|
‘อย่าทำเพื่อเงิน แต่จงทำเพื่อความสุข’เช็ค-สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ
ASTVผู้จัดการรายสัปดาห์(23 กรกฎาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
คอลัมน์ : A Man With A View
อีเมล์ : teelao1979@hotmail.com
ยืนหยัดอยู่บนถนนของคนทำสารคดีมาตั้งแต่ยุคที่คำว่า Documentary หรือ “สารคดี” ยังเป็นคำแปลกปลอมในวงการฟรีทีวีบ้านเรา จนกระทั่งถึงตอนนี้ เวลาผ่านไปร่วม 10 ปี เป็น 10 ปีที่คำว่า “สารคดี” ได้ตอกเสาเข็มค่อนข้างฝังลึกและมั่นคงสำหรับแวดวงทีวีไทย ซึ่งเห็นได้เด่นชัดว่า ณ เวลานี้ ฟรีทีวีบ้านเราทุกช่อง ต่างก็ต้องเจียดเวลาให้กับ “รายการสารคดี” ที่ทำโดยคนไทย ไม่ใช่เอามาจากต่างประเทศ...กันอย่างเป็นกิจจะลักษณะ
แน่นอน ด้วยผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ไม่มากก็น้อย เราสามารถพูดได้ว่า ส่วนหนึ่งนั้นเป็นผลพวงมาจากผู้ชายหน้าตาเข้มๆ คนนี้ “เช็ค-สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ” ผู้ปลุกปั้นรายการ “คนค้นฅน” ขึ้นมาเมื่อราวสิบปีก่อน ภายใต้ชายคาของทีวีบูรพา และสร้างกระแสความสนใจ เรียกให้คนดูทีวีหันมาดูสารคดีกันแบบเป็นปรากฏการณ์...แม้คนที่ไม่เคยคิดจะดูฟรีทีวีเลย ก็ยังอดไม่ได้ที่จะกดรีโมตไปดูรายการดังกล่าว
9 ปีกว่าๆ ผ่านพ้นไป จากจุดเริ่มต้นกับ “คนค้นฅน” ณ ตอนนี้ ทีวีบูรพาจัดได้ว่าเป็นเจ้าใหญ่ที่ยืนอยู่แถวหน้าของนักผลิตรายการสารคดีบ้านเราไปแล้วแบบหาตัวจับยาก ขณะที่ก็มีรายการอยู่ในสังกัดหลากหลายรายการ เช่น “กบนอกกะลา”, “คิดข้ามเมฆ”, “จุดเปลี่ยน” ฯลฯ
“สิ่งที่เราให้ความสำคัญ ไม่ใช่เรื่องเรตติ้งหรือรายได้” หนึ่งในหัวเรือใหญ่แห่งค่ายทีวีบูรพา ผู้สวมหมวกเสมอๆ ไม่ว่ากลางวันกลางคืน จนกลายเป็นเอกลักษณ์ แย้มยิ้มเล็กน้อยผ่านวงหน้าเข้มๆ
“แต่เราดูที่ผลลัพธ์ซึ่งจะเกิดขึ้นกับสังคม รายการของเรา บางที ผมว่ามันก็เหมือนกับมะระนั่นล่ะครับ มันไม่อร่อยหรอก มันขม แต่มันเป็นยานะ ข้าวบางชนิดนี่ มันปลูกแล้วได้ผลผลิตน้อย แต่คุณค่าสารอาหารสูงมากเลย มีภูมิต้านทานต่อโรคต่อแมลง”
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ชั่วโมงนี้ รายการสารคดีจะไม่ใช่ “สินค้าแปลกปลอม” ในจอแก้วอีกต่อไปแล้ว แต่ทว่าถ้าพูดกันจริงๆ เมื่อเทียบสัดส่วนกับพวกรายการบันเทิงเริงรมย์อื่นๆ อย่างละครหรือเกมโชว์อะไรต่างๆ แล้ว เรียกได้ว่าสารคดีอาจจะยังอยู่แค่ในยุค “ตั้งไข่ได้” เท่านั้นเอง
“ผมว่ามันก็ไปของมันได้เรื่อยๆ นะ แล้วมันก็มีทางไปของมันได้เสมอ แล้วนับวันผมเชื่อว่ามันจะต้องยิ่งมากขึ้น เพราะผู้บริโภคยิ่งฉลาดขึ้น ไม่ได้โง่ขึ้น แล้วที่สำคัญ ตัวของสื่อก็เริ่มที่จะมีเซกเมนต์ของมันเยอะขึ้น โทรทัศน์ดาวเทียมมีเป็นร้อยช่อง บางช่องขายเพชรอย่างเดียว บางช่องลูกทุ่งอย่างเดียว โอกาสในการเข้าถึงของคนก็มากขึ้น แล้วไม่ต้องมานั่งดูหน้าจออย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังสามารถดูคอนเทนต์ผ่านนวัตกรรมอย่างอื่นได้ เพราะฉะนั้น สุดท้ายแล้ว เราต้องมานั่งคิดว่า เราทำของขายใคร เราขายถูกกลุ่มหรือเปล่า”
