8 วิธีบริหารเงินอย่างฉลาด


ASTVผู้จัดการรายสัปดาห์(23 กรกฎาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

Tips for men

เมื่อประเทศเราประสบอุบัติเหตุทางการเมือง เศรษฐกิจในหลายสาขาต่างพากันซบเซา ข้าวของต่างๆ กลับแพงขึ้น ทั้งๆ ที่เงินเดือนไม่ได้สูงขึ้นตามไปด้วย หลายๆ คนปรับตัว รัดเข็มขัดการใช้เงินอย่างแน่นหนา วันนี้ Tips for men จึงรวบรวมกลวิธีต่างๆ ให้คุณได้เตรียมสร้างเกราะป้องกันทางการเงินของคุณ ให้มั่นคงที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้วกัน

1.วางแผนการใช้เงิน

ถือเป็นข้อพึงปฏิบัติแรกที่ทุกคนจะต้องทำ ทั้งวางแผนการเงินของตัวเองและครอบครัวให้เหมาะสม ประกอบด้วย การสำรวจตัวเองว่าปัจจุบันมีรายจ่ายอะไรที่มันออกจะฟุ่มเฟือยเกินไปซักนิด ไม่ว่าการดื่มหลังเลิกงานหรืออื่นๆ หากคิดว่าบ่อยเกินไปก็ลดลง หรือจะหยุดไปเลยก็ยังได้ ดีต่อสุขภาพอีกด้วย จากนั้นกำหนดเป้าหมายจัดสัดส่วนการใช้เงินในส่วนที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันจริงๆ เช่นค่าเดินทางไปทำงาน ค่าอาหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องจ่ายจริงๆ โดยเลี่ยงไม่ได้ จากนั้นนำมาปฏิบัติ

2.จัดงบดุล คุมค่าใช้จ่ายส่วนตัว

ด้วยการรวมตัวเลขรายได้ของคุณทั้งหมดไม่ว่าจะงานหลัก หรืองานเสริม (ถ้ามี) จากนั้นรวบรวมและจดบันทึกรายจ่ายในแต่ละเดือน คุณจ่ายเงินไปกับเรื่องใดบ้าง ซึ่งอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าอะไรที่มันจำเป็นกับชีวิตคุณจริงๆ เพื่อนำมาคาดคะเนรายจ่ายในอนาคต เมื่อสรุปได้แล้ว คุณก็จะทราบแล้วว่า รายรับ รายจ่าย คือเท่าไหร่ ส่วนที่เหลืออาจจะไว้ฟุ่มเฟือยได้นิดหน่อย แต่อย่าลืมเก็บไว้เป็นเงินออมด้วยนะครับ เมื่อปฏิบัติจนเป็นนิสัยแล้ว ทุกอย่างมันจะค่อยๆ ง่ายขึ้น

3.ออมเงินให้เพลิน จะเมินความจน

การเก็บออมที่ถูกต้องนั้น ควรจะแยกบัญชีเงินฝากของคุณออกเป็น 3 บัญชี ได้แก่ บัญชีใช้จ่ายเผื่อฉุกเฉิน ซึ่งคุณจะสามารถเบิกเงินจากบัญชีนี้ออกมาใช้ได้ เช่นในกรณีรถเสีย หรือป่วย หรืออะไรก็แล้วแต่ที่มันฉุกเฉิน ต่อมาเป็นบัญชีเงินออมซึ่งควรจะให้เป็นบัญชีเงินออมจริงๆ อาจจะบังคับตัวเองด้วยเงื่อนไขของการฝากประจำหรืออะไรก็ตามแต่ที่ทำให้คุณเอาเงินเข้าได้อย่างเดียว ห้ามออก และสุดท้ายบัญชีเพื่อการลงทุน คือคล้ายกับการออม แต่คุณสามารถมีผลกำไรในเงินออมนั้นด้วย อย่างเช่น กองทุนหุ้นรวมระยะยาว (LTF) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (RMF) ซึ่งคุณสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย ยังไงก็ตามคุณควรศึกษาข้อมูลให้ดีเท่านั้นเอง

