IBM กับเป้าหมายแสนล้านเหรียญต่อปี


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2528)



กลับสู่หน้าหลัก

ในวงการคอมพิวเตอร์ ใครๆ ย่อมรู้ดีว่า ไอบีเอ็ม เป็นยักษ์ที่น่ากลัว แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันของโลกจะไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนสักเท่าไหร่นักก็ตาม แต่ยักษ์ใหญ่รายนี้ก็ยังมุ่งมั่นที่จะวางเป้าหมายเพิ่มยอดขายให้เป็นสองเท่าให้ได้ในปี 1990 (พ.ศ.2533) คือจำนวนแสนล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณสามล้านล้านบาท ) แต่ภาระรับผิดชอบที่หนักอึ้งนี้ต้องอยู่บนบ่าของ จอห์น เอฟ อาเคอร์ ประธานหนุ่มใหญ่วัย 50 นั้นเอง

ราวสี่สิบปีก่อน จอห์น อากูล อดีตประธาน ฝันไว้ว่าไอบีเอ็มจะต้องก้าวทันตามอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเรื่องข้อมูลต่างๆ ทุกๆ ด้าน โดยคิดจะเพิ่มยอดขายเครื่องคอมพิวเตอร์ถึงร้อยละ 12 เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลอีกร้อยละ 40 รวม ทั้งซอฟต์แวร์ด้วย แม้ว่าบรรดาพนักงานจำนวน 395,000 คนจะพยายามวิ่งกันขาแทบหลุดเพื่อทำให้ได้ถึงเป้า แต่ขายได้เพียง 46,000 ล้านเหรียญ ซึ่งอาเคอร์จะต้องทำการวางแผนอย่างรอบคอบที่สุด เพื่อจะเอาชนะจุดหมายนี้

อาเคอร์จะเผชิญกับวิธีการทำสงครามแบบการทูต ซึ่งถูกคู่ต่อสู้ป้ายสีว่า ไอบีเอ็มเป็นยักษ์เลือดเย็น กอปรกับอุปสรรคจากนโยบายปลุกเร้าชาตินิยม ในวงการคอมพิวเตอร์นอกประเทศ ทำให้ไอบีเอ็มเอาชนะศัตรูภายนอกได้มากกว่าเดิม

การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน

แม้ว่าจุดหมายที่วางไว้นี้จะอยู่ในระดับที่สูงลิบ แต่ไอบีเอ็มก็มีขีดความสามารถที่จะสร้างโรงงานรองรับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงด้านวิทยาการแปลกๆ ใหม่ๆ นี้ได้เช่นกัน

บริษัทต้องทุ่มทุนไปในการก่อสร้าง จัดสรรอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งการค้นคว้า พัฒนาด้านวิศวกรรมถึงร้อยละ 70 ของสินทรัพย์ที่มีอยู่เมื่อ 5 ปีก่อน ยิ่งไปกว่านี้ ในอีก 4-5 ปีข้างหน้า บริษัทจะต้องทุ่มทุนอีกอย่างน้อย 56,000 เหรียญ เพื่อที่จะพัฒนาการผลิตให้ก้าวหน้านำหน้าผู้อื่น

แต่จากการที่หันเปลี่ยนจากพื้นฐานการผลิตสินค้าอย่างหนึ่งไปหาสินค้าที่ต่างออกไปนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยากยิ่ง แม้แต่ตัวอาเคอร์เองก็ยอมรับ

การหนีออกจากการผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ไปหาการผลิตซอฟต์แวร์เป็นทิศทางที่ไอบีเอ็มต้องก้าวไป จะต้องเป็นผู้นำที่ใช้ต้นทุนการผลิตต่ำกว่ารายอื่น ไอบีเอ็มจึงต้องแสวงหาลูกค้าหน้าใหม่ โดยเน้นที่ซอฟต์แวร์ที่สามารถโยงไปใช้กับเครื่องต่างแบบกันได้

ในปี 1984 (พ.ศ.2527) วางเป้าของซอฟต์แวร์ไว้ร้อยละ 10 ของสินค้าที่มีอยู่ แต่ปีหน้า จะเพิ่มเป็นร้อยละ 35 ให้ได้

ความยุ่งยากนั้นไม่ได้อยู่ที่ว่าจะขายซอฟต์แวร์ได้หรือไม่ได้ ?

