โปรดัก "มิกซ์" กับการลงทุนในเบื้องลึกเบื้องสูง

โดย สหัส พรหมสิทธิ์
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2528)



กลับสู่หน้าหลัก

โปรดัก มิกซ์ (product mix) เป็นการจำหน่ายสินค้าหลากชนิดมานานแล้ว และเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการค้าส่วนใหญ่

คำว่า “โปรดัก” นี้ไม่ได้หมายเพียงสินค้าผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูปเท่านั้น แต่น่าจะหมายถึงสินค้าที่อยู่ในรูปของการให้บริการและการลงทุนในรูปแบบอื่นๆ ด้วย การขายสินค้าหลายชนิดคละกันนั้นเป็นความจำเป็นทางการค้า เพื่อสนองความต้องการในแง่ของการเลือกซื้อ และก่อให้เกิดความต่อเนื่องของสินค้าชนิดต่างๆ อันจะมีผลในแง่ของกำไร และสามารถชดเชยช่วยไม่ให้ขาดทุนในยามที่การค้ามีการผันผวนอย่างหนัก

การทำการค้าหลากชนิดนั้น มีปัญหาในแง่การลงทุนขยายงาน และเพิ่มชนิดของผลิตภัณฑ์ตลอดจนเก็บสต๊อกต่างๆ มากไม่ใช่เล่น เพราะเป็นสิ่งที่ต้องนำเงินไปจมอยู่ ดังนั้นจึงต้องหาทางวางแผนเพื่อแก้ปัญหา โดยหาทางให้ทำการค้าแบบนี้ไปได้รอดในทุกยุคทุกสมัย

การวางแผนในเรื่องของ “โปรดัก มิกซ์” นี้จะมุ่งไปแผนการผลิตหรือหาทางเลือกกลุ่มผลิตภัณฑ์ กลุ่มต่างๆ ให้คละกันในรูปที่จะก่อให้เกิดกำไรในการขายมากที่สุด หรือให้สิ้นต้นทุนในการผลิตต่ำที่สุด

การวางแผนในเรื่องของโปรดัก มิกซ์นี้มีความเก่าแก่พอๆ กับการวางแผนการกลั่นน้ำมันและการวางแผน หาส่วนผสมแบบอื่นๆ ที่สามาถนำกรรมวิธีทางการคำนวณอันเหมาะสำหรับการนี้ โดยเฉพาะมาใช้ได้

ลักษณะของโปรดัก มิกซ์ หรือการหาส่วนผสม (เช่น การกลั่นน้ำมัน สูตรอาหารสัตว์ ฯลฯ) นั้นจะต้องทราบว่ามีสารหรือผลิตภัณฑ์อะไรเป็นส่วนผสมบ้าง? และแต่ละอย่างมีราคาซื้อขาย (หรือต้นทุน) เท่าใด? ตลอดจนมีกฎเกณฑ์ในการผสมอย่างไรบ้าง? โดยจำแนกเป็นข้อๆ เมื่อทราบข้อมูลตัวเลขของสิ่งที่จะนำมาผสม (ราคา ข้อจำกัดของส่วนผสมชนิดต่างๆ ฯลฯ) มีอย่างครบถ้วนก็นำกรรมวิธีทางการคำนวณนี้เรียกว่า lincar programming (LP) มาใช้คำนวณวางแผนว่าจะต้องผลิตสินค้าอะไรบ้างอย่างละมากน้อยเท่าใด? ในแต่ละกลุ่มเพื่อให้สินค้าใช้จ่ายต้นทุนต่ำที่สุด

เรื่องอันเกี่ยวกับ “mix” หรือการหาส่วนผสมเพื่อนำมาทำผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ ให้ประหยัดค่าใช้จ่ายที่สุดนี้เป็นปัญหาการวางแผนลักษณะหนึ่งที่มีอาณาจักรของการใช้ประโยชน์กว้างมากและนำ LP มาช่วยแก้ปัญหาร่วมกับคอมพิวเตอร์ได้โดยจะให้แผนดำเนินงานที่เหมาะสมที่สุดออกมา การแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งอุตสาหกรรม การลงทุน การซ่อมบำรุง และการเลือกซื้อเครื่องจักร ฯลฯ นั้นมีช่องทางที่จะนำ LP มาใช้ได้มากในเมืองไทย น่าจะให้ความสนใจให้มากขึ้น เพราะช่วยให้เกิดการประหยัดได้มากอย่างคาดไม่ถึง ตัว LP เองก็เป็นคอมพิวเตอร์โปรแกรมสำเร็จรูป ที่มีใช้กับคอมพิวเตอร์ทั้งขนาดเล็กและใหญ่อย่างแพร่หลายอยู่แล้ว

