|
คอนเซ็ปต์สโตร์เฟื่อง ยุคไอทีแข่งสร้าง 'แบรนด์'
ASTVผู้จัดการรายสัปดาห์(14 กรกฎาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว เทคนิคสร้างการรับรู้ 'แบรนด์' ของสินค้าไอที นอกจากการวางกระจายสินค้าผ่านดีลเลอร์ให้มากเข้าไว้แล้ว การเข้าร่วมออกบูทตามมหกรรมขายสินค้าต่างๆ ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่แบรนด์ยักษ์ๆ ไม่ว่าจะเป็นเอเซอร์ เอชพี แคนนอน เอปสัน ฯลฯ ต่างจำเป็นต้องพาเหรดเข้าร่วมทุกงาน เพื่อเป็นการประกาศให้ผู้บริโภครับรู้ว่าเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียง
แต่มาวันนี้ เทคนิคการสร้าง 'แบรนด์' ได้เปลี่ยนไป เจ้าของแบรนด์ดังมองถึงวิธีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเพื่อเข้าถึงตลาดกลุ่มใหม่ที่ยังไม่รู้จักแบรนด์ดีพอ รวมไปถึงแฟนพันธุ์แท้ จึงทำให้เกิดการนำแนวคิด 'แบรนด์ชอป' เข้ามาใช้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสสัมผัสผลิตภัณฑ์อื่นภายใต้ชายคาแบรนด์เดียวกันให้ดียิ่งขึ้น
แคนนอน คอนเซ็ปต์ สโตร์ เป็นแบรนด์ชอปที่มีที่มาที่ไปจากนายใหญ่คนใหม่ของ บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด 'วาตารุก นิชิโอกะ' ประธานและประธานกรรมการบริหารที่ดัดแปลงแนวคิดที่ต้องการสร้างแบรนด์ชอปบนโลกอินเทอร์เน็ต แต่เนื่องจากสภาพแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นเรื่องเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และจำนวนผู้ใช้งานที่ยังไม่แพร่หลาย จึงทำให้แนวคิดดังกล่าวต้องแปรเปลี่ยนมาเป็นแคนนอน คอนเซ็ปต์ สโตร์ แทน
'ทางแคนนอนได้เปิดคอนเซ็ปต์ สโตร์ ที่เซ็นทรัล ชลบุรี เป็นแห่งที่ 2 ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่มี' วาตารุก นิชิโอกะ เล่าให้ฟัง
ทำไม แคนนอน ถึงเปิดคอนเซ็ปต์ สโตร์ ในประเทศไทย คำตอบที่ได้จากประธานบริษัทหนุ่มคือ ประเทศไทยเป็นตลาดหนึ่งในประเทศยุทธศาสตร์สำคัญของแคนนอนในเอเชีย และเป็นตลาดที่มีศักยภาพที่ยังมีโอกาสเติบโตสูง
สาเหตุที่แคนนอนเลือก เซ็นทรัล ชลบุรี เป็นทำเลที่ตั้งแห่งที่ 2 ต่อจากคอนเซ็ปต์ สโตร์ต้นแบบที่จังหวัดภูเก็ตมาแล้ว เพราะเป็นจังหวัดที่มีอัตราการเติบโตด้านเศรษฐกิจสูง ทั้งมีความต้องการด้านเทคโนโลยีการถ่ายภาพมากขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้ แคนนอนมุ่งหวังให้เป็นแหล่งในการอัปเดตเทคโนโลยีใหม่ๆ สำหรับผู้ใช้สินค้าแคนนอน เพื่อตอกย้ำแนวคิด 'โททัล อิมเมจจิ้ง รีโวลูชั่น' ด้วยการจำลองพื้นที่ภายในชอปให้ผู้ที่เข้ามาภายในชอปแห่งนี้ได้มีโอกาสสัมผัสสินค้าในกลุ่ม 'อิมเมจจิ้ง' ที่ประกอบไปด้วยกล้องดิจิตอลคอมแพกต์ จนถึงกล้องดิจิตอลเอสแอลอาร์ครบไลน์ และโซลูชั่นการพิมพ์จากพรินเตอร์ของแคนนอน
