ศึกชิงเค้กแฟชั่นประตูน้ำเดือด เจ้าถิ่นเร่งปรับโฉมรับน้องใหม่


ASTVผู้จัดการรายสัปดาห์(16 กรกฎาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

*สมรภูมิแฟชั่นกลางกรุงระอุ ตลาดประตูน้ำคึกคัก

* ชิบูญ่า 19 ผุดศูนย์ค้าส่ง พร้อมโรงแรม ชิงเค้ก 70,000 ล้านบาท

* ขณะที่แพลทินัม เจรจากรมเจ้าท่าฯ ดึงท่าเรือขึ้นหลังโครงการ

* ด้านประชาคมประตูน้ำ ผนึกกำลังสร้างสกายวอล์ก ดึงดูดทราฟฟิก สร้างประตูน้ำเป็น แฟชั่น เดสติเนชั่น

สมรภูมิตลาดเสื้อผ้า และเครื่องหนังแฟชั่น ย่านประตูน้ำ ที่มีมูลค่า 70,000 ล้านบาท เริ่มปะทุอีกรอบ หลังจากผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่สมรภูมิรบ ล่าสุดกลุ่มชัยวรดิศ ผุดโครงการ ชิบูญ่า 19Ž ซึ่งมีมูลค่าโครงการกว่า 2,000 ล้านบาท ตั้งอยู่ปากซอยเพชรบุรี 19 รวบรวมร้านค้ากว่า 500 ร้าน โดยชูแนวคิดผู้ผลิตถึงผู้บริโภคเพื่อให้ได้ราคาขายที่ถูก พร้อมด้วยโรงแรม 4 ดาว 160 ห้อง ซึ่งทั้งหมดตั้งอยู่บนอาคารสูง 21 ชั้น พื้นที่รวมกว่า 29,800 ตารางเมตร โดยพื้นที่ขายสินค้าแฟชั่นจะตั้งอยู่บนชั้น 1-5 ซึ่งนอกจากร้านเสื้อผ้าแล้ว ยังมีร้านค้าอื่น เช่น สตาร์บัคส์ และแมคโดนัลด์ ที่จะช่วยดึงดูดลูกค้าขาจร หรือผู้บริโภคทั่วไปให้เข้ามาเดินในศูนย์ฯ

ส่วนชั้น 6 เป็นศูนย์อาหาร มี 400 ที่นั่ง และชั้น 7-21 เป็นโรงแรม ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะให้บริการได้ในเดือนตุลาคมปีหน้า โดยคิดอัตราคืนละ 2,xxx บาท ในขณะที่พื้นที่ค้าส่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือนมิถุนายนปีหน้า ทั้งนี้ ทางศูนย์ฯ จะมีพื้นที่จอดรถในชั้นใต้ดิน 5 ชั้น รองรับรถ 300-400 คัน

นอกจากนี้บริษัทยังเตรียมทุ่มงบกว่า 150 ล้านบาท เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการให้เป็นที่รู้จัก โดยคาดว่าจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 4 ปี ทั้งนี้ บริษัทจะชูจุดเด่นของโครงการด้วยการทำสัญญากับผู้เช่าระยะยาว 30 ปี และเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 08.00-20.00 น. ซึ่งยาวนานกว่าศูนย์ค้าส่งทั่วไปในย่านประตูน้ำที่มักเปิดให้บริการในช่วงเวลา 10.00-18.00 น.

กลุ่มลูกค้าของ 'ชิบูญ่า 19' จะมีทั้งผู้ค้าปลีก และลูกค้าทั่วไปที่มาเลือกซื้อสินค้าแฟชั่น โดยจะพิจารณาเรื่องดีไซน์เป็นหลัก ราคาเป็นรอง

'ตลาดค้าส่งสินค้าแฟชั่นมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งผู้บริโภคมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น และต้องการสินค้าที่มีความหลากหลายกว่าที่มีในปัจจุบัน เราจึงตัดสินใจลงทุนในโครงการนี้' กวีณา วงศ์วิจิตรกุล ประธานกรรมการ ชัยวรดิศ เจ้าของโครงการ 'ชิบูญ่า 19Ž กล่าว