เมื่อมีสิ่งอำนวยความสะดวกในการวางแผนจนเกือบจะพร้อมอยู่แล้ว จึงเหลือเพียง “การริเริ่ม” เพื่อหาหนทางปรับปรุงดำเนินงานต่างๆ ซึ่งไม่มีอะไรมาแทนตัวบุคคลได้

สรุปแล้ว หน้าที่ของ LP ก็คือ การหาส่วนผสม (ผลิตภัณฑ์หรือทรัพยากรต่างๆ) ขององค์ประกอบต่างๆ เพื่อให้เจ้าของกิจการบรรลุเป้าหมายทางการค้า ได้โดยสิ้นค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด

การวางแผนผลิตให้ได้ โปรดัก มิกซ์ ที่ดีนั้นมักเริ่มด้วยการจัดกลุ่มผลิตภัณฑ์อย่างคร่าวๆ ด้วยดุลยพินิจของบุคคลเสียชั้นหนึ่งก่อนนำคอมพิวเตอร์มาช่วย ในการวางแผนการกรุยทางเพื่อคัดเลือกผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้เป็นขนาดกลุ่มที่พอเหมาะโดยอาศัยประสบการณ์และสามัญสำนึกของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องที่จะช่วยลดความซับซ้อนในการคำนวณด้วยคอมพิวเตอร์ได้มาก เพราะงานเลือกเฟ้นด้วยดุลยพินิจนั้นคอมพิวเตอร์ยังมีความสามารถที่ห่างไกลสมองคนอยู่อีกมาก จึงทำให้คนเข้ามามีบทบาทในขั้นต้นให้มากที่สุด และปล่อยให้คอมพิวเตอร์รับผิดชอบในการคำนวณที่ต้องการความละเอียดแม่นยำรวดเร็วในขั้นสุดท้าย

หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ ให้อยู่ในกลุ่มของโปรดัก มิกซ์ กลุ่มต่างๆ ที่ต้องอาศัยราคาขาย ค่าใช้จ่ายในการผลิต เรื่อยไปจนถึงความสามารถในการผลิตมาพิจารณา ซึ่งพ่อค้าและนักอุตสาหกรรมทราบดีอยู่แล้ว เพราะแต่ละหัวข้อ (เช่นราคาขาย) ยังมีข้อปลีกย่อยต่างๆ ให้ต้องนำมาคิดในแง่ของตัวเลขมากพอสมควรเพื่อเป็นการเตรียมข้อมูลก่อนนำ LP มาใช้ได้

หน้าที่เฉพาะของ LP ก็คือ การหา optimal product mix plan ออกมาให้โดยอาศัยคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องผ่อนแรง

ในขั้นนี้เองที่ดุลยพินิจของคนต้องหลีกทางให้คอมพิวเตอร์และกรรมวิธีทางคำนวณที่ให้ผลแม่นยำแน่นอน ซึ่งเคยมีประจักษ์พยานให้เห็นในงานใหญ่ๆ (เช่น การกลั่นน้ำมัน สูตรอาหารสัตว์ ฯลฯ) มาแล้ว คำว่า “optimal plan” นี้หมายถึงแผนที่จะเลือกผลิตภัณฑ์ให้แน่นอนขึ้นไปอีกว่า ในกลุ่มหนึ่งๆ นั้น ควรมีผลิตภัณฑ์อย่างละเท่าใด โดยคำนึงถึงเรื่องของการมีกำไรดีที่สุดเป็นหลัก

