|
ก่อน “สยาม” จะเลือนหายไปในหมอกควัน...
โดย
สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กรกฎาคม 2553)
กลับสู่หน้าหลัก
ร่วม 44 ปีที่โรงหนังสยามสร้างรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ คราบน้ำตา และความสุขแก่ผู้มาเยือน โดยที่หลายคนไม่เคยรู้เลยว่า ที่นี่ถือเป็นต้นกำเนิดของสยามสแควร์ ผู้วางเพลิงคงไม่รู้เลยว่าไฟนั้นไม่เพียงทำลายโรงหนัง แต่ยังเผาผลาญรากเหง้าแห่งจิตวิญญาณของสยามสแควร์ให้หายไปพร้อมกับหัวใจที่บอบช้ำของใครอีกหลายคน
ครบรอบ 1 เดือนหลังจากเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมือง สยามสแควร์ กลับมาพลุกพล่านอีกครั้ง โดยเฉพาะโรงหนังสกาล่าที่ดูจะมีวัยรุ่นมาเยือนมากกว่าทุกครั้ง
บ่ายวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา สกาล่าถูกแปรสภาพเป็นสถานที่จัดคอนเสิร์ตเฉพาะกิจ ที่มีชื่อว่า “คอนเสิร์ต รัก ณ สยาม” ซึ่งบรรเลงโดยนักร้องขวัญใจวัยรุ่นหลายวง
เหมือนจะเป็นคำขวัญประจำคอนเสิร์ตกับประโยคที่ว่า “เป็นอีกครั้งที่ “เด็กสยาม” จะร่วมบอกรัก “สยาม” จากเจตจำนงค์ อันเนื่องด้วยความผูกพันกับโรงหนังสยามและสยามสแควร์ของทั้งผู้เล่นดนตรี ผู้ชม และผู้จัด คอนเสิร์ต
ความตั้งใจแรกเริ่มของคอนเสิร์ตนี้ นอกจากเพื่อไว้อาลัยและระลึกถึงโรงหนังสยามในวันครบรอบ 1 เดือนของการจากไปของโรงหนังนี้ ยังตั้งใจหารายได้สมทบทุนเพื่อฟื้นฟูบูรณะโรงหนังในเครือเอเพ็กซ์ (Apex) อันประกอบด้วยโรงหนังสกาล่า ลิโด และสยาม ซึ่งโรงหนังในวันนี้คงเหลือเพียงเศษซาก
“คนที่จัดคอนเสิร์ตบอกว่า เขาอยากหารายได้มาช่วยเรา แต่เรารู้สึกว่า ยังมีคนที่ลำบากและแย่กว่าเรา อย่างร้านค้าที่อยู่บริเวณโรงหนังสยามทั้งหมดก็ไม่เหลืออะไร พวกเขาหมดตัวและต้องการความช่วยเหลือมาก เราควรนำเงินรายได้จากงานนี้ไปช่วยร้านค้าจะดีกว่า” นันทา ตันสัจจา ประธานแห่งเครือเอเพ็กซ์กล่าว
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนอย่างน้อยอีก 1 กลุ่มที่พร้อมรวบรวมเงินบริจาคมาให้นันทา นั่นคือ สมาชิกเฟซบุ๊กกว่า 3 พันคนในกลุ่ม “คนชอบดูหนังที่โรงเอเพ็กซ์สยามสแควร์” ซึ่งได้เชิญชวนกันตั้งกองทุนเพื่อสมทบทุน สร้างโรงหนังสยามขึ้นใหม่ พร้อมกับความหวังว่า...
