ธุรกิจตามเก็บหนี้ อุดช่องว่างปัญหาเอ็นพีแอล


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2543)



กลับสู่หน้าหลัก

ปิติพงศ์ เอี่ยมอมรรัตน์ ไม่ได้กลับบ้านมาเป็นเดือนแล้ว โทรศัพท์มือถือของเขาถูกตัด ร้านขายจักรยานของเขาปิดมานาน คนดูแลบ้านบอกเพียงว่าเจ้านายของเธอไปพักอยู่กับแม่ ที่อื่น ซึ่งเธอไม่รู้ว่า ที่ไหนแน่ และไม่รู้ว่าจะติดต่อเขาได้อย่างไร เธอว่าบางทีเขาอาจจะไม่กลับมาแล้วก็ได้

ปิติพงศ์เป็นอีกคนหนึ่ง ที่หายหน้าไป พร้อมกับ หนี้สินในช่วง ที่เกิดวิกฤติการณ์ทางการเงิน ที่ผ่านมา กรณีคล้ายๆ กันนี้ยังมีอีกนับพันกรณี และตกเป็นภาระหนักแก่ ผู้ที่มีอาชีพติดตามหนี้สินอย่างเช่น เล็ก เพิ่มสิทธิ วัย 40 ปี หัวหน้าแผนกติดตามหนี้ของสำนักงานกฎหมายเดชา อินเตอร์เนชันแนล ซึ่งเป็นสำนักงานติดตามหนี้สินรายใหญ่ที่สุดของไทย

นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการณ์ทางการเงิน บริษัทของเล็กมีส่วนสำคัญในการช่วยเยียวยาเศรษฐกิจของประเทศได้ไม่น้อย แม้ว่าภาพของผู้ติดตามหนี้สินมักจะเป็นภาพของคนที่ดุร้าย และชอบข่มขู่คุกคามลูกหนี้ แต่เล็กกับทีมงานของเขากว่า 50 ราย ได้เปลี่ยนภาพพจน์ร้ายๆ เสียใหม่ โดยการเข้าไปมีบทบาทช่วยเจรจาต่อรองระหว่างฝ่ายเจ้าหนี้กับลูกหนี้คล้ายๆ กับเป็นศาลล้มละลาย ที่ดำเนินงานอย่างรวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย

หนี้สินส่วนใหญ่เกิดจากบริษัทธุรกิจใช้วิธีการฉ้อ ฉลขอยืมเงินให้ตัวเองในช่วงก่อนเกิดวิกฤติทางการเงิน ในขณะที่สังคมไทยก็มี "วัฒนธรรมการไม่ชำระหนี้" ซึ่งทำให้ลูกหนี้ ที่มีชื่อเสียงมีหน้ามีตาในสังคมอาศัยสถาน ภาพของตนบังหน้าไม่ยอมชำระหนี้ อีกทั้งระบบกฎหมายก็ย่อหย่อน ตัวเลขเหล่านี้จึงถูกปิดบังไว้เรื่อยมา จนในช่วง ปลายปี 1999 ยอดรวมหนี้เสียมีสูงถึงราว 240,000 ยอด โดยวงเงินมากน้อยต่างกันไป และตัวเลขอย่างไม่เป็นทาง การจะสูงกว่านี้อีกด้วย ทั้งนี้ หนี้เสียส่วนมากเกิดจากธุรกิจ ขนาดย่อม ที่เสี่ยงขยายกิจการกันเกินตัวในช่วงเศรษฐกิจบูม และขณะนี้แม้ว่ายอดหนี้จะลดลงแล้ว แต่ชนชั้นกลางจำนวนหนึ่งก็ยังไม่มีเงินพอชำระหนี้ได้

จากรายงานเมื่อเร็วๆ นี้ของธนาคารโลกคาดว่าตัวเลขหนี้ค้างชำระของคนไทยโดยเฉลี่ยสูงกว่ารายได้ต่อปีถึงมากกว่า 5 เท่า และในกลุ่มคนยากจนที่สุดสัดส่วนยิ่งเพิ่มสูงเป็น 8 เท่า ทีเดียว บรรดาลูกหนี้ผู้สิ้นหวังนับพันราย ซึ่งมักไม่ยอมเผชิญหน้ากับความอับอายเพราะไม่สามารถชำระหนี้ได้ จึงใช้วิธีทิ้งบ้านช่องหนีหนี้ไป

