บุญชนะ อัตถากร อีกบทบาทหนึ่งในธุรกิจประกันชีวิต


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2528)



กลับสู่หน้าหลัก

ศาสตราจารย์บุญชนะ อัตถากร เป็นผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันในหลาย ๆ วงการ และออกจะเป็นผู้ที่มีภาพอยู่หลายภาพในตัว

ศาสตราจารย์บุญชนะเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหลายกระทรวงหลายยุค เคยเป็นนักการทูต เป็นนักการเมือง นักวิชาการ นักเขียนผู้ซึ่งผลิตผลงานออกมาทั้งที่เป็นงานด้านวิชาการและอัตชีวประวัติในแต่ละช่วงของท่าน นอกจากนี้ยังเคยถูกระบุว่าจะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในครั้งที่กลุ่มยังเติร์กก่อการรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ 1-3 เมษายน 2525 อีกด้วย

ในทางธุรกิจศาสตราจารย์บุญชนะก็เป็นกรรมการบ้าง ที่ปรึกษาบ้าง ให้กับองค์กรธุรกิจหลายแห่ง และโดยส่วนตัวนั้นเท่าที่ทราบกันท่านเป็นเจ้าของโรงแรมฟลอริดาซึ่งตั้งอยู่บริเวณสี่แยกพญาไท

ศาสตราจารย์บุญชนะสำเร็จเนติบัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ปริญญาโทด้านรัฐประศาสนศาสตร์และการคลังจากมหาวิทยาลัยอินเดียน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศนียบัตรด้านการพัฒนาเศรษฐกิจจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ด้านรัฐประศาสนศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ทางด้านนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอินเดียน่า สถาบันที่ท่านสำเร็จปริญญาโทมา

ในด้านผลงานและบทบาทที่เด่นๆ ก็เห็นจะได้แก่ การที่ท่านเป็นผู้กำหนดนโยบายและวางแผนโครงการต่างๆ ให้แก่แผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะ 6 ปีฉบับแรกของประเทศไทย ซึ่งประกาศใช้เมื่อปี 2504 ส่วนหน้าที่ที่ถือเป็นเกียรติสูงสุดก็คือ ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการหรือคือกระทรวงพาณิชย์ในปัจจุบัน และตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา

และในวันนี้ด้วยวัย 75 ปี ศาสตราจารย์บุญชนะกำลังเพิ่มบทบาทให้แก่ตัวเองอีกบทบาทหนึ่งด้วยการเข้ารับตำแหน่งทางธุรกิจเป็นประธานกรรมการบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันชีวิต

บริษัทไทยเศรษฐกิจประกันชีวิต เป็นบริษัทที่ได้แยกการประกอบธุรกิจประกันชีวิตออกมาเป็นเอกเทศจากบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัย เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2526 ขณะนี้ไทยเศรษฐกิจประกันชีวิตมีทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 36 ล้านบาท

กลุ่มที่เข้าไปซื้อกิจการประกันชีวิตของไทยเศรษฐกิจประกันภัยและแยกเป็นบริษัทต่างหาก คือ บริษัทไทยเศรษฐกิจประกันชีวิตนั้นก็คือ กลุ่มของศาสตราจารย์บุญชนะ อัตถากร กลุ่มตระกูลเคียงศิริ และกลุ่มตระกูลอัศวินวิจิตร ซึ่งมีพื้นฐานมาจากการค้าส่งออกข้าวและพืชผลการเกษตรอีกหลายชนิด

ทั้งนี้ทั้ง 3 กลุ่มถือหุ้นอยู่ในอัตราส่วนที่เท่าๆ กัน

สำหรับบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัย มีประวัติเริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2485 โดยการสนับสนุนของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลขณะนั้น ไทยเศรษฐกิจประกันภัยประกอบธุรกิจทั้งด้านการประกันวินาศภัยและประกันชีวิต มีทุนจดทะเบียนครั้งแรกสุด 4 ล้านบาท แต่เรียกชำระเพียง 25% ผลการดำเนินงานปรากฏว่า ประสบความสำเร็จด้วยดี สามารถนำเงินปันผลมาจ่ายเป็นค่าหุ้นได้ในปีต่อๆ มา จนครบ 4 ล้านบาทโดยไม่ต้องเรียกเงินเพิ่มจากผู้ถือหุ้น