แต่อยู่ที่ว่า ทำอย่างไรจึงจะสามารถผลิตซอฟต์แวร์ชนิดที่ใช้กับเครื่องหลายๆ อย่างได้ต่างหาก?

ความซับซ้อนในการโยงเอาซอฟต์แวร์ต่างๆ เข้าด้วยกันเป็นเรื่องที่ยุ่งยากเกินกว่าจะจินตนาการภาพออกมาได้ มีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคเพียงไม่กี่คนที่คุ้นเคยกับระบบดังกล่าวนี้ ตัวอาเคอร์เองบอกว่า ไม่มีองค์กรใดที่จะทำได้สมบูรณ์แบบเมื่อต้องเปลี่ยนจากพื้นฐานอย่างหนึ่งมาเป็นพื้นฐานอย่างหนึ่ง แต่ทว่าไอบีเอ็มก็จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ต่อไป เพื่อจะเป็นผู้นำ และจะต้องเอาชนะปัญหาที่ว่านี้ให้ได้ ด้วยวิธีการหนึ่งก็คือ การเพิ่มอัตรานักเขียนโปรแกรมในบริษัทถึงจำนวนร้อยละ 20 ต่อปี

ออฟฟิศอัตโนมัติ

ซี. ไมเคิล อาร์มสตรอง รองประธานอาวุโสของกลุ่มที่เรียกว่า ระบบข้อมูลและการสื่อสาร แถลงว่า เป้าหมายหลักของกลุ่มอยู่ที่ที่ทำงานและการติดต่อสื่อสาร

เขาจะต้องพยายามปรับปรุงสินค้าต่างๆ และโยงการทำงานเข้าด้วยยิ่งสำเร็จเร็วขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งครอบครองตลาดได้เร็วขึ้นเท่านั้น

ตลาดของสินค้าในวงนี้คิดเป็นมูลค่าราว 28,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

ไอบีเอ็มพยายามอย่างยิ่งที่จะเอาชนะปัญหานี้ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ

กล่าวกันว่า ไอบีเอ็มต้องตั้งหน่วยงานที่เรียกว่า หน่วยสถาปัตยกรรมข่ายงานระบบต่างๆ หรือเรียกย่อๆ ว่า เอสเอ็นเอ เพื่อสนองตอบวิทยาการสมัยใหม่ โดยหน่วยงานนี้ต้องค้นคว้าการผลิตระบบการถ่ายทอดข้อมูลจากเครื่องคอมพิวเตอร์แบบหนึ่งไปใส่เครื่องคอมพิวเตอร์แบบอื่นๆ ให้ได้

ระยะเวลาที่กำหนดให้คือภายใน ค.ศ.1990 ซึ่งนับเป็นการท้าทายต่อวิวัฒนาการวิทยาการเกี่ยวกับข้อมูลเป็นอย่างยิ่ง

แต่คู่แข่งของไอบีเอ็มแย้งว่า การแก้ไขนั้นมิใช่จะทำได้ง่ายๆ

โรเบิร์ต ซี. มิลเลอร์ ซึ่งอยู่ในบริษัทไอบีเอ็มนานถึง 15 ปี บอกว่า เอสเอ็นเอ เป็นหน่วยงานที่ ไม่อาจแก้ปัญหาได้ บริษัทอื่นๆ ได้พยายามใช้วิธีการจำหน่ายสินค้าของตนออกมาเป็นกลุ่มการใช้งานด้วยกัน