แพลทินัมรุกเฟสใหม่
ผุดท่าเรือ ดึงดูดลูกค้า

ในขณะที่ เดอะ แพลทินัม แฟชั่นมอลล์ ถือเป็นผู้เล่นที่สร้างปรากฏการณ์ทำให้ประตูน้ำเป็นที่จับตามากขึ้น โดยเฉพาะความสำเร็จที่ค่อนข้างผิดรูปผิดแบบจากแผนที่วางไว้ให้ แพลทินัม เป็นศูนย์ค้าส่งเสื้อผ้า แต่กลับมีลูกค้าที่เป็นเด็กนักเรียน วัยรุ่น มาซื้อเสื้อผ้า เครื่องประดับ ราคาปลีกมากเกินคาด ส่งผลให้วันนี้ แพลทินัม มีสัดส่วนการขายปลีกและขายส่งพอๆ กันคือ 50:50 ในขณะที่แผนเดิมตั้งเป้าสัดส่วนการขายส่งไว้สูงถึง 70% ส่วนการขายปลีกตั้งสัดส่วนไว้เพียง 30% เท่านั้น

เดอะ แพลทินัม เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2549 มีทั้งหมด 6 ชั้น คิดเป็นพื้นที่รวม 110,000 ตารางเมตร เป็นมูลค่าโครงการกว่า 5,000 ล้านบาท โดยมีร้านค้ากว่า 1,600 ร้านค้า มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการในวันธรรมดามากถึง 30,000 คน และมากถึง 50,000 คนในวันหยุด ซึ่งถือว่ามากกว่า เมโทร แฟชั่น เป็นเท่าตัว โดยกลุ่มลูกค้าของ แพลทินัม มีทั้งลูกค้าชาวไทย และต่างชาติ แต่เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ส่งผลให้ลูกค้าต่างชาติของแพลทินัมหดหายไปไม่น้อย

ทั้งนี้ หลังจากเหตุการณ์วุ่นวายยุติ พบว่าจำนวนคนเดินเข้ามาใช้บริการในช่วงวันธรรมดาอยู่ที่ 20,000 คน ส่วนในวันเสาร์-อาทิตย์อยู่ที่ 40,000 คน จากปรกติวันธรรมดาจะอยู่ที่ 30,000 คน และเสาร์-อาทิตย์อยู่ที่ 50,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าคนไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนลูกค้าต่างชาติ ทั้งมิดเดิลอีสต์ และยุโรปซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 30% ของจำนวนลูกค้าทั้งหมดยังไม่กลับมา เชื่อว่าปีหน้าอาจจะเริ่มเห็นกลับเข้ามาบ้างบางส่วนหากท่องเที่ยวกลับมาดีขึ้น

'ในช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมานี้ ยอมรับว่าในช่วงที่มีการชุมนุมเกิดขึ้นส่งผลทั้งต่อกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า และผู้บริโภคอย่างมาก จากการสอบถามไปยังผู้เช่าพื้นที่ขายภายในแพลทินัม พบว่ายอดขายหายไปกว่า 40-50% โดยทางแพลทินัมได้ปิดให้บริการเป็นเวลา 10 วัน แต่ปิดเร็วบ้าง เปิดเร็วบ้างอีกส่วนหนึ่ง รวมแล้วปิดให้บริการเป็นจำนวน ชม.ที่ 15 วัน' พงษ์ศักดิ์ นันตวรรณกุล ผู้จัดการทั่วไป เดอะ แพลทินัม แฟชั่นมอลล์

ล่าสุดแพลทินัมทุ่มงบลงทุนกว่า 2,500 ล้านบาท ในการขยายต่อยอดพื้นที่อีกกว่า 40,000 ตารางเมตร แบ่งเป็น 10,000 ตารางเมตรสำหรับพื้นที่พลาซ่า จำนวน 5 ชั้น รวมกว่า 400 ร้านค้า โดยขณะนี้สามารถขายพื้นที่ไปแล้วกว่า 70-80% ในลักษณะของสัญญาเช่าระยะยาว 10 ปี ในราคาประมาณ 2 ล้านบาทต่อตารางเมตร และที่เหลือเป็นโรงแรมเชนโนโวเทล ระดับ 4 ดาว จำนวน 289 ห้อง ซึ่งในส่วนของพลาซ่าคาดว่าเปิดได้ในช่วงปลายเดือนธันวาคมนี้ หรือไม่ก็เป็นต้นเดือนมกราคม 2554 ในส่วนของโรงแรมนั้นจะเปิดให้บริการในปี 2555 ตามแผนเดิมที่วางไว้ โดยคาดว่าจะใช้เวลา 15 ปีในการคืนทุน

