โครงการมหาวิทยาลัยรังสิตเป็นโครงการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาของภาคเอกชน
เพิ่งจะประกาศตัวออกมาเมื่อไม่นานมานี้
คณะผู้ริเริ่มและดำเนินการโครงการที่สำคัญๆ ประกอบด้วย นายประสิทธิ์ อุไรรัตน์
พลเอกพร ธนภูมิ และ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ หรือก็คือคณะผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลพญาไท
นั่นเอง
โครงการมหาวิทยาลัยรังสิตจะมีที่ตั้งอยู่บนเนื้อที่กว่า 260 ไร่ บริเวณตำบลหลักหก
อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ห่างจากถนนพหลโยธินราวๆ 2 กิโลเมตร ก็คงพอสรุปได้ว่าน่าจะมีสภาพแวดล้อมให้ความร่มรื่นและสงบเหมาะแก่การเรียนการสอน
ส่วนการคมนาคมติดต่อกับแหล่งชุมชนก็สะดวกพอสมควรอีกทั้งสาธารณูปโภคต่างๆ
ก็พอจะครบถ้วนสมบูรณ์ได้ไม่ยาก
ผู้ริเริ่มและดำเนินการกำหนดไว้ว่าโครงการนี้จะต้องใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ
400 ล้านบาท ระยะเวลาเตรียมการและก่อสร้าง 5 ปี โดยจะมีสิ่งปลูกสร้างหลักอย่างน้อย
20 รายการด้วยกัน อาทิ อาคารอำนวยการ อาคารประจำคณะต่างๆ โรงฝึกงาน
หอพักนักศึกษาขนาดใหญ่ โรงพิมพ์ของมหาวิทยาลัย โรงซักรีด สโมสรนักศึกษา สนามกีฬาและสนามฟุตบอล
เป็นต้น
ด้านคณะที่จะเปิดสอนก็ประกอบด้วย คณะเทคโนโลยีการจัดการ สาขาวิชาบัญชี
สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ สาขาวิชาบริหารธุรกิจ และสาขาวิชาบริหารงานอุตสาหกรรม
คณะต่อมาได้แก่คณะพยาบาลศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพ ซึ่งจะมีสาขาวิชาเทคนิคการแพทย์
สาขาวิชารังสีวิทยา และสาขาวิชากายภาพบำบัด
และคณะสุดท้ายคือคณะวิศวกรรมศาสตร์ จะประกอบด้วย สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า
สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สาขาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สาขาวิชาวิศวกรรมปิโตรเคมีและสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหกรรม
"ในการตัดสินใจเปิดสอนคณะและสาขาวิชาต่างๆ เหล่านี้ เราได้คำนึงถึงว่ามันเป็นสาขาที่บ้านเราขาดแคลนคน
นอกนั้นเรายังพยายามจะสร้างทรัพยากรคนให้เป็นไปตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติด้วย"
พินิจ วุฒิพันธ์ ผู้ประสานงานของโครงการกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
คณะต่างๆ ที่จะเปิดสอนนี้ ปีแรกจะเริ่มด้วยการเปิดสอนคณะวิชาเทคโนโลยีการจัดการและพยาบาลศาสตร์ก่อน
ในปีต่อๆ ไปจึงค่อยทยอยเปิดสอนในคณะศิลปศาสตร์ คณะวิศวกรรม และคณะที่เหลืออื่นๆ
"และเราตั้งเป็นนโยบายที่จะเปิดสอน คณะเภสัชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ด้วยในอนาคต"
พินิจบอกให้ฟัง
โครงการมหาวิทยาลัยรังสิตได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้ง (เป็นวิทยาลัยเอกชนก่อน)
เมื่อตันปี 2528 ถือว่าเป็นวิทยาลัยเอกชนรายที่ 17 ที่ทบวงมหาวิทยาลัยอนุมัติให้ดำเนินโครงการได้