4.หนี้ คือกับดักทางการเงิน

ทุกท่านทราบดีว่า การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ แต่บางทีอะไรหลายๆ อย่างทำให้เราอดใจไม่ไหวเหมือนกัน ซึ่งหนี้นั้น มีทั้ง "หนี้ดี" ในการซื้อของบางอย่างรูดบัตรแล้วผ่อนก็ดูจะคุ้มค่ามากกว่า และก็ "หนี้ฟุ่มเฟือย" ที่คุณต้องเผลอจ่ายดอกเบี้ยที่มากโขในการใช้บัตรรูดซื้อของบางอย่าง และนั่นก็ควรคำนวณการใช้บัตรเครดิตแต่ละครั้งให้ถี่ถ้วนซักนิด แต่วิธีการที่ดีที่สุดในการลดหนี้ คือ พยายามใส่เงินจำนวนมากที่สุดและไม่กระทบกับรายจ่ายประจำที่จำเป็นจริงๆ เพื่อชำระหนี้สินที่ถูกลง หาหนทางเสียดอกเบี้ยให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

5.หนทางประหยัดภาษี

แต่ไม่ใช่การหลบเลี่ยงนะครับ การจ่ายภาษีเป็นหน้าที่ของคนในสังคมตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด แต่วิธีง่ายๆ ที่ทำได้ คือ สรรหาค่าลดหย่อนภาษีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้าน เงินบริจาค ทำประกันชีวิต และอื่นๆ อีกหลายอย่างที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ศึกษาข้อมูลให้ดี จะช่วยให้คุณลดค่าใช้จ่ายในด้านนี้ได้พอสมควร

6.หากคิดจะแต่งงาน

คุณและคู่สมรส ควรวางแผนอนาคตทางการเงินระยะยาวซักหน่อย หากจะให้ดี วางแผนไว้ซัก 10 ปี และให้จัดแยกเงินออกเป็นหลายๆ บัญชี ตามวัตถุประสงค์ของการใช้เงินแต่ละประเภทของครอบครัวคุณในอนาคต เช่น การซื้อรถยนต์ ค่าใช้จ่าย ไม่ควรเกินอัตรา 15% ของรายได้ครอบครัว เพื่อไม่ให้เกิดภาระผ่อนส่งเกินตัว หรือการซื้อบ้าน ควรเลือกโครงการที่มีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด กู้เงินให้น้อยที่สุด และผ่อนชำระให้เร็วที่สุด เพราะที่ทราบกันดี ยิ่งผ่อนนาน ดอกก็ยิ่งท่วม

7.เงินเพื่อเจ้าตัวน้อย

จากการสำรวจค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการคลอดบุตร และค่าเลี้ยงดูบุตรต่อเดือน ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวสามารถจัดการได้คือ พอเริ่มตั้งครรภ์ก็เริ่มเก็บเงิน และบริหารเงินให้ดี รวมถึงเรื่องเงินที่ใช้ในการศึกษาลูก การคำนวณค่าเล่าเรียนต้องคิดจากค่าเงินในปัจจุบันและอนาคต โดยให้รวมอัตราการเพิ่มของค่าเทอมหรือเงินเฟ้อเฉลี่ยต่อปี (ประมาณ 5%) เข้าไปด้วย เพราะเรื่องการศึกษาของลูกคุณนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ที่คุณควรวางแผนระยะยาว เพราะหากผิดพลาด มันไม่ได้เกิดที่คุณเพียงคนเดียว แต่มันหมายถึงอนาคตของลูกคุณอีกด้วย

8.เตรียมแผนเกษียณ

หากคุณต้องการมีกินมีใช้แบบไม่จนตลอดปีและตลอดไป ให้คุณคำนวณเงินที่คุณควรมี เมื่อตอนเกษียณ โดยเอา 1 หาร 10 คูณอายุปัจจุบัน และคูณรายได้ทั้งปี หากคุณมีเงินออมน้อยกว่าที่คำนวณได้ คุณควรต้องเก็บเงินในสัดส่วนที่มากขึ้น จึงจะพอใช้จ่ายในอนาคต เรื่องนี้สำคัญนะครับ เพราะเมื่อถึงเวลาที่คุณอายุมากแล้ว อาจจะหาที่ทำงานที่อ้าแขนรับคุณด้วยฐานเงินเดือนที่สูงลิบลิ่วได้ยาก นั่นหมายความว่าคุณต้องดูแลตัวเองแล้ว

เชื่อเถอะครับว่า เพียงเท่านี้ก็สามารถช่วยให้คุณมีความมั่นคงทางการเงินได้อย่างแน่นอน ถึงแม้ว่าในทางปฏิบัติอาจจะยากไปซักนิด หากแต่ว่าถ้าคุณทำได้ ปัจจัยที่ 5 (เงิน) อันนี้จะเลิกสร้างปัญหาให้กับคุณชัวร์


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.