ศูนย์การค้าแพลทินัม ยังได้จัดสรรงบประมาณกว่า 50 ล้านบาทในการทำการตลาดกระตุ้นกำลังซื้อให้กลับคืนมาในช่วงครึ่งปีหลังนี้ด้วย สำหรับรายได้ของทางแพลทินัม จะมาจาก 2 ส่วนหลักคือ ศูนย์อาหารและค่าเช่าพื้นที่บางส่วน ต่อปีมีรายได้อยู่ที่ 300-400 ล้านบาท

นอกจากนี้ ทางกลุ่มผู้ดำเนินธุรกิจย่านประตูน้ำ ซึ่งรวมตัวกันในชื่อ 'ประชาคมชาวประตูน้ำ' ยังได้มีการพูดคุยกันที่จะส่งเสริมการโปรโมตย่านการค้าแห่งนี้ภายใต้คำว่าประตูน้ำ เชื่อว่าจะส่งผลให้ธุรกิจย่านนี้เติบโตได้ดียิ่งขึ้น บวกกับแผนการจัดทำการคมนาคมให้สะดวกขึ้น ทั้งการก่อสร้างท่าเรือคลองแสนแสบใหม่ โดยย้ายจากท่าเรือประตูน้ำมาอยู่หลังศูนย์เดอะแ พลทินัม แฟชั่น มอลล์ ซึ่งทางแพลทินัมสนับสนุนงบการก่อสร้างกว่า 30 ล้านบาท และการเปลี่ยนโรงผสมปูนของทางซีแพคมาเป็นสวนสาธารณะ รวมถึงการเปิดให้บริการแอร์พอร์ตลิงก์ มั่นใจว่าจะทำให้การค้าส่งเสื้อผ้าในย่านประตูน้ำกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยแผนทั้งหมดนี้จะแล้วเสร็จภายในปี 2554

'ย่านประตูน้ำถือเป็นย่านการค้าส่งเสื้อผ้าใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันหลายๆ ศูนย์การค้ากำลังรวมตัวกันในการที่จะมีแผนโครงการจัดทำสกายวอล์กในการเชื่อมต่อระหว่างตึก เพื่ออำนวยความสะดวกและเป็นการดึงลูกค้าให้เข้าศูนย์ฯ ในย่านนั้น โดยในส่วนของแพลทินัมนั้นได้ลงทุนสร้างไปแล้ว 25 ล้านบาท หากศูนย์ฯ ใดต้องการก็สามารถทำได้ โดยให้ทาง กทม.เป็นผู้ดูแลเรื่องการก่อสร้าง อย่างไรก็ตาม จะพบว่าในย่านนี้กำลังมีศูนย์การค้าส่งแห่งใหม่เกิดขึ้น มองว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะจะช่วยกันทำให้ย่านค้าส่งเสื้อผ้าแห่งนี้ได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จัก รวมถึงกลายเป็นเดสติเนชั่นของความเป็นศูนย์ค้าส่งเสื้อผ้าแฟชั่นต่อไป' สุรชัย โชติจุฬางกูร ประธานกรรมการบริหารกลุ่ม เดอะ แพลทินัม แฟชั่น มอลล์ กล่าว