ไอบีเอ็ม โดย นายแจ็ค ดี. คือเลอร์ โต้กลับว่า การทำงานแบบกลุ่มใช้งานนั้นเป็นเสมือนส่วนหนึ่งของภาพขนาดใหญ่ ซึ่งยังมีส่วนอื่นๆ กระจัดกระจายอยู่มากมาย และควรจะคุมได้ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่และยืนกรานว่า เครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ยังคงขยายขอบข่ายออกไปได้ไกลมาก จะต้องดีกว่าหรืออย่างน้อยที่สุดจะต้องเท่าเดิม

ทฤษฎีของเขาฟังดูน่าจะมีน้ำหนัก ผู้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์หลายรายหันมาสั่งจองเครื่องคอมพิวเตอร์ของไอบีเอ็มแทนเครื่องของบริษัทอื่น เพราะประสิทธิภาพที่พวกเขาต้องการ โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นเซียร่าดูจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ

แต่ความสำเร็จในการผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่นี้ก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับการผลิตซอฟต์แวร์ของไอบีเอ็ม

ไอบีเอ็มจะต้องปรับปรุงอีกมาก โดยข้อบกพร่องจะเห็นได้กับตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับ บริษัท เมโทรโพลิเตน ไลฟ์ อินชัวรันส์ ซึ่งต้องเดินสายไฟระโยงระยางเข้ากับตัวเครื่องคอมพิวเตอร์ไอบีเอ็ม เพื่อที่จะโยงการใช้งานเครื่องของตนในใจกลางนครนิวยอร์กเข้ากับเครื่องในเขตอื่น อีก 4 แห่ง

ไอบีเอ็มเดินคลำหาทางอยู่นานกว่าจะจับจุดได้ และต้องทำการผลิตสินค้าขึ้นแข่งกับบริษัท อเมริกัน เทเลโฟน แอนด์ เทเลกราฟ ซึ่งก้าวหน้ามากในด้านตลาดการสื่อสาร

การลงทุนในระยะนี้จึงยังไม่ได้กำไรไปจนกว่าถึงปี 1987

แต่ไอบีเอ็มก็จะทำ โดยทั้งต้องขยายข่ายงานด้านดาวเทียม เพิ่มสถานีภาคพื้นดิน ให้เช่าสายเคเบิลมากขึ้น

ข่ายงานข่าวสารไอบีเอ็มจะเริ่มใช้บริการดาวเทียมเอสบีบี เพื่อส่งข้อมูลระหว่างดัลลัสและแทมป้า ขยายการสื่อสารด้วยคอมพิวเตอร์ระยะไกลแก่ลูกค้า ไอบีเอ็มแม้จะเพิ่งเริ่มลงมือลงแรงด้านนี้ไปไม่นานนักก็ได้วางแผนที่จะต้องยึดครองตลาดนี้ให้ได้

ในการที่จะลุยสนามนี้ต้องใช้ประสิทธิภาพมากมายหลายอย่าง ใช้กระบวนการผลิต มากมายมหาศาล เพื่อเจาะทะลุอุปกรณ์ของคอมพิวเตอร์ทุกประเภท

บรรดาคู่แข่งทั้งหลายพากันมึนงงกับการที่ไอบีเอ็มเริ่มมีวิธีการตัดราคาและเพิ่มส่วนลดพิเศษต่างๆ ที่ไม่ได้ทำมาก่อนเลย

โดยรวมแล้ว ไอบีเอ็มก็ยังไม่แข็งมากนัก สินทรัพย์เมื่อสิ้นปีก่อนมีเพียง 40,000 ล้านเหรียญ โดยที่รายได้ในช่วงปี 1984 เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 คือเพิ่มเพียง 6,600 ล้าน รายรับของไอบีเอ็มขยายขึ้นอีกร้อยละ 14 ทั้งๆ ที่ค่าเงินดอลลาร์แข็งขึ้นมาก และมีผลกระทบไปแล้วทั้งโลกก็ตาม อัตราการเติบโตนี้ยังเป็นตัววัดค่ากระแสการเงินได้อยู่ดี โดยรายรับของไอบีเอ็มทั่วโลกเฉลี่ยราวร้อยละ 19

