Refresh & Modernize IT

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

ในปี 2515 เครือซิเมนต์ไทยได้นำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการทำบัญชี อีกช่วงหนึ่งที่จเครือซิเมนต์ไทยเน้นเรื่องการจัดจำหน่าย ประมาณปี 2524-25 และมีการปรับปรุงครั้งใหญ่ที่มีการนำเรื่องระบบการจัดจำหน่าย นำคอมพิวเตอร์มาใช้ตามสำนักงานขายแทนพิมพ์ดีด เป็นเครื่องพีซีต่างคนต่างทำ

ในปี 2531 ได้มีการปรับครั้งใหญ่ โดยวางเป็นเครือข่ายเรียลไทม์ออนไลน์ทั่วประเทศ โดยเชื่อมถึง ลูกค้าด้วยเป็นครั้งแรก โดยลูกค้าสามารถเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วสั่งซื้อสินค้าโดยตรงได้ โดยคอมพิวเตอร์ก็จะเชื่อมต่อถึงโรงงาน สั่งซื้อ เช็กสต็อก และสำนักงานขายตามภูมิภาคต่างๆ ที่มีมากกว่า 50 แห่ง เพื่อจัดเก็บเงินค่าสินค้าด้วย โดยเปิดบริการถึงวันเสาร์ตั้งแต่เช้าจนถึง 4 ทุ่ม

ตอนนั้นใช้เครื่องเมนเฟรมขนาดใหญ่ไอบีเอ็ม แล้วสร้างและพัฒนาซอฟต์แวร์ด้วยทีมของเครือซิเมนต์ไทยเอง โดยเขียนโปรแกรมเองมาตั้งแต่เริ่มมีการนำพีซีเข้ามาใหม่ในปี 2524

โดยช่วงนั้นมีแนวคิดว่าจะทำให้การทำงานสั้นลง เพราะขั้นตอนการสั่งซื้อสินค้าค่อนข้างยุ่งยากและล่าช้า โดยให้ลูกค้าสั่งซื้อสินค้า ไม่ต้องเดินทางมายังสำนักงานขาย ซึ่งอาจจะมีเข้าคิวด้วยอีกต่อไป จึงนำคอมพิวเตอร์มาใช้

ซึ่งแต่เดิมลูกค้าสั่งซื้อสินค้าจะต้องมีเด็กถือเงินเข้ามา แล้วให้เจ้าหน้าที่เครือซิเมนต์ไทยออกตั๋วให้ หลังจากนั้นนำตั๋วไปรับสินค้าที่คลังสินค้าหรือโรงงาน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงนั้นมีโมเดลของ American Hospital Supplies ซึ่งเป็นบริษัทซัปพลายเออร์อุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ให้โรงพยาบาล โดยให้แพทย์สั่งซื้อสินค้าจากโรงงานโดยตรง ซึ่งเครือซิเมนต์ไทยได้ศึกษาเองและนำโมเดลนี้มาใช้ จากการศึกษาจาก Harvard Case study เท่านั้น เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งได้มีการพัฒนา และขยายเครือข่ายมาครบโดยตลอด โดยลูกค้าสามารถรับสินค้าได้ด้วย เครือซิเมนต์ไทยเชื่อมั่นตนเองตลอดมาว่า เป็นผู้นำทางด้านนี้มาโดยตลอด เพียงแต่ไม่ได้โฆษณาไปข้างนอก โดยมองว่าเป็นเรื่องภายใน ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา แนวคิดด้านการจัดการเปลี่ยนแปลงไป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะการติดต่อภายในยังระบบหนึ่ง ที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ทางด้านขายเป็นระบบหนึ่ง โรงงานเป็นระบบหนึ่ง แต่แนวคิดการจัดการสมัยใหม่ ต้องการเน้นประสิทธิภาพ เวลาลูกค้าสั่งของต้องได้ของและเตรียมของได้ทันด้วย ดังนั้นจึงต้องมีการปรับพื้นฐานโครงสร้างไอทีใหม่ เปลี่ยนรื้อจากเดิมที่เป็นระบบเมนเฟรมแล้วมีการใช้งานเป็นจุดๆ หรือเฉพาะจุดไป มาเป็นโปรแกรม ERP (Enterprise Resource Planning) ทำให้การเชื่อมต่อระหว่างต้นทางจนถึงปลายทาง (ผู้ผลิต) ใช้ข้อมูลชุดเดียวกันและเป็นเรียลไทม์ เพื่อให้การบริการลูกค้านับตั้งแต่สั่งซื้อของ ส่งของนั้นทุกคนจะมีข้อมูลชุดเดียวกัน ทำให้ไม่มีการทำงานแบบซ้ำซ้อน นับเป็นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที ทำให้ข้อมูลความต้องการของลูกค้าจนถึงการผลิตเชื่อมต่อกัน

ด้านหน้าร้าน จากการที่มีระบบของเราเองเฉพาะ ก็เปลี่ยนเป็น Webbase Application ทำงานในรูป E- Commerce เพื่อให้บริการร้านค้าที่จะสั่งซื้อสินค้า จากการที่เคยติดต่อสำนักงานขาย 50 แห่งที่ให้ลูกค้าเปลี่ยนใช้อินเทอร์เน็ต แล้วเพิ่มความสามารถด้านอินเทอร์เน็ตอย่างเต็มที่ เพิ่มความสามารถจาก Textmode มาเป็นGraphicmode หากลูกค้าต้องการข้อมูลต่างๆ ก็สามารถเรียกดูหน้าจอที่ร้านได้ ไม่ว่าจะเป็นตัวอย่างสินค้า สต็อกสินค้า การรับของ

ระบบนี้ได้เริ่มใช้อย่างจริงจังและครบถ้วนเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2543 ที่ผ่านมา

(โปรดพิจารณาภาพประกอบด้วย)

"นี่คือภาพที่สมบูรณ์ และเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในพื้นฐานของ E-business" เป็นการยอมรับทั่วไป ของคณะผู้บริหารเครือซิเมนต์ไทย รวมทั้ง Accenture ที่ปรึกษาสำคัญได้ให้คำปรึกษาธุรกิจการค้าอีกครั้งหนึ่งในราวต้นปี 2542 เพื่อลงลึกในรายละเอียดของการปรับองค์กร ก็สรุปเช่นนั้น ภาพที่เครือซิเมนต์ไทยและ Accenture มองตรงกัน เป็นภาพเริ่มต้นของภาพใหญ่ ซึ่งหมายถึงการปรับตัวอย่างยุทธศาสตร์ยังจะต้องดำเนินต่อไปอย่างเร่งรีบโดยใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ความเห็นร่วมกันนี้ จึงเป็นที่มาของการร่วมทุนตั้งบริษัทไอทีวัน เพื่อผลักดันให้ภาพตั้งต้นของภาพใหญ่ของ การเคลื่อนตัวจากธุรกิจดั้งเดิมเชื่อมประสานกับธุรกิจ New Economy ได้อย่างกลมกลืน ถือเป็นการปรับตัวทางยุทธศาสตร์ครั้งสำคัญทีเดียว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.