ชฎา วัฒนศิริธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2528)



กลับสู่หน้าหลัก

การประกาศลดดอกเบี้ยครั้งนี้ค่อนข้างกะทันหันเกินไปหรือเปล่า

เดิมทางเราก็มีแนวคิดกันอยู่ว่า จะต้องลดในช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้ แล้วก็มีบางแบงก์ก็เตรียมตัวที่จะทำกัน และบังเอิญที่มีการพบปะกันระดับกรรมการบริหารของสมาคมธนาคารไทยกับแบงก์ชาติ ก็มีการคุยกันในเรื่องนี้ ถ้าจะพูดในแง่ของกะทันหันก็คงเป็นเรื่องจังหวะมากกว่า เพราะบังเอิญอาทิตย์ที่แล้วมีการประชุม กรอ. ซึ่งเวลาประชุม กรอ.ทุกฝ่ายก็อยากให้มีความสำเร็จด้านใดด้านหนึ่งออกมา

มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ภาครัฐบาลเขาก็อยากเห็น ภาคเอกชนก็ค่อนข้างคล้อยตาม ในเรื่องของการลดอัตราดอกเบี้ยกันอยู่แล้วก็ตกลงกัน ว่าจะมีการประกาศกันในที่ประชุมนั้น ก็คิดว่าไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นมากกว่านั้น เพราะก็ไม่ด้เป็นเรื่องที่ผิดแนวทางที่คิดกันไว้ แต่ว่าอาจจะเป็นไปได้ที่ทั้ง 16 แบงก์ไม่ได้คิดในแนวทางเดียวกัน อย่างที่พูดกันว่าลดดอกเบี้ยเงินกู้ 1 เปอร์เซ็นต์จะทำให้มีความต้องการให้กู้เพิ่มขึ้นเท่านั้นเท่านี้ล้านบาท

คืออย่างนี้ อาจจะเป็นเรื่องของการคิดโมเดลที่ใช้ว่า ผลกระทบที่มีต่อความต้องการเงินกู้เมื่อดูจากอัตราดอกเบี้ยเป็นอย่างนั้น แต่โมเดลแบบนี้บางทีมันต้องใช้ควบคู่ไปกับสภาพเศรษฐกิจในแต่ละขณะด้วย เท่าที่เรามองกันสำหรับไตรมาสที่ 3 โดยปกติมันจะเป็นไตรมาสที่ค่อนข้างเงียบอยู่แล้ว เงียบทั้งในแง่ของสินเชื่อและในแง่ของเงินฝาก ทุกคนเข้าพรรษากันหมด เพราะฉะนั้นความต้องการด้านสินเชื่อมักจะไม่ขยายตัวมากนัก

เราจึงคิดว่าอย่างน้อยในทันทีนี่เราคงไม่เห็นความต้องการด้านสินเชื่อมากนัก ประกอบกับในช่วงนี้เศรษฐกิจของโลก หรือของไทยมันก็ไม่ดีหรือน่าตื่นเต้นนักหนา โอกาสที่มันจะขยายหรือบูมคงไม่เกิดขึ้น และแม้แต่มีการลดดอกเบี้ยไปแล้วจนกระทั่ง 15.5 และ 17.5 เปอร์เซ็นต์ ว่าไปแล้วมันก็ยังสูง แต่เอาล่ะมันก็อยู่ในแนวทางที่ดีขึ้น

ดอกเบี้ยเงินฝากที่ลดเหลือ 11 เปอร์เซ็นต์เมื่อคิดภาษาดอกเบี้ยแล้วไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์จะกระทบต่อโครงสร้างเงินออมหรือไม่

คือเราต้องมองในแนวทางที่ว่า ถ้าเผื่อไม่เอามาฝากแบงก์แล้วมันมีโอกาสที่จะออมเงินไว้ที่ไหนบ้าง ถ้าฝากกับแบงก์ได้ 11 เปอร์เซ็นต์ หักภาษีแล้วตกประมาณ 9.625 เปอร์เซ็นต์ อันนี้ก็ต้องมาเปรียบเทียบกับสิ่งอื่น ที่เราอาจจะไปฝากได้ ถ้าเอาไปฝากกับพวกบริษัทเงินทุนช่วงนี้เขาก็มีหลายบริษัทที่ลดอัตราดอกเบี้ยของเขาลงมาแล้ว ก็ได้มากกว่าไม่เท่าไหร่

เมื่อดูพันธบัตรรัฐบาลเขาก็บอกว่าจะลดลงมาเหมือนกัน ถ้าลดเหลือประมาณ 11 เปอร์เซ็นต์โดยที่ไม่ต้องเสียภาษีและมีอายุไถ่ถอน 5 ปี ก็แล้วแต่ว่าผู้ออมจะเลือกทางไหน คือจะเลือกการออมที่ผลตอบแทนเยอะหน่อยแต่ผูกพันระยะยาวกับประเภทสั้นๆ แต่ผลกตอบแทนต่ำกว่านิดหน่อย และสมมุติว่าไม่ฝากกับแบงก์แล้วจะไปลงทุนทำอะไร จะไปสร้างคอนโด บ้านหรือห้องแถวมันจะเหมาะไหมสำหรับในปัจจุบัน