ผู้บริหารของไอบีเอ็มเชื่อมั่นในคุณค่าของเทคโนโลยีการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตร้อยละ 25 เอ็ดเวิร์ด เอ็ม เอวิส รองประธานฝ่ายผลิต ผู้ที่ต้องรับผิดชอบสาขาต่างๆ ใน 24 ประเทศ และพนักงานอีก 113,000 คน ที่อยู่ในโครงการจำนวน 41 โครงการ แถลงว่านี้เป็นยุคทองของไอบีเอ็มเลยทีเดียว

หุ่นยนต์ผู้เชี่ยวชาญฉลาด

เงื่อนไขโยงใยซับซ้อนหลายอย่างบีบให้ไอบีเอ็มต้องหาทางออกด้วยการลดต้นทุนการผลิตลง การขยับเปลี่ยนมาเป็นการขายอุปกรณ์โดยตรงแทนการให้เช่าซื้อ สร้างแรงบีบให้พนักงานฝ่ายการผลิตของโรงงานที่ต้องสร้างผลิตภัณฑ์ให้มากพอ ที่จะทำให้อัตรารายได้ของสินค้าดำเนินไปตามเป้า

เดวิสแถลงว่า จุดที่ได้เริ่มเปลี่ยนจากการขายเช่าซื้อ ก็ได้เมื่อมีการสั่งของจากรัฐบาลในปี 1956 และได้ก่อให้เกิดความมั่นคงได้โดยมีการจำหน่ายอุปกรณ์ต่างๆ ออกไปถึงร้อยละ 85 ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแนวทางจำหน่ายสินค้าไปสู่การตลาดภายนอกทำให้ได้สินค้าเพิ่ม ซึ่งกลายเป็นแรงจูงใจไปสู่การผลิตมากขึ้นด้วย

วิธีการผลิตแบบอัตโนมัติดูจะเป็นหนทางเดียวที่จะผลิตให้ได้มาก

ในปัจจุบันแทบจะทุกสายงานการผลิตหันมาใช้หุ่นยนต์ทำงานด้วย ซึ่งเมื่อห้าปีก่อนมีไม่ถึงครึ่ง

ถ้าจะเทียบกับปี 1980 แล้ว ปีนี้ไอบีเอ็มได้ใช้เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งในสาม และในโรงงานต่างๆ ของบริษัทราว 2ใน3แห่งดูเหมือนสถานที่ที่มีเทคโนโลยีระดับสูง

เดวิสกล่าวว่า เราไม่ใช่ผู้นำ ต้องก้มหัวให้ญี่ปุ่นในเรื่องนี้ แต่ในอนาคตเราต้องเป็นผู้นำแน่

การผลิตจำนวนมากนั้นสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านธรรมเนียมในบริษัทไอบีเอ็มด้วย บริษัทซึ่งไม่เคยสนใจเกี่ยวกับคุณสมบัติและมาตรฐานของสินค้าในบริษัทอื่น ได้เริ่มเปลี่ยนไปนับตั้งแต่การผลิตเครื่องพีซี ไม่มีทางที่จะสะดวกสบายได้หากไม่พึ่งพาบริษัทภายนอก เพื่อที่จะขยายการผลิตให้มากๆ ไอบีเอ็มเริ่มซื้ออุปกรณ์ต่างๆ จากภายนอกพอๆ กับที่ผลิตเอง โดยอาจที่จะซื้อเพิ่มอีกร้อยละ 60-70 ก็เป็นได้