แต่ชีวิตไม่ได้มีแค่มุมซื้อๆ ขายๆ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่าคนที่ทำงานในสายของการ “สร้างสรรค์” ด้วยแล้ว สิ่งที่สำคัญมากไปกว่าเงินๆ ทองๆ ก็คือเรื่องของแรงบันดาลใจ และสิ่งที่จะสานต่อหล่อเลี้ยงพลังความคิดให้สดใหม่เสมอๆ
“ถ้าพูดในฐานะมนุษย์ ผมมีทุกอารมณ์ ทั้งเบื่อ ทั้งท้อ ทั้งตั้งคำถามกับตัวเองว่า ความต้องการในชีวิตของเรามันคืออะไรกันแน่ ถ้าเราไม่ทำอันนี้แล้วไปอันนั้น เราจะมีความสุขกว่านี้มั้ย ภาวะแบบนี้มันเกิดขึ้น แต่ว่าผมเป็นคนที่พยายามจะเท่าทันจิตของตัวเอง ฉะนั้น สุดท้าย เมื่อเรากลับมาย้อนคิดถึงเหตุและผลต่างๆ เราก็พบว่า สิ่งที่เรากำลังทำอยู่นี่ เราไม่ได้ทำเพื่อความสุขของเราตามลำพัง ถ้าผมเลิกทำทีวีบูรพา สิ่งที่ผมเคยก่อร่างสร้างมา มันจบเลย
“เหมือนกับเราออกมานั่งเทศน์ว่า มันต้องเป็นอย่างงั้นนะ อย่างงี้นะ แต่พอถึงวันหนึ่ง ไอ้คนที่ออกมานั่งเทศน์บนธรรมาสน์ กลับเอาผ้าเหลืองออก แล้วไปแต่งงานมีเมีย ผมคิดว่ามันไม่ใช่ มันมีคนบางคนจำเป็นที่ต้องเสียสละแล้วก็สามารถที่จะมองเห็นความหมาย มองเห็นคุณค่าจากการเสียสละที่มันก้าวพ้นจากความสุขส่วนตัว พักหลังๆ นี่ เวลาคุยกับน้องๆ ในบริษัท ผมไม่คุยว่าเรตติ้งเราดีหรือว่าโฆษณาได้เต็ม แต่เราจะคุยกันเรื่องการยืนหยัดในความเชื่อ ในเป้าหมายว่าเราจะทำรายการแบบนี้เพื่ออะไร เราต้องมองไปให้มันไกลกว่ากิเลสของตัวเอง”
อาจเป็นเพราะเหตุนั้น จึงทำให้ทีวีบูรพายืนหยัดมาจนถึงทุกวันนี้ได้โดยไม่แสดงอาการ “เซถลา” หรือหันหน้าเปลี่ยนทางไปสร้างอะไรที่มันน่าจะทำให้ได้เม็ดเงินเป็นกอบเป็นกำมากกว่าที่เป็นอยู่
“เงินมันไม่ใช่เป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดที่เราจะต้องพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มา แต่เราไม่ปฏิเสธเงินน่ะ อย่างผมสอนลูกว่า อย่าทำอะไรๆ เพื่อเงิน แต่จงทำเพื่อความสุข และถ้ามันทำแล้วได้ความสุขด้วย ได้เงินด้วย ก็จะดี ของเราก็เหมือนกัน เราเห็นเลยว่าพนักงานของเรานี่มีความสุขขึ้น ไม่ได้หมายความว่ามีความสุขขึ้นเพราะได้เงินเยอะขึ้นนะครับ แต่การได้เงินเยอะขึ้นนี่ทำให้เขาสามารถจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถที่จะรับผิดชอบพ่อแม่ ส่งน้องเรียนหนังสือได้ แต่พวกนี้ไม่ได้หมายความว่าเขายึดติดเงิน
“เราทำธุรกิจ มันเดินทางไปเป้าหมายหนึ่งก็คือการได้กำไรอยู่แล้ว แต่เราไม่ได้มีกิเลสว่ามันต้องมีกำไรตลอด ฉะนั้น เราไม่สอนให้คนของเราหิวเงินหรือตั้งหน้าตั้งตาหาเงินอย่างเอาเป็นเอาตาย แต่เราทำให้ทุกคนเห็นว่า เราอยู่บนโลกใบนี้ เราต้องมีความรับผิดชอบ
“ในสังคมที่ทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้นี่ นับวันปัญหามันยิ่งเยอะ ยิ่งมาก มันไม่เคยมีปัญหาน้อยลงสักวันเลย เรามีนโยบายแก้ปัญหากันมาโดยตลอด โอ้โห ทุกเรื่องเลย แต่ทำไม ปัญหาแต่ละอย่างไม่เคยลุล่วง ไม่เคยคลี่คลายเลย แต่กลับเยอะขึ้นตลอด ฉะนั้น สิ่งที่เราบอกกันก็คือว่า สิ่งที่เราทำกันอยู่นี่ ปลายทางของมันคือ เราต้องมีส่วนในการที่จะเข้าไปร่วมเป็นร่วมตาย ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับปัญหาเหล่านั้น”
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|