และตามกฎหมายเมื่อโครงการก่อสร้างต่างๆ แล้วเสร็จก็จะต้องขออนุญาตเปิดทำการเรียนและสอนอีกครั้งหนึ่ง
"อันนี้เป็นไปตามขั้นตอน คือขออนุญาตจัดตั้งมาก็ตรวจกันไปครั้งหนึ่งก่อนว่าจะมีความสามารถทำได้ไหม
เมื่อเห็นว่าน่าจะทำได้ก็อนุญาต พอเขาสร้างทุกอย่างเสร็จเราก็จะไปตรวจว่าเป็นไปตามพระราชบัญญัติและกฎทบวงมหาวิทยาลัยถูกต้องทุกประการหรือไม่
ถ้าทุกอย่างเรียบร้อยก็อนุญาตให้เปิดสอนได้" เจ้าหน้าที่ระดับสูงในทบวงมหาวิทยาลัยอธิบายให้ฟัง
"สำหรับเราก็เชื่อว่าเรามีความพร้อมมาก โครงการคงสำเร็จได้ตามเป้าหมาย และสามารถเปิดสอนได้ครบทุกคณะที่ประกาศไว้"
เจ้าของโครงการมหาวิทยาลัยรังสิตยืนยัน
ความพร้อมด้านเงินทุนเป็นประการหนึ่งที่คณะผู้ริเริ่มโครงการค่อนข้างจะมั่นใจมากแม้ว่าจะต้องใช้เงินทุนสูงถึง
400 ล้านบาท ซึ่งคงต้องถือเป็นการลงทุนครั้งแรกที่สูงที่สุดในการจัดตั้งวิทยาลัยเอกชนถ้าจะนับจากอดีตมาจนถึงปัจจุบันนี้
แผนงานด้านการจัดหาเงินทุนนั้น ได้มีการตระเตรียมไว้โดยตั้งบริษัทประสิทธิรัตน์
จำกัด ขึ้นเป็นผู้สนับสนุนโครงการ
บริษัทประสิทธิรัตน์ตั้งเป้าหมายว่าจะมีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 50 ล้านบาท
แบ่งเป็นหุ้นจำนวน 500,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท โดยจะเปิดขายหุ้นให้กับผู้สนใจจะลงทุนทั่วไป
"พูดได้ว่ามันก็เป็นหลักการเดียวกับที่คุณประสิทธิ์และ ดร.อาทิตย์ ก่อตั้งโรงพยาบาลพญาไท
คือ ดร.อาทิตย์ท่านจะพูดเสมอว่า เราไม่มีเงิน ก็ทำแบบไม่มีเงิน ขอให้ทุกคนช่วยๆ
กัน ปรากฎว่าบริษัทประสิทธิ์พัฒนาผู้สนับสนุนโรงพยาบาลพญาไทก็มีคนซื้อหุ้นกันล้นหลาม
จึงประสบความสำเร็จ ครั้งนี้ก็คงคล้ายๆ กัน" พินิจ วุฒิพันธ์ เล่าให้
"ผู้จัดการ" ฟัง
ส่วนเงินลงทุนอีก 350 ล้านบาทที่เหลือจะเป็นเงินกู้ระยะยาวค้ำประกันโดยธนาคารมหานคร แหล่งข่าววงในเปิดเผยถึงเงินกู้ก้อนนี้ว่า
เป็นเงินฟรังส์สวิสอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก ซึ่งผู้ติดต่อกู้ยืมเข้ามาก็คือ ดร.อาทิตย์
อุไรรัตน์ หนึ่งในคณะผู้ริเริ่มและดำเนินโครงการนี้นั่นเอง
อีกประการหนึ่งที่ผู้จัดทำโครงการมหาวิทยาลัยรังสิตรู้สึกเชื่อมั่นไม่แพ้กัน ก็คือความพร้อมด้านกำลังคน
โดยเฉพาะคณาจารย์ที่จะต้องเป็นผู้ทำการสอน ซึ่งเป็นเครื่องวัดชื่อเสียงและคุณภาพของวิทยาลัยเอกชนที่สำคัญมากที่สุดอันหนึ่ง
โครงการมหาวิทยาลัยรังสิตได้โยนงานด้านตระเตรียมบุคลากรไปให้คณะกรรมการกลุ่มหนึ่ง
เรียกว่าคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย และคณะกรรมการนี้ประกอบด้วย นายประสิทธิ์
อุไรรัตน์ พลเอกพร ธนภูมิ ม.ร.ว.พัฒนไชย ไชยันต์ ศาสตราจารย์ ดร.ชัย มุกตพันธุ์
อดีตอธิบดีกรมอาชีวศึกษาและคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศาสตราจารย์ ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้จัดการใหญ่บริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติคนปัจจุบัน
ศาสตราจารย์ ดร.อาณัติ อาภาภิรม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ดร.อาชว์
