|
สตาร์บัคส์ไร้แผนนำเข้าแบรนด์ใหม่ ชูกรีนสโตร์-ขยายตลาดนอนคอฟฟี่
ASTVผู้จัดการรายวัน(16 กรกฎาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
สตาร์บัคส์ ยันยังไม่มีแผนนำอีก 2 แบรนด์เชนกาแฟเข้ามาเมืองไทย ชี้แบรนด์สตาร์บัคส์ ยังแข็งแกร่ง และมีศักยภาพอีกมาก แม้ตลาดแข่งขันรุนแรง พร้อมขยายบทบาทกลุ่มอื่นที่ไมใช่กาแฟ สานต่อนโยบายบริษัทแม่ ชู “สตาร์บัคส์แชร์แพลเน็ต” พร้อมปรับสโตร์สู่ กรีนสโตร์
นายเมอร์เรย์ ดาร์ลิ่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ ไทยแลนด์ จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดกาแฟในไทยมีการแข่งขันที่รุนแรงแต่ก็ยังมีโอกาสในการลงทุน และขยายตัวอีกมาก แม้ว่าทุกวันนี้ เชนกาแฟรีเมียมจะมีส่วนแบ่งเพียง 10% จากตลาดรวมก็ตาม อย่างไรก็ตาม สตาร์บัคส์ยังไม่มีนโยบายที่จะนำแบรนด์กาแฟในเครือเข้ามาเปิดตลาดในไทยอีก ซึ่งขณะนี้มีอีก 2 แบรนด์ คือ ซีแอทเทิลเบสท์คอฟฟี่ และ เวีย ที่อยู่ระหว่างทดลองตลาดในต่างประเทศ ขณะเดียวกัน แบรนด์สตาร์บัคส์ยังมีศักยภาพในการขยายตัวอีกมาก
ทั้งนี้ ในตลาดเมืองไทย จากการสำรวจพบว่า คนไทยดื่มกาแฟ 7 แก้วต่อสัปดาห์ โดยดื่มกาแฟนอกบ้าน 5 แก้ว และเป็นสตาร์บัคส์ 3 แก้วต่อสัปดาห์ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตลาดอะเวย์ฟอร์มโฮม หรือ Away from Home จะเป็นตลาดที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา เติบโตถึง 60% โดยปัจุบันสตาร์บัคส์จำหน่ายกาแฟมากกว่า 1 ล้านแก้วต่อเดือน และมีการเติบโตด้านยอดขายกว่า 8% จากปีที่แล้ว
โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผานมา สตาร์บัคส์ได้เปิดตัว สตาร์บัคส์ไทยแลนด์ เฟซบุ๊ก แฟนเพจ ขณะนี้มีแฟนเพจมากกว่า 57,000 คน ทั้งที่เปิดมาแค่ครึ่งปี ขณะที่สตาร์บัคส์การ์ดที่ใช้มากว่า 6 ปีแล้ว มีสมาชิกประมาณ 75,000 ใบ และมียอดการใช้จ่ายบัตรสูงขึ้น 20%
ขณะที่แผนลงทุนในอนาคตนั้น คาดว่า จากนี้ไปคงอาจจะไม่ขยายตัวมากเท่ากับ 12 ปีก่อนหน้านี้ ที่ปัจุจบันมีสาขารวม 133 สาขาแล้ว แต่ก็ยังมีแผนรุกต่อเนื่อง ทั้งการขยายสาขาเฉลี่ย 10 สาขาต่อปี ซึ่งปีนี้ เปิดไปแล้ว 5 สาขา และจะเปิดอีก 5 สาขาในครึ่งปีหลัง รวมทั้งขยายบทบาทธุรกิจที่ไม่ใช่กาแฟมากขึ้น เช่น อาหาร และเครื่องดื่มอื่น รวมทั้งสินค้ากาแฟขวดด้วยซึ่งสัดส่วนยอดขายที่ไมใช่กาแฟตอนนี้อยู่ที่ 15%
สำหรับผลกระทบจากการชุมนุมของม็อบที่ผ่านมา ส่งผลให้สตาร์บัคส์ต้องปิดบริการ 5 สาขา เช่น ตึกมาลีนนท์ บิ๊กซีราชดำริ สาขาในเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาเรื่องประกัน ซึ่งบริษัทแม่เข้าใจดี และก็ยังให้ความสำคัญกับตลาดไทยต่อเนื่อง ทั้งนี้ ขณะนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้นแล้ว โดยลูกค้ากลับมาใช้บริการมากขึ้น โดยเฉพาะคนไทยที่มีมากถึง 75% ส่วนลูกค้าต่างชาติยังไม่มากเหมือนเดิม
นายเมอร์เรย์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้สตาร์บัคส์ทั่วโลกได้ใช้นโยบาย สตาร์บัคส์ แชร์ แพลเน็ท โดยคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก คือ การสรรหาอย่างมีจริยธรรมในการทำธุรกิจ การอนุรักษ์ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนช่วยเหลือชุมชนที่สตาร์บัคส์อาศัยอยู่ โดยในส่วนของ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้ชูนโยบาย กรีนสโตร์ ซึ่งเริ่มแล้วที่อเมริกา
และในเอเชียเริ่มที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกเมื่อเดือนที่แล้ว ส่วนไทยเพิ่งเริ่มที่สาขาเซ็นทรัลพระรามสาม แต่ยังไม่เต็มรูปแบบ คาดว่า สิ้นปีนี้จะเต็มรูปแบบทั้งสาขาใหม่ที่จะเปิดและการทยอยปรับสาขาเก่าทั้งหมด ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี สิ่งที่ดำเนินการเช่น การปรับเปลี่ยนสไตล์การตกแต่งในร้าน การคำนึงถึงเรื่องการประหยัดพลังงาน เช่น เปลี่ยนหลอดไฟ เป็นต้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|