พูลวรลักษณ์ พร้อมลุย 'เมโทรฯ 2'
หากลูกค้าตอบรับดี

2 ปีก่อนหน้านี้ ตระกูลพูลวรลักษณ์ ทุ่มงบ 1,000 ล้านบาท ผุดโครงการ 'เมโทร แฟชั่น' ชิงเค้กค้าส่งแฟชั่นย่านประตูน้ำ ซึ่งขณะนั้นมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 30,000-40,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 50-60% ของธุรกิจค้าส่งเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายในประเทศซึ่งมีมูลค่าประมาณ 60,000 ล้านบาท ขณะที่ตัวเลขค้าส่งเสื้อผ้าไปต่างประเทศมีมูลค่าสูงถึง 900,000 ล้านบาทในขณะนั้น โดยประตูน้ำถือเป็นทำเลธุรกิจที่สำคัญเนื่องจากมีทราฟฟิกในแต่ละวันสูงกว่า 100,000 ราย เป็นคนไทย 80% และชาวต่างชาติอีก 20% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเอเชียเช่นจากไต้หวัน ฮ่องกง ญี่ปุ่น แต่ปัจจุบันชาวยุโรปก็เริ่มหันมาเดินชอปปิ้งย่านประตูน้ำมากขึ้น ซึ่งนอกจากจะซื้อไปขายแล้ว บางรายก็อาจจะมาติดต่อผู้ผลิตของไทยเพื่อสั่งผลิตแล้วไปติดแบรนด์ของตัวเอง ทว่าปัจจุบันลูกค้าต่างชาติหดหายไปหลังเกิดเหตุความไม่สงบทางการเมืองโดยกลุ่มคนเสื้อแดง

'เมโทร แฟชั่น' ตั้งอยู่บนพื้นที่ 2 ไร่ มีมูลค่าโครงการประมาณ 1,000 ล้านบาท เป็นอาคาร 5 ชั้น ชั้นใต้ดินจะเน้นแฟชั่นยีนส์ ชั้น 1-2 จะเน้นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ชั้น 3 เป็นเครื่องประดับ ส่วนชั้น 4-5 เป็นลานจอดรถที่รองรับได้ 200-350 คัน รองรับผู้ค้าได้ 500 ราย

อย่างไรก็ดีแม้ว่า 'เมโทร แฟชั่น' จะเข้าสู่ตลาดหลังคู่แข่ง แต่ความต้องการในการค้าขายในย่านประตูน้ำมีสูงมาก ซึ่งจะเห็นได้จากโครงการของกรุงทอง พลาซ่า ที่เพิ่งทำสาขาแรกในย่านประตูน้ำได้ไม่กี่ปี ก็ขยายสาขาที่ 2 เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจในย่านประตูน้ำ

เมโทร แฟชั่น ใช้กลยุทธ์ราคาเป็นจุดขายในการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง เนื่องจากการวางโพซิชันนิ่งให้เป็นศูนย์ค้าส่งเสื้อผ้า ดังนั้นเรื่องราคาถูกจึงต้องมาก่อน 'เมโทร แฟชั่น' จึงกำหนดค่าเช่าพื้นที่ให้ถูกกว่าคู่แข่งในย่านประตูน้ำ โดยสัญญาเช่าของ 'เมโทร แฟชั่น' มีระยะเวลา 3 ปี ขณะที่คู่แข่งบางรายในย่านประตูน้ำทำสัญญากับผู้เช่าแบบปีต่อปี นอกจากนี้ 'เมโทร แฟชั่น' ยังเน้นผู้ค้าที่เป็นผู้ผลิตโดยตรงเพื่อให้สินค้าที่จำหน่ายในศูนย์ฯ มีราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่ง และเพียงพอที่ลูกค้าจะมีกำไรจากการมาซื้อไปขายต่อ ทั้งนี้ปัจจุบันผู้เช่าพื้นที่ในเมโทร แฟชั่น กว่า 90% เป็นผู้ผลิตเสื้อผ้าโดยตรง ทำให้ต้นทุนสินค้าไม่มีการบวกเพิ่มมากเท่ากับบางศูนย์ฯ ในย่านประตูน้ำที่มีการเช่าช่วง ส่งผลให้ต้นทุนของผู้ค้าสูงขึ้น อีกทั้งผู้ค้าส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มที่รับมาขายไป ทำให้สินค้ามีราคาแพง ซึ่งผิดกับคอนเซ็ปต์ในการทำธุรกิจค้าส่ง