นอกจากด้านการผลิตอย่างเดียวแล้ว ระบบการจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวก็สะกัดกั้นยอดจำหน่ายด้วย ไอบีเอ็มแต่เพียงผู้เดียวไม่อาจคุมตลาดได้ จึงต้องใช้การเพิ่มตัวแทนจำหน่าย ต้นทุนนั้นไม่ใช่สาเหตุที่ไอบีเอ็มต้องเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าของตนมากกว่าการเพิ่มพนักงานขาย

จุดสำคัญที่รายได้ต้องการเพิ่มขึ้น ไม่ต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่าย

เครื่องพีซีซึ่งครองตลาดอยู่ในขณะนี้ถึงมือลูกค้าโดยผ่านตัวแทนจำนวน 2,000 แห่ง ที่เพิ่มจากตัวแทนของไอบีเอ็มเอง

ส่วนใหญ่แล้วบริษัทคอมพิวเตอร์รายอื่นมักจะขายทางอ้อม คือขายให้กับมือที่สาม ซึ่งออกแบบผลิตซอฟต์แวร์โดยเฉพาะให้กับอุตสาหกรรมชนิดเจาะพิเศษ

ไอบีเอ็มเซ็นสัญญาเพิ่มการขายอีก 1,000 ราย ตัวแทนพวกนี้จะไปเพิ่มราคาและจัดจำหน่ายเอง ซึ่งในช่วงปลายปี 1984 ทำให้ได้รับรายได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10 จากวงธุรกิจนี้ จำนวนยอดตัวแทนเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 30 อันตรายจากช่องทางนี้ก็คือ ไอบีเอ็มอาจต้องสูญเสียการขายสินค้ารายอื่นๆ ให้กับพ่อค้าเร่รายอื่นซึ่งติดต่อกันเองกับตัวแทนเหล่านี้ ข้อสรุปจากการจัดการนี้ก็คือยอดขายนั้นมีค่าเพียงเปลวเทียน

การที่จะให้บรรลุเป้าหมายในอุตสาหกรรมและการตลาดนั้น ทำให้ยักษ์ใหญ่ไอบีเอ็มจำต้องมุ่งหน้าไปอย่างคล่องแคล่วฉับไวเป็นหลัก มันเป็นขั้นแรกที่จะสนองความต้องการ ซึ่งทางการบริหารมักจะเรียกกันว่า ตลาดยืดหยุ่น ก็คือตลาดที่มีการขายไม่จำกัด โดยไม่มีการคาดเดา

สำคัญทศวรรษหน้า เรื่องที่ไอบีเอ็มต้องคำนึงถือก็คือต้องประคับประคองความพยายามนี้ให้ดีที่สุดแล้วหมั่นตรวจตราแก้ไข

ความพยายามที่จะรักษาระดับรายได้และอัตราความเติบโตในต่างประเทศ ให้ได้ระดับร้อยละ 40 ของธุรกิจทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญพอๆ กับนโยบายใดๆ ของไอบีเอ็ม สิ่งที่จำกัดก็คือเรื่องของการเมืองมากกว่าที่จะเป็นเรื่องของเงินทุนหรือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพราะบางประเทศไม่ต้องการให้ไอบีเอ็มเป็นใหญ่ในตลาดบ้านเขา

นโยบายยึดมั่นที่จะเป็นเจ้าของครอบครองโรงงานในต่างประเทศเต็มร้อยละร้อย ทำให้เกิดปัญหานโยบายชาตินิยม เช่น ในประเทศอินเดียบริษัทต้องถอนตัวออกมาในปี 1979 หรือในเม็กซิโก ซึ่งรัฐบาลไม่ยอมให้เปิดโรงงานที่ไอบีเอ็มจะต้องเป็นเจ้าของถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับอุปสรรคในมาเลเซีย และในบราซิลซึ่งทำให้บริษัทไม่อาจจะขยายแผนงานเพิ่มขึ้นได้

คู่แข่งต่างด้าวรู้สึกขยาดกับความสำเร็จของไอบีเอ็ม พยายามที่จะแบ่งตลาดให้ได้ โดยเฉพาะญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดใหญ่อันดับสองรองจากสหรัฐอเมริกา