แม้ว่าการเลือก optimal plan ของโปรดัก มิกซ์ ด้วยคอมพิวเตอร์จะให้กลุ่มของผลิตภัณฑ์ที่ได้กำไรดีที่สุดก็ตาม แต่อาจมีปัญหาทางปฏิบัติได้ เพราะความต้องการของตลาดไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับแผนที่คิดว่าดีที่สุดในทางทฤษฎี จึงจำเป็นต้องสร้างเงื่อนไขบางประการเพิ่มเข้าไปใน lincar programming model เช่น ความต้องการขั้นต่ำสุด และสูงสุดของผลิตภัณฑ์แต่ละอย่าง หรือเงื่อนไขในด้านการตลาดอื่นๆ ที่เห็นว่า จะทำให้แผนที่ได้จากคอมพิวเตอร์มีความเป็นจริงที่สุด

การสร้างเงื่อนไขเพิ่มเติมเข้าไปเพื่อให้โปรดักมิกซ์ที่ได้จากการคำนวณและสามารถนำไปปฏิบัติได้ดังนี้ อาจทำให้ตัวเลขของกำไรลดลงไปบ้าง แต่ก็เป็นแผนงานที่ได้นำเอาเงื่อนไขความเป็นจริงต่างๆ เข้าไปรวมไว้จนครบจนปฏิเสธไม่ได้ว่า “แผน” ที่ได้ด้วยวิธีเป็นแผนทางการค้าที่ดีและชอบด้วยเหตุผลที่สุด

Optimal product mix plan นี้ได้จากคอมพิวเตอร์คงจะต้องแตกต่างกับโปรดัก มิกซ์ ที่เคยทำกันมาแล้ว ซึ่งจะดีในแง่ที่สามารถเปรียบเทียบได้ว่า มีอะไรที่แตกต่างกันบ้าง? และแตกต่างกันอย่างไร?

ความแตกต่างเช่นนี้ ตรวจสอบด้วยการคิดเลขไล่เลียงได้ไม่ยาก เพราะในท่ามกลางความซับซ้อนของการคำนวณด้วยคอมพิวเตอร์นั้นเราอาจใช้สามัญสำนึกในเรื่องของการคุ้มทุนในด้านต่างๆ และภาวะการซื้อขายในท้องตลาดมาเป็นวิจารณญาณควบคู่กันไปได้

ปรัชญาของ LP นั้นเป็นเพียงการหา combination ขององค์ประกอบปัจจัยต่างๆ ออกมาให้ดีที่สุด หรือเหมาะสมที่สุดในทางคำนวณ

มนุษย์เท่านั้นที่สามารถแจกแจงคำตอบที่ได้ให้มีความสมบูรณ์แบบเป็นยุทธวิธีในการผลิตที่ทำให้คู่แข่งขันทั้งหลายต้องปราชัยพ่ายแพ้คำว่า “combination” ที่กล่าวในตอนต้นนั้นหมายถึงภาวะแวดล้อมที่มีทางออกให้เลือกดำเนินการได้มากมาย จนสุดที่จะนับได้จนจำเป็นต้องอาศัยกรรมวิธีทางคำนวณ และเงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆ มาบังคับให้เลือก “ทางออก” ที่เห็นว่าชัดเจนเป็นประโยชน์ จนสามารถนำไปปฏิบัติได้ดี

ส่วนคำว่า “ทางออก” นั้นหมายถึงหนทางหรือแนวทางในการดำเนินงาน สุดท้าย optimal plan จะหมายถึงแผนการดำเนินงานหนึ่งแผ่นที่นำทางออกทั้งหมดที่มีมากลั่นกรองจนเหลือเฉพาะที่จำเป็น และเหมาะกับภาวการณ์อันหนึ่ง

สรุป แล้วการวางแผนในด้านโปรดักมิกซ์ เพื่อให้ได้กำไรดีที่สุดนั้น ต้องการข้อมูลตัวเลขที่หนักไปในด้าน

