ทัศนาพร ศรีทองดี อายุ 35 ยังใช้คำนำหน้าว่านางสาวเธอเริ่มทำงานกับธนาคารกรุงศรีอยุธยาเมื่อวันที่
20 กันยายน 2510 หลังจากที่จบชั้นมัธยม 3 (ม.ศ.3) จากโรงเรียนแถวๆ บ้านเกิดจังหวัดอุดรธานี
750 บาท เป็นอัตราเงินเดือนเริ่มต้น เมื่อ 18 ปีที่แล้ว
ต่อมาเมื่อทัศนาพรก็ได้เลื่อนตำแหน่งและเงินเดือนขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อปี
2522 ธนาคารกรุงศรีอยุธยาแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยผู้จัดการสาขาวงเวียน 22
กรกฎาคม และย้ายมาที่สาขาบางลำพูในตำแหน่งเดิมในปีเดียวกัน
ด้วยความรู้ระดับม.ศ.3 แต่สามารถก้าวขึ้นมาถึงผู้ช่วยผู้จัดการสาขาได้ก็คงต้องยอมรับกันว่า
ทัศนาพรเป็นพนักงานผู้ที่มีความสามารถคนหนึ่ง
"เพราะด้วยความตั้งใจจริง ด้วยความสุจริต ตระหนักอยู่เสมอว่าเป็นผู้มีความรู้น้อย
และคิดว่าจะทำงานธนาคารจนกว่าจะเกษียณอายุ" ทัศนาพรถือทั้งหมดนี้เป็นหลักประจำใจ
แต่แล้วชีวิตและงานอาชีพของทัศนาพรก็มีอันต้องเป็นไป
ต้นเดือนมิถุนายน 2527 ทัศนาพรถูกนายจ้างตั้งคณะกรรมการขึ้นสอบ ด้วยข้อสงสัยว่าเธอได้นำเงินของธนาคารไปใช้ส่วนตัว
วันที่ 25 กรกฎาคม 2527 ขจรศักดิ์ หาญณรงค์ ผู้จัดการฝ่ายการพนักงานของธนาคารกรุงศรีอยุธยาก็ได้ข้อสรุปแจ้งผลการสอบว่า
ทัศนาพรมีความผิดจริงตามข้อสงสัย ถือเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ใช้อำนาจหน้าที่การงานโดยไม่สุจริต
แสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบให้กับตนเอง จงใจให้ธนาคารได้รับความเสียหาย
จึงได้มีคำสั่งที่ 348/2527 ให้ทัศนาพร ศรีทองดี พ้นสภาพการเป็นพนักงานลูกจ้าง
โดยปลดออก
ด้วยความเชื่อมั่นว่าตนไม่ได้มีความผิดตามข้อกล่าวหา วันที่ 15 มีนาคม
2528 ทัศนาพรพร้อมกับทนายก็เดินขึ้นศาลแรงงาน ยื่นฟ้องธนาคารกรุงศรีอยุธยา
- นายจ้าง ในความผิดที่เลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ละเมิด และทัศนาพรขอเรียกค่าเสียหายด้วย
สำหรับค่าเสียหายนั้นทัศนาพรระบุบว่า ครั้งสุดท้ายเธอได้เงินเดือนเดือนละ
5,185 บาท ค่าครองชีพเดือนละ 500 บาท ค่าเงินสะสมที่ฝากสะสมไว้ร้อยละ
5 ของเงินเดือน เท่ากับ 259 บาท รวมได้รับเงินสุทธิเป็นรายได้เดือนละ 5,944
บาท
การปลดออกนี้ธนาคารกรุงศรีอยุธยาไม่ได้บอกกล่าวให้ทัศนาพรทราบล่วงหน้า เพราะฉะนั้นจึงขอให้ธนาคารจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
1 เดือน เป็นเงิน 5,944 บาท
ลำดับต่อมาเธอกล่าวว่าทำงานกับธนาคารมาแล้วเป็นเวลา 10 ปีเศษ จะต้องได้รับค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย
เรื่องคุ้มครองแรงงานเป็นเงิน 6 เท่าของเงินเดือนที่ได้รับต่อเดือน คิดเป็นเงิน
35,665 บาท
ต่อมาธนาคารกรุงศรีจ่ายโบนัสให้กับพนักงานทุกคนปีละ 4 เท่า ของเงินเดือน
ในปี 2527 เธอบอกว่าเพิ่งได้รับเพียง 2 เดือน เป็นเงิน 10,370 บาท
เงินสะสมที่ธนาคารฝากสะสมไว้ให้ทุกเดือนเพราะการทำงานเป็นลูกจ้างอัตราร้อยละ
5 ของเงินเดือน ตั้งแต่เริ่มเข้าทำงานจนกระทั่งมีคำสั่งให้ปลดคงเหลือเป็นเงิน
30,450 บาท
อีกข้อหนึ่งทัศนาพรบรรยายว่าเธอมีหุ้นของธนาคารในนามของตัวเองเนื่องจากธนาคารหักเงินสะสมบางส่วนไปชำระค่าหุ้นและธนาคารได้ยืดคืนไป
96 หุ้น ปัจจุบันหุ้นธนาคารตกราคาหุ้นละ 150 บาท รวมแล้วจะต้องจ่ายให้เธอในกรณีนี้
14,400 บาท
ข้อถัดมาขณะถูกปลดทัศนาพรมีอายุ 34 ปี ยังสามารถทำงานให้กับธนาคารจนเกษียณอายุได้อีก
21 ปี ขณะนี้เธอยังไม่สามารถหางานอื่นทำได้ เพราะฉะนั้นจะต้องขาดรายได้เป็นเงินเดือนจากอัตราเดือนสุดท้าย
5,185 บาท ค่าครองชีพ 500 บาท ตั้งแต่วันถูกเลิกจ้างจนถึงวันเกษียณอายุ วันที่
10 ตุลาคม 2548 เป็นเวลา 21 ปี 2 เดือน 15 วัน โดยยังจะได้รับการปรับเงินเดือนขึ้นทุกปี
อย่างน้อย 1 ขั้นเงินเดือน ขั้นละ 350 บาท เงินโบนัสปีละ 4 เท่า ของเงินเดือนในแต่ละปี
และเงินสะสมร้อยละ 5 ของเงินเดือนรวมแล้วเป็นเงิน 3,290,881 บาท
สุดท้ายการที่ธนาคารเลิกจ้างโดยเธอบอกว่ากล่าวหากันอย่างไม่เป็นธรรมนี้
ทำให้เธอได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง เกียรติคุณ และการทำมาหารายได้ จึงต้องขอคิดค่าเสียหายในส่วนนี้
เป็นเงิน 2 ล้านบาท
รวมทั้งหมดทุกข้อทุกประเด็น แล้วค่าเสียหายที่ทัศนาพรต้องการจากธนาคารผู้เป็นนายจ้างของเธอเท่ากับ
5,645,656 บาท
ว่ากันว่างานนี้เป็นงานล้างแค้นในเรื่องเก่าระหว่างแฟนของทัศนาพรกับผู้บริหารบางคนของธนาคารกรุงศรีอยุธยา
ที่เคยทำงานอยู่ที่เดียวกับแฟนของทัศนาพรที่ธนาคารทหารไทยในสมัยวิสิษฐ์ ตันสัจจา
แตกคอกับสุขุม นวพันธุ์
เรียกได้ว่าเป็นแค้นเก่ามีมานมนานแล้ว และเพิ่งจะมีโอกาสชำระกัน
ก็ต้องเหนื่อยอีกพักใหญ่ๆ ด้วยกันทั้งสองฝ่าย