"แทน ที่จะแก้ปัญหา หลายๆ คนใช้วิธีหนีออกทางหลังบ้าน" อมรา พงศาพิชญ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอก "การหลีกเลี่ยงความขัดแย้งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย ที่แย่ก็คือ วิกฤติการณ์การเงินทำให้เกิดความขัดแย้ง ที่หาทางออกไม่ได้ง่ายๆ"

สำหรับนักติดตามหนี้อย่าง เล็ก งานท้าทายเขาก็คือ การแยกแยะระหว่างคนที่หนีหนี้กับคนที่ยากจนไม่มี เงินชำระหนี้จริงๆ แล้วพยายามหาทาง ให้ทั้งสองกลุ่มชำระหนี้ เล็กบอกว่า เขาเพียงแค่มองตาก็รู้แล้วว่าลูกหนี้ไม่มีเงินจริงๆ หรือว่าโกหก เขายกตัวอย่างว่า ลูกหนี้ ที่มีรถบางคนก็แกล้งบอกว่าไม่มีเงินชำระหนี้ "ผมจะถามว่าถ้าอย่างนั้น ทำไมคุณมีเงินเติมน้ำมันล่ะ?"

เล็กบอกการติดต่อกับลูกหนี้โดยตรงเป็นเรื่องยากเพราะในสังคมไทยจะถือเรื่อง "เสียหน้า" มาก เดชา กิตติวิทยนันท์ กรรมการผู้จัดการ สำนักงานกฎหมายเดชาอิน เตอร์เนชันแนล ก็เห็นในทำนองเดียวกัน "บางคนถึงกับยอมตายดีกว่า" เขาเสริมว่า "มันเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีมากกว่าเรื่องสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ"

แต่ความเป็นจริงทางเศรษฐกิจก็เป็นเรื่อง ที่เผชิญได้ยากเย็นจริงๆ อย่างกรณีของทัดทอง ศรีสุวรรณ วัย 34 ปี เจ้าของร้านค้าย่านชานเมืองกรุงเทพฯ แห่งหนึ่ง ก่อนเกิด วิกฤติการณ์ทางการเงิน เธอ และครอบครัวได้กู้ยืมเงินจากธนาคาร เพื่อปรับปรุงร้านเตรียมรอรับลูกค้าใหม่ๆ ที่จะเข้ามาอยู่ในโครงการที่พักอาศัยสร้างใหม่ ใกล้ๆ บ้าน แต่เมื่อโครงการดังกล่าวพับฐานไป เป็นอันว่าเธอไม่มีลูกค้าตามคาด ทัดทอง และครอบครัวจึงต้องแบกภาระหนี้จำนวน 167,000 บาท เธอบอกเล็กว่าตอนนี้เธอไม่มีเงินพอแม้ แต่จะขายไอศกรีมเพราะตู้แช่นั้น กินไฟมากเหลือเกิน

ทัดทองบอกเธอไม่ใช่อาชญากร เพียงแต่ไม่มีเงินชำระหนี้ "ถ้าเรามี เราก็จ่าย แต่เศรษฐกิจแย่อย่างนี้ เราก็ไม่มีให้" เธอบอก กรณีเช่นนี้เล็กคุ้นเคยเป็นอย่างดี และเขาก็จะยอมรับการสัญญาว่าจะชำระหนี้เมื่อไร

แม้ว่าเล็กจะไปพบปะกับลูกหนี้ด้วยตัวเองเป็นส่วนใหญ่ แต่บางครั้งเขาก็ติดต่อกับลูกหนี้ทางโทรศัพท์ เพื่อตกลงกันว่าจะเคลียร์หนี้สินได้เท่าไร "บางครั้งลูกหนี้หลบเลี่ยงอยู่เป็นเดือนๆ ทั้ง ที่วงเงินชำระแค่พันบาทต่อเดือน เป็นหนี้ ที่ซื้อผ่อนตู้เย็นหรือวิดีโอ"

บางครั้งการติดตามทวงหนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก ลูกหนี้บางคนถึงกับสร้างประตูหลังบ้าน เพื่อเป็นทางหนี หรือไม่ก็ย้ายไปอยู่ ที่คอนโดมิเนียมใกล้ๆ กันโดยใช้ชื่อปลอม และทำธุรกิจต่อไป