เตาลานนท์ จากเครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ ศาสตราจารย์ นายแพทย์วีกูล วีรานุวัติ
อดีตคณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล นาวาตรีกำธน สินธวานนท์ รองผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิต
ดร.ปกรณ์ อดุลพันธุ์ จากบริษัทปูนซิเมนต์ไทย และดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ผู้ว่าการประปานครหลวง
และผู้อำนวยการบริหารโรงพยาบาลพญาไท รวมเบ็ดเสร็จ 11 ท่านด้วยกัน
คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยจะเริ่มต้นด้วยการเป็นผู้ลงมติคัดเลือกผู้ที่จะมาเป็นอธิการของวิทยาลัยและคณะบดีแต่ละคณะ
"จะเลือกตำแหน่งเหล่านี้เป็นแกนก่อน ซึ่งเราหวังจะได้คนดีมีฝีมือมาร่วมงาน
และคนดีมีฝีมือที่ได้มานี้ก็จะเป็นแม่เหล็กที่จะดึงดูดอาจารย์มือดีๆ เข้ามาอีกชั้นหนึ่ง
ตอนนี้เรามองไว้แล้วว่าจะเอาใครมาเป็นอธิการและคณบดี แต่คงไม่เหมาะที่จะเปิดเผย
นโยบายอย่างหนึ่งของเราเกี่ยวกับเรื่องการตระเตรียมบุคลากรยืนยันได้เลยว่า
เราจะไม่ขี้เหนี่ยว เราพร้อมจะลงทุนจ้างคนมีฝีมือเข้ามาด้วยค่าตอบแทนที่เรากล้าทุ่มเทจริงๆ
" พินิจ วุฒิพันธุ์ ผู้ประสานงานของโครงการกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ด้วยน้ำเสียงมั่นอกมั่นใจ
และประการสุดท้ายที่เป็นความเชื่อมั่นอีกเช่นกันก็คือประสบการณ์
จริงอยู่ที่คณะผู้ริเริ่มและดำเนินโครงการนี้ไม่มีประสบการณ์ตรงด้านการจัดตั้งวิทยาลัยเอกชนหรือการลงทุนด้านการศึกษาในระดับต่างๆ
ลงมา ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนอนุบาลหรือโรงเรียนพาณิชย์ แต่กระนั้นถ้าจะพิจารณาว่า
โรงพยาบาลกับวิทยาลัยเอกชนเป็นงานกึ่งการกุศลและกึ่งธุรกิจเหมือนๆ กันแล้ว
คณะผู้ริเริ่มและดำเนินโครงการนี้ก็พอจะพูดได้ว่า มีประสบการณ์อยู่มากพอสมควร
"เขาพอจะมีประสบการณ์อยู่ว่าอะไรเพื่อสังคมและอะไรเพื่อผู้ถือหุ้นที่ลงทุนไปแล้วก็หวังว่าจะได้ผลตอบแทนกลับมา"
แหล่งข่าววงในคนหนึ่งกล่าว
การลงทุนด้านการศึกษาโดยเฉพาะในระดับของอุดมศึกษานั้น นับจากอดีตมาจนถึงปัจจุบันพอจะมองเห็นได้ว่าภาคเอกชนมีขีดขั้นของความสนใจที่ต่ำอย่างมากๆ
คิดถ้าเป็นการลงทุนของภาคเอกชนจริงๆ ไม่ใช่องค์กรการกุศลหรือสมาคมแล้วก็จะเป็นการเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ
ขึ้นมา อย่างเช่นเป็นโรงเรียนกวดวิชา โรงเรียนพาณิชย์หรือโรงเรียนช่างกลเมื่อ
10-20 ปีก่อน แล้วจึงค่อยๆ สะสมทุนสร้างกันขึ้นมาเป็นสถาบันอุดมศึกษา
การขยายตัวให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่สมบูรณ์แบบจริงๆ จึงเป็นไปได้ยาก
"ก็ไม่ต้องดูมากหรอก ผมยืนยันได้เลยว่าขณะนื้ไม่มีวิทยาลัยเอกชนแห่งไหนที่สามารถปฏิบัติได้ตามกฎของทบวง
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเนื้อที่ห้องเรียนต่อจำนวนนักศึกษา มาตรฐานของโรงฝึกงาน จำนวนอาจารย์ต่อจำนวนนักศึกษา
ไม่มีแห่งไหนที่ถูกต้องสมบูรณ์เด็ดขาด รับรองได้…" คนของทบวงมหาวิทยาลัยแย้มๆ