ในปี 2519 หรืออีก 34 ปีต่อมา เพิ่มทุนเป็นครั้งแรกจาก 4 ล้านบาทเป็น 8 ล้านบาทและเพิ่มอีกเป็น 10 ล้านบาทในปี 2521

ปี 2525 อันเป็นปีที่ดำเนินกิจการมาครบ 40 ปีเต็ม จึงได้มีการเสนอเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 40 ล้านบาท

ไทยเศรษฐกิจประกันภัยนับเป็นผู้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยและประกันชีวิตที่มีอายุเก่าแก่มากแห่งหนึ่งของไทย แต่ถ้ามองด้านผลการดำเนินงานแล้วก็จะพบว่ามีอัตราการเติบโตที่ช้าและน้อยมาก ทั้งนี้ว่ากันว่าสาเหตุใหญ่ก็คือ การขาดแคลนผู้บริหารที่มีฝีมือมาโดยตลอด

เพราะฉะนั้นนับตั้งแต่ปี 2525 อันเป็นปีที่ผู้ถือหุ้นจะต้องควักเงินเพิ่มทุนในทันทีอีก 30 ล้านบาทเพื่อให้มีทุนจดทะเบียนเป็น 40 ล้านบาทนั้น ก็ได้ชักนำการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เข้ามาด้วย

ไทยเศรษฐกิจประกันภัยมีผู้ถือหุ้นใหญ่ประมาณ 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ส่วนภาคเอกชนก็แบ่งกันถือหุ้นคนละเล็กละน้อยจำนวนหลายสิบราย เพราะฉะนั้นกรรมการผู้มีเสียงชี้ขาดจึงเป็นกรรมการจากกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งก็คือ โพธิ์ จรรย์โกมล รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอดีตเคยเป็นผู้อำนวยการสำนักงานประกันภัยหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลบริษัทประกันภัยโดยตรง

และด้วยความเห็นของโพธิ์ จรรย์โกมล ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจ โพธิ์หรือที่คนในวงการประกันภัยเรียกกันว่า “อาจารย์โพธิ์” ได้ตัดสินใจมอบงานด้านการประกันวินาศภัยบางแขนงไปให้เอกชนกลุ่มหนึ่งดำเนินการโดยแบ่งผลกำไรส่วนหนึ่งให้กับบริษัท และยังได้แยกกิจการด้านประกันชีวิตออกมาเป็นอีกบริษัทหนึ่งต่างหาก จากนั้นได้ขายกิจการนี้ไปให้กลุ่มศาสตราจารย์บุญชนะ อัตถากร กลุ่มเคียงศิริ และกลุ่มอัศวินวิจิตร เมื่อเดือนกันยายน 2526 ดังได้กล่าวไปแล้วในตอนต้น

เมื่อได้กิจการประกันชีวิตมาทำนั้น ทั้ง 3 กลุ่มต่างก็ทราบดีว่า ไม่มีใครในกลุ่มพวกตนที่มีประสบการณ์ในงานด้านนี้มาก่อน แม้จะมีชื่อเสียงมาจากหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจการประกันชีวิตในปัจจุบันเป็นกิจการที่จะต้องใช้มืออาชีพด้านนี้จริงๆ อีกด้วย

ในเดือนกรกฎาคม 2527 หรือหลังการซื้อบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันชีวิตมาได้ 10 เดือน จึงได้มีการทำสัญญาร่วมทุนกับบริษัทอยาลา อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ขึ้นโดยสัญญานี้บริษัทอยาลาจะได้เข้ามาถือหุ้นร้อยละ 25 จากจำนวนหุ้นที่แบ่งมาจากผู้ถือหุ้นเดิมทั้ง 3 กลุ่มในจำนวนเท่าๆ กัน และอยาลาจะให้ความร่วมมือแก่บริษัทไทยเศรษฐกิจประกันชีวิตทั้งด้านเทคนิคและวิชาการที่ทันสมัยต่อไป