โรงหนังสยามหลังใหม่จะทดแทนความรู้สึกสูญเสีย และนำมาซึ่งความภูมิใจของพวกเขาในการมีส่วนร่วมสร้าง “สยาม” ให้คืนกลับมาด้วย เงินน้อยนิดที่เทียบไม่ได้กับคุณค่ายิ่งใหญ่ทางใจ ...นี่เป็นวาทกรรมบางส่วน ในแถลงการณ์ของผู้ริเริ่มก่อตั้ง “กองทุนเพื่อ APEX”
เป็นอีกครั้งที่นันทาต้องปฏิเสธไป เพราะตามสัญญา ทันทีที่เกิดไฟไหม้ พื้นที่โรงหนังต้องตกเป็นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะเจ้าของพื้นที่ เธอจึงยังไม่มั่นใจว่าจะได้เช่าต่อหรือไม่
สิ่งเดียวที่ทางตระกูลตันสัจจาขอรับไว้ มีเพียงแต่น้ำใจและกำลังใจ ที่ถือว่ามีคุณค่ามหาศาลต่อครอบครัว รวมถึงพนักงานทุกคน โดยเฉพาะในยามที่เพิ่งตื่นจากฝันร้ายมาหมาดๆ
“มันถือเป็นความสูญเสียอย่างไร้เหตุผลสำหรับเรา แต่จะทำยังไงได้เมื่อมันเสียไปแล้ว อย่างน้อยมันก็ทำให้เราได้รู้ว่ามีคนรักเราและพร้อมให้กำลังใจเราได้มากขนาดนี้ จากที่เคยกอดตัวเองอย่างหดหู่ พอเกิดคนกลุ่มนี้ขึ้นมา มันก็ทำให้เราคิดว่า เราต้องลุกขึ้นสู้เพื่อทำสิ่งดีๆ ให้พวกเขาอีกครั้ง”
ผู้บริหารเลยวัยเกษียณเล่าย้อนไปวันแรกที่กลับเข้าไปโรงหนังสยามหลังจากเพลิงสงบ ซากปรักหักพังที่ยังคงสัมผัสได้ถึงความร้อน ฝุ่น และกลิ่นของความสูญเสีย แม้อยากร้องไห้เพียงใด แต่พอหันมาเห็นลูกน้องยืนกอดคอร้องไห้อยู่ด้านหลัง เธอก็จำต้องกลั้นน้ำตาแห่งความอาลัยรักไว้
สำหรับเธอ โรงหนังสยามคงเปรียบได้กับ “ลูกสาวคนโต” เพราะเธอเป็นผู้ปลุกปั้น และฟูมฟักโรงหนังแห่งนี้มา ตั้งแต่เธอยังมีอายุเพียง 20 ปีเศษ โดยเริ่มทำตั้งแต่แก้ไขต่อเติมบนกระดาษไขตั้งแต่เป็นพิมพ์เขียว กระทั่งลงเสาเข็มต้นแรก จนกลายมาเป็นโรงหนัง ขนาด 800 ที่นั่ง ที่ดูโอ่อ่าและโก้เก๋ที่สุดในยุคนั้น โดยมีจุดขายสำคัญคือ “บันไดเลื่อน”
แม้ไม่ใช่แห่งแรกในประเทศไทย แต่บันไดเลื่อนที่นี่ก็เป็นเป็นแห่งที่สอง แต่เป็นบันไดเลื่อนแห่งแรกในโรงหนังของไทย โดยมีจุดประสงค์เพียงเพื่อดึงดูดลูกค้าด้วยความแปลกใหม่ ทว่า เปลวเพลิงแห่งความโกรธได้เปลี่ยนบันไดเลื่อนประวัติศาสตร์ให้เหลือเพียงเส้นเหล็กไร้สภาพ ที่ไม่มีเค้าสัญลักษณ์ความทันสมัยแห่งยุคนั้นเอาไว้ให้เห็น