(1) net selling price of each product group

(2) total variable cost of each group

(3) capacity restrictions for each production center

(4) manufacturing requirements at each center for each group

และอื่นๆ ตามลักษณะของอุตสาหกรรมและปัจจัยในด้านการตลาด ข้อมูลเหล่านี้จะนำไปสู่การได้โปรดัก มิกซ์ ที่ดีขึ้นกว่าที่เคยทำจนถึงขั้นสามารถลดต้นทุน หรือเพิ่มกำไรได้หลายเปอร์เซ็นต์ ซึ่งสามารถให้ผลในเรื่องกำไรนับเป็นล้านบาทสำหรับอุตสาหกรรมใหญ่ๆ จึงน่าจะนำเทคนิคที่ใช้กับโปรดัก มิกซ์ ไปใช้ในเรื่องอื่นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ประโยชน์สำคัญที่สุดอันหนึ่งในการใช้ LP แก้ปัญหาหรือดำเนินงานก็คือ การสามารถบอกผลคำนวณได้ว่า ตรงจุดใดจะมีการคั่งของงาน (bottlenecks) จนเป็นอุปสรรคในการผลิต (หรือการดำเนินงานอื่นๆ) การบอกตำบลที่จะเกิด bottlenecks ได้แม่นยำนี้จะเป็นประโยชน์ในการเตรียมการแก้ไขมาก เพราะการผลิตสินค้าหลายๆ ประเภทภายในอาณาบริเวณโรงงานเดียวกันนั้นจะต้องพึ่งพิงสาขาการผลิตหลายสาขา การที่สาขาการผลิตหลายๆ สาขาต่างต้องพึ่งพิงเชื่อมโยงกันนี้เองเป็นเหตุให้เกิด manufacturing bottlenecks ได้ง่าย

คำว่า bottlenecks นี้ อาจ หมายถึง การที่ LP ไม่ยอมกำหนดในแผนให้มีการผลิตชนิดของสินค้าให้เห็นได้ชัดว่า จะให้กำไรมาก ซึ่งถ้าตรวจสอบต่อไปก็จะเห็นว่า สินค้าหรือผลิตภัณฑ์บางอย่างอาจให้ผลกำไรสูงก็จริง แต่ถ้าเผอิญไปใช้วัตถุดิบที่หายาก หรือแพงมาก กรรมวิธีของ LP ก็จะเบนหันความสนใจไปเลือกใช้วัตถุดิบอื่นที่มีราคาถูกกว่ามากๆ แม้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ได้จะให้กำไรไม่สูงนักก็ตาม การวางแผนด้วย LP หรือ optimization techniques อื่นๆ ในแบบเดียวกันนี้จะมองการผลิตครอบคลุมไปทุกแห่งทุกมุมก่อน ที่จะเลือกแผนที่ดีที่สุดออกมา คือการวางแผนแบบนี้มองไปที่ overall profit ของแผนงานทั้งแผนเป็นเกณฑ์

การใช้วัตถุดิบที่หายากหรือของที่จัดอยู่ในประเภท scarce resources นั้นมีทั้งดีและเสีย เพราะต้องคำนึงถึงกำไรในด้านของผู้ผลิตและ supplier ในแง่ของการมีสำรองวัตถุดิบ คือถ้าเห็นภาพได้ทะลุปุโปร่งก็ตัดสินใจทำการแบบเย้ยฟ้าท้าดินได้เลย

ในกรณีที่ผู้ผลิตสินค้ามั่นใจว่า ไม่มีปัญหาในการจัดหาวัตถุดิบที่หายากและคุ้มที่ผลิตสินค้าชนิดต้นทุนสูงกำไรงามออกจำหน่าย จะกำหนดเป็นเงื่อนไขทางคำนวณเพื่อบังคับผลิตภัณฑ์ที่ต้องการให้ไปกำหนดอยู่ในแผนก็ทำได้คือจะนำนโยบายเข้าไปแทรกแซงการคำนวณวางแผนให้มากเท่าใดก็ได้ และทำได้สะดวกมาก

