จุดอ่อน จุดแข็ง ของพลโทชวลิต ยงใจยุทธ ผู้ยืนอยู่กลางเขาควาย ระหว่างซ้ายกับขวา


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2528)



กลับสู่หน้าหลัก

พลโทชวลิตกับวัย 53 นับว่ายังมีพลังเหลือเฟือในการสร้างสรรค์งาน อาจกล่าวได้ว่าเป็นนักคิดร่วมสมัยคนหนึ่ง โดยเฉพาะความคิดในลักษณะที่เป็นยุทธศาสตร์ ในขณะเดียวกันก็เป็นนักยุทธวิธีผู้กลิ้งตามสถานการณ์จนถูกมองว่าเป็นพวก “มะกอกสามตะกร้า ปาไม่ถูก”

เป็นผู้ที่จับเงื่อนไขสังคมไทยในสถานการณ์ปัจจุบันได้มั่น เป็นผู้ที่อยู่ในจุดได้ดุลระหว่าง “ทหารกับพรรคการเมือง” หรือที่เรียกกันว่าระหว่าง “ปืนกับทุน” และในเฉพาะหน้ายังสามารถยืนอยู่ในจุดที่ได้ดุลใน “เกมแห่งอำนาจ” ระหว่างบุคคลด้วย

ด้วยความเป็นผู้ที่มองสถานการณ์ทะลุนี่เอง ทำให้พาตัวเข้าไปสู่ทุกกลุ่มทั้งทางตรงและทางอ้อม ด้านหนึ่งสามารถสร้างการยอมรับได้อย่างกว้างขวาง สร้างความเข้าใจได้อย่างดีแต่ในขณะที่สถานการณ์มีลักษณะวิกฤต ความพัวพันเหล่านั้นมักจะกลายเป็นหอกทิ่มแทงและสร้างความระแวงให้เกิดแก่ทุกกลุ่ม

และถึงแม้จะเป็นนักยุทธศาสตร์ แต่ด้วยเงื่อนไขไม่สมบูรณ์เพียงพอที่จะเสนอสิ่งที่ตนคิดออกมาสู่สาธารณชนทั้งหมด ทำให้บางด้านมีลักษณะคลุมเครือมาก ทำให้แต่ละกระดานการเมืองนั้น มี “ได้” มี “เสีย” ก้ำกึ่งกันอยู่

พฤติกรรมทางการเมืองของพลโทชวลิตนั้นเข้าข่ายที่ว่า “ซ้ายก็ว่า ขวาก็บ่น” มีลักษณะเป็นนักปฏิรูปที่ฝ่ายซ้ายพิจารณาไม่ตกว่าเป็นพวกกระตุ้นหรือทำลายปฏิวัติกันแน่ ในขณะเดียวกันฝ่ายขวาก็ไม่มั่นใจว่า นักปฏิรูปคนนี้ต้องการรักษาระบบหรือทำลายระบบ ปัจจุบันลักษณะดังกล่าวนี่เองที่ทำให้มีผู้กล่าวว่า พลโทชวลิตรอดมาได้ถึงปัจจุบันและมีแนวโน้มว่ามีอนาคตด้วยนั้นก็นับว่าเก่งเอาการอยู่

ถ้าจะถามว่า ใครคือผู้มีอิทธิพลต่อความคิดของพลโทชวลิต ก็ต้องตอบกันอย่างตรงไปตรงมาว่า คือตัวพลโทชวลิตเองเป็นด้านหลัก อาศัยท่าทีและจิตใจเปิดกว้างรับความคิดจากทุกฝ่ายแต่ตกผลึกออกมาเป็นความคิดเฉพาะตน ฝ่ายซ้ายอย่างประเสริฐ ทรัพย์สุนทร นั้น “ล้างมือ” จากกันมานานเต็มที และนับว่าตราประทับเรื่องฝ่ายซ้ายนั้นก่อให้เกิดปัญหาให้กับพลโทชวลิตไม่น้อย โดยเฉพาะต่อส่วนบนของสังคมไทย และจากจุดนี้เองก่อให้เกิดความมั่นใจในอนาคตทางการเมืองการทหารของพลโทชวลิตในเบื้องหน้า นับว่าสางปัญหานี้ยากเย็นเต็มที

ส่วนความคิดของพลโทชวลิตต่อกลุ่มฝ่ายซ้ายหรือกลุ่มก้าวหน้า นั้นตามคำสั่ง 66 ในระยะนี้เป็นการเบนจุดของการต่อสู้เอาชนะคอมมิวนิสต์เข้ามาสู่ในเมือง เปิดกว้างที่จะระดมความคิดจากทุกฝ่ายเพื่อแก้ปัญหาชาติร่วมกันอย่างสันติ

เรื่องการดำเนินการตามคำสั่ง 66 ซึ่งมีพลโทชวลิตเป็นแกนหลักนี้ ในบ้านเราถึงจะพูดกันกว้างขวางแต่ส่วนใหญ่มักไม่ใส่ใจให้การพิจารณาอย่างลึกซึ้ง ในขณะที่ต่างประเทศให้ความสนใจและทำการศึกษาลงไปในรายละเอียดอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา หรือกระทั่งอย่างเอลซัลวาดอร์ เพราะนับเป็นแนวทางใหม่ที่ก้าวหน้าอย่างยิ่งในการเอาชนะคอมมิวนิสต์ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน

พลโทชวลิตเป็นนักอ่าน นักเขียน ตัวยงคนหนึ่ง อ่านหนังสือทุกประเภท เป็นผู้ที่สรุปความคิดรวบยอดในแต่ละเรื่องได้ไวและรัดกุม ผู้ที่ใกล้ชิดมักเห็นพลโทชวลิตสูบบุหรี่ควันโขมงแล้วก็ก้มหน้าก้มตาเขียนในสิ่งที่ตนคิดยิกๆ แม้ลายมือจะถูกกล่าวว่า “ไม่ได้เรื่อง” เท่าใดนักแต่ความคิดที่หลั่งออกมานั้นกลับตรงกันข้าม และบางชั่วยาวหลายคนอาจเคยเห็นท่าทีเหม่อลอยตกภวังค์ความคิด มีคนตีความให้ฟังว่า “ท่านกำลังคิดถึงความทุกข์ยากของประชาชน”

ยามรื่นรมย์โดยเฉพาะอยู่กับเพื่อนกับน้องร่วมอาชีพที่รักใคร่นั้น พลโทชวลิตจะอารมณ์ดีเป็นพิเศษชนิดมีเสน่ห์ทั้งต่อเพศเดียวกันที่ร่วมอาชีพและต่อเพศตรงข้าม และถ้าครึ้มถึงขั้นอาจจะขึ้นเวทีร้องเพลงได้อย่างไม่ขัดเขิน ยืนยันได้ว่า “เพราะมาก” ถูกจังหวะทีเดียว และในยามเช่นนั้นสิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ น้ำสีอำพัน ถ้าเป็นวิสกี้ก็คือจอนห์นี่ วอล์คเกอร์ (ตราดำ) และถ้าบรั่นดีก็ต้อง เอ็กซ์.โอ.

พระที่ห้อยคอนั้นมีมากมายเหลือเกิน อาทิ สมเด็จฯ บางขุนพรหม และสมเด็จจิตรลดา ฯลฯ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.