เมโทร แฟชั่น ตั้งเป้าว่าจะมีผู้มาใช้บริการในศูนย์ฯ ประมาณวันละ 10,000-15,000 คนในวันธรรมดา และจะเพิ่มเป็น 30,000-40,000 คนในช่วงวันหยุด นอกจากนี้บริษัทยังมีโอกาสแสวงหารายได้อื่นๆ จากการเช่าคีออส หรือบูทขายสินค้าเล็กๆ ตลอดจนพื้นที่เช่าทำกิจกรรมการตลาด โดยบริษัทคาดว่าจะสามารถคืนทุนได้ในเวลา 4 ปีนับตั้งแต่เปิดให้บริการในปี 2552 ส่วนแผนขยายสาขาที่ 2 นั้นต้องรอดูการตอบรับจากสาขาแรกว่าเป็นอย่างไร ถ้าผู้บริโภคให้การตอบรับ ขณะที่คู่ค้าก็สามารถยืนหยัดบนธุรกิจได้ก็จะมีการขยายสาขา ซึ่ง เมโทร แฟชั่น มีความได้เปรียบในเรื่องของพื้นที่ที่จะใช้ทำศูนย์การค้าในย่านประตูน้ำเ นื่องจากยังมีที่ดินของตระกูลพูลวรลักษณ์ที่พร้อมจะพัฒนาเป็น เมโทร แฟชั่น สาขาที่ 2 ได้ในอนาคต ส่วนสาเหตุที่ไม่ทำธุรกิจโรงภาพยนตร์ในย่านดังกล่าวเนื่องจากมีขนาดพื้นที่ที่เล็กเกินไป เพราะโรงภาพยนตร์ยุคปัจจุบันต้องพัฒนาให้เป็นแบบมัลติเพล็กซ์ซึ่งใช้พื้นที่มากกว่าที่ตระกูลพูลวรลักษณ์มีอยู่ในย่านประตูน้ำ

อย่างไรก็ดี นอกจากจะดึงดูดลูกค้าชาวไทยแล้ว เมโทร แฟชั่น ยังมองโอกาสในการดึงดูดลูกค้าต่างชาติให้เข้ามาใช้บริการ โดยจะมีการพัฒนาเว็บไซต์ www.metrofashion.co.th เพื่อให้เป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ ซึ่งจะช่วยสร้างทราฟฟิกเข้าศูนย์ฯ ได้มากขึ้น โดยบริษัทตั้งเป้าว่าในปีหน้าจะมีฐานลูกค้าเป็นชาวต่างชาติมาสั่งซื้อสินค้า คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 25% ของลูกค้าทั้งหมด โดยคำสั่งซื้อต่อครั้งคาดว่าจะพอๆ กับลูกค้าชาวไทย เนื่องจากกลุ่มลูกค้าต่างชาติดังกล่าวเป็นผู้ค้ารายเล็กๆ ขณะที่ผู้ค้ารายใหญ่จะสั่งซื้อจากโรงงานใหญ่อยู่แล้ว

ประตูน้ำเซ็นเตอร์ เปิดโซนใหม่
ดูดลูกค้าต่างชาติเงินหนา

ขณะที่ประตูน้ำเซ็นเตอร์ ซึ่งลงเสาเข็มตั้งแต่ยุคเศรษฐกิจรุ่งเรือง ก่อนยุคฟองสบู่แตก แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ปัญหาหนึ่งอาจเกิดจากการเช่าพื้นที่เพื่อหวังเก็งกำไร แต่เมื่อไม่สามารถหาผู้เช่าช่วงมาเช่าต่อได้ ผู้เช่ารายแรกก็ทิ้งร้าน ส่งผลให้ประตูน้ำเซ็นเตอร์ในช่วงแรกต้องเปิดมาด้วยความเงียบเหงา เพราะมีพื้นที่มากแต่กลับมีร้านค้าเปิดขายจริงๆ ไม่กี่ราย ทำให้ต้องมีการแก้ปัญหาเพื่อดึงดูดทราฟฟิกให้เข้ามาในศูนย์ฯ ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรม การเปิดพื้นที่ภายนอกให้เช่าเพื่อสร้างบรรยากาศภายนอกให้ดึงดูดคนเดินข้ามฝั่งจากย่านตลาดประตูน้ำเก่ามาสู่ประตูน้ำเซ็นเตอร์

