|
จับตา 'ไปรษณีย์ไทย' รุกหนักโลจิสติกส์แข่งเอกชน
ASTVผู้จัดการรายสัปดาห์(23 กรกฎาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
หลังจากอินเทอร์เน็ตกลายเป็นปัจจัยที่ 6 สำหรับคนยุค 2010 ไม่เพียงแต่ทำให้สินค้าบางตัวต้องตายไปจากตลาด แม้แต่บริการบางตัวก็ต้องตายจากตลาดไปตามๆ กัน ธุรกิจบริการไปรษณีย์ คือหนึ่งในธุรกิจบริการที่เห็นกันได้อย่างชัดเจนว่าปริมาณการใช้บริการลดลง
มาวันนี้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท.) คงจะทำหน้าที่แค่ขนส่งจดหมายในธุรกิจสื่อสารเหมือนกับในอดีตไม่ได้แล้ว การแตกไลน์ธุรกิจของไปรษณีย์ไทยมาในด้านโลจิสติกส์ จึงเป็นอีกทางเลือกที่ไปรษณีย์ไทยต้องหันมาให้ความสำคัญ การลุกขึ้นมาอัปเกรดให้ไปรษณีย์ไทยกลายเป็นหน่วยงานระดับชาติที่มีบทบาทด้านการขนส่ง และสนับสนุนด้านการค้าระหว่างประเทศของคนไทยโดยแท้ ไม่ใช่เกิดขึ้นเพียงปีสองปีนี้ แต่เกิดขึ้นมาได้ 7 ปีแล้ว
หลังจากไปรษณีย์ไทยแปรรูปจากรัฐวิสาหกิจมาทำธุรกิจแบบเอกชนเต็มตัว ทำให้ต้องหาจุดแข็งมาเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ โดยสวมบทเป็น 'ซูเปอร์ เซอร์วิส' คือ ให้บริการชำระเงิน หรือแม้แต่การผนึกพันธมิตรต่างธุรกิจกว่า 40 แห่งเพื่อหานวัตกรรมเซอร์วิสใหม่ๆ เข้ามาเสริมเพื่อเลี้ยงตัวเองให้อยู่รอด ทำให้ซูเปอร์ เซอร์วิส กลายเป็นหัวใจสำคัญของไปรษณีย์ไทย
หรือแม้กระทั่งบริการจัดส่งและกระจายสิ่งของ สินค้า หรือโลจิสติกส์ ซึ่งจะกระจายสินค้าให้กับผู้ประกอบการได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่ไดเรกต์เมลส่งลูกค้า บริการแวร์เฮาส์ เพื่อจัดเก็บสินค้า นำส่งถึงบ้าน จนถึงส่งบิลเรียกเก็บเงิน ไม่เว้นแม้แต่บริการเพื่อส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี ตั้งแต่การสั่งซื้อ จัดส่งสินค้า ชำระเงิน เพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถกระจายสินค้าในวงกว้าง และคุมต้นทุนขนส่งให้สอดคล้องกับขนาดธุรกิจ โดยเริ่มนำร่องกับสินค้ากลุ่มอาหารภายใต้ชื่อ 'อร่อยทั่วไทยสั่งได้ที่ไปรษณีย์'
โดยกลยุทธ์นี้อาศัยความชำนาญของพนักงานนำจ่ายทั้งหมด 8,000 คน และความผูกพันใกล้ชิดในทุกชุมชน ทำให้รู้จักแหล่งอร่อยของดี และมีรถขนส่งไปรษณีย์ที่วิ่งไปทุกพื้นที่ ทุกวันทั่วไป จึงสามารถรองรับความสดใหม่ของอาหาร และให้ความสะดวกกับลูกค้าที่สั่งซื้อของกินผ่านทางไปรษณีย์ จะสั่งผ่านที่ทำการ หรือ Call Center ก็ได้
ล่าสุดไปรษณีย์ไทยยังได้สานต่อโครงการนี้ ด้วยการเปิดให้บริการลำไยดิลิเวอรี่ โดยพลิกบทบาทพนักงานนำจ่ายให้เป็นคนขายลำไย หวังเป็นโครงการนำร่องเรื่องการขนส่งเพื่อสนับสนุนเกษตรกรในการระบายผลผลิตการเกษตรโดยเฉพาะผลไม้ตามฤดูกาล ซึ่งผู้บริโภคก็จะได้ผลไม้ที่สดใหม่ส่งตรงจากผู้ผลิตในราคายุติธรรม หลังจากปีที่ผ่านมาเคยขนส่งลิ้นจี่ และลองกองมาแล้ว ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
ที่สำคัญโครงการนี้ยังเป็นบทพิสูจน์ที่สำคัญถึงศักยภาพของไปรษณีย์ไทยในการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายขนส่งที่มีประสิทธิภาพมาตอบสนองความต้องการของเกษตรกรและผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี โดยระยะแรกจะให้บริการ 52 ปณ.ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียงรวม 25 จังหวัด
นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับที่ ศิวะ แสงมณี ประธานกรรมการ ไปรษณีย์ไทย เคยกล่าวไว้เมื่อต้นปีว่า ปีนี้เป็นปีที่ไปรษณีย์ไทยจะวางกลยุทธ์ธุรกิจของตัวเองให้เน้นการให้บริการด้านโลจิสติกส์เป็นหลัก โดยจะขนส่งสิ่งของทุกขนาดพร้อมกับนำเทคโนโลยีไอทีมาช่วยในการบริการธุรกิจสื่อสาร และยังเป็นการประหยัดทรัพยากรบุคลากร เพราะใช้บุคลากรน้อยลงจากเดิม