ออกมา
ขีดขั้นตอนความสนใจที่มีอยู่ต่ำนี้ ถ้าจะอธิบายว่าคงเป็นเพราะเกรงจะไม่มีคนมาเรียนแล้วก็คงอธิบายเช่นนั้นไม่ได้แน่
เพราะจากตัวเลขที่ได้มานั้นพบว่า ประเทศไทยมีจำนวนนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปลายสายสามัญซึ่งมุ่งจะศึกษาในระดับสูงต่อไป
ปีหนึ่งๆ ตกประมาณ 140,000-150,000 คน ในจำนวนนี้ระบบมหาวิทยาลัยปิดของรัฐจะสามารถรับศึกษาต่อได้ราวๆ
19,000 คน วิทยาลัยของเอกชนรวมกันอีกไม่เกิน 10,000 คน รวมแล้วเท่ากับจะมีผู้ตกค้างอยู่อีกไม่น้อยกว่า
110,000 ในแต่ละปี
เฉพาะโครงการมหาวิทยาลัยรังสิตที่ตั้งเป้าว่าจะรับนักศึกษาได้ราว 2,000
คนต่อปีนั้น คิดแล้วก็เพียง 1.4 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียนที่ตกค้างเท่านั้น
ตลาดของวิทยาลัยเอกชนจึงต้องจัดว่ายังเปิดกว้างมาก มีจำนวนผู้ต้องการใช้บริการล้นเหลือ
จากสถิติของกระทรวงศึกษาธิการซึ่งได้ทำการแยกแยะเปรียบเทียบจำนวนร้อยละของนักเรียนในระบบโรงเรียนระดับต่างๆ
นั้น พบว่า ในระดับอาชีวศึกษาภาครัฐบาลสามารถจัดการศึกษาได้ในอัตราร้อยละ
51 ภาคเอกชนร้อยละ 49 ระดับสามัญศึกษาเป็นของภาครัฐบาลร้อยละ 91 และเอกชนร้อยละ
9 ในชั้นประถม มัธยมต้นและมัธยมปลายเป็นของรัฐบาลร้อยละ 85 ภาคเอกชนร้อยละ
15
และในระดับอนุบาลรัฐบาลมีบทบาทเพียง 11 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเอกชนมีบทบาท 89
เปอร์เซ็นต์
สถิติข้างต้นนี้พอจะบอกอะไรได้หลายอย่าง โดยเฉพาะในแง่พฤติกรรมของเอกชนผู้สนใจลงทุนด้านการศึกษาของบ้านเราแล้วคงพอจะมองได้ว่า
ยังนิยมที่จะลงทุนในระดับการศึกษาที่รัฐบาลยื่นมือเข้าไปไม่ถึงมาก เป็นการลงทุนที่ไม่ต้องใช้งบสูง
กฎเกณฑ์น้อยและผลตอบแทนได้กลับมาเร็วเป็นกอบเป็นกำ โดยเฉพาะผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน
เพราะฉะนั้นการลงทุนในระดับอนุบาลจึงกลายเป็นการลงทุนที่เหมาะสมที่สุดตามค่านิยมดังกล่าวนี้
และการลงทุนในระดับอุดมศึกษาเปรียบเทียบระหว่างภาครัฐบาลกับภาคเอกชนจึงออกมาเป็น
90 ต่อ 10 หรือเกือบจะตรงกันข้ามกับการลงทุนเปิดโรงเรียนอนุบาล ก็เพราะจะต้องเป็นการลงทุนที่ใช้งบสูงมาก
มีกฎระเบียบบังคับไว้มากมาย และทบวงมหาวิทยาลัยต้องการให้การลงทุนนี้เป็นโครงการระยะยาวมีความมั่นคงจึงได้กำหนดให้ผลกำไรจากการดำเนินการทุกๆ
100 บาทจะต้องปัดเข้ากองทุนของวิทยาลัยเพื่อใช้ลงทุนต่อไป 60 บาท อีก 40
บาทเท่านั้นจะสามารถจ่ายเป็นปันผลคืนผู้ถือหุ้นได้
กฎข้อหลังนี้พูดกันง่ายๆ ก็คือ ผลกำไรจากการลงทุนจะออกมาในรูปของการเพิ่มมูลค่าในสินทรัพย์เป็นหลักนั่นเอง
คงจะยังให้ข้อสรุปในขณะนี้ไม่ได้ชัดเจนว่า โครงการระดับ 400 ล้านบาทของมหาวิทยาลัยรังสิตจะมีหน้าตาออกมาอย่างไร
จะสำเร็จหรือล้มเหลว
แต่ก็เห็นจะเป็นโครงการที่ต้องกล่าวชมผู้ริเริ่มและผู้ดำเนินการที่พยายามแหวกค่านิยมเก่าๆ
ออกมา มันมีคุณค่าต่อสังคมมากมายนัก โดยเฉพาะถ้าจะนำไปเปรียบเทียบกับนักลงทุนเก็งกำไรระยะสั้นที่ไม่ได้ให้อะไรแก่สังคมแม้สักกระผีกลิ้น