลงมาพูด (ฮา) ว่ากันจริง ๆ แล้ว”
“หัวข้อที่ผู้จัดรายการอภิปรายบอกมาให้ ก็บอกว่า โฉมหน้าธนาคารพาณิชย์โฉมหน้าใหม่
ฟังดูแล้วผมก็รู้สึกเสียงไส้ คล้าย ๆ กับว่า กฎหมายฉบับนี้จะเป็นแพทย์ศัลยกรรมพลาสติกจะเปลี่ยนหน้าตาของพวกกระผม
ก็เป็นธรรมชาติอยู่ว่าคนที่จะถูกผ่าตัดนี่ต้องกลัวกันทุกคน”
“อาจารย์เอกกมลกับอาจารย์ศุภชัยนี่ตอนนี้ผมเข้าใจว่ากำลังลับมีดกันใหญ่เลย
(ฮา) จะทำการผ่าตัดผม (ฮา) และถ้าผ่าตัดไปแล้วหน้าตาของผมหล่อเหมือนท่านทั้งสอง
(ฮา) ผมก็ไม่ว่าอะไร กลัวแต่ว่าเมื่อผ่าตัดออกมาแล้วหน้าตาเหมือนผีดิบ (ฮา)
เหมือนแฟรงเกนสไตน์ ผมก็แย่”
“ผมอยากจะสรุปเสียเลยว่า เมื่อพระราชกำหนดฉบับนี้ออกมาแล้วเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมพาณิชย์มากกว่า
ผลที่จะกระทบต่อธนาคารพาณิชย์โดยตรง ผมว่าก็คงพอทนได้ ไม่ถึงกับเป็นอะไรหรอก
ผมว่ากฎหมายฉบับนี้ออกมาคงจะเปลี่ยนโฉมหน้าธนาคารแห่งประเทศไทย เสียมากกว่า
(ฮา)”
“สมัยเดิมหน้าตาท่านก็ยิ้มแย้มแจ่มใส พูดจากับผมดี พอกฎหมายฉบับนี้ออกมาแล้วหน้าตาของท่านอาจจะถมึงตึง
(ฮา) ถือแส้คอยดูผมก็ได้ (ฮา) แต่ผมเชื่อว่าในใจของท่านก็คงใจดีเหมือนเดิมหรอก
ไม่ลงโทษผมชุ่ย ๆ (ฮา) และหวังว่าเมื่อกฎหมายฉบับนี้ออกมาก็คงจะทำให้โฉมหน้าของธนาคารแห่งประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไป
และเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ขอบคุณครับ (ปรบมือ)”
เอกกมล คีรีวัฒน์
“….ศุภชัยเขาจะพูด แต่ผมขอพูดก่อน คือผมติดใจที่พูดว่ากฎหมายน่าจะออกมาใช้เฉพาะธนาคารพาณิชย์ที่มีปัญหา
ไม่ควรใช้บังคับทั่วไป กฎหมายฉบับนี้นะครับ ตราบใดที่ผมยังเป็นผู้อำนวยการฝ่ายนี้
ผมเชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายป้องกัน และอะไรที่เน่าไปแล้วมันแก้ไขลำบากยากเย็นเหลือเกิน
ผมไม่อยากจะบอกว่า การแก้ไขปัญหาของเอเชียทรัสต์มันลำบากยากเย็นแค่ไหน”
“กฎหมายฉบับนี้เราพิจารณาป้องกันไม่ให้สิ่งต่าง ๆที่ไม่ดีเกิดขึ้น
การป้องกันผมอยากจะเน้นกลับไปที่ท่านประธานสมาคมฯ ได้พูดไว้ อย่างเช่นเรื่องของมาตรการ
22 (5) ในเรื่องที่ว่าเราทำไมไม่มีอะไรชัดเจนในเรื่องการให้กู้ยืมแก่กลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง”
“ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่บางครั้งมันยากเหลือเกินในการที่จะกำหนดว่าอะไรแน่นอน
แต่สิ่งที่เราต้องใช้เสมอในการกำกับในการควบคุม ก็คืออะไรที่ชัดแจ้งว่าทำให้สถาบันนั้นมีปัญหาและเกิดปัญหา
ที่เรากำหนดไว้กว้างก็เพื่อเมื่อเราเห็นเราจะได้มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับธนาคารนั้นให้ชัดเจน
กฎหมายข้อนี้ชัดเจนเลยว่า เรียกมาเพื่อพูดคุยกันให้รู้เรื่อง ไม่งั้นพูดกันไม่รู้เรื่อง
ไม่ใช่อยู่ดี ๆ เรียกมาแล้วบอกว่าคุณทำผิดไปแล้ว”
“ในบรรทัดสุดท้ายนี่เขียนไว้ชัดว่า ให้มีอำนาจในการแก้ไข ถ้าเป็นสมัยที่ไม่มีกฎหมายฉบับนี้