โดยผลไม้ที่จัดส่งจะเป็นผลไม้ที่ไม่ต้องใช้ห้องเย็นในการขนส่ง แต่ในอนาคต ไปรษณีย์ไทยก็มีแผนที่จะขยายธุรกิจขนส่งที่ต้องใช้ห้องเย็น เช่น ผัก หรือผลไม้ที่ต้องเก็บในห้องเย็น แต่ต้องรอรัฐบาลอนุมัติงบ 150 ล้านบาทก่อนเพื่อสร้างห้องเย็นสำหรับขนส่ง อีกทั้งไปรษณีย์ไทยยังแตกไลน์ธุรกิจรับขนส่งข้อสอบสำหรับมหาวิทยาลัยที่มีวิทยาเขตอยู่ต่างจังหวัด และกำลังมองว่าจะเปิดให้บริการขนส่งยาสำหรับผู้ป่วย เนื่องจากโรงพยาบาลรัฐต้องใช้เวลาในการรอยานาน จึงให้บริการขนส่งยาไปถึงบ้านผู้ป่วย นำร่องโดยโรงพยาบาลรามาก่อน หากประสบความสำเร็จก็จะขยายไปโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยจะให้บริการแบบ Door to Door (บริการถึงประตูบ้าน) ซึ่งเป็นจุดเด่นของไปรษณีย์ที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดี
เมื่อไปรษณีย์ไทยใช้ความสะดวกสบายที่มีอยู่เกือบทุกซอกมุมของไทย เป็นปัจจัยที่ใช้ในการแข่งขันในธุรกิจโลจิสติกส์เอกชนที่ให้บริการด้านนี้ก็ต้องเข้าถึงความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภคเช่นกัน ล่าสุด ดีเอชแอล เอ็กซ์เพรส ได้เปิดดีเอชแอล เซอร์วิส พ้อยท์ ที่ตลาดนัดจตุจักร เป็นสาขาที่ 3 หลังจากเปิดที่โครงการ 26 และสาขา 2 ที่จตุจักรพลาซ่า โซนเอ ตั้งเป้าเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ พร้อมเสริมบริการดีเอชแอล เอ็กซ์เพรส ฟอร์ยู เพื่อลดความซับซ้อนในการคิดอัตราค่าบริการแบ่งเป็นโซนด้วยอัตราเดียว ที่สำคัญการรุกเข้าจตุจักรยังเป็นการสานต่อนโยบายที่ต้องการเป็นเพื่อนคู่ใจกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ใช้บริการขนส่งสินค้าดีเอชแอลอย่างสม่ำเสมอ
โดยจุดเด่นของดีเอชแอล คือ บริการแบบ Door to Door มีการปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในบริการเสมอ ยังมีการนำเสนอโซลูชั่นที่เหมาะกับความต้องการของลูกค้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบริการอย่างต่อเนื่อง ทำให้ดีเอชแอล คือคู่แข่งคนสำคัญที่ไปรษณีย์ไทยต้องหาวิธีรับมือ
แต่ใช่ว่าดีเอชแอลเพียงรายเดียวที่เริ่มรุกการเหมาจ่าย แม้แต่ไปรษณีย์ไทยเองก็ยังเปิดตัวบริการใหม่ 'TRAVEL LITE' ซึ่งเป็นการจัดส่งสัมภาระให้นักท่องเที่ยวถึงที่หมายทั่วประเทศ พร้อม 'กล่องเหมาจ่าย' (One Price Box) เพื่อให้บริการส่งของฝากจากแหล่งท่องเที่ยวไม่จำกัดน้ำหนักโดยคิดราคาเดียว ซึ่งเปิดให้บริการได้ 1 เดือนแล้ว
มาดูกันที่คู่แข่งอีกราย คือ ทีเอ็นที เอ็กซ์เพรส เวิลด์ไวด์ ประเทศไทย ที่ปีนี้จะเน้นการดำเนินงาน คือ เน้นการขนส่งจากประเทศไทยไปยุโรปและจีน และการขนส่งในเส้นเอเชีย ทั้งให้บริการทางบกและอากาศ แม้ว่าเศรษฐกิจปัจจุบันจะไม่ดี แต่สำหรับทีเอ็นทีแล้วไม่ใช่ปัญหา เพราะบริษัทมีฐานลูกค้าประจำที่ใช้บริการอยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังมีการขยายเรื่อง Network ให้มากขึ้น โดยได้ปรับปรุงคลังสินค้าขยายเพิ่มเติม รวมทั้งมีการเพิ่มจำนวนรถและบุคลากร เพื่อเตรียมคนให้พร้อม หากเศรษฐกิจดีขึ้นคนก็พร้อมจะรับมือ
ทั้งหมดนี้ คือกลยุทธ์การแข่งขันของธุรกิจผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในประเทศไทย ซึ่งไปรษณีย์ไทยแม้จะเข้าสู่ธุรกิจนี้หลังคู่แข่งรายอื่นๆ แต่นับว่าไม่ยอมแพ้ พยายามลอนช์โปรดักส์ใหม่ๆ ออกมาเอาใจคนไทยมากขึ้น เชื่อว่าจากนี้ไปหากไปรษณีย์ไทยยังให้ความสำคัญกับการขยายไลน์โปรดักส์มากขึ้น คงมีวันที่ไปรษณีย์ไทยจะก้าวขึ้นแท่นเบอร์หนึ่งธุรกิจโลจิสติกส์ได้อย่างแน่นอน
อัพเดดล่าสุด 7/23/2010 2:41:44 PM โดย Chaotip Kleekhaew
หมายเหตุ เส้นแบ่งข่าว หมายถึง ข่าวถูกแบ่งเป็นหน้า ๆ
keyword :
Close
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|