การวางแผนที่จะหาโปรดักมิกซ์ที่ดีนั้นต้องมองให้แคบ และกว้างไปพร้อมๆ กัน การมองให้แคบเป็นการขจัดประเด็นหรือเงื่อนไขที่ไม่สำคัญออกไปให้หมด เมื่อเริ่มวางแผนอันเท่ากับเป็นการช่วยคอมพิวเตอร์กลั่นกรองตั้งแต่ต้น ส่วนการมองให้กว้างนั้น หมายถึงการคำนึงถึงการเชื่อมโยงเกี่ยวดองของปัจจัยต่างๆ ให้มากที่สุดเท่าที่ภววิสัยจะพาให้นึกไปถึงการมองทั้งทางแคบและทางกว้าง ที่จะเป็นชนวนให้เกิดความกลมกลืนระหว่างคนกับคอมพิวเตอร์โดยอาศัยกรรมวิธีวางแผนแบบใหม่ๆ เป็นสื่อ

โปรดักมิกซ์ หรือการทำการค้าที่อาศัยผลิตภัณฑ์สินค้าหลากหลายชนิดเป็นสิ่งดึงดูดการซื้อจากภายนอกนี้ แม้จะไม่ได้ครอบครองอาณาจักรทั้งหมดของการค้าแแต่ก็นับจะทวีความสำคัญทั้ง เบื้องลึก และเบื้องสูง ในแง่ของการกระจายการลงทุน เพราะการพึ่งพิงผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่เห็นว่า เป็นแกนเพียงชนิดเดียว หรือไม่กี่ชนิด

สำหรับนักธุรกิจหรือนายทุนแต่ละรายนั้น สร้างข้อจำกัดเสียเปรียบมากโดยเฉพาะในยุคสมัยที่สภาพเศรษฐกิจทั่วไป มีแต่ความมืดครึ้มปกคลุมไปทั่วจนไม่สามารถใช้มาตรการอะไรมาปิดบังต่อไปอีกได้ การทำการค้าทั้งเบื้องลึก และเบื้องสูงตลอดจนการกระจายการลงทุนนั้นมีมานานแล้วแต่ในปัจจุบันนี้มีอุปกรณ์เครื่องมือหลายอย่างในด้าน “กำลังความรู้” ที่นำมาใช้ช่วยประเมินความเป็นไปจนถึงขั้นช่วยตัดสินใจได้ทั้งในด้านการค้าข้ามชาติ และไม่ข้ามชาติ การเริ่มต้นแก้ปัญหาเพียงแค่เรื่องของโปรดักมิกซ์ นี้เป็นเพียงอุปมาเพื่อคิดคืบต่อไปว่า จะอาศัยแนวความคิดเช่นนี้ไปใช้กับเรื่องอื่นอะไรได้บ้าง และถ้าจะแก้ปัญหาที่ลึกซึ้งขึ้นไปยิ่งกว่าเรื่องของโปรดัก มิกซ์ (อันเป็นเรื่องผิวเผิน) แล้วจะต้องมองหาเครื่องไม้เครื่องมืออะไรอีก ในแง่ของกำลังความรู้มาสะสมเตรียมการใช้งาน

เรื่องของโปรดักมิกซ์ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นกรณีพิเศษเล็กๆ กรณีหนึ่งในท่ามกลางปัญหาใหม่ อีกหลายๆ ปัญหาที่แฝงอยู่ในรูปของ “mix” การนำองค์กรปัจจัยหรือทรัพยากรที่กระจัดกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ มาเลือกสรรเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาหรือบรรลุวัตถุประสงค์ใดวัตถุประสงค์หนึ่งได้จึงจัดเป็นหลักใหญ่มากเพราะใช้กับเรื่องต่างๆ ในโลกนี้ได้นับไม่ถ้วน

การแก้ปัญหาในเรื่องของโปรดักมิกซ์ ซึ่งเป็นปัญหาขนาดเล็กจนสิ้นสุดลงไปนั้นได้นำความคิดไปสู่การแก้ปัญหาที่ใหญ่กว่าอีกหลายๆ เท่า โดยเกาะอยู่ที่ความคิดของคำว่า “mix” เรากำลังอยู่ในยุคที่กำลังอุดมสมบูรณ์ด้วยกรรมวิธีในการแก้ไขปัญหาแบบต่างๆ ให้เข้ามาอยู่ในรูปในรอยจนทำให้การดำเนินงานเกือบจะทุกรูปแบบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงได้ ผู้เขียนขออนุญาตพาผู้อ่านก้าวไปสู่ความคิดในเรื่องของ mix เพื่อจะได้เห็นว่า ถ้ากรรมวิธีทางด้านคำนวณบางอันมาใช้ให้เหมาะกับรูปแบบและจะสามารถผลักดันให้การดำเนินงานขนาดใหญ่มหึมาก้าวไปอย่างมีสัมฤทธิผล