ถ้าเผื่อว่าให้กู้เงินบริษัทในเครือไม่รู้กี่สิบแห่ง ตั้ง HOLDING COMPANY
ตั้งกลุ่มบริษัทไม่รู้กี่สิบบริษัท ไม่ผิดมาตรา 12, 13 เลย แล้วเราก็ห้าม ไปบอกว่า
คุณอย่าทำนะ เขาก็บอกว่า ครับ ผมไม่ทำ แล้วมีอะไรไหม (ฮา)”
สำหรับบางข้อผมก็เห็นใจ ในเรื่องความเป็นธรรมของกฎหมายฉบับนี้ เช่น การตัดหนี้สูญหรือการตัดสำรองอะไรนี่
เรามีปัญหาเสมอในทุกประเทศในเรื่องที่เราเรียกว่า TAX ACCOUNTING กับ FINANCIAL
ACCOUNTING มาตรา 15 เราเน้นในเรื่อง FINANCIAL ACCOUNTING การตัดสำรองหนี้สูญหรือหนี้สงสัยอะไรต่าง
ๆ เพื่อให้รายได้ถูกต้องตามฐานะของธนาคาร เราไม่ได้ไปโยงกับการเก็บภาษี ซึ่งคนมันอยากจะเก็บ
มันก็จะเก็บเสียอย่าง (ฮา) เพราะฉะนั้นไอ้นั่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ขอบอกตรง
ๆ (ฮา)”
“เมื่อเขาอยากเก็บเขาก็ไม่อยากให้ตัดหนี้สูญ ทางผมจะไปบอกว่า เพราะฉะนั้นไม่ต้องตัดหนี้สูญอย่างนี้
ก็ไม่ได้ เพราะว่า ถ้าแบงก์เป็นอะไรไป ผู้ที่เก็บภาษีไปเยอะ ๆ เขาก็ช่วยอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้น
เรื่องสองเรื่องนี้ต้องแยกจากกัน มันคงทำให้ความรู้สึกของนายธนาคารไม่ดี แต่เราต้องพยายามแยกให้ได้
TAX ACCOUNTING กับ FINANCIAL ACCOUNTING มันคนละเรื่องกัน ควรจะสัมพันธ์กันแต่ในเมื่อมันไม่สัมพันธ์กันก็ไม่รู้จะว่ายังไง
(ฮา)”
ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์
“ครับ รู้สึกว่าคุณเอกกมลตอบได้มันมากไปแล้ว คงไม่มีอะไรให้ผมพูดได้มันแบบนั้นอีกแล้ว
แต่ว่าอันนี้ร้อนตัวหรืออะไรไม่ทราบ ผมต้องขอชี้แจงสิ่งที่ท่านประธานสมาคมธนาคารไทยได้ว่าไว้สักนิด
ความจริงท่านพูดได้ดีมาก แต่ที่ท่านพูดว่าคนที่พูดมากทำน้อยนั้น ผมก็ขอออกตัวผมเหมือนกันว่า
บางคนไม่ทำอะไรเลย แล้วก็ไม่พูดก็มีเหมือนกัน (ฮา) บางคนพูดมากทำมากก็มี
(ฮา) ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าพวกเราอยู่ในลักษณะของพวกไหน”
บรรยงค์ ล่ำซำ
“ผมยังมีเรื่องที่อยากจะพูดอีกนิดหน่อย คือการออกพระราชกำหนดฉบับนี้ถ้าจะถามความรู้สึกของผมจริง
ๆ ผมรู้สึกว่าธนาคารแห่งประเทศไทยถูกผีหลอกมา (ฮา) แล้วท่านก็มานั่งเขียนยันต์กันใหญ่
ๆ (ฮา) แต่ไม่ค่อยจะถูกนักหรอกครับ ถ้าผีมาคุณสวดมนต์ (ฮา) แผ่ส่วนบุญให้เขาไป
(ฮา) อย่างนั้นก็คงได้ แต่ผมว่าเขียนมาด้วยความกลัว”
ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์
“อย่างเมื่อกี้ที่มีการว่าเรากลัวผีหลอก ความจริงเราไม่กลัวเท่าไหร่หรอก
เรากลัวคนหรอกมากกว่า (ฮา) ยิ่งนายธนาคารหลอกนี่เรากลัวจริง ๆ เรากลัวมาก
(ฮา)”
“เมื่อกี้ฟังคำถามจากท่านประธานสมาคมธนาคารไทย ก็รู้สึกไม่สบายใจนิดหนึ่งในเรื่องที่เกี่ยวกับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
คือหลักของกฎหมายทุกฉบับ กฎหมายคือกรอบ กฎหมายไม่ได้เขียนอย่างละเอียดว่ามีขึ้นมาแล้วจะเอาไปทำอะไรอย่างไร
