วิชัย มาลีนนท์ คือหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดของกลุ่มธารวณิชกุล และวิจิตรานนท์
ซึ่งเป็นกลุ่มธนาคารเอเชียทรัสต์
วิชัย มาลีนนท์ ปัจจุบันอายุ 66 ปี เป็นคนที่มีฐานะดีมากถึงขั้นมหาเศรษฐีที่ค่อนข้างจะ
LOW PROFILE คนหนึ่ง
วิชัยเมื่อหนุ่มๆ ขับรถบรรทุกและคุมคิวรถอยู่แถวหัวลำโพง
วิชัยมาเริ่มร่ำรวยจริงๆ ก็เป็นยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยได้เป็นเอเย่นต์ลอตเตอรี่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
หลังจากนั้นวิชัยก็หันมาจับงานด้านก่อสร้าง
จากวงการค้า วิชัยได้รู้จักกับจอห์นนี่ มา และพวกวิจิตรานนท์ จึงชวนกันมาลงทุนทำกิจการโทรทัศน์ช่อง
3
กำเนิดช่อง 3
เหมือนกับการกำเนิดของทุกๆ อย่าง ที่ต้องมีเจ้าของโครงการและมีนายทุน แล้วก็ใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อวิ่งเต้นให้ได้มาซึ่งสิทธิ์นั้น
เจ้าของโครงการต้นคิดโครงการช่อง 3 จริงๆ นั้นเป็นคนไทยเชื้อสายแขก ชื่อ
มนูญศิริ ขัตติยะอารี ซึ่งปัจจุบันอายุ 59 ปี และเป็นผู้จัดการทั่วไปของบริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นท์
จำกัด
มนูญศิริเป็นคนร่างโครงการแล้วนำโครงการมาเสนอขายให้กับวิชัย มาลีนนท์
บริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ก็เกิดขึ้นมาด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท แบ่งเป็นหนึ่งหมื่นหุ้น
เมื่อปลายปี 2510 ในยุคของจอมพลถนอมและประพาสครองเมือง
ในขั้นต้นนั้นกลุ่มธารวณิชกุล และวิจิตรานนท์ยังไม่ได้เข้ามาร่วม ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ก็มี
วิชัย มาลีนนท์ ถืออยู่ 40% จิตต์ แพร่พานิช เจ้าของร้านแพร่พิทยาที่วังบูรพา
ถืออยู่ 45% ส่วนมนูญศิริ ขัตติยะอารี เจ้าของโครงการถืออยู่ 2.5%
ในการที่จะวิ่งเต้นนั้นต้องใช้อำนาจทางการเมืองช่วย ซึ่งเป็นสัจธรรมในการทำธุรกิจยุคเผด็จการครองเมือง
ก็เผอิญกลุ่มจอห์นนี่ มา และวิจิตรานนท์ มีเพื่อนสนิทที่เข้านอกออกในกับกลุ่มของจอมพลถนอมได้ดีอยู่
สองคน คือ พลโท ม.ร.ว.ลาภ หัสดินทร อดีตผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ และพลโทประชุม
ประสิทธิ์สรจักร์ ซึ่งทั้งสองเป็นตัวจักรในการวิ่งใบอนุญาตมา
และนี่คือจุดเริ่มต้นของการเข้ามาร่วมระหว่างตระกูลมาลีนนท์กับกลุ่มเอเชียทรัสต์
ส่วนทางกลุ่มจิตต์ แพร่พานิช ก็ถูกซื้อออกไปเมื่อมีการเพิ่มทุนจากหนึ่งล้านบาทเป็น
12 ล้านบาทเพียง 1 ปีหลังจากตั้งบริษัท ฯ
การบริหารช่อง 3
ในการบริหารช่อง 3 นั้น วิชัย มาลีนนท์ ได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้จัดการ
โดยคุณหญิงลลิลทิพย์ ธารวณิชกุล เป็นประธานกรรมการ
ในการดำเนินงานช่วง 4-5 ปีแรก นั้นเป็นภาวการณ์ที่ต้องอดทน เพราะการลงทุนตั้งสถานีโทรทัศน์นั้นต้องใช้เงินทุนระยะแรกสูง
ซึ่งก็ถูกตั้งไว้เป็นรายจ่ายคงค้างที่ต้องทยอยจ่ายไป ค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งก็คงจะเป็นเงินใต้โต๊ะที่ต้องจ่ายให้ผู้เกี่ยวข้องในการที่จะได้ใบอนุญาตมาด้วย
ในต้นปี 2514 นั้น วิชัย มาลีนนท์ถึงกับมีดำริว่าอยากจะลาออกจากตำแหน่ง
เพราะเหน็ดเหนื่อยกับปัญหานานาชนิดทำให้บริษัทไม่กำไร
"คุณวิชัยแกเห็นว่าแกชักชวนพวกเอเชียทรัสต์มาลงทุนแล้วต้องขาดทุนก็เสียใจอยากลาออก
แต่คุณหญิงลลิลทิพย์แกขอให้อยู่ต่อ และยังบอกว่าการลงทุนในกิจการโทรทัศน์นั้นเหมือนอุตสาหกรรมใหญ่ๆ
อันหนึ่ง จะหวังผลกำไรปีแรกๆ ไม่ได้ คุณหญิงชมคุณวิชัยว่า มาได้ขนาดนี้ก็นับว่าเก่งแล้ว"
แหล่งข่าวที่อยู่ช่อง 3 มาตั้งแต่เดิมเล่าให้ "ผู้จัดการ "
ฟัง
ช่อง 3 เริ่มจะมีกำไร และฟื้นทุนได้นับตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นไป หลังจากเริ่มมาได้
5 ปี
"ในการบริหารงานช่อง 3 นั้น เอเชียทรัสต์เขาปล่อยให้กลุ่มมาลีนนท์บริหารตลอดอย่างเต็มที่
เขามีคุณนิรันดร์ วิจิตรานนท์ เท่านั้น เข้ามาเป็นกรรมการรองผู้จัดการ เพื่อเป็นตัวแทนดูแลผลประโยชน์ของเอเชียทรัสต์
ความสนิทสนมของ 2 กลุ่มนี้จึงมีมาแต่ดั้งเดิม เป็นความใกล้ชิดที่ต่างฝ่ายต่างก็เกรงใจกันอย่างมากๆ
จะอย่างไรก็ตามถึงช่อง 3 จะได้กำไรขนาดไหนก็ตาม แต่ยุคสมัยของการทำงานกันอย่างง่ายๆ
สบายๆ ก็คงจะหมดลงแล้ว
ช่อง 3 ยังเหลือสัญญาอีกประมาณ 6 ปีถึงจะหมด และเมื่อถึงวันนั้น การต่อสัญญาครั้งใหม่นี้
ก็คงจะไม่ง่ายเหมือนครั้งที่แล้วมาในสมัยที่ดุสิต ศิริสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ
และสำคัญที่สุดก็ตรงที่ เมื่อมาถึงวันนี้แล้ว หุ้นส่วนใหญ่ด้านธารวณิชกุลและวิจิตรานนท์ก็คงจะไม่มีธนาคารเอเชียทรัสต์ที่จะเอาไปให้ความอบอุ่นกับมาลีนนท์ในการเป็นฐานการประมูลอีกต่อไป