ในที่นี้จะพูดถึงการวางแผนงานที่ต้องการประสิทธิภาพสูงมากๆ แบบหนึ่ง โดยผู้รับผิดชอบได้นำ LP มาใช้ในขั้นสุดท้ายของการวางแผนแผนงานที่จะกล่าวถึงนี้ ได้นำเหตุการณ์ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตเข้ามาผูกพันอยู่ในแผนทางทหารของประเทศหนึ่ง โดยจะพิจารณาหนักไปในด้าน “ระบบอาวุธ” การที่นำเอาแผนทางทหารต่างประเทศมากล่าวในที่นี้มิได้ตั้งใจจะให้มีการละเมอเพ้อพกถึงสิ่งที่เป็นไปได้ยาก แต่ต้องการแสดงให้เห็นว่า การแก้ปัญหาวางแผนงานขนาดใหญ่มากๆ นั้นเป็นสิ่งที่เอามาคำนวณ เช่น LP มาใช้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ และต้องการแสดงต่อไปว่า ปัญหาทางทหารนั้นถ้าอ่านไปคิดเปรียบเทียบไปด้วยในเวลาเดียวกันก็จะเป็นว่ามีความคล้ายคลึงกับโลกธุรกิจอย่างมาก ปัญหาขนาดใหญ่เช่น แผนการสร้างสมและการจัดระบบอาวุธของกองทัพใดกองทัพหนึ่งของทั้งประเทศนั้นมีรายละเอียดองค์ประกอบหลายๆ อย่างที่สามารถอุปมานำมาใช้ในภาคเอกชนได้ บางครั้งเราจำต้องมองปัญหาหรือเห็นตัวอย่างจาก sector ที่ไกลแสนไกล เช่น military sector เพียงเพื่อจะมีโอกาสชุบความรู้สึกนึกคิดในทางบริหารให้ชุ่มชื่นมีชีวิตชีวา เพราะสามารถเห็นอะไรแปลกใหม่ ต่างไปจากกิจวัตรประจำวัน แล้วหันกลับมามองว่าสิ่งที่ได้แลเห็นนั้นจะให้ประโยชน์อะไรบ้างในยุทธจักรของธุรกิจการค้าที่ต้องแข่งขันสู้รบปรบมือทั้งภายในและนอกประเทศ เช่นในขณะนี้ จุดประสงค์ของการชักตัวอย่างในที่นี้จึงอยู่ที่การนำโครงสร้างของปัญหา มาตีแผ่โดยให้รายละเอียดองค์ประกอบเป็นเสมือนเงาที่แฝงอยู่ข้างหลัง

การวางแผนทางทหารที่อาศัยแนวความคิดในเรื่องของ “mix” ที่จะพูดถึงนี้มีกำเนิดมาจากเรื่องของ “cost-effectivenes evaluation for mixes of naval air wcapons systems” ซึ่งปรากฏอยู่ในเอกสารทาง operation research (O.R.) ของอเมริกาอันเป็นการวางแผนจัดหาและพัฒนาระบบอาวุธต่างๆ ของกองทัพเรือของสหรัฐฯ ที่เริ่มต้นจากปัจจุบันและอนาคต ดังนั้น planning horizon ของการวางแผนชนิดนี้ จึงมีระยะเวลาผูกพันคืบไปในอนาคตหลายๆ ปี การแก้ปัญหาและการวางแผนเพื่อหาทางให้ประเทศมีระบบไปในอนาคตหลายๆ ปี การแก้ปัญหาและการวางแผนเพื่อหาทางให้ประเทศมีระบบอาวุธที่ทรงมหิทธานุภาพ และเหมาะกับยุคสมัยนี้จะเริ่มด้วยการหาวิธีมากำหนดความสัมพันธ์ระหว่างค่าใช้จ่าย ต้นทุน ที่ทุ่มเทไปกับระบบอาวุธแต่ละชนิดว่ามีความสัมพันธ์กับประสิทธิผลของการใช้งานในสนามจริงๆ อย่างไร โดยให้ความสนใจกับระบบอาวุธใหม่ๆ ที่จะนำมาใช้ในอนาคตให้มากเป็นพิเศษ

