แนวทางการขอจัดตั้งวิทยาลัยเอกชนข้อคิดเบื้องแรกสำหรับนักลงทุน


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2528)



กลับสู่หน้าหลัก

โครงการจัดตั้งวิทยาลัยเอกชนค่อนข้างจะเป็นงานใหญ่ซึ่งต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์และระเบียบวิธีปฏิบัติตามกฎทบวงมหาวิทยาลัยอย่างมากๆ

หลักเกณฑ์และระเบียบวิธีปฏิบัติที่ว่านี้ล้วนกำหนดขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตราต่างๆ แห่งพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2522 ด้วยกันทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นถ้าจะศึกษาข้อตัวบทกฎหมายกันให้ละเอียดแล้ว ก็คงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ ไป

ในชั้นนี้ "ผู้จัดการ" จึงขอนำหลักเกณฑ์และระเบียบวิธีปฏิบัติที่สำคัญๆ เท่านั้นมากล่าวถึง แต่ก็คิดว่าน่าจะพอช่วยให้เห็นเป็นแนวทางได้บ้าง

การกำหนดวัตถุประสงค์

ผู้จัดทำโครงการจะต้องกำหนดวัตถุประสงค์เพื่อจัดการศึกษาขั้นอุดมศึกษาและพร้อมกันนั้นให้ระบุวัตถุประสงค์ในการเปิดสอนแต่ละสาขาวิชาลงไปด้วย โดยควรมีลักษณะดังนี้คือ

-จะเป็นสถาบันที่มุ่งทำหน้าที่ให้การศึกษาวิชาชีพชั้นสูง เน้นภารกิจหลักด้านการวิจัยและการบริการทางวิชาการในระดับอุดมศึกษา

-สาขาวิชาที่จะเปิดสอนนั้นสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร การพัฒนาทางวิชาการ เป็นผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยส่วนรวม ทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและความรับผิดชอบต่อประเทศชาติ

ที่ตั้งและทำเลที่ตั้ง

วิทยาลัยจะต้องตั้งในแหล่งชุมชนที่มีความสะดวกด้านชุมชน สาธารณูปการ เป็นทำเลที่ดีไม่มีภัยต่างๆ เกิดขึ้นง่าย มีบรรยากาศเหมาะสม เช่น ไม่อยู่ติดกับแหล่งเสื่อมโทรมหรือแหล่งสำราญต่างๆ และห่างไกลพอสมควรจากความอึกทึกครึกโครมที่จะรบกวนการเรียนการสอน

บริเวณ

จำนวนพื้นที่กฎทบวงฉบับที่ 3 (พ.ศ.2525) กำหนดไว้ว่า

-สาขาวิชาที่ไม่ต้องมีห้องทดลอง ห้องปฎิบัติการหรือโรงฝึกงานต้องมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 6 ไร่

-สาขาที่ต้องมีห้องทดลอง ห้องปฎิบัติการหรือโรงฝึกงานจะต้องมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 8ไร่

-สาขาวิชาเกษตรกรรมที่ต้องมีที่ดินสำหรับฝึกงาน ต้องมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 158 ไร่

-จำนวนพื้นที่ดินเหล่านี้จะต้องเป็นที่ดินผืนเดียวกัน และวิทยาลัยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ในด้านหลักเกณฑ์ข้ออื่นๆ เกี่ยวกับเรื่องบริเวณก็เช่นว่า เป็นที่เอกเทศไม่ประปนกับสถานที่อื่น จะต้องมีที่ว่างและสภาพแวดล้อมดีสำหรับการพักผ่อน การกีฬา การจราจรภายในวิทยาลัย และมีแผนผังการก่อสร้างที่แน่นอน เช่น ส่วนใดจะใช้เป็นที่เรียน หอพัก และส่วนใดควรจะเป็นสถานที่ของกิจกรรมนอกหลักสูตร เป็นต้น

อาคาร

จะต้องมีแผนการก่อสร้างอาคารในส่วนต่างๆ ที่แน่นอน และอาคารมีพื้นที่เพียงพอกับวัตถุประสงค์ของการใช้อาคารนั้นๆ เฉพาะตัวอาคารเรียนจะต้องมีส่วนประกอบต่างๆ เพื่อจัดให้การศึกษาตามสาขาวิชาที่ระบุไว้ เช่น มีห้องบรรยายกี่ห้อง ห้องสัมมนากี่ห้อง ห้องปฎิบัติการวิทยาศาสตร์ ห้องปฎิบัติการทางภาษา

