|
หวั่น 3G เป็นแค่ของเล่นคนรวย ชี้ ผลประโยชน์ไม่ไปสู่สาธารณะ
ASTVผู้จัดการรายวัน(22 กรกฎาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
นักวิชาการหวั่นตลาดผู้ใช้ 3G จะกระจุกตัวอยู่แต่คนรวย-ไฮเทค ผลประโยชน์ไม่กระจายสู่สาธารณะ ติง “กทช.” อย่าหวังแต่เงินอย่างเดียว แนะรัฐบาลแก้กฎหมาย กสทช.ให้ชัดเจน กุมอำนาจกำหนดนโยบายไอซีที และให้กทช.เป็นเพียงผู้กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม
นายอนุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระด้านการสื่อสารและสารสนเทศ กล่าวในรายการ “คมชัดลึก” เนชั่นแชนแนล ถึงการเปิดประมูลใบอนุญาต 3G ว่า การเปิดประมูลครั้งนี้ ทาง กทช.(คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ไม่ได้ยึดประโยชน์ต่อสาธารณะเป็นหลัก จริงอยู่การเปิดประมูลจะทำให้รัฐได้เงินค่าใบอนุญาตเข้ามา แต่ผลประโยชน์ไม่ได้กระจายไปสู่ประชาชน โดยไปมองว่าการให้บริการ 3G เป็นสินค้าบริโภค เพื่อคนที่มีกำลังซื้อ คนที่เข้าถึงเทคโนโลยี ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเมืองใหญ่ ส่วนคนในที่ห่างไกลในชนบท ไม่มีศักยภาพจะเข้าถึง และไม่ได้ประโยชน์
เขาเสนอแนะว่า ถ้าการเปิดประมูลยึดเอาผลประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก ก็จะมองว่า 3G จะเข้ามามีบทบาทช่วยพัฒนาประเทศอย่างไร จะช่วยเหลือคนที่มีความเหลื่อมล้ำในต่างจังหวัดในชนบทอย่างไร ไม่ใช่เปิดประมูลแล้วเก็บค่าใบอนุญาต แต่ควรจะให้ผู้ที่อยากเปิดให้บริการ 3G ต้องมาประกวดการเสนอผลประโยชน์สาธารณะกัน ว่า จะเสนอให้ผลประโยชน์อย่างไร แล้วก็ให้เอาข้อเสนอของผู้ประกอบการเป็นเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาด้วย ทำแบบนี้ประชาชนก็จะได้ประโยชน์โดยตรง
นายอนุภาพ กล่าวว่า เมื่อคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของชาติที่ให้ใช้เพื่อผลประโยชน์สาธารณะ ดังนั้นนโยบายการใช้เทคโนโลยีควรจะรับใช้คนส่วนใหญ่ ตนอยากจะแนะนำรัฐบาลว่า การยกอำนาจให้ กทช.ดูแลทั้งการกำหนดนโยบาย และการปฏิบัติเป็นเรื่องที่ผิดพลาด วันนี้ควรจะแก้ไขกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ให้อำนาจในการกำหนดนโยบายจะต้องอยู่ที่รัฐบาล และให้ กทช.เป็นผู้ปฏิบัติตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนด ไม่อย่างนั้นไอซีทีก็จะรองรับการพัฒนาประเทศไม่ได้
นอกจากนี้ เขากล่าวว่า อยากจะเสนอแนะ กทช.ว่า คลื่นความถี่ไม่ใช่เป็นของรัฐบาล หรือเป็นของ กทช.แต่เป็นของคนทั้งประเทศ การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ จะสามารถช่วยพัฒนาประเทศได้มาก ไม่อยากให้กทช.เน้นการเปิดประมูลเพื่อเอาเงินเข้ารัฐ แต่ควรจะเน้นที่การคืนผลประโยชน์สู่ประชาชนเป็นหลัก ปัจจุบันตนมองว่า กทช.ยังมีการกำกับดูแลที่ยังไม่ได้คุ้มครองผู้บริโภคอย่างเต็มที่ การบังคับใช้สัญญามาตรฐานระหว่างผู้ใช้บริการกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็ยังไม่มีการดำเนินการ การดูแลเรื่องราคาค่าโทร ที่เราใช้อัตราเพดานนาทีละไม่เกิน 3 บาทก็ใช้มาตั้งแต่เริ่มมีโทรศัพท์เคลื่อนที่ครั้งแรกและยังไม่เคยเปลี่ยนแปลงมาจนถึงปัจจุบัน
นายที่รัก บุญปรีชา พิธีกรรายการแบไต๋ไฮเทค กล่าวว่าการเปิดประมูลใบอนุญาต 3G ในแง่ของผู้บริโภคที่ต้องการจะเห็น คือ มีการให้บริการด้วยราคาที่ยอมรับได้ ให้บริการอย่างทั่วถึง ตนเห็นด้วยที่จะมีการกำหนดให้กระจายการให้บริหารให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ไม่กระจุกตัวอยู่แค่ในเมืองใหญ่ อย่างไรก็ตาม ตนคาดว่า การให้บริการช่วงแรกๆ คงจะเป็นตลาดในเมืองก่อน หลังจากนั้น จะค่อยๆกระจายไปสู่ต่างจังหวัดต่อไป คาดว่าการให้บริการที่ทั่วถึงน่าจะต้องใช้เวลาพัฒนาประมาณ 5 ปี
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|