ประตูน้ำเซ็นเตอร์ มีการเปิดโซนใหม่เมื่อ 3 ปีที่แล้วคือโซน 'เดอะ แกรนด์ ซิลเวอร์ จิวเวลรี่' โดยหวังให้เป็นโครงการนำร่องเพื่อแก้ปัญหาความซบเซาในประตูน้ำเซ็นเตอร์ที่มีมายาวนาน โดยมีการทุ่มงบกว่า 700 ล้านบาท พัฒนาพื้นที่ 9,000 ตารางเมตร หรือคิดเป็นร้านค้า 465 ห้อง เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ค้าส่ง 80% และผู้ค้าปลีกอีก 20% โดยหันมาโฟกัสชาวต่างชาติมากขึ้นโดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นที่มีกำลังซื้อสูง

กรุงทองฯ ผุดสาขา 2
ขยายฐานลูกค้าต่างชาติ

นอกจากนี้ยังมี กรุงทอง พลาซ่า ซึ่งวางโพซิชันนิ่งตัวเองให้เป็นศูนย์ค้าส่งเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายขนาดกลาง ที่ประสบความสำเร็จทำให้มีการขยายสาขาที่ 2 ในย่านประตูน้ำ โดยมีการทุ่มงบ 300 ล้านบาท พัฒนาพื้นที่ 6,000 ตารางเมตร สร้างเป็นอาคารสูง 5 ชั้น แบ่งเป็นห้องค้าได้ 161 ห้อง โดยอัตราค่าเช่าของ กรุงทอง พลาซ่า เริ่มที่ 6,000 บาทต่อห้อง ไปถึง 23,000 บาทต่อห้อง ซึ่งมีพื้นที่เฉลี่ย 7-8 ตารางเมตร โดยเป็นสัญญาแบบปีต่อปี

ในขณะที่สินค้าส่วนใหญ่จะเหมือนกรุงทอง พลาซ่า สาขาแรกเพื่อให้ลูกค้าที่มาซื้อสินค้าสะดวกในการเลือกสาขาที่ใกล้ที่สุดเนื่องจากย่านดังกล่าวมีการจราจรที่คับคั่ง นอกจากนี้กรุงทองฯ ยังหันมาเน้นลูกค้าต่างชาติมากขึ้น หลังจากสาขาแรกที่เน้นลูกค้าชาวไทย แต่กลับได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติด้วย ดังนั้น บริษัทจึงคาดหวังที่จะขยายฐานลูกค้าต่างชาติเพิ่มขึ้น 20% ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชาวฟิลิปปินส์ และอินเดีย

อย่างไรก็ดี กรุงทอง พลาซ่า มีการวางคอนเซ็ปต์ของร้านค้าไม่ต่างจากศูนย์ค้าส่งอื่นในย่านประตูน้ำ คือผู้ค้าควรเป็นโรงงานการ์เมนต์เพื่อที่จะได้นำเสนอสินค้าในราคาส่งที่ดึงดูดลูกค้า ทั้งนี้ กรุงทอง พลาซ่า ตั้งเป้าว่าทั้งสองสาขาควรมีอัตราการเติบโตในแต่ละปีไม่ต่ำกว่า 20%

ซิตี้ คอมเพล็กซ์ ปรับโฉมสาขาเก่า
ขยายสาขาใหม่

ขณะที่ศูนย์ค้าส่งรายเก่าอย่างใบหยกทาวเวอร์แม้จะไม่มีความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ให้เห็น แต่ก็สามารถผลักดันธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการจับจองพื้นที่เป็นรายแรกๆ ในยุคเริ่มต้นของประตูน้ำ ทำให้เป็นที่รู้จักมานาน ขณะที่ผู้ค้าก็ยืนหยัดอยู่ในที่มั่น และขยายห้องค้าไปตามพื้นที่ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับซิตี้ คอมเพล็กซ์ ก็มีการเปลี่ยนแปลงการบริหารโดยการถ่ายโอนกิจการมาสู่รุ่นลูก ก็มีการรีโนเวตศูนย์ค้าส่ง ซิตี้ คอมเพล็กซ์ โดยพัฒนาศูนย์อาหารที่ตั้งอยู่บนชั้น 5 ให้มีความทันสมัย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ มีการปรับศูนย์ฯ ในแต่ละชั้นให้ดูใหม่ขึ้น หลังจากเปิดให้บริการมานาน โดยชั้นใต้ดินจะเป็นเครื่องหนัง ชั้น 1 เป็นโซนเสื้อผ้าและยีนส์ ชั้น 2-3 เป็นแฟชั่นเจาะกลุ่มคนบันเทิง และคนทำงานกลางคืน ส่วนชั้น 4 เป็นศูนย์แฟชั่น เครื่องประดับ เจาะตลาดคนรุ่นใหม่ในราคาขายส่ง

