อินเตอร์เนชั่นแนล สปีดเวย์ ผู้ถกข้อเอาจริงกับธุรกิจในสนามแข่งรถ


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

ในวันที่ 11 และ 12 มกราคม 2529 ที่เพิ่งผ่านไป ได้มีการจัดการแข่งขันประลองความเร็วของรถยนต์นั่ง รถปิกอัพและรถจักรยานยนต์หลายรุ่นหลายประเภท ในชื่อของ “ไทยแลนด์กรัด์ปรีซ์ 86” ชิงแชมป์ประเทศไทยครั้งที่ 1 ที่สนามแข่งรถพัทยาเซอร์กิต

การแข่งขันครั้งนี้อาจจะถือได้ว่าเป็นการแข่งรถครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่มีการจัดการแข่งขันบนสนามแข่งรถทางเรียบ ที่ได้สร้างตามมาตรฐานของสนามแข่งระดับโลก ซึ่งใช้เงินลงทุนในการก่อสร้างทั้งหมดถึง 51,598,000 บาท ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและการบริหารที่ตกประมาณ 4 ล้านบาทต่อปี

กลุ่มนักธุรกิจที่ร่วมมือกันในการสร้างสนามแข่งรถระดับโลกในประเทศไทยแห่งนี้ ก็คือกลุ่มนักธุรกิจที่อยู่ในชื่อของ “บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนลสปีดเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด” ซึ่งมีพิทักษ์ ปราดเปรื่อง ทำหน้าที่เป็นกรรมการผู้จัดการ

ความคิดที่จะสร้างสนามแข่งรถระดับโลกหรือเรียกกันติดปากว่าสนามกรังด์ปรีซ์ในเมืองไทยมีมาตั้งแต่ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงทีพระองค์เจ้าพีระพงษ์ ภานุเดช ได้สร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติและชาวเอเชียในด้านกีฬาแข่งรถระดับโลก จนได้รับรางวัลติดต่อกันถึง 3 ปีซ้อน

ความตื่นตัวด้านกีฬาแข่งรถในสมัยนั้นพุ่งขึ้นสูงมาก จนกระทั่งคณะรัฐมนตรีที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณสำหรับสร้างสนามแข่งรถระดับโลก จำนวน 100,000 บาท (คงพอ ๆ กับ 100 ล้านบาทในสมัยนี้) แต่ยังไม่ทันได้ลงมือก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นเสียก่อน

หลังจากนั้นแม้จะมีการจัดการแข่งรถขึ้นในประเทศไทยหลายครั้งแต่ก็ไม่ได้ทำอย่างจริงจังต่อเนื่อง จนกระทั่งปี 2523 กลุ่มนิตยสารกรังด์ปรีซ์ที่มีปราจิน เอี่ยมลำเนา เป็นหัวเรือพร้อมกับเพื่อนฝูงที่รักและเข้าใจในกีฬาแข่งรถ ได้จัดการแข่งขันขึ้นที่สนามบินกองบินที่ 2 ลพบุรี ความสนใจในกีฬาแข่งรถก็กลับมาเป็นที่นิยมมากขึ้นอีกครั้งหนึ่ง จึงได้มีการจัดแข่งขันติดต่อกันเรื่อยมาจนกระทั่งปี 2528

แม้จะได้รับความนิยมโดยวัดจากประชาชนที่เข้าชมและจำนวนนักแข่งที่เพิ่มขึ้นทุกปี ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือการจัดการแข่งขันโดยใช้พื้นที่สนามบินเป็นสนามแข่งชั่วคราว จึงเป็นการเสี่ยงอันตรายต่อผู้เข้าแข่งขันอย่างมาก

แนวความคิดที่จะจัดสร้างสนามกีฬาสำหรับแข่งรถที่ได้มาตรฐานในประเทศไทยจึงเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และคราวนี้ไม่ใช่เป็นแต่เพียงความคิดหรือความฝันอีกต่อไปแล้ว

การพบปะพูดคุยกันหลายต่อหลายครั้งระหว่างบุคคล 3 คนคือ ปราจิน เอี่ยมลำเนา แห่งนิตยสารกรังด์ปรีซ์ พิทักษ์ ปราดเปรื่อง ผู้ที่สนใจและศึกษาธุรกิจการแข่งรถมาทั้งยุโรปและเอเชียและชนัฎ เรืองกฤตยา นักธุรกิจที่รักกีฬาแข่งรถเป็นชีวิตจิตใจ ก็ได้ข้อสรุปว่าโครงการสร้างสนามแข่งรถชั้นหนึ่งในประเทศไทยพร้อมแล้วที่จะเกิดขึ้น

ด้วยความร่วมมือร่วมใจกันกับพรรคพวกเพื่อนฝูงที่มีใจรักในเกมกีฬาประเภทเดียวกัน บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล สปีดเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้จดทะเบียนก่อตั้งบริษัทขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2527 โดยมีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 25 ล้านบาท

สนามแข่งรถพัทยาเซอร์กิตจึงถูกสร้างขึ้นบนพื้นที่ 326 ไร่ในเขตตำบลบ้านโป่ง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองพัทยาเพียง 15 กิโลเมตร