ส่วนตำนานโรงหนังสยามเริ่มต้นเมื่อ “พิสิฐ ตันสัจจา” ผู้ที่ได้ชื่อเป็นโชว์แมนคนสำคัญ เจ้าของโรงหนังศาลาเฉลิมไทยที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ได้รับการติดต่อจาก “กอบชัย ซอโสตถิกุล” เจ้าของบริษัท เซาท์ อีสเอเซีย ก่อสร้าง จำกัด ซึ่งเป็นผู้เช่าพื้นที่จากจุฬาลงกรณ์ฯ ให้เข้ามาร่วมพัฒนาออกแบบและก่อสร้างอาคารภายในพื้นที่ดังกล่าว (ซึ่งปัจจุบันเรียกกันว่า “สยามสแควร์”)
แม้จะมีมหาวิทยาลัยใหญ่อยู่ใกล้ๆ แต่ความเจริญเหมือนจะไปตกที่สามย่าน มากกว่า พื้นที่ตรงนี้ ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีแม้ร้านอาหาร ไม่มีร้านค้า มีเพียงบ้านเล็กๆ ที่ดูคล้ายสลัมตรงข้ามเป็นสวนฝรั่ง และเขตก่อสร้างโรงแรมสยามอินเตอร์คอนฯ ความเจริญที่เห็นได้ มีเพียงรถเมล์ 1-2 สาย ที่นานๆ จะมาสักคัน
ขณะที่สายไฟฟ้าให้ความสว่างโดยรอบบริเวณ ทางโรงหนังสยามก็เป็นฝ่ายติดตั้งและต่อไฟไปเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่มาดูหนังรอบค่ำ
เดิมโรงหนังแห่งแรกของย่านนี้ เกือบจะมีชื่อตามเจ้าของพื้นที่ หากไม่ถูกท้วงติงจากผู้ใหญ่ (น่าจะเป็น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช) ว่า ไม่เหมาะสมเพราะ “จุฬาฯ” เป็นพระนามของพระมหากษัตริย์ โรงหนังนี้จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น “สยาม”
“เพื่อจะดึงคนมาที่นี่ เราก็เลยทำสูจิบัตรไปแจกที่โรงหนังเฉลิมไทยซึ่งคนดูแน่นมาก เพื่อบอกว่ามีโรงหนังสยามอยู่ที่นี่ ฉายเรื่องอะไร มีอะไรดี ฯลฯ และในนั้นมีคอลัมน์ชื่อ “สยามสแควร์” ของอาจารย์พอใจ ชัยเวฬุ ซึ่งมักเชิญนักเขียนมีชื่อมาเขียน และเล่าว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นที่นี่บ้าง มันก็เลยเกิดเป็นสังคมของชาวสยามสแควร์” นันทาเล่าถึง ต้นกำเนิดของชื่อและความเป็นย่าน “สยามสแควร์”
ประกอบกับชื่อเสียงของนักเขียนที่แวะเวียนมาช่วยเขียนคอลัมน์ในสูจิบัตรเล่มนี้ทำให้ชื่อโรงหนังสยามและสีสันความโก้เก๋ทันสมัยของย่านสยามสแควร์กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง จนในที่สุด “สยาม” ก็กลายเป็นโรงหนังขายดีที่ฮิตติดตลาดวัยรุ่นหนุ่มสาวหลายยุค
จากพื้นที่ที่ไม่มีอะไร จนมีโรงหนังที่ทันสมัยที่สุดแห่งยุคถึง 3 แห่ง ที่สามารถดึงดูดร้านค้า ร้านอาหารให้เข้ามาเปิด และดึงดูดลูกค้าวัยรุ่นหนุ่มสาวให้มารวมตัวกันที่นี่ จนกลาย เป็นชุมชน “เด็กสยาม” หากมีการแจก “รหัสเด็กสยาม” บางที “เด็กสยามเบอร์แรก” อาจตกเป็นของนันทาก็เป็นได้
โรงหนังสยามเปิดตัวด้วยหนังเรื่อง “รถถังประจัญบาน” (BATTLE OF THE BULGE) ค่ายวอร์เนอร์ บราเดอร์สฯ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2509 จากนั้นกลางปี 2511 เครือเอเพ็กซ์ก็ได้เปิดตัวโรงหนังขนาด 1 พันที่นั่ง ที่มีชื่อว่า “ลิโด” ซึ่งตั้งตามชื่อโรงคาบาเร่ต์ Le Lido ในกรุงปารีส ด้วยการฉายหนังเรื่อง “ศึกเซบาสเตียน” (GAMES FOR SAN SEBASTIAN) ของเมโทร โควิลด์ฯ
ในวันส่งท้ายปีเก่าปี 2512 ตระกูลตันสัจจาฉลองยิ่งใหญ่ให้ชาวสยามสแควร์ด้วยการเปิดตัวโรงหนังขนาด 1 พันที่นั่ง ซึ่งเคยเป็นโรงหนังที่หรูหราที่สุดและตั๋วแพงที่สุดในยุคหนึ่ง โดยชื่อ “สกาล่า” ตั้งตามชื่อ La Scala โรงละครเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงโด่งดังแห่งเมืองมิลาน ซึ่งในภาษาอิตาลี คำนี้แปลว่า “บันได”
ไม่เพียงนั่งมองความเจริญโรงหนังสยาม นันทายังมองเห็นความเฟื่องฟูของย่านสยามสแควร์ที่เริ่มต้นเติบโตไปตามความฮอตฮิตของโรงหนังทั้ง 3 แห่งของเครือเอเพ็กซ์
เวลาผ่านไป ความรุ่งเรืองของย่านสยามสแควร์เพิ่มขึ้น แต่ดูเหมือนความเฟื่องฟูของ “สามใบเถา” แห่งเครือเอเพ็กซ์ค่อยๆ ลดลง ด้วยสภาพการแข่งขันที่ดุเดือด ทั้งโรงหนังใหม่ที่เปิดตัวมากขึ้น และทางเลือกในการชมภาพยนตร์ของลูกค้าที่มีเพิ่มขึ้น เช่น ดีวีดี ดาวเทียม และรายการโทรทัศน์ ซึ่งล้วนมีส่วนพรากลูกค้าให้น้อยลงเรื่อยๆ
โรงหนังเครือเอเพ็กซ์ประสบกับการขาดทุนจากการฉายหนังมาหลายปี นันทาเล่าว่า หากไม่ได้ค่าเช่าจากร้านค้าในโรงหนังและรายได้ส่วนอื่นมาช่วย เธอก็คงไม่มีทุนฉายหนังมาจนวันนี้ เพราะระยะหลังหนังบางเรื่องในบางรอบมีลูกค้ามาชมไม่ถึง 10 คน หรือต่อให้มีคนดู 1-2 คน เธอยืนยันว่า ถ้าลูกค้ายังยืนยันจะดูเรื่องนั้นในรอบนั้น โรงหนังก็เปิดฉายเพราะถือว่า ได้สัญญาไปแล้ว
ทั้งนี้เพื่อดึงดูดลูกค้าให้มาดูหนังที่โรงหนังในเครือเอเพ็กซ์มากขึ้น เธอจึงหันมาใช้ “หนังทางเลือก” เป็นกลยุทธ์สร้างจุดขาย ด้วยการนำหนังนอกกระแส หนังรางวัลจากเทศกาล หนังและหนังเล็กที่มีคุณค่า มาฉายให้ “คอหนัง” ได้มีตัวเลือกจากโรงหนังทั่วไปที่เหมือนๆ กันหมด โดยเริ่มต้นจากหนังอิหร่าน ชื่อ “Children of Heaven” เมื่อเกือบ 10 ปีก่อน
กระทั่งปรากฏการณ์ผู้เข้าชมเต็มตลอดทุกรอบฉายของหนังเรื่อง Slumdog Millionaire หนังรางวัลออสการ์ที่เข้าฉายเมื่อปี 2552 ซึ่งจัดฉายเฉพาะโรงหนังเครือเอเพ็กซ์เท่านั้น ...ถือเป็นตัวอย่างความสำเร็จของการสร้างจุดยืนในการเป็น “โรงหนังอินดี้” ของสามใบเถาแห่งเครือ เอเพ็กซ์
ในการคัดเลือก “หนังคุณภาพ” เครือเอเพ็กซ์มี “สุชาติ วุฒิชัย” เป็นผู้รับผิดชอบในการค้นหาข้อมูลและความน่าสนใจของหนังที่จะเลือกมา จากนั้นก็ต้องไปดูด้วยตัวเองเกือบทุกเรื่อง นอกจากการเสาะหาหนังคุณภาพด้วยตัวเอง บ่อยครั้งเขามักได้รับคำแนะนำหรือร้องขอจากลูกค้า ที่โทรหรือเดินมาหาเขาถึงออฟฟิศ และก็มีบ้างที่เขาไปยืนสอบถามความเห็นของผู้ชมด้วยตัวเองที่หน้าโรงหนัง
“จริงๆ ส่วนมากแฟนเราจะเป็น “คอหนัง” ไม่ใช่วัยรุ่นจนเกินไป เป็นวัยทำงานแล้ว จะคอยมาบอกเราด้วยว่า ไอ้นั่นดี ไอ้นี่ไม่ดี อยากดูอะไรก็มาบอก ส่วนใหญ่จะเป็นหน้าเก่าๆ จนเหมือนเป็นเพื่อนกันไปแล้ว”
คุณภาพหนังเป็นความประทับใจแรกที่สำคัญที่สุดที่ก่อให้เกิด “แฟนคลับ” ของโรงหนัง ในเครือเอเพ็กซ์ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งเดียว ราคาบัตรที่ 100-120 บาท ซึ่งถูกกว่าโรงหนังเมเจอร์ในปัจจุบัน อาจเป็นอีกความประทับใจ แต่คง ไม่มากเท่ากับความประทับใจในบริการด้วยใจของพนักงานที่นี่
ทั้งเหล่าคุณอาคุณลุงพนักงานเดินตั๋วในชุดสูทสีเหลืองหูกระต่ายสีดำที่เป็นยูนิฟอร์มซึ่งใช้มาแต่แรก พวกเขากระตือ รือร้นในการให้บริการพาลูกค้าไปส่งยังที่นั่งเสมอๆ “พี่” โอเปอเรเตอร์อารมณ์ดีที่ไม่เพียงทำหน้าที่ให้ข้อมูลรอบฉายหนังและที่ตั้งโรงหนัง แต่ยังคอยช่วยลูกค้าตัดสินใจเลือกหนังด้วยการเล่าเรื่องย่อของหนังทุกเรื่อง ทั้งยังช่วยหาวิธีเดินทางมาให้ทันรอบฉาย และยังคอยปล่อยมุกขบขันให้ผู้โทรมาหายเครียดอีกด้วย
“พนักงานส่วนมากอยู่กันมานาน เขาให้เราทั้งชีวิต เพราะเขารู้สึกว่าโรงหนังคือบ้าน บางคนต้องมาทุกวัน”
แม้แต่ตอนเกิดการชุมนุม พนักงานของโรงหนังต่างก็คอยวางเวรยามและช่วยกันดูแลความปลอดภัยของโรงหนัง 3 แห่งไว้ จนไม่ไหวเมื่อเห็นท่าไม่ดีเพราะมีการใช้อาวุธปืนยิงเข้ามา พวกเขาทำได้เพียงล็อกทุกประตูให้สนิทแล้วหลบไป โดยไม่มีใครคาดคิดว่า “บ้านหลังที่สอง” ที่เขารักยิ่ง จะกลายเป็นซากด้วยน้ำมือคนไทย
“ตลอดเวลา 44 ปี โรงหนังสยามมีแต่ให้ความสุขกับทุกคน แต่วันที่เขาตายไปไม่มีสักคนช่วยเขาได้ เราทำได้แค่มองเขาตายไปต่อหน้าต่อตา” แม้จะพยายามข่มเสียงเป็นปกติ แต่ก็รับรู้ได้ถึงความเสียใจ
นันทาเล่าว่าหลังเหตุการณ์มีลูกน้องบางคนที่ทำใจรับสภาพและทนเห็นซากโรงหนังสยามอย่างนี้ไม่ได้ ขอลากลับต่างจังหวัดก็มี ซึ่งเธอก็เข้าใจดีเพราะแม้แต่เธอเอง ทุกครั้งที่นั่งรถผ่านมาแถวสยาม เธอจะหันมองสยามพารากอน เพื่อไม่ให้ต้องเห็นภาพสะเทือนใจ
ก่อนหน้าการสูญเสียครั้งนี้ นันทาต้องทนเห็นโรงหนังที่เธอรักอีกแห่งถูกทุบทำลาย ไปต่อหน้าต่อตา ได้แก่ โรงหนังศาลาเฉลิมไทย แม้จะเป็นอารมณ์เดียวกันคือ เสียใจจนไม่อาจผ่านไปและทนเห็นภาพซากปรักหักพังของโรงหนังนั้นได้ แต่สำหรับ “ศาลาเฉลิมไทย” เธอยินยอมเพราะรู้ว่าพื้นที่นั้นจะถูกนำไปสร้างพระบรมรูปรัชกาลที่ 3 และสร้างศาลารับแขกบ้านแขกเมือง โดยมีผู้เซ็นขอพื้นที่คืนคือนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น
ผิดกับโรงหนังสยาม ที่เธอไม่เคยยินยอมและไม่รู้ตัวมาก่อน อีกทั้งยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำไมต้องมาเผาโรงหนังของเธอ และไม่รู้ว่าผู้เผาจะทราบหรือไม่ว่าได้เผาหลักฐานประวัติศาสตร์ของต้นกำเนิดแห่งสยามสแควร์ลงไปแล้ว
“มันสูญเสียและเสียใจเหมือนกันทั้งคู่ ครั้งก่อนนั้นมันเหมือนเขาเข้าไปทุบหัวใจเรา แต่ครั้งหลังนี้เหมือนเขาทำร้ายเราทั้งร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ มันเจ็บปวดมากกว่า”
และเพื่อไม่ให้คนรุ่นนี้และรุ่นหน้าลืมต้นกำเนิดของสยามสแควร์ นี่จึงเป็นเหตุผลที่นันทาออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนทุกแขนงอย่างที่ไม่คิดทำมาก่อน ทั้งนี้เพราะไม่อยากให้ควันไฟแห่งความสูญเสียพาชื่อของโรงหนังสยามเลือนหายไปอย่างไม่มีใครจดจำและหวนคิดถึงความสำคัญของโรงหนังแห่งนี้อีกเลย
อย่างไรก็ดี แม้เครือเอเพ็กซ์จะสูญเสีย “พี่สาวคนโต” และโรงหนังอีก 2 แห่งก็เสียหายจากการถูกขโมยข้าวของและคอมพิวเตอร์ แต่เพียงไม่ถึง 1 อาทิตย์ โรงหนังลิโด และสกาล่าก็กลับมาฉายหนังอีกครั้ง ราวกับต้องการสร้างความมั่นใจให้ “แฟนคลับ” ทุกคน ว่าเครือเอเพ็กซ์จะยังคงเดินหน้าให้บริการและสร้างความบันเทิงแก่ชาวสยามต่อไป
นันทาทิ้งท้ายว่า แม้โรงหนังสยามจะไม่อยู่แล้ว แต่อย่างไรเธอจะยังคงรักษา “จิตวิญญาณของสยาม” ให้คงอยู่ ด้วยการปกป้องลิโดและสกาล่าให้คงอยู่คู่สยามสแควร์ให้ดีที่สุด และนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ...ไม่ว่าจุฬาลงกรณ์ฯ จะให้พื้นที่กลับมาทำโรงหนังอีกหรือไม่ก็ตาม
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|