ซิตี้ คอมเพล็กซ์ ใช้งบ 100 ล้านบาท พัฒนาศูนย์อาหาร ซิตี้ ฟู้ดเซ็นเตอร์ โดยใช้รูปแบบในการแบ่งเปอร์เซ็นต์กับร้านค้าด้วยสัดส่วน 25:75 โดยไม่เก็บค่าเช่า เพื่อดึงดูดให้ร้านอาหารมาลงมากๆ จะได้ดึงดูดให้ผู้บริโภคมาใช้บริการมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้ชั้น 5 เป็นชั้นที่ไม่ค่อยมีลูกค้าขึ้นมาใช้บริการสักเท่าไร ทั้งนี้ ภายหลังการปรับปรุงทุกอย่าง คาดว่าจะมีลูกค้ามาใช้บริการในศูนย์ฯ มากขึ้น โดยก่อนหน้านี้มีลูกค้าเข้าศูนย์ฯ ซิตี้ คอมเพล็กซ์เฉลี่ยวันละ 10,000 ราย

นอกจากนี้ ซิตี้ คอมเพล็กซ์ ยังมีแผนขยายสาขาใหม่ นอกประตูน้ำอีก 2 โครงการ คือที่ แอร์พอร์ตลิงก์ และปิ่นเกล้า โดยซิตี้ คอมเพล็กซ์ สาขา 2 ในแอร์พอร์ตลิงก์ ตั้งอยู่บนพื้นที่ 1 ไร่ ติดกับโครงการรถไฟฟ้าที่เชื่อมเข้าสู่สนามบินสุวรรณภูมิ เชื่อมต่อกับซอยเพชรบุรี 15 มีมูลค่าโครงการกว่า 2,000 ล้านบาท โดยชั้น 1-4 ของโครงการจะเป็นศูนย์ค้าส่งค้าปลีกสินค้าแฟชั่น 150 ห้อง ชั้น 5-6 เป็นโรงแรม เมดิคัล สปา ขนาด 50-60 ห้อง ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถขยายฐานลูกค้าใหม่ๆ

ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นโครงการ 2 แล้ว ซิตี้ คอมเพล็กซ์ จะเดินหน้าก่อสร้างสาขา 3 ในย่านปิ่นเกล้า ซึ่งจะมีทั้งศูนย์การค้า คอนโดมิเนียม และอาคารสำนักงาน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในย่านฝั่งธนฯ และกรุงเทพฯ ตะวันตกให้สามารถเดินทางมาซื้อสินค้าได้สะดวก ไม่ต้องเดินทางเข้าเมือง เนื่องจากย่านประตูน้ำมีสภาพการจราจรที่ติดขัดแทบจะทุกวัน

ย้อนรอยจากโบ๊เบ๊สู่ประตูน้ำ

กว่าที่ 'ประตูน้ำ' และ 'ตลาดโบ๊เบ๊' จะเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกในฐานะแหล่งของเสื้อผ้าแฟชั่น ในวงเล็บด้วยว่าราคาถูก ต้องใช้เวลาในการสั่งสมชื่อมานานหลายสิบปี อย่างตลาดโบ๊เบ๊ถือกำเนิดตั้งแต่สมัยภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บริเวณข้างวัดบรมนิวาส ด้านริมทางรถไฟ เป็นที่มาของการขายผ้าในระยะเริ่มแรก เมื่อแผงค้าผ้าในลักษณะแบกะดินมีจำนวนมากขึ้น พ่อค้าแม่ค้าบางส่วนก็อาศัยพาดผ้ากับแขนและเดินขายให้กับลูกค้าทั่วไป