ภายในแคนนอน คอนเซ็ปต์ สโตร์ แบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ มุมกล้องดิจิตอลแบบคอมแพกต์ มุมกล้องดิจิตอลเอสแอลอาร์ที่มีเลนส์ต่างๆ ให้ลองสัมผัส ได้ทดลองถ่าย เรียกว่า เลนส์ใหญ่ๆ ตัวเป็นแสนบาท สามารถขอมาทดลองใช้งานได้ หลังจากถ่ายเสร็จ ก็จะได้สัมผัสกับโซลูชั่นการพิมพ์จากพรินเตอร์หลากหลายขนาด ตั้งแต่พรินเตอร์ที่พรินต์รูปขนาดโปสการ์ด จนถึงพรินเตอร์ที่พรินต์ภาพได้ใหญ่ถึง เอ3
นอกจากจะพบกับรูปแบบการนำเสนอสินค้าเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์การถ่ายภาพแบบครบวงจรแล้ว ผู้ที่เข้ามาใช้บริการภายในแบรนด์ชอปของแคนนอนแห่งนี้ยังสามารถสอบถามเกี่ยวกับสินค้า ร่วมทำกิจกรรม ร่วมเวิร์กชอปและทดสอบประสิทธิภาพการทำงานของสินค้าประเภทต่างๆ บริการซ่อมบำรุง รวมถึงสินค้าที่เป็นซูเวเนียร์เฉพาะซับแบรนด์ที่หาไม่ได้จากดีลเลอร์ จะหาซื้อได้ที่คอนเซ็ปต์ สโตร์แห่งนี้ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้าไปถึงกรุงเทพฯ เหมือนในอดีต
ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ก็มองหาช่องทางการสื่อสารเกี่ยวกับการใช้ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ ซึ่งวิธีที่ได้ผลก็คือ ผ่านทางแบรนด์ชอปของตัวเอง จึงได้เปิดแบรนด์ชอป 'Microsoft Experience Center' แห่งที่ 2 ที่ จ.เชียงใหม่ ขึ้นมา หลังจากประสบความสำเร็จอย่างดีจากที่ ไอทีมอลล์ ฟอร์จูน ในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยร่วมมือกับบริษัท เชียงใหม่ สยามทีวี จำกัด ดีลเลอร์รายใหญ่ที่ขายสินค้าไอทีในเชียงใหม่ที่ไม่สนับสนุนการใช้ซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการที่ไม่ถูกต้องลิขสิทธิ์
Microsoft Experience Center เป็นที่แรกที่ทาง 'ไมโครซอฟท์' ร่วมลงทุนกับ 'สยามทีวี' ในลักษณะที่ไมโครซอฟท์เรียกว่า Shop in Shop คือ ตั้งอยู่ภายในร้านค้าของคู่ค้าและบริหารจัดการโดยคู่ค้า ภายใต้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดจากไมโครซอฟท์
Microsoft Experience Center จะเป็นสถานที่สำหรับทดลองการใช้งานซอฟต์แวร์แท้ล่าสุดจากไมโครซอฟท์ โดยมีพนักงานที่คอยให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซอฟต์แวร์ที่เหมาะสมกับการใช้งานของตัวเองได้
คอมพิวเตอร์ที่นำเข้ามาขายภายในร้านของสยามทีวี มีเพียง 40% ที่มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ที่เหลืออีก 60% เป็นเครื่องเปล่า ซึ่งทางร้านจะแนะนำให้ลูกค้าเลือกซื้อระบบปฏิบัติการที่ถูกลิขสิทธิ์ไปใช้
'ส่วนใหญ่ลูกค้าจะเข้าใจและยอมซื้อซอฟต์แวร์ถูกต้องตามลิขสิทธิ์ไปใช้ แต่มีลูกค้าราว 10% ที่ไม่ยอม อยากจะลงของเถื่อน ซึ่งทางร้านก็จะไม่ลงให้ และจะไม่ขายเครื่องที่ไม่มีซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ออกไปเด็ดขาด' ดร.พิทักษ์ ปลื้มพิทักษ์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เชียงใหม่ สยามทีวี จำกัด กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|