อย่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากขนาดนี้เราก็คิดว่าอาจจะไม่สามารถทำให้เงินฝากเพิ่มถึง 25 เปอร์เซ็นต์ทั้งระบบจากปีที่แล้ว แต่น่าจะยังคงเป็นไปได้ตามการเติบโตของเศรษฐกิจของไทยเรา งวดต่อไปนี่น่าจะได้ 7-8 เปอร์เซ็นต์ น่าจะได้ ทำไมสมาคมธนาคารไทยทำเรื่องลดอัตราดอกเบี้ยเองไม่ได้ ในเมื่อธนาคารชาติได้มีการคุมเรื่องสินทรัพย์เสี่ยงต่อเงินกองทุนอยู่แล้ว แบงก์ไหนระดมเงินเข้าไปมากโดยที่ปล่อยกู้ไม่ได้น่าจะถูกแบงก์ชาติลงโทษ

ถ้าเป็นเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินฝากคงไม่เกี่ยวกัน เหตุผลก็เพราะทางด้านเงินฝากนั้นถ้าเผื่อว่ายังคงขยายสินเชื่อได้ ซึ่งเกือบจะทุกแบงก์ตอนนี้ขยายสินเชื่อได้มันจะมีบางแบงก์ที่ติดมานานแล้วอย่างกรุงเทพฯ พาณิชย์การหรือกรุงไทย มีอยู่ไม่กี่แบงก์ที่ติด แบงก์อื่นๆ ยังอยู่ในสภาพที่ขยายสินเชื่อได้ทั้งนั้น

สิ่งที่อาจจะเป็นห่วงกันก็คือผู้ฝากเงินค่อนข้างจะคุ้นเคยกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงมานาน และยังหวังที่จะได้อัตราดอกเบี้ยที่สูง ถ้าเผื่อมีแบงก์ใดแบงก์หนึ่งเกิดจะลดโดยพลการ โดยไม่ชวนแบงก์อื่นมาร่วมด้วยต้องดูซิว่าทนไหวไหม ขนาดแบงก์ที่ใหญ่ที่สุดของเราเอง ซึ่งมีมาร์เกตแชร์ 30 เปอร์เซ็นต์ก็ยังไม่ไหวถ้า 70 เปอร์เซ็นต์เขาไม่ลดด้วย

ดังนั้นต้องหาเพื่อนมาพอสมควร ที่สำคัญก็คือลูกค้าด้านเงินฝากนั้นเป็นลูกค้าที่กระจัดกระจายเป็นจำนวนมาก และจะไปพูดกับเขาแต่ละคนให้เข้าใจนี่ยาก เพราะฉะนั้นการปฏิบัติของเราจึงต้องค่อนข้างมีมาตรฐานมากกว่าด้านสินเชื่อ ซึ่งมีลักษณะเป็นรายต่อรายมากกว่า

แบงก์ชาติมีสิทธิประโยชน์อยู่ 2-3 เรื่องด้วยกันที่เขาสามารถให้ได้กับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยจะพิจารณาในเรื่องความดีความชอบของสาขานั้นๆ ที่มันพอจะเห็นเป็นรูปธรรมได้ก็มีข้อแรกวงเงินกู้ในลักษณะการรับช่วงซื้อลด เงินกู้ 7 เปอร์เซ็นต์ 8 เปอร์เซ็นต์ ตัวนี้มันเป็นตัวให้คุณให้โทษกับแบงก์ได้เยอะ เพราะแบงก์ใดที่สามารถได้เงินกู้ที่มีต้นทุนต่ำเช่นนั้นก็สามารถปล่อยกู้ต่อในอัตราต่ำเช่นเดียวกัน ตนก็จะได้ธุรกิจเพิ่มขึ้นในจำนวนเท่านั้น

ข้อที่ 2 ก็ในแง่ของการเปิดสาขาซึ่งรวมไปถึงความสามารถที่จะตั้งตู้เอทีเอ็มที่นั่นที่นี่ด้วย ทั้งหมดเป็นเรื่องของจุดในการให้บริการลูกค้า แบงก์ใดสามารถได้จุดบริการเพิ่มขึ้นก็ย่อมสามารถจะเป็นที่พออกพอใจของลูกค้ายิ่งขึ้น เท่าที่เห็นก็มีอยู่สองสามอย่างนี่แหละที่แบงก์ชาติพอจะให้คุณให้โทษแก่ชาวบ้านได้

อย่างอื่นมันไม่เป็นรูปธรรมเท่า เช่น มาพูดว่าแบงก์ใดแบงก์หนึ่งว่าแหมเขาปฏิบัติตามนโยบายของทางการอย่างเคร่งครัดอย่างนั้นอย่างนี้ พูดไปแล้วทุกแบงก์จำต้องปฏิบัติตามนโยบายของแบงก์ชาติถึงแม้ว่าจะอัดอั้นตันใจสักแค่ไหน จริงๆ แล้วก็ต้องทำ มันไม่มีใครแหกคอกได้มาก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.