เมื่อตลาดเริ่มคึกคักและเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทางวัดบรมนิวาสก็ได้มอบหมายให้แขกอิสลาม เป็นผู้เข้ามาดูแลความเรียบร้อยและจัดเก็บผลประโยชน์ให้กับทางวัด

มาถึงวันนี้ร้านเสื้อผ้าเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นเกือบ 3,000 ราย มีทั้งเสื้อผ้าสำเร็จรูปแบบต่างๆ เช่น เสื้อผ้าแฟชั่น เสื้อยืด ผ้าพิมพ์ลาย ผ้านุ่ง ชุดนอน เสื้อชั้นใน ชุดนักเรียนและอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการขายส่งให้กับคนไทย และชาวต่างชาติ ทั้งเขมร ลาว เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ ไล่เรื่อยไปจนถึง รัสเซีย โปแลนด์ บังกลาเทศ ปากีสถาน ศรีลังกา และตะวันออกกลาง

ส่วนตลาดประตูน้ำก็มีประวัติความเป็นมายาวนานใกล้เคียงกัน โดยเริ่มต้นจากตลาดเฉลิมลาภที่รับสินค้าจากโบ๊เบ๊มาขายแบบปลีกให้กับผู้ซื้อโดยตรง เพียงแต่รูปแบบของสินค้าจะมีความเป็นแฟชั่นมากกว่า ทั้งเสื้อผู้หญิง กางเกงผู้ชาย

การที่ตลาดเฉลิมลาภ บริเวณประตูน้ำขายสินค้าแฟชั่นและเน้นขายปลีก เป็นเพราะในบริเวณนั้นมีห้างสรรพสินค้าทั้งไทยไดมารู และโรงแรมอินทรา ซึ่งทั้งสองแห่งในขณะนั้นถือได้ว่าเป็นศูนย์การค้าแห่งแรกของไทย

โดยโรงแรมอินทราจะมีพื้นที่ส่วนหน้าติดริมถนนประมาณ 2-3 ชั้นให้ร้านค้ามาเช่า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นร้านเสื้อผ้านำเข้า รองเท้ากีฬาจากต่างประเทศ หรือร้านกางเกงยีนส์รุ่นที่หายาก เป็นต้น ต่อมาภายหลังมีการแบ่งพื้นที่บางส่วนให้ห้างพาต้าเช่า

จากการวางตำแหน่งดังกล่าวทำให้เพียงเวลาไม่นาน ย่านประตูน้ำจึงกลายเป็นแหล่งรวมเสื้อผ้าแฟชั่นยอดนิยมของนักชอป และผู้ค้า โดยเฉพาะเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มีแบรนด์แฟชั่นที่เกิดจากตลาดประตูน้ำมากมายและเป็นที่ยอมรับของตลาดค่อนข้างมาก ต่อมารูปแบบการค้าของที่ประตูน้ำก็กลายเป็นค้าส่งเช่นเดียวกับโบ๊เบ๊

เหตุผลที่ทำให้วันนี้ย่านประตูน้ำกลายเป็นแหล่งแฟชั่นที่ดูคึกคักกว่าย่านโบ๊เบ๊ เป็นเพราะแถบนี้มีห้างสรรพสินค้า โรงแรม เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ขณะที่พื้นที่โบ๊เบ๊ส่วนใหญ่เป็นของราชการ ประกอบกับเป็นพื้นที่คลอง ทำให้ไม่สามารถพัฒนาได้เต็มที่เหมือนกับประตูน้ำที่เป็นที่ดินของเอกชน สามารถพัฒนาขึ้นตึกขนาดใหญ่ได้มากมายและรวดเร็ว ดังจะเห็นได้จากการเกิดขึ้นของศูนย์ค้าส่งแฟชั่นใหม่อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ ใบหยก 1 ใบหยก 2 ซิตี้ คอมเพล็กซ์ ประตูน้ำเซ็นเตอร์ กรุงทอง พลาซ่า แพลทินัม เมโทร แฟชั่น ล่าสุด ชิบูญ่า 19 ที่จะได้ฤกษ์ชิงเค้กในปีหน้า


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.