อยาลา อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) เป็นบริษัทลูกของอยาลา อินเตอร์เนชั่นแนล แห่งประเทศฟิลิปปินส์ กลุ่มนี้มีประวัติการก่อตั้งย้อนหลังไปได้ถึง 150 ปี ว่ากันว่าปัจจุบันเป็นกลุ่มธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่งของฟิลิปปินส์ มีกิจการด้านการค้าที่ดิน การธนาคาร การประกันภัย และการประกันชีวิต เป็นต้น

อยาลา เข้าร่วมทุนในบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันชีวิต โดยมีเป้าหมายเฉพาะหน้าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้านี้ 5 ประการใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ

หนึ่ง - นำโครงการพัฒนาบุคลากรมาใช้ เพื่อฝึกอบรมและพัฒนาเจ้าหน้าที่ของสำนักงานใหญ่ให้มีความสันทัดจัดเจน พัฒนาพลังตัวแทนขายประกันให้มีประสิทธิภาพและประสบผลสำเร็จในการขาย รวมทั้งฝึกอบรมตัวบุคคลที่เหมาะสมที่จะมาเป็นผู้จัดการหรือเจ้าหน้าที่ระดับบริหารในอนาคต

สอง - พัฒนาบุคคลที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคัดเลือกให้พร้อมและสามารถที่จะมารับตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปได้ เมื่อหมดสัญญาการบริหารงาน

สาม - พัฒนาแบบประกันต่างๆ ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดและเป็นที่นิยมของประชาชนโดยทั่วไป

สี่ - พัฒนาระบบเงินค่าตอบแทนและผลประโยชน์ของตัวแทนให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดและเพื่อให้ตัวแทนขายประกันมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานสูงขึ้น

ห้า - พัฒนาระบบการตลาด ระบบการเงิน และระบบการบริหารงาน ตลอดจนระเบียบปฏิบัติและการควบคุมให้มีประสิทธิภาพและสัมฤทธิผล

กลุ่มอยาลา ภายใต้สัญญาร่วมทุนที่จัดทำขึ้นกับกลุ่มผู้ถือหุ้นทั้ง 3 กลุ่มของไทยเศรษฐกิจประกันชีวิต มีสัญญาการบริหารงานและให้การฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่คนไทยชั้นแรกนี้กำหนดไว้ 5 ปี โดยเมื่อสิ้นสุดปีที่ 5 ได้ตั้งเป้าหมายว่า ควรจะมีเบี้ยประกันจากกรมธรรม์ที่มีผลบังคับ ณ สิ้นสุดของปีนั้น เป็นจำนวน 134 ล้านบาท

จะเป็นได้ตามเป้าหมายนี้หรือไม่ก็คงต้องติดตามดูกันต่อไป

มีมืออาชีพในวงการประกันชีวิตคนหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า ธุรกิจประกันชีวิตนั้นจะประสบความสำเร็จได้อย่างน้อยต้องมี 2 สิ่ง คือ ภาพพจน์และฝีมือของผู้บริหาร

ไทยเศรษฐกิจประกันชีวิตก็คงจะได้ภาพพจน์ที่ดีจากภาพของศาสตราจารย์บุญชนะ อัตถากร ไปบ้าง และในขณะเดียวกัน ฝีมือระดับกลุ่มอยาลาก็คงจะช่วยได้มากด้านการบริหาร

ไทยเศรษฐกิจประกันชีวิตอาจจะมีเรื่องต้องพูดกันมากก็หลังจากนี้ 5 ปีเมื่อหมดสัญญากับกลุ่มอยาลาแล้วนั่นแหละ



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.