เป็นการยากที่ไอบีเอ็มจะทำการแทรกตัวเข้าไปในตลาดยุโรป ซึ่งเป็นศูนย์กลางซึ่งมีทั้งระบบการเปิดแข่งโดยเสรีและควบคุมโดยรัฐ ไอบีเอ็มต้องแปรนโยบายโดยวิธีการทั้งร่วมมือกับรัฐและร่วมมือกับเอกชนเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระยะยาว

ไอบีเอ็มแบ่งหน่วยงานในยุโรปตามสภาพภูมิศาสตร์ออกเป็น 5 เขต ซึ่งคลุมอาณาจักร 4 ประเทศหลักๆ คือ ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนีตะวันตก และอิตาลี ส่วนที่เหลือก็คือส่วนที่เหลือทั้งหมด โดยรับผิดชอบในการวางแผนการขายสินค้า เป็นรูปแบบการกระจายการบริหารแบ่งย่อยออกในแต่ละประเทศ

การวางโครงสร้างใหม่นี้ดูจะเป็นผลเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ธนาคารต่างๆ ของอังกฤษและร้านค้าปลีกเอาไอบีเอ็มและบริษัทโทรคมนาคมแห่งอังกฤษ ที่จะจัดตั้งข่ายงานการโอนย้ายยอดขายและเงินทุนระบบอิเล็กทรอนิกส์เมื่อปลายปีที่แล้ว

ไอบีเอ็มได้ร่วมมือกับเอสทีอีที ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องมืออุปกรณ์สื่อสารของรัฐบาลอิตาลีเพื่อผลิตเครื่องมืออุปกรณ์สื่อสารต่างๆ ให้กับรัฐบาล

แต่ไอบีเอ็มก็ได้ทำความตกลงวิสามัญขึ้นกับอังกฤษเพื่อที่จะเซ็นสัญญาให้ได้ โดยการสนับสนุนการผลิตชุดซอฟต์แวร์นานาชาติขึ้นแทนบริษัทเอง และการร่วมมือกับเอสทีอีที โดยไม่มีทางเลือกก็เพื่อจะเอาชนะคู่แข่งคือ เอทีแอนด์ที และบริษัท โอลิเวอร์ตี้ นักธุรกิจอิตาลีคนหนึ่งบอกว่า เขาไม่ต้องการเห็นไอบีเอ็มเป็นใหญ่ในแวดวงออฟฟิศแบบอัตโนมัติดังที่เป็นมาแล้วในตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ และดูเหมือนว่าประเทศอื่นๆ ก็เห็นด้วยกับเขา

เมื่อปีที่แล้ว ในอันที่จะร่วมมือกับไอบีเอ็มที่จะพัฒนาข่ายงานการเพิ่มคุณค่าในด้านโทรคมนาคม และตลาดร่วมยุโรปก็พยายามหาทางกันไอบีเอ็มออกจากตลาดแถบนี้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีผู้แทนอิสระของไอบีเอ็มจำหน่ายเครื่องพีซี องค์กรนี้ก็ได้ออกกฎห้ามมิให้ไอบีเอ็มควบคุมผู้แทนจำหน่ายอิสระของตนมาแทน ซึ่งทำให้ตลาดไม่น่าสนใจนักและเมื่อสองเดือนก่อน เอสพรีท์ องค์กรค้นคว้าร่วมของยุโรปก็ปิดประตูไม่รับข้อเสนอของไอบีเอ็มที่วางโครงการร่วมวิจัยด้วย