พื้นที่ใช้สอยของอาคาร ทบวงมหาวิทยาลัยได้กำหนดเป็นเกณฑ์มาตรฐานไว้ เช่น

-ห้องทำงานผู้อำนวยการ จะต้องมีพื้นที่อย่างน้อย 25 ตารางเมตร

-ห้องพักอาจารย์ผู้สอน มีพื้นที่ 12 ตารางเมตรต่อคน

-เสมียน 3.5 ตารางเมตรต่อคน

-ห้องเรียนแบบ ก. สำหรับนักศึกษาจำนวน 300 คน จะต้องมีพื้นที่อย่างต่ำ 300 ตารางเมตร หรือคนละ 1 ตารางเมตร

-ห้องเรียนแบบ จ. สำหรับนักศึกษา 25 คน จะต้องมีพื้นที่อย่างน้อย 38 ตารางเมตร ห้องสัมมนาหรือห้องประชุมสำหรับ 30 คน ต้องมีพื้นที่ 54 ตารางเมตร เป็นต้น

นอกจากนี้เกณฑ์มาตรฐานสำหรับห้องปฎิบัติการห้องวิจัยวิทยาศาสตร์ โรงฝึกงาน ห้องสมุด โรงอาหาร ทบวงมหาวิทยาลัยได้กำหนดจำนวนพื้นที่ใช้สอยต่อคนไว้ทั้งสิ้น

อุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวกับที่ตั้งบริเวณและอาคาร

จะต้องมีบริการสาธารณูปโภคพอเพียง เช่น ประปา ไฟฟ้า การถ่ายเทสิ่งโสโครก มีอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยในบริเวณและอาคารต่างๆ พร้อมสรรพ

อุปกรณ์การศึกษา

มีอุปกรณ์การสอนทั่วไปประจำห้องบรรยาย ห้องเรียนต่างๆ และอุปกรณ์พื้นฐานสำหรับการสอนแต่ละสาขาวิชาครบถ้วนเพียงพอกับจำนวนนักศึกษาที่เข้าเรียนแต่ละครั้ง อย่างเช่นการสอนวิทยาศาสตร์ปฏิบัติ ต้องมีอุปกรณ์ทดลองวิทยาศาสตร์ ถ้าเป็นการสอนทางบริหารธุรกิจจะต้องมีอุปกรณ์ประเภทเครื่องพิมพ์ดีด เครื่องคิดเลข ถ้าเป็นการสอนทางวิศวกรรมศาสตร์จะต้องมีโรงงาน เครื่องไม้เครื่องมือครบถ้วน

จำนวนเงินทุนประเดิมและทรัพย์สินที่จะใช้ในการจัดตั้ง

วิทยาลัยเอกชนต้องมีที่ดินอันเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยเป็นของตนเอง แต่ในกรณีต้องใช้ที่ดินมากเพื่อประโยชน์ในการศึกษานอกเหนือไปจากที่ดินเดิมอันเป็นกรรมสิทธิ์ของวิทยาลัยเอกชนแล้ว อาจผ่อนผันให้มีที่ดินในรูปสิทธิครอบครองได้ในจำนวนพื้นที่ที่ไม่เกี่ยวกับความมั่นคงทางหลักทรัพย์ของวิทยาลัยนั้นๆ

การตีราคาที่ดินให้ใช้ราคาที่ได้สินทรัพย์นั้นมา หากได้มากเกิน 3 ปี ให้ประเมินราคาได้โดยอาศัยราคาปานกลางซึ่งกำหนดโดยกรมที่ดิน

การโอนที่ดิน ผู้รับใบอนุญาตจะต้องโอนที่ดินเป็นของวิทยาลัยทันทีเมื่อได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นวิทยาลัยเอกชนตามกฎหมายแล้ว

เกี่ยวกับอาคารเรียนและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในที่ดินของวิทยาลัย ก็เช่นเดียวกันที่สิทธิและกรรมสิทธิ์จะต้องเป็นของวิทยาลัย การตีราคาอาคารและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ให้ใช้ราคาทุนคิดหักค่าเสื่อมโดยอาศัยอัตราอายุการใช้งานดังนี้ อาคารที่เป็นตึก 40 ปี อาคารไม้ 10-15 ปี

ส่วนสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะ เก้าอี้ อุปกรณ์เครื่องขยายเสียง พิมพ์ดีด รถยนต์ จะต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของวิทยาลัย ยกเว้นในบางกรณีอาจจะผ่อนผันให้เช่าได้ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

