ซี.พี.สยายปีกแดนมังกร รุกเข้มรีเทล-อสังหาฯ


ASTVผู้จัดการรายสัปดาห์(16 กรกฎาคม 2553)



กลับสู่หน้าหลัก

ซี.พี. ลุยเข้มธุรกิจค้าปลีกในจีน หลังรีแบรนด์และเปลี่ยนชื่อเป็น 'ซี.พี.โลตัส' เมื่อปลายปีก่อน โดยปรับรูปแบบซูเปอร์มาร์เกตสู่ระดับ 5 ดาว เจาะลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่ หลังผู้บริโภคจีนให้ความสำคัญเรื่อง 'คุณภาพ' ควบคู่กับ 'ราคา' มากขึ้น นำร่องสาขาแรกซุปเปอร์แบรนด์มอลล์ ใจกลางเซี่ยงไฮ้ ตั้งเป้า 10 ปี ปักธง 'ซี.พี.โลตัส' ครบ 1,000 สาขา พร้อมผุดโปรเจกต์ยักษ์ บุกวงการอสังหาริมทรัพย์ เตรียมสร้างคอมเพล็กซ์ โรงแรม 5 ดาว ในมณฑลเหอหนานเป็นแห่งแรก ด้วยทุนกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท

'เป้าหมายของ ซี.พี.ในอนาคต คือ การรุกเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกและอสังหาริมทรัพย์อย่างเต็มตัว โดยใน 10 ปีนับจากนี้ จะต้องมี ซี.พี.โลตัสครบ 1,000 แห่งในจีน ขณะเดียวกันเราก็จะสร้างคอมเพล็กซ์ครบวงจรขนาดใหญ่ ที่ประกอบด้วย โรงแรม คอนโด ห้างสรรพสินค้า เพื่อเป็นศูนย์รวมการใช้ชีวิตของคนเมืองรุ่นใหม่ในอนาคต' เป็นคำกล่าวของ สุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการร่วมซุปเปอร์แบรนด์มอลล์ เจ้าของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในมหานครเซี่ยงไฮ้

และนี่คือ ภารกิจสำคัญของ ซี.พี.ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์จะพาไปเจาะลึกรายละเอียด เริ่มกันที่ การบุกธุรกิจค้าปลีกภายใต้ชื่อใหม่ 'ซี.พี.โลตัส' ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่การเปลี่ยนชื่อและโลโก้เท่านั้น ทาง ซี.พี.ยังได้รีแบรนด์พร้อมปรับโพซิชันนิ่งเจ้ากิจการโลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ให้มีความทันสมัย ภายใต้แนวคิด 'อินเตอร์เนชันแนล แฟชั่น เทรนด์' รองรับไลฟ์สไตล์และความต้องการของคนรุ่นใหม่ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์การทำธุรกิจค้าปลีกของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในจีน

เนื่องจากการสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีน พบว่า ปัจจุบันคนจีนให้ความสำคัญถึงคุณภาพสินค้ามากขึ้น จากเดิมเมื่อ 10 ปีก่อนจะเน้น 'ราคา' เพียงอย่างเดียว ไม่เพียงเท่านี้ การมาซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เกตก็จะเป็นเรื่องไลฟ์สไตล์ที่เน้นความสนุกสนาน ความสะดวกสบายด้วย ต่างจากเดิมที่มาเพื่อซื้อสินค้ากลับบ้านเท่านั้น

ฉะนั้น ซูเปอร์มาร์เกตจึงเป็นพื้นที่ที่ ซี.พี.โลตัสให้ความสำคัญอย่างมาก โดยมีการปรับรูปแบบและบรรยากาศให้เป็น 'ซูเปอร์มาร์เกตระดับ 5 ดาว' โดยเริ่มที่สาขาซุปเปอร์แบรนด์มอลล์ ในเซี่ยงไฮ้เป็นแห่งแรก และจะขยายไปสู่สาขาอื่นต่อไป ซึ่งปัจจุบัน ซี.พี.โลตัสมีอยู่ 73 สาขาในประเทศจีน สำหรับการยกระดับซูเปอร์มาร์เกตให้มีความทันสมัย ทั้งในด้านอิมเมจ บรรยากาศการตกแต่ง ตลอดจนคุณภาพสินค้า มีเป้าหมายเพื่อสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งและเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคชาวจีน ที่เริ่มให้ความสำคัญกับชื่อเสียงของแบรนด์มากขึ้น

นอกจากนี้ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับผู้บริโค ผู้บริหารใน ซี.พี.โลตัส บอกว่า เราต้องทำความเข้าใจไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคให้มากที่สุด โดย ซี.พี.โลตัสจะมี CRM CARD ที่ไม่เพียงแต่จะบันทึกพฤติกรรมการซื้อของลูกค้าเท่านั้น แต่ยังสามารถทราบถึงรายละเอียดเชิงลึกด้วยว่าลูกค้าชอบหรือไม่ชอบอะไรด้วย ซึ่งตอนนี้บัตรสมาชิกดังกล่าวอยู่ในระหว่างการเริ่มต้นระบบ โดยมีสมาชิกประมาณ 2 แสนราย และหลังจากระบบมีความสมบูรณ์ในสิ้นปีนี้ คาดว่าบัตรดังกล่าวจะได้การตอบรับพร้อมเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงผู้บริโภคเป็นอย่างดี

สำหรับอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ ซี.พี.ให้ความสนใจและวางแผนจะบุกอย่างเต็มตัว โดย สุภกิต บอกว่า บริษัทเตรียมผุดคอมเพล็กซ์ยักษ์ที่สามารถตอบโจทย์ชีวิตคนเมืองได้อย่างครบวงจร ซึ่งจะประกอบด้วย โรงแรม ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า คอนโด เบื้องต้นตั้งเป้าพัฒนา 4 แห่ง คือ ลั่วหยาง ในมณฑลเหอหนาน, มณฑลซานตง, เซี่ยงไฮ้ และกวางเจา เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของประชากรในแต่ละมณฑลที่มีจำนวนมากกว่า 80 ล้านคน แม้จะยังอยู่ในขั้นตอนการออกแบบ แต่ด้วยชื่อ ซี.พี. เชื่อได้ว่าย่อมยิ่งใหญ่ ชนิดที่สามารถสร้างแรงสั่นเทือนให้กับวงการอสังหาริมทรัพย์ได้ไม่น้อย เพราะเพียงต้นทุนการก่อสร้างเฉพาะมณฑลเหอหนาน ซึ่งจะเริ่มดำเนินการเป็นแห่งแรก ก็ใช้เม็ดเงินสูงถึง 2,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 68,000 ล้านบาท

จากการเปิดฉากรุกของ ซี.พี.โลตัส ในปีนี้ ประธานกรรมการร่วมซุปเปอร์แบรนด์มอลล์ มั่นใจว่า สิ้นปี ซี.พี.โลตัสจะปิดรายได้ที่ 12,000 ล้านหยวน เพิ่มจากปีก่อนที่มีรายได้ 11,000 ล้านหยวน อย่างไรก็ตาม แม้ตัวเลขดังกล่าวจะมีมูลค่ามหาศาล ทว่า ภารกิจสำคัญของทายาทเจ้าสัวธนินท์ นั้นยังอยู่ที่การขยายอาณาจักร ซี.พี.ประเทศจีนให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.