แต่เมื่อมีกฎหมายมีกรอบขึ้นมาแล้วจึงจะมีประกาศเป็นกฎข้อบังคับอะไรอีกที”
“เพราะฉะนั้นอาจจะมีการบอกว่าไม่ชัดเจนก็เนื่องจากเป็นเพียงแม่บทขึ้นมาเพื่อที่จะมีการตั้งเป็นคณะกรรมการ
มีการตั้งทีมงานเพื่อบริหารแล้วเขาออกประกาศทุก ๆ เรื่องที่มีการถามกันทั้งหมด
เพราะฉะนั้นไม่น่าเป็นห่วงว่า กฎหมายไม่ชัดเจน ผมว่าในกรอบของกฎหมายนั้นชัดเจนมาก”
“ถ้าเผื่ออ่านกันดี ๆ ซึ่งอาจจะไม่ค่อยมีเวลาอ่านกันเท่าไหร่ ถึงได้ถามมาเมื่อกี้
(ฮา) กฎหมายข้อนี้ แจกไปนานแล้วนะครับ เป็นหน้าที่ของนายธนาคารหรือนักการเงินที่ดีต้องอ่านให้ชัดเจน
(ฮา) เพราะเขียนไว้ชัดเจนว่า ให้นำเงินส่งเข้ากองทุนตามอัตราที่คณะกรรมการกองทุนกำหนด
อันนี้ไม่ต้องถามก็ได้ว่าได้ดอกเบี้ยเท่าไหร่ นำส่งเงินเข้าหมายความว่า ไม่ได้ดอกเบี้ย
(ฮา) อยู่แล้ว ไม่ได้แน่นอน (ฮา) แล้วถามอีกว่า จะได้คืนเมื่อไหร่ ก็ไม่ได้คืนเหมือนกัน
(ฮา) เพราะฉะนั้นอันนี้ผมว่าต้องไปอ่านดูอีกที”
บรรยากาศการอภิปรายในช่วงหลัง ๆ ก็อย่างที่เราวงเล็บเป็นเสียงหัวเราะของผู้ฟัง
แต่ไม่ได้หมายความว่า จะเต็มไปด้วยความสนุกสนานบันเทิง ตรงข้ามกลับเป็นบรรยากาศที่กรุ่นไปด้วยความเครียด
บรรยากาศที่สะท้อนถึงความแตกต่างกันด้านความคิดระหว่างหน่วยราชการ กับภาคเอกชน
ที่ค่อนข้างจะแหลมคม
แต่ “ผู้จัดการ” ก็ต้องให้เครดิต ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อีกครั้งหนึ่ง
เพราะการพูดในรอบสุดท้ายไม่กี่นาที แทบทุกประโยคคือได้ว่าเป็นประโยคทองคำ
สามารถสลายบรรยากาศที่ผู้ฟังรู้สึกว่า เอกชนกับทางการต่างคนต่างคนมองปัญหาด้วยเดียว
พร้อมที่จะปะทะกันทุกเมื่อให้กลายเป็นบรรยากาศของการเริ่มต้นในการร่วมมือร่วมใจได้อย่างดียิ่ง
เรียกแบบสำนวนบู๊ลิ้มก็ต้องบอกว่า ใช้วาจามิกี่ประโยค “คลี่คลายศัตราวุธให้เป็นแพรพรรณ”
ดร.ศุภชัยพูดในรอบสุดท้ายอย่างนี้ครับ
“ผมขอเรียนอะไรสักสองสามคำที่เป็นความรู้สึกส่วนตัว ที่อาจจะไม่มีสาระอะไรที่เกี่ยวกับหัวข้อที่พูดกันในวันนี้
ผมอยากจะเรียนอย่างนี้ครับว่า โอกาสที่พวกเรา 5-6 คน แล้วเรามาถกกันทั้งข้อมูลของภาคเอกชนและทางการ
อย่างเปิดอกเต็มที่ตรงไปตรงมา เพื่อหาทางประสานความเห็นซึ่งกันและกัน โดยเปิดใจกว้างที่จะฟังความคิดเห็นของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นเรื่องที่หาได้ยาก
“เป็นโอกาสที่แสดงให้เห็นความหวังของบ้านเราในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นไม่มีที่ไหน
ไม่มีประเทศไทยที่มีการพบกันแบบนี้ ที่มีการพบกันอย่างเปิดเผยต่อหน้าสาธารณชนและพูดกันอย่างเต็มที่ในเรื่องที่มีการดำเนินการไปแล้วและเป็นเรื่องที่ค่อนข้างสำคัญ
ผมขอแสดงความชื่นชมจริง ๆ กับท่านประธานและนายกของสมาคมสำคัญทั้งสอง รวมทั้งคุณธนดีด้วย เพราะคุณธนดีก็คืออดีตนายกสมาคมไทยเงินทุนและหลักทรัพย์”
“ผมคิดว่านี่เป็นนิมิตหมายของบ้านเราว่า ท่านทั้งหลายที่เป็นผู้ใหญ่กว่าพวกเราได้ให้ความเห็นต่อปัญหา