สนามแข่งรถแห่งนี้สร้างขึ้นภายใต้ข้อบังคับของสมาพันธ์รถยนต์โลก (FEDERATION INTERNATIONLEDE L' AUTOMOBILF) ซึ่งควบคุมทุกขั้นตอนของการดำเนินการอย่างใกล้ชิด โดยสมาพันธ์กีฬาแข่งรถยนต์ (FISA) ซึ่งตัวประธานคือ มร.จอห์น คอสมิท ได้เดินทางเข้ามาตรวจสอบถึง 2 ครั้ง เพื่อให้สนามพัทยาเซอร์กิตเป็นสนามแข่งรถที่ได้มาตรฐานสากลอย่างสมบูรณ์แบบและสวยงามที่สุดในเอเชีย

ขณะที่การก่อสร้างช่วงแรกได้เสร็จสิ้นไปแล้ว และตามหมายกำหนดการในปี 2530 การก่อสร้างทั้งหมดจะแล้วเสร็จโดยสมบูรณ์ และเมื่อนั้นการแข่งขันรถยนต์ระดับโลกไม่ว่าจะเป็นแบบฟอร์มมูลา 1-3 หรือรถแข่งทุกประเภทที่คนไทยเคยชมเฉพาะในสนามต่างประเทศ หรือจากที.วี., ภาพยนตร์ก็สามารถนั่งชมได้ในสนามแข่งเมืองไทยบ้านเรานี้เอง

สำหรับ “ผู้จัดการ” การสร้างสนามแข่งรถพัทยาเซอร์กิต เราไม่ได้มองว่าเป็นการลงทุนเพื่อตอบสนองความต้องการของนักกีฬาแข่งรถหรือผู้ชมที่นิยมกีฬาประเภทนี้เท่านั้น แต่ถือว่าเป็นการบุกเบิกธุรกิจแขนงใหม่ขึ้นในประเทศไทยอีกด้วย

ลำพังเงินลงทุนสร้างสนามแข่งขันกว่า 50 ล้านบาท ก็นับว่าเป็นการลงทุนที่สูงพอสมควร และยังจะต้องลงทุนในแต่ละครั้งที่จัดการแข่งขันประเภทต่าง ๆ ปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 6 ล้านบาท และยิ่งมีประเภทการแข่งขันมากขึ้นก็ยิ่งต้องใช้เงินเพิ่มขึ้นทุกปี

ค่าใช้จ่ายที่ว่านี้เริ่มตั้งแต่การทำประชาสัมพันธ์ เงินรางวัลนักแข่ง ค่าใช้จ่ายของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขัน ฯลฯ ดังจะเห็นได้ในประมาณการค่าใช้จ่ายที่จัดแยกออกเป็นรายปีดังต่อไปนี้

ด้วยค่าใช้จ่ายทั้งการลงทุนก่อสร้างสนามและค่าใช้จ่ายในการจัดการแข่งขันแต่ละครั้งสูงมาก ดังที่กล่าวไปแล้วหากจะตั้งเป้าหมายอยู่ที่กีฬาแข่งรถเพียงลำพัง ย่อมไม่สามารถที่จะอยู่ได้ บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนลสปีดเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงวางแผนทางด้านหารายได้อื่นมาสนับสนุน นอกเหนือไปจากรายได้ที่เก็บจากสมาชิกผู้เข้าแข่งขันและผู้ชมในการแข่งขันแต่ละนัด

รายได้อื่นที่ว่านี้ก็ได้แก่บรรดาแผ่นป้ายโฆษณา สปอนเซอร์ที่เข้าร่วมแข่งขัน ค่าจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม เปอร์เซ็นต์ในการขายของที่ระลึก การให้เช่าพื้นที่ตั้งทีมถาวร การให้เช่าสนามในการทดสอบ การให้เช่าสนามในการแข่งขัน

และในปีแรกของการจัดแข่งขันก็มีแนวโน้มที่ดี คือธุรกิจชั้นนำของประเทศไทยให้การสนับสนุนในด้านการโฆษณาอย่างคับคั่ง ในแทบทุกส่วนของสนามดังรายชื่อต่อไปนี้

และคาดว่าในปี 2529 นี้ จะมีรายรับจากรายได้ทุกประเภท ประมาณ 28.7 ล้านบาท และจะได้กำไรสุทธิ 3 ล้านบาท

ส่วนเป้าหมายที่วางไว้ในอีก 5 ปี ข้างหน้า หรือเมื่อสิ้นปี 2533 ว่าจะมีรายรับถึง 212.5 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 31.8 ล้านบาท ก็คงต้องอาศัยฝีมือของทีมงานบริหาร ความนิยมของผู้ชมและปัจจัยอื่น ๆ ที่เข้ามาเป็นตัวแปร ซึ่งเอาแค่สิ้นปีแรกของการเปิดดำเนินการก็คงพอมองออกว่าจะเป็นไปได้เพียงใด

ในวันนี้ความฝันของนักกีฬาแข่งรถและผู้ที่นิยมชมชอบกีฬาประเภทนี้สำเร็จลุล่วงไปอย่างหนึ่งแล้ว นั่นก็คือ การมีสนามแข่งขันที่ได้มาตรฐานทัดเทียมกับสนามแข่งระดับโลกในต่างประเทศ

ความฝันอีกประการหนึ่งที่คงต้องใช้เวลาอีกระยะที่นานพอสมควรก็คือ

วันที่ประเทศไทยจะมีวีรบุรุษใน TRACK รถแข่งระดับโลก อย่างพระองค์เจ้าพีระพงษ์ ภานุเดช หรือ “พ.พีระ” ของชาวไทย เช่นเมื่อ 50 ปีก่อน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.