ตรงนี้เอง ที่เล็กต้องอาศัยทักษะของนักสืบเข้าช่วย บางครั้งเขาถึงกับต้องปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่องค์การโทรศัพท์ หรือพนักงานเก็บค่าไฟฟ้า หรือตีสนิทกับ เพื่อนบ้านของลูกหนี้ หรือพ่อค้าแม่ค้าเร่ในละแวกนั้น หรือหากเป็นกรณี ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น เขาก็เคยถึงกับแอบปีนเข้าบ้านลูกหนี้จากบ้าน ที่อยู่ติดกัน "ลูกหนี้ส่วนใหญ่โกหกเก่งมาก" เล็กเล่า "นั่นหมายความว่าเราต้องโกหกให้แนบเนียนกว่า เพื่อค้นหาความจริงให้ได้"

เมื่อผู้ติดตามหนี้มองลึกลงไปในปัญหาเศรษฐกิจของไทย ก็ยิ่งพบว่างานของตนนั้น หนักหนาสาหัส อย่างที่เดชาเล่าว่า "บางครั้งลูกหนี้ ที่มีอิทธิพลยังถามผมว่า "แกรู้มั้ยว่าแกกำลังเล่นกับใคร" เขาบอก "บางครั้งเราต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับพวกมาเฟีย ซึ่งมักเป็นกรณี ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถเข้ามาช่วย ดูแลได้ และเราต้องหาวิธีการของเราเอง"

ในกรณีเช่นนี้ เดชาบอกว่าเขาจะใช้กลยุทธ์ทำให้ลูกหนี้อับอายขายหน้า โดยนำป้ายประกาศชื่อลูกหนี้ไปติดหน้าบ้าน ซึ่งจะใช้ได้ผลดีกับลูกหนี้ ที่เป็นพวกนักการเมือง ซึ่งอาจหมดหนทางหาเสียงได้อีก อย่างไรก็ตาม เล็กบอกว่าโดยทั่วไปแล้วเขาจะเลี่ยงความขัดแย้ง และไม่ให้เรื่องไปถึงชั้นศาล ซึ่งจะเป็นเรื่องขายหน้ามาก เขามักพยายามหาทางออกให้กับทั้งสองฝ่าย ด้วยวิธีอื่น ที่สุภาพ

อันที่จริงแล้ว บทบาทของผู้ติดตามหนี้ของสำนักงานกฎหมายเดชา ซึ่งเป็นทั้งผู้ทวงหนี้ และผู้ไกล่เกลี่ยมีส่วนช่วยอุดช่องว่างเชิงสถาบัน ที่เกิดจากศาลมีคดีความต้องพิจารณาเป็นจำนวนมากมาย เดชาบอกว่ามีผู้มาใช้บริการสำนักงานของเขาเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าตัวนับจากปีที่แล้วมา และบริษัทสามารถติดตามหนี้ได้ถึง 70% ของยอดหนี้ 20 พันล้านบาท ซึ่งนับเป็นความหวังอีกทางหนึ่งของบรรดาเจ้าหนี้

มอนซานโต้ บริษัทเคมีภัณฑ์ข้ามชาติรายใหญ่ก็เป็นลูกค้ารายหนึ่งของเดชา และเห็นด้วยกับแนวทางแก้ปัญหาแบบนุ่มนวลของบริษัท "เราจะต้องคิดถึงอนาคตด้วย" เกรียงไกร เวียสุวรรณ ผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อของมอนซานโต้บอก "ลูกค้าจำนวนมากมีปัญหาเรื่องเงินสดหมุนเวียน เดชาช่วยให้เราไม่ต้องขึ้นศาล และยังรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าต่อไปได้"

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องนับว่าเล็ก และทีมงานของเขาใช้วิธีแบบไทยๆ ช่วยลูกหนี้ทั้งหลายให้เผชิญหน้า และแก้ปัญหาของตน นับเป็นธุรกิจ ที่ช่วยให้บรรดาลูกหนี้ไม่ต้องคอยหลบซ่อน ตัวอีกต่อไป " ที่จริงเรากำลังทำงาน เพื่อให้ชีวิตกลับเป็นปกติตามเดิม" เล็กบอก และแน่นอนว่ายิ่งทำได้เร็วเท่าไรก็ยิ่งดีเท่านั้น .....

เนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์ เรียบเรียงจาก Far Eastern Economic Review : September 21, 2000



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.