และเราต้องพยายามแก้ไข พยายามมองปัญหาจากทุกด้าน แต่ถ้าหากความคิดไม่ได้มากระทบกันและไม่ได้พูดกันอย่างวันนี้
ผมคิดว่าเราก็จะมีแต่ความห่างไกลออกไป เหมือนกับประเทศอื่น ๆ ที่ห่างกันมาก”
“ของเรานั้นตรงกันข้าม ถึงแม้ว่าเราจะมีการทำอะไรแบบนี้ออกมา ผมเชื่อว่าต่อไปคงจะมีอีก
ไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งสุดท้าย และเมื่อมีแล้วเราไม่เคยว่างเว้นที่จะมาหารือกัน
ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ได้พูดกันมาก่อนนี้ เราก็คิดว่า บางเรื่องก็พูดไปแล้ว บางเรื่องก็เป็นความลับ
แต่ว่าเราจะไม่ว่างเว้น ไม่ละเลยที่จะมาหารือกัน เราให้ความสำคัญทุกอย่างของฝ่ายเอกชนและรัฐบาลเสมอมา”
“และสิ่งที่ฝ่ายเอกชนพูดมาทั้งหมดในวันนี้ ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่พูดมาแล้ว
เป็นคลื่นกระทบฝั่งเพราะหลาย ๆ อย่างที่เรายังไม่ได้ทำ เมื่อเรามีโอกาสครั้งหน้าเราก็จะหาทางทำให้ได้
เพราะในเรื่องการพัฒนาระบบให้เป็นไปในทางบวก ผมคิดว่าพวกเราทุกคนต้องการ”
“แต่ในบางจังหวะบางเวลา หัวเลี้ยวหัวต่อ TURNING POINT ที่เราต้องเจอกันในบางครั้งมันบีบบังคับเหมือนกันว่าเราต้องทำอะไรก่อน
ในบางเรื่องที่ท่านประธานสมาคมธนาคารและนายกสมาคมบริษัทเงินทุนเสนอมา ก็เป็นเรื่องที่เราคิดไว้อยู่แล้ว
ในบางเรื่องอาจจะทำการเขียน ทำการค้นคว้าไว้เรียบร้อยแล้ว เพียงแต่รอจังหวะ
รอการเห็นด้วยซึ่งกันและกันของหลาย ๆ ฝ่ายของทางการ ถึงจะเสนอเรื่องเข้าสภาหรือ
ครม. ได้”
คงไม่มีอะไรอีกสำหรับการอภิปรายครั้งนี้ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งไม่น่าจะนานเท่าไรนัก
จะเป็นคำตอบที่หลายคนสงสัยข้องใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเร่งรัดให้พระราชกำหนดแก้ไข
พ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์ ออกมาอย่างรวดเร็ว เหมือนกับเป็นลางบอกเหตุว่า ยังมีบางธนาคารพาณิชย์ที่มีปัญหามากจนสุดที่จะใช้กฎหมายฉบับเดิมบังคับใช้
หรือจะเป็นเรื่องการให้อำนาจอย่างเต็มที่แก่ธนาคารแห่งประเทศไทย ในการเข้าไปควบคุมการดำเนินงานของแบงก์พาณิชย์แทบทุกขั้นตอนนั้น
จะถูกใช้ในทางที่ผิดอย่างที่มีการติงไว้ล่วงหน้าหรือเปล่า ฯลฯ
ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ข้อมูลที่ “ผู้จัดการ” ได้มาจะใกล้เคียงแค่ไหน
ข้อมูลที่ว่าก็คือ การที่นายแบงก์ออกมาค้านกฎหมายฉบับนี้กันเหย็ง ๆ ไม่ใช่เพราะกลัว
จริง ๆ แล้วมันเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีที่ต้องถูกควบคุมโดยกฎหมาย ที่แทบจะเป็นลักษณะเดียวกันกับที่ใช้บังคับบริษัทเงินทุน
ที่ออกมาเมื่อปลายปี 2526
แบงก์ชาติก็ช่างกระไร ไม่รู้เลยหรือว่า นายธนาคารเขาแบ่ง “ชั้น”
แยกเกรดตัวเองกับผู้บริหารบริษัทเงินทุนมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ออกกฎหมายมาแบบนี้
ไม่ไว้หน้ากันนี่ (หว่า)