ทั้งนี้เพราะจุดอ่อนจุดแข็งของระบบอาวุธที่กำลังใช้งานอยู่นั้นเป็นที่ซาบซึ้งอยู่แล้ว ดังนั้นการวางแผนขึ้นมาในเรื่องของระบบอาวุธในอนาคตจึงมุ่งไปที่ cost-effectivenes เป็นสำคัญแต่จะประเมินได้ถนัดแค่ไหนนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ความคิดในเรื่อง cost-effectivenes นี้จะสืบทอดไปถึงขั้นสุดท้ายของการวางแผน เพราะการใช้ linear programming (LP) มาวางแผนงานรวมทั้งหมดก็ถือเป็นเรื่องของ c/e อย่างหนึ่ง ประสิทธิผลของการใช้งบประมาณในเรื่องนี้จึงไม่อยู่ที่เอาค่าใช้จ่ายหารด้วยประสิทธิภาพของอาวุธแต่ต้องมองให้ครอบคลุมไปทั้งกองทัพเรือ

LP เข้ามามีบทบาทในการวางแผนในเรื่องระบบอาวุธตรงที่มีข้อจำกัดต่างๆ มากมาย แต่มีเป้าหมายรวมคือ ทำอย่างไรจึงจะใช้งบประมาณให้ได้ประโยชน์ที่สุด

ปัญหาและข้อจำกัดต่างๆ อันเป็นเหตุให้ต้องนำ LP มาใช้หาแผนที่ดีที่สุดนั้น เริ่มจากความจริงที่ว่า การวัด cost-effective ทางทหารนั้นไม่ใช่การวัดหาอัตราส่วนตัวเลขแบบปกติธรรมดาเหมือนกิจการอื่นๆ เพราะ

(1) ต้องพิจารณาทั้งระบบอาวุธที่มีอยู่แล้วและยังจะต้องใช้ต่อไปกับระบบอาวุธใหม่ ๆ ที่
จะนำเข้ามาสนับสนุนในอนาคต

(2) ระบบอาวุธ เช่น เครื่องบินนั้นมักต้องทำหน้าที่ทั้งด้าน tactical และ strategic

(3) เรือประเภทต่าง ๆ ที่มีอยู่ และกำลังที่จะสั่งใหม่นั้นต้องคำนึงถึงระบบอาวุธที่จะเข้ามา
ติดตั้งผูกพันในอนาคตด้วย

(4) เรือบางประเภท เช่น เรือบรรทุกเครื่องบินมีขีดจำกัดในการบรรทุกเครื่องบินแต่ละรุ่น
แต่ละระบบ และยังมีขีดจำกัดในเรื่องการบรรทุกพนักงานเจ้าหน้าที่ และ

(5) การจัดหาและกำลังคนที่ใช้ระบบอาวุธต่างประเภท (เช่น เครื่องบิน ขีปนาวุธ เรือ ฯลฯ)
มีขีดจำกัดเหมือนกับขีดจำกัดในด้านงบประมาณ ข้อจำกัดผูกมัดข้างต้นและลักษณะการดำเนินงานของกองทัพเรือ ซึ่งมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวนี้ ทำให้ต้องหา weapon system costing methodology ที่เหมาะสมมาใช้

จึงเห็นกันว่า LP น่าจะเหมาะกับกรณีนี้ที่สุด และน่าจะใช้คุณสมบัติของ LP ในเรื่องของการจัดสรรทรัพยากรมาใช้ในที่นี้ได้อย่างเต็มที่ สรุปแล้ว ที่ใช้ LP ในเรื่องกองทัพจึงใช้ทั้งจัดสรรอาวุธในช่วงเวลาต่างๆ ว่า ควรใช้ระบบอะไรบ้าง และให้ประหยัดที่สุดในเวลาเดียวกันด้วย ทั้งหมดนี้เป็นหลักการที่ประเทศหนึ่งยึดอยู่แต่ในขั้นปฏิบัติตามแผนจะเป็นอย่างไรยังไม่มีโอกาสทราบ