คาสปาร์ วี คาสสานี ประธานของไอบีเอ็ม ในบริษัทไอบีเอ็มทั้งยุโรป ตะวันออกกลางและแอฟริกา ยังมองในแง่ดี เขากล่าวว่า บริษัทได้พยายามผลักดันให้เกิดเสรีมากขึ้นในด้านการบริการ และมองเห็นโอกาสที่จะเป็นตัวแทนของพีทีที ซึ่งเป็นองค์การโทรศัพท์ของรัฐ เราเป็นองค์กรเล็กๆ แต่มีโอกาสโตได้ อาเคอร์เองเองก็พยายามชนะให้ได้ โดยหมั่นเทียวไปเทียวมาในการทำงานในบริษัทและเดินทางไปพบกับรัฐบาลชาติต่างๆ

ในอเมริกาเอง ไอบีเอ็มถูกกล่าวหาว่ามีการคิดค้นเชื่องช้าและพยายามที่จะออกนอกแนวทางธุรกิจของตนประธานของบริษัทอแอปเปิลกล่าว “ไอบีเอ็มเป็นพวกที่ถือสิทธิขาดที่ไม่ยืดมั่นในกฎซึ่งควรจะทำแต่เฉพาะเรื่องของคอมพิวเตอร์เท่านั้น” และยังบอกอีกว่า “บริษัทหนึ่งๆ ก็ควรมีมาตรฐานที่มุ่งหมายของตน” หลายคนบอกว่า การคิดค้นใหม่ๆ ต้องกระเทือนไปด้วย

ส่วนฝ่ายอื่นๆ เช่น โรเบิร์ต จี สเตรย์ตัน ซึ่งเป็นบริษัทเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์กล่าวว่า “ไอบีเอ็มบิดเบือนอำนาจของตน” เขากำลังที่จะทำโครงการหนึ่งขึ้นมาเพื่อตีพิมพ์เกี่ยวกับฐานะของไอบีเอ็ม และคิดว่าควรจะมีใครที่ต่อสู้กับไอบีเอ็มบ้าง บางคนก็บ่นว่า เมื่อไอบีเอ็มใหญ่ขนาดนั้น แล้วก็ควรจะมีสำนึกว่าตนกำลังทำอะไรอยู่ เอ็นซีอาร์ และบีเอ็มซีซอฟต์แวร์ได้กล่าวถึงพฤติกรรมต่อต้านคู่แข่งของไอบีเอ็มต่อศาล

อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ศาลจะตัดสินเรื่องนี้ก็ไม่แจ่มชัด และกระทรวงยุติธรรมก็ยังได้รับข้อร้องเรียนอยู่เสมอ เกี่ยวกับไอบีเอ็ม ก็ไม่น่าเชื่อว่าพฤติกรรมของไอบีเอ็มจะเป็นการต่อต้านคู่แข่งอื่น เพราะกฎการผูกขาดนั้นไม่ได้ทำร้ายคู่ต่อสู้ อยู่ที่พฤติกรรมอื่นๆ เช่นการขายตัดราคามากกว่า นอกจากนั้นแล้วไม่ถือว่าเป็นการทำร้ายคู่แข่ง

อาร์เคอร์บอกว่า เป็นบริษัทที่ใหญ่โตและประสบความสำเร็จ ก็ย่อมทำให้มีผู้ที่ไม่พอใจอยู่เรื่อยๆ แต่ปัญหานั้นมักจะเป็นการกล่าวหาใครสักคนที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม ไอบีเอ็มเพียงแค่จะต้องสานต่องานที่ทำมาแล้ว เขาตั้งใจที่จะให้บริษัทเติบโตและกระจายงานออกไป และโดยทางการเมืองแล้ว ไอบีเอ็มต้องถือหุ้นกับสถาบันต่างๆ ทั่วโลกในด้านเทคโนโลยีนั้น การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง และไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย เขารู้สึกมั่นใจกับประวัติศาสตร์ที่ดีงามของบริษัทแห่งนี้มาก

ใช่ มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย แต่ผู้บริโภคโดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่แข่งส่วนใหญ่ยอม ไม่มีบริษัทใดๆ ที่มีปริศนาน่าสนใจเท่ากับไอบีเอ็ม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.