ผู้นำไอบีเอ็มคนใหม่จอห์น เฟลโลส์ อาร์เคอร์ ผู้มีสมญานามว่า อ่อนนอก แข็งใน


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2528)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อไม่นานมานี้นักศึกษาระดับปริญญาโทในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกลุ่มหนึ่งตั้งคำถามขึ้นมาว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของไอบีเอ็มคนใดจะได้รับตำแหน่งประธานคนต่อไป ตอนแรกพวกเขาก็ไม่มั่นใจกันนัก แต่หลังจากที่ได้ชมภาพยนตร์ที่บันทึกเทปวิดีโอเกี่ยวกับบทสนทนาในหมู่ผู้ใหญ่ของไอบีเอ็มแล้ว พวกเขาก็ได้คำตอบกันโดยไม่ยากนัก เพราะมีบุรุษฉกรรจ์เพียงผู้เดียวที่โดดเด่นที่สุดในกลุ่มนั้น เขาผู้นั้นก็คือ จอห์น เฟลโลส์ อาเคอร์ อดีตนักศึกษาคณะบริหารอุตสาหกรรมจากมหาวิทยาลัยเยล ผู้มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง เฉลียวฉลาดฉับไว และเป็นคนเปิดเผย

อาเคอร์ผู้สวมวิญญาณเซลส์แมนเต็มตัวดูเป็นคนเอาการเอางาน และจริงใจ เขามีความเข้าใจธุรกิจที่คุมอยู่อย่างถ่องแท้ ไอบีเอ็มเป็นบริษัทที่ขายตั้งแต่หมึกพิมพ์ดีดไปจนถึงเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดยักษ์แห่งนี้มีมูลค่ากะโดยคร่าวๆ แล้วราว 46,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และคนที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารได้นั้นจะต้องเป็นคนที่กร้าวแกร่งและมีความนุ่มนวลในการชักจูงใจผู้คนได้ดีพอ อาเคอร์จัดอยู่ในประเภทนี้ เพราะเขาเป็นคนที่มุ่งมั่นคงแต่มิใช่เป็นคนที่ดื้อด้าน เรียกร้องแต่ ไม่กดขี่ เขาสรุปตัวเองว่า เป็นผู้ที่ไม่เคยพอใจอะไรง่ายๆ สักที ไม่มีน้ำอดน้ำทนกับสิ่งต่างๆ รอบตัว มีท่าทียโสโอหังแม้ใจจริงไม่เป็นอย่างนั้นก็ตาม แต่ผู้ร่วมงานกลับมองเขาว่า เป็นผู้มีบุคลิกนุ่มนวลแต่เฉียบขาด เข้าทำนองพวกอ่อนนอกแข็งใน

หนุ่มใหญ่ผู้นี้ต้องการที่จะขยายงานของไอบีเอ็มให้เติบโตก้าวหน้าต่อไป โดยจะต้องลบภาพลักษณ์ของไอบีเอ็มที่เป็นเครื่องจักรกลที่ไม่มีน้ำใจออกไปให้ได้ ผู้คนที่ชื่นชมอาเคอร์บอกว่า หากจะต้องการใครสักคนที่สร้างภาพลักษณ์ให้ไอบีเอ็มดูเป็นมิตร แต่ยังคงความเป็นผู้นำล่ะก็ ก็มีเพียงอาเคอร์เท่านั้นที่จะทำได้ ผู้ที่เคยร่วมงานกับเขาบอกว่า เขาเคยเข้าประชุมถกเถียงกับอาเคอร์ แต่ไม่อาจเถียงได้ชนะ แต่เมื่อเลิกประชุมแล้วก็ยังเดินออกมาอย่างยิ้มแย้มแจ่มใสได้

อาเคอร์เริ่มงานเป็นผู้นำร่องเรือบรรทุกเครื่องบินของราชนาวีสหรัฐฯ หลังจากที่สำเร็จการศึกษา จากนั้นก็ได้เข้ามาทำงานให้กับบริษัทไอบีเอ็ม โดยเริ่มไต่ตั้งแต่เป็นเซลส์แมนระดับต้นๆ จนไต่เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการสาขาบอสตัน จนกระทั่งปี 1971 ก็ได้รับตำแหน่งสำคัญ คือ ได้รับเลือกให้เป็นผู้ช่วยรองประธานคนก่อนคือ แฟรงค์ ที คารีย์ ซึ่งงานนี้จะเกี่ยวกับการเขียนสุนทรพจน์ การจัดการประชุม และโดยธรรมเนียมของไอบีเอ็มแล้ว เป็นขั้นพื้นฐานของผู้นำระดับสูงสุด ด้วยความที่เป็นผู้รอบรู้นับตั้งแต่เรื่องของเกมกีฬาไปจนถึงประวัติศาสตร์ของประเทศอเมริกา เขาจึงเป็นผู้ที่มีความสามารถคุยกับผู้คนรอบด้านได้ ความช่ำชองในงานทำให้เขาได้รับเสียงสนับสนุนให้เป็นประธานของบริษัทเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ 1983 สิ่งที่ทำให้เขาโดดเด่นจากผู้บริหารรายอื่นๆ คือ ความสามารถพิเศษในการบริหารธุรกิจในด้านที่ไม่คุ้นเคย เช่น การพัฒนาสินค้า อาเคอร์มักจะให้อำนาจการตัดสินใจแก่ผู้บริหารระดับรองๆ โดยเปิดโอกาสให้มากเพียงพอจนแทบจะไม่รู้สึกว่ามีเขาแทรกกลางอยู่

เขาได้ยกเรื่องของงานออกจากครอบครัวอย่างเด็ดขาด มีชีวิตอยู่กับภรรยาและลูกๆ อีก 3 คนที่ไปเข้าโรงเรียนในโรงเรียนไกลบ้านออกไป ดังนั้นเขาจึงใช้เวลาว่างไปดูละครหรือบัลเลต์กับภรรยา และหลงใหลกีฬาหลายอย่าง จนถึงขั้นสะสมรูปปั้นทองเหลืองของนักกีฬาบาสเกตบอลชื่อดัง เจอร์รีย์ เวสต์ อาเคอร์มีความเข้าใจว่า ผู้คนรอบด้านรวมไปถึงตัวเขาเองด้วย ได้กำหนดระดับขีดขั้นความสามารถให้กับตัวเขาสูงมาก และการบริหารไอบีเอ็มให้ได้ก็ต้องใช้ความสามารถอย่างยิ่ง คุณความดีอย่างหนึ่งของเขาคือ ไม่ทอดทิ้งผู้ร่วมงาน เมื่อเขาได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปก็ได้เรียกผู้ร่วมงานเข้ามาบอกว่า ใครจะเป็นผู้ที่มาทำหน้าที่แทนเขา

เขามีความตั้งใจจริงที่จะแสดงให้โลกภายนอกรู้ว่า ไอบีเอ็ม ไม่ใช่บริษัทยึดมั่นเหมือนแท่นศิลา พยายามปรับปรุงภาพลักษณ์เข้ากับผู้อื่นได้ แต่ในขณะเดียวกันเขาก็มีความตั้งใจที่จะเห็นบริษัทนี้เจริญเติบโตในทุกๆ ภาคจนถึงระดับล้านล้านเหรียญให้ได้ หลายคนเชื่อว่าเขาจะต้องทำได้สำเร็จแน่ นายจอห์น เฟลโลส์ อาเคอร์ บุรุษผู้มีสมญาว่า อ่อนนอก แข็งใน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.