ที่ยกตัวอย่างทางทหารให้ไกลออกไปจากธุรกิจการค้าในเรื่องของการใช้ LP มาวางแผนก็เพราะมีอะไรหลายๆ อย่างที่เห็นได้ชัด และน่าจะเข้าใจได้ง่าย ประกอบกับเป็นปัญหาขนาดใหญ่พอสมควร การมองปัญหาในระดับกองทัพ (แม้จะแค่ทัพเรือ) ก็เหมือนกับการแก้ปัญหาวางแผนโดยมองทั้งส่วนดีส่วนเสียของทั้งวิสาหกิจ ร้านค้า และ ฯลฯ ส่วนอื่นๆ ของตัวอย่างทางด้านทหารนั้น ผู้อ่านคงเปรียบเอาเองได้ตามรสนิยม และปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่

บทความนี้ชี้ที่ใช้ของ LP ไว้สองฝั่งฟ้าด้วยกันคือ ตรงสุดขอบฟ้าหนึ่งได้พูดถึงการใช้ LP (หรือเทคนิคอื่นๆ ในเครือเดียวกัน) ในด้านวางแผนเพื่อหา optimal product mix plan ซึ่งเป็นปัญหาเล็กๆ อันหนึ่งในด้านความรู้สึกนึกคิด แต่ไม่เล็กในวงเงินที่สามารถประหยัดได้

ส่วนอีกสุดขอบฟ้าหนึ่งได้พูดถึงการนำ LP มาวางแผนเพื่อจัดสรรระบบอาวุธไว้ใช้ในช่วงเวลาต่างๆ ในกองทัพการวางแผนของทั้งกองทัพย่อมเป็นภาระที่ใหญ่โตรโหฐานใช้ทั้งเวลา และกำลังคนมากมาย แต่การวางแผนของทั้งสองฝั่งฟ้ายังคงอาศัยพื้นฐานคล้ายๆ กัน ไม่ว่าจะอยู่บนงบประมาณ 10 ล้าน และ 100,000 ล้าน ที่จะนำกรรมวิธีวางแผนใหม่ๆ เช่น LP หรือ other related optimization techniques มาใช้ให้เกิดมรรคผลได้ในเมืองไทย

เวลาอีก 10 ปีข้างหน้า คงจะให้ผลลัพธ์อะไรๆ ออกมาได้บ้างในโลกของธุรกิจการค้า

ส่วนในอดีตเรื่อยมาจนปัจจุบันที่ใช้ของ LP เท่าที่นึกออกก็มีในภาคใหญ่ เช่น

(1) อุตสาหกรรมน้ำมันและปิโตรเคมี

(2) อุตสาหกรรมอาหารสัตว์

(3) อุตสาหกรรมการเดินเรือในแง่ของการจัด fleet และหาเส้นทางที่จะประหยัดค่าเดิน
เรือที่สุด ฯลฯ

อันที่จริงแล้วในภาคคมนาคมทั้งหมดอันประกอบไปด้วยการสัญจรทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศนั้น มีช่องทางให้ประหยัดในเรื่องต่างๆ ได้มากมาย การยกตัวอย่างแค่อุตสาหกรรมเดินเรือ จึงแคบไปหน่อย และ

(4) อุตสาหกรรมย่อยๆ อื่นๆ ก็มี เช่น อุตสาหกรรมไม้อัด อุตสาหกรรมรองเท้า อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ สรุปแล้วที่ใช้ของวิธีการหรือวิทยาการใหม่ๆ นั้นถ้าจะมีข้อจำกัดอุปสรรคก็ไม่ได้เกิดจากอะไรอื่น แต่น่าจะเกิดจากการที่ไม่ยอมรับของตัวบุคคลเป็นสรณะ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องกลับไปอาศัยหลักของศาสนาเข้ามาช่วยให้เกิดความรุ่งโรจน์โชติช่วงทางปัญญาเพราะไม่มีอะไรดีกว่านี้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.