สินทรัพย์ประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากที่ดินและอาคารนี้ การตีราคาทรัพย์สินให้ใช้ราคาทุน แต่หักค่าเสื่อมโดยกำหนดอายุการใช้งานของสินทรัพย์ทั้งหลายเหล่านี้ไว้ไม่เกิน 10 ปี

เกี่ยวกับผู้สอน

จะต้องมีสัญญาจ้างผู้สอนโดยระบุรายละเอียดเป็นไปตามกฎหมายแรงงาน

กำหนดอัตราเงินเดือนหรือค่าตอบแทนแก่ผู้สอนและพนักงานในอัตราที่สมควรแก่วิทยฐานะโดยอย่างน้อยต้องไม่ต่ำกว่าอัตราที่ทางราชการกำหนดไว้

วางหลักเกณฑ์เรื่องการขึ้นเงินเดือนไว้ให้ชัดเจนเพื่อจุดมุ่งหมายที่จะให้ความมั่นคงแก่ผู้สอนและพนักงาน

เกี่ยวกับนักศึกษา

กำหนดเครื่องแบบที่สุภาพสำหรับนักศึกษา

กำหนดระเบียบเกี่ยวกับวินัยไว้พอสมควรแก่การวางใจได้ว่านักศึกษาจะปฏิบัติตนอยู่ในวินัยอันดีงาม

กำหนดระเบียบข้อบังคับและบทบาทลงโทษเกี่ยวกับนักศึกษาไว้

กำหนดค่าเล่าเรียน ค่าบำรุง และค่าธรรมเนียมอื่นๆ ให้ชัดเจนและเป็นไปตามกฎของทบวงมหาวิทยาลัย

โครงการจัดการศึกษา

การจัดการศึกษาจะต้องมีอัตราส่วนระหว่างผู้สอนประจำต่อจำนวนนักศึกษาไม่น้อยกว่า 1 ต่อ 20

หรือเมื่อรวมผู้สอนประจำและผู้สอนพิเศษเข้าด้วยกันจะต้องเป็นสัดส่วนต่อจำนวนนักศึกษาเท่ากับ 1 ต่อ 10 โดยผู้สอนต้องมีวุฒิอย่างน้อยปริญญาตรีและมีวุฒิตรงตามสาขาวิชาที่สอนอย่างน้อย 3 คน ทำหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบในแต่ละสาขาที่จัดสอนนั้นๆ

จะต้องระบุจำนวนนักศึกษาเต็มตามโครงการ แยกตามสาขาวิชาและแต่ละระดับการศึกษา โดยระบุแยกออกมาเป็นจำนวนปีจนกว่าจะเต็มโครงการ

ด้านตัวผู้สอนก็ต้องระบุจำนวนที่คาดว่าจะเต็มโครงการ แยกตามวุฒิและสาขาวิชาเอก แสดงออกมาเป็นปีเช่นกัน

หลักสูตร

ระยะเวลาการศึกษาตามหลักสูตร สำหรับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง อย่างน้อยต้องไม่ต่ำกว่า 4 ภาคการศึกษาปกติหรือไม่เกิน 6 ภาค ในหลักสูตร 4 ภาคการศึกษาปกตินี้ นักศึกษาจะใช้เวลาเรียนได้ไม่เกิน 8 ภาคการศึกษาปกติ ส่วนหลักสูตร 6 ภาคการศึกษา จะใช้เวลาเรียนได้ไม่เกิน 12 ภาค

หลักสูตรปริญญาตรีกำหนดให้มีระยะเวลาการศึกษาปกติ จะใช้เวลาเรียนได้ไม่เกิน 16 ภาค

แบ่งการศึกษาเป็นระบบ 2 ภาคในหนึ่งปีการศึกษา โดยต้องมีเวลาเรียนในชั้นอย่างน้อย 16 สัปดาห์ต่อภาค

จำนวนหน่วยกิต ในหลักสูตรประกาศนียบัตรต้องมีหน่วยกิตอย่างน้อย 80 หน่วยกิตปริญญาตรีอย่างน้อย 120 หน่วยกิต

หลักสูตรจะต้องประกอบด้วยวิชาศิลปศาสตร์และวิชาชีพ รายละเอียดของหลักสูตรให้ยึดตามข้อพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาหลักสูตรเฉพาะสาขาวิชาที่ได้รับแต่